ประจักษ์ ก้องกีรติ : ระบบการเมืองแบบใหม่ เมื่อชนชั้นนำไทยไม่ต้องการ ‘ม้าพยศ’

 

 

‘ม้าพยศ’ เป็นคำเปรียบเทียบที่ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบขึ้นมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากปี 2540 เป็นต้นมา ม้า จากเดิมที่เคยถูกเลี้ยงอยู่แต่ในคอก และถูกล่ามโซ่ตรวนไว้ ถูกปล่อยให้วิ่งได้อย่างเสรีอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ก่อนที่มันจะทดลองวิ่งเล่น อย่างเต็มศักยภาพของตัวมัน ผู้ที่สำคัญตนเองว่าเป็นเจ้าของกลับเห็นว่า ม้ากำลังพยศ เพราะมันวิ่งไว และแข็งแรงจนเกินกว่าเขาจะควบคุม และวิธีปราบพยศคือ การเอาโซ่ตรวนไปคล้อง พร้อมจับมันเข้าคอกเหมือนเดิม...

ประจักษ์ฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นมา และอาจจะกำลังเป็นไปสำหรับสังคมการเมืองไทย น่าสนใจว่า ถ้าม้าต่างจากคน เมื่อถึงเวลาที่มันถูกโซ่ตรวนไว้อีกครั้ง มันอาจจะคุ้นชินกับชีวิตในคอกเหมือนเดิมได้ แต่สำหรับคนเมื่อได้รู้จักกับสิทธิเสรีภาพ และการเมืองแล้ว เป็นเรื่องยากที่เขาจะลืมมัน

บทสนทนาต่อไปนี้ เริ่มต้นหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาเผยถึงแนวทางหลักการใหม่เกี่ยวกับระบบการเมือง เราเริ่มถามประจักษ์ว่า ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เราเห็นอยู่ และกำลังจะเกิดขึ้นจะพาเราไปสู่อะไร และปิดท้ายด้วยคำถามว่า ชนชั้นนำเดิมดูถูกประชาชนเกินไปหรือไม่...

00000

ประชาไท : ถึงที่สุดแล้วสภาวะการเมืองปัจจุบัน การพยายามออกแบบระบบการเมืองแบบใหม่ ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะนำเราไปสู่อะไร

ประจักษ์ : นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ก็คือทางตันนั่นเอง เพราะว่ารัฐประหารเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยมาก แต่มีประสิทธิผลค่อนข้างสูง ในแง่ที่มันทำให้เกิดผลลัพธ์ เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่หยุดปัญหาไว้ชั่วคราวเท่านั้น รัฐประหารไม่สามารถหมุนเข็มนาฬิกากลับไปเปลี่ยนเศรษฐกิจ สังคมไทยได้ ไม่สามารถทำให้สภาพสังคม และเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่จุดเดิมได้แล้ว เต็มที่ก็ทำได้เพียงหยุดไม่ให้คนที่ตื่นตัว และเติบโตขึ้นมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่หยุดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมไม่ได้

จริงๆ แล้วนโยบายทางเศรษฐกิจหลายอย่าง รัฐบาลนี้ก็ลอกเลียนมาจากรัฐบาลก่อนหน้าคือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็เป็นการผลิตชนชั้นกลางระดับล่างให้มากขึ้น ก็เป็นการสานต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมที่ดำเนินมาก่อนหน้าอยู่แล้ว และนอกจากรัฐประหารครั้งนี้ หรือครั้งที่ผ่านจะไม่สามารถหยุดกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ สิ่งที่รัฐประหารไม่สามารถทำได้อีกอย่างคือ ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ ถามว่าวันนี้สังคมไทยยังแยกเป็นสองขั้วเหมือนเดิมหรือไม่ ก็เหมือนเดิม เพียงแสดงออกอย่างเต็มที่ไม่ได้เท่านั้นเอง แน่นอนเราไม่เห็นการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนท้องถนน แต่ถ้าได้ดูการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย จะเห็นความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองยังดำรงอยู่เหมือนเดิม รัฐประหารไม่สามารถเข้าไปจัดการกับความคิดคนได้เลย ฉะนั้นในแง่นี้ถ้า คสช. ยกพรมที่ปูทับความขัดแย้งออกเมื่อใด เราก็จะเห็นความขัดแย้งของสังคมไทยดำรงอยู่เหมือนเดิม

และยิ่งถ้ามีการออกแบบระบอบการเมืองที่บิดเบี้ยวทิ้งไว้ เป็นระบอบการเมืองที่ไม่ได้ให้พื้นที่กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน สุดท้ายระบอบแบบนี้ก็จะตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ ก็จะล้มลงอีกเหมือนเดิม และกลับมาสู่วงจรเดิมอีก เพราะว่าจนถึงทุกวันนี้ยังไม่เห็น คสช. เข้าไปทำอะไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน หรืออาจจะพยายามทำอยู่แต่ก็เป็นลักษณะที่ “ลูบหน้าปะจมูก” มาก และทำไม่สำเร็จ เพราะว่าคุณไม่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชนตั้งแต่ต้น และยิ่งนานวันเขาก็ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจ แม้แต่ประชาชนที่เคยหนุนรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วยแล้ว

ฉะนั้นหากเราดูจากทิศทางที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาพูดว่าจะมีระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ให้มีสมาชิกวุฒิสภาไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือให้มีนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในสภาวะวิกฤต สิ่งเหล่านี้บอกชัดว่า รัฐประหารครั้งนี้ เป็นการรัฐประหารเพื่อสร้างการเมืองของชนชั้นนำ เพื่อให้ชนชั้นนำของทั้งสองฝ่ายกลับมาประนีประนอมกันได้อีกครั้งหนึ่ง และสร้างระบบการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย โดยลดทอนความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนทุกสี ฉะนั้นนี้ต่างหากคือสิ่งที่ คสช. พยายามจะทำ แม้จะไม่ได้สลายความคิดของประชาชนที่แตกแยกแบ่งขั้ว แต่ทำให้พยายามจะทำให้บทบาททางการเมืองของภาคประชาชนทั้งหมดอ่อนแอลง

ทีนี้หาก คสช. สามารถทำลายการเมืองแบบมวลชนได้จริง ก็ทำให้พรรคการเมืองไม่มีฐานเสียง คือย้อนกลับไปเหมือนกลับช่วงก่อนปี 2540 ซึ่งพรรคการเมืองก็จะอ่อนแอลง และชนชั้นนำสามารถคุมได้ เราก็จะกลับไปสู่การเมืองแบบสมัยยุคพลเอกเปรม ซึ่งเป็นสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ

ถ้าเรามองออกมา ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง ที่เติบโตขึ้นหลังปี 2540 ถ้าเปรียบเหมือนม้าคือเป็น ม้าที่พยศ ซึ่งสามารถออกวิ่งได้ด้วยตัวเอง และยิ่งพยศมากขึ้นทุกวัน จนชนชั้นนำที่เคยครอบงำสังคมไทยมานานเริ่มรู้สึกว่าอำนาจหลุดจากมือเขาไป เขาไม่สามารถควบคุมอะไรได้ จนถึงที่สุดก็พยายามรวบอำนาจกลับคืนมาให้อยู่ในมือตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยการกลับไปหาเครื่องมือเดียวที่พวกเขาคุ้นชิน แต่เป็นเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพแล้วคือการรัฐประหาร และสิ่งที่ทำให้เห็นชัดว่าการรัฐประหารไม่มีประสิทธิภาพแล้วคือ การที่กองทัพต้องออกมายึดอำนาจถึง 2 ครั้งในเวลาเพียง 8 ปี ซึ่งนี้เป็นจุดอ่อนที่สุดของชนชั้นนำเดิมในสังคมไทย เมื่อเทียบชนชั้นนำอีกหลายสังคมในโลกนี้คือ ไม่รู้จักปรับตัวเข้ามาเล่นในกรอบการเมืองแบบประชาธิปไตย  

ในแง่นี้มันเป็นความน่าสงสาร และความน่าเศร้าของชนชั้นนำเดิมของสังคมไทย ที่ยังวนเวียนอยู่กับการใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิม ภายใต้โจทย์ใหม่ที่มันเปลี่ยนไปแล้ว คุณไม่สามารถควบคุมความตื่นตัวทางการเมือง การเลือกตั้งได้ด้วยการรัฐประหาร นอกจากเข้าไปเล่นเกมในกติกาเดียวกัน เปรียบเทียบคือ ม้าพยศมันถูกปลุกขึ้นมาแล้ว และมันรู้แล้วว่าตัวมันไม่ต้องถูกลามโซ่

ในแง่นี้เป็นเรื่องที่น่าสงสารที่พวกเขาพยายามถอยกลับไป และพยายามทำให้การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบชนชั้นนำ ที่มีเพียงชนชั้นนำ 20 – 30 คน มีหัวหน้าพรรคการเมือง นักธุรกิจมองนั่งคุยกันแล้วมีทหารคุม เพื่อต่อรองเจรจาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง กำหนดนโยบายบนโต๊ะอาหารในห้องลับ โดยที่สื่อและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ พวกเขามีความฝันแบบนั้น ในแง่หนึ่งมันคือ การปราบพยศ ของประชาชนที่ตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย และต้องการใส่ประชาธิปไตยแบบเชื่องๆ เข้าไปในสำนึกประชาชนแทน

และด้วยความฝันแบบนี้ ศัตรูของชนชั้นนำจะไม่ได้มีเพียงแค่เสื้อแดง แต่นับรวมถึงคนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล สุเทพ เทือกสุบรรณ วีระ สมความคิด รสนา โตสิตระกูล กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน แกนนำชาวบ้านที่นครศรีธรรมราช กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาอย่างกลุ่มดาวดิน ฯลฯ ที่ต่อต้านทั้งทุน และรัฐ ที่จะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากชุมชน กลุ่มคนทั้งหมดเหล่านี้ก็จะถูมองว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับชนชั้นนำ

นานวันเข้าก็ยิ่งชัดเจนว่า คสช. มีฐานสนับสนุนทางสังคมที่แคบลงทุกที เพราะเขาไม่ต้องการให้กลุ่มในภาคประชาสังคมกลุ่มไหนเลยเคลื่อนไหวได้ เพราะสิ่งที่ คสช. ต้องการคือการสลายการเมืองภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการเมืองแบบกลุ่มเสื้อแดง หรือการเมืองแบบกลุ่ม กปปส. ในแง่นี้มันคือความพยายามกลับไปสู่การเมืองแบบน้ำเน่า การเมืองที่มีการประสานผลประโยชน์กันระหว่างชนชั้นนำเท่านั้น ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พูดให้ง่ายคือ การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นการจัดระเบียบทางการเมืองที่จะทำให้ชนชั้นนำทุกฝ่ายอยู่รอดต่อไปได้ในการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ต้องให้ชนชั้นนำฆ่ากันเอง และทำลายผลประโยชน์ของกันและกัน

ฉะนั้นคนที่โดนผลกระทบจากการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่นักการเมือง กระทั่งไม่ใช่แม้แต่เครือข่ายอำนาจของทักษิณ เพราะเขาสามารถที่รอมชอมกันได้ เขาจะมาสู้กันให้แตกหักทำไม และอย่างที่ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทยในระยะใกล้ๆ นี้ถ้าคุณฟาดฟันกันมากเกินไปก็จะเสียหายกันทุกฝ่าย เพราะเป็นช่วงที่เบาะบางมาก เขาก็ต้องพยายามเกาะเกี่ยวกันไว้ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องทำให้ทักษิณมีอำนาจน้อยลงกว่าเดิม เหมือนที่เคยเป็นก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 จำเป็นต้องทำให้ทักษิณไม่สามารถเป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ 

ในแง่นี้ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันจึงตอบโจทย์ เพราะระบบนี้สามารถที่จะผลิตรัฐบาลผสม และยากที่พรรคการเมืองได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ถ้าทักษิณไม่ได้เสียงเกินครึ่งทุกอย่างก็จบ ไม่สำคัญว่าพรรคอื่นจะได้เสียงเท่าไร พรรคที่เหลือก็ไปรวบรวมเสียงมาให้ได้เสียงเกินครึ่ง ที่สุดแล้วทักษิณก็จะกลายเป็นเสียงส่วนน้อย หรือหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อำนาจก็จะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้องแบ่งอำนาจให้กับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ด้วย มันก็จะกลายเป็นเรื่องการตกลง ต่อรองกันระหว่างชนชั้นนำของพรรคการเมืองไป

ประชาไท :  การมองแบบนี้ทำให้นึกเรื่อง The Hunger Games ภาค 2 ที่ผู้คุมเกมพยายามออกแบบสถานการณ์ให้ แคทนิส เอเวอร์ดีน ต้องฆ่าผู้เล่นในเกมส์เพื่อความอยู่รอด แต่เมื่อใดก็ตามถ้าแคทนิสฆ่าพวกเดียวกัน ความชอบธรรมในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็จะน้อยลงไปทันที่ ขณะเดียวกันย้อนกลับมามองตามมุมมองของคุณ ทักษิณ และเพื่อไทย กำลังตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือกแบบนี้หรือไม่

ประจักษ์ : แทบจะไม่ต้องเลือก เพราะการออกแบบระบบการเมืองแบบนี้เป็น การที่ชนชั้นนำเดิมยิงปืนแล้วได้นกสองตัวคือ สามารถบีบทักษิณให้เลิกเล่นการเมืองมวลชน ซึ่งสัญญาณก็เห็นชัดเจน และถึงที่สุดแล้วทักษิณเป็นเพียงผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้ศรัทธาในประชาธิปไตยอย่างจริงจัง

ประชาไท : การมองแบบนี้เท่ากับว่า ชนชั้นนำเดิมดูถูกประชาชนเกินไปหรือไม่

ประจักษ์ : แน่นอน พวกเขาทั้งกลัว และดูถูกประชาชนในเวลาเดียวกัน เพราะเขากลัวประชาชน เขาเลยพยามยามออกแบบระบบการเมืองที่พิสดาร เพื่อตัดอำนาจออกจากมือประชาชนให้มากที่สุด จริงอยู่ที่เมื่อก่อนเขาดูถูกประชาชนอย่างเดียว แต่หลังจากปี 2540 เป็นต้นมาเขาเห็นแล้วว่าเมื่อประชาชนรวมตัวกันมันมีพลังมาก และยิ่งประชาชนไปเชื่อมต่อกันพรรคการเมือง และกระบวนการการเลือกตั้ง ทำให้เกิดพลังที่ชนชั้นนำเดิมคุมไม่ได้ และวิธีที่ปราบความพยศนี้คือ สิ่งที่กำลังทำกันอยู่คือ การออกแบบระบบการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นการเด็ดหัวขบวน หรือผู้นำพรรคการเมืองให้มาเล่นเกมเดิม ซึ่งเคยเล่นกันมาก่อนปี 2540 ซึ่งตอนนี้ทักษิณเองก็แสดงแนวโน้มแล้วว่า จะเล่นเกมประนีประนอม ตัดขาดจากเสื้อแดง นักการเมืองเพื่อไทยจำนวนมากก็ไม่ได้มีอุดมการณ์อยู่แล้ว ไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาชน บางคนก็รังเกียจขบวนการเสื้อแดงด้วยซ้ำ มองว่าเป็นตัวที่ทำให้พรรคมีปัญหา และชอบเล่นเกมแตกหัก ถ้าชนชั้นนำทำตรงนี้สำเร็จก็จะเป็นการทำลายความเข้มแข็งของเพื่อไทย และบีบให้เสื้อแดงอยู่ในหนทางที่ลำบากด้วย   

ขบวนการภาคประชาชนอย่างเดียวที่ไม่มีพรรคการเมืองในระบบก็ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มาก ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่มีฐานมวลชนของตัวเองก็ทำอะไรมากไม่ได้ ฉะนั้นการเชื่อมต่อกันระหว่างเสื้อแดง และเพื่อไทย กลายเป็นตัวละครทางการเมืองที่ไม่สามารถมีใครทำลายได้ ดังนั้นชนชั้นนำเดิมจึงพยายามตัดสายสัมพันธ์นี้ออก ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ต้องไปทำอะไร เพราะอ่อนแอในตัวเองอยู่แล้ว

ภายใต้ระเบียบการเมืองแบบใหม่ที่สร้างขึ้นมา คสช. ก็พยายามไม่เปิดโอกาสให้ใครออกมารวมตัวเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เหมือนที่เคยมีมาได้อีกแล้ว แต่ว่าถึงวันหนึ่งผมก็หวังว่า ประชาชนของทุกฝ่ายจะตระหนักได้ และเห็นแล้วว่าถึงที่สุดตัวเองคือ ฝ่ายที่พ่ายแพ้ในเกมการต่อสู้ แม้ว่าความคิดเห็นของประชาชนทั้งสองฝ่ายจะแตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วในระดับประชาชน เชื่อว่าไม่มีใครยอมรับระบอบอำนาจนิยมแน่นอน ทุกคนต่างก็มีนิยามประชาธิปไตย ที่ต้องการจะให้เป็นในแบบของตัวเอง และถ้าเราปล่อยให้มีการต่อสู้ ถกเถียงในระดับประชาชน โดยที่กองทัพไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เรายังสู้กันได้เรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย และยิ่งจะยกระดับความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท