อเมริกา: ความเป็นส่วนตัวภายใต้เสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์ที่เสื่อมโทรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ภายหลังประธานาธิบดี โอบาม่า ของสหรัฐอเมริกา ออกมายืนยันการสังหารนาย “โอซาม่า บินลาเดน” (Osama Bin Laden) เมื่อ 2 พฤษภาคม ปี 2011 ซึ่งคือผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ที่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วินาศกรรมก่อการร้าย 11 กันยายน 2001 เมื่อ 13 ปีก่อน โดยการสังหารครั้งนี้สร้างความฮือฮาปนความสะใจให้แก่คนอเมริกันจำนวนมากที่ต้องการตัวผู้สังหารเพื่อนร่วมชาติของพวกเขามารับโทษต่อความผิดที่ได้กระทำ ถึงกระนั้นเวลาแห่งความสุขก็มักจะสั้นเสมอ กระแสความหวาดกลัวและความกังวลของคนอเมริกันต่อการล้างแค้นของผู้ก่อการร้ายที่มุ่งเป้าหมายมาที่ดินแดนอเมริกาอันกว้างใหญ่ได้เริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่บินลาเดนถูกลอบสังหารในเดือนพฤษภาคม 2011 ชื่อของอัลกออิดะกลุ่มบินลาเดนยังคงปรากฏให้เห็นเป็นประจำในข่าวทั่วโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้อัลกออิดะห์ได้รับการเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ระเบิดโจมตีในอิรักและความขัดแย้งในประเทศมาลี, การปะทะกันในเยเมน  การโจมตีและการลักพาตัวในอัฟกานิสถาน[2]

13 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ตามรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุรายชื่อ “กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ” มีมากมายถึง 59 กลุ่ม โดยกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ได้ออกมาพูดจาข่มขู่และดำเนินการก่อเหตุร้าย ขณะที่ รัฐบาลกรุงวอชิงตัน และชาติพันธมิตรในตะวันตกได้ปฏิบัติการตอบโต้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย มาอย่างต่อเนื่อง[3]

โลกตะวันตกและชาติพันธมิตรกับสหรัฐ ฯ ถึงขึ้นต้องออกมาแสดงตัวโดยเปิดเผยหรือผ่านองค์กรระหว่างประเทศว่าจะเตรียมรับมือกับภัยการก่อการร้ายครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและคาดว่าจะถึงขั้นรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา  กระแสความกังวลดังกล่าวนี้คนอเมริกันจำนวนมากได้ออกมาทวงถามถึงมาตรการที่จะใช้รับมือกับภัยอันตรายที่ไม่คาดฝันนี้ต่อรัฐบาลของตน ว่าจะประกันความปลอดภัยในชีวิตของพวกเข้าได้อย่างไร?

จนในที่สุดเกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง ISIS เมื่อช่วงต้นปี 2014 ซึ่งผลสำรวจของ Pew research (2014) พบว่าคนอเมริกันจัดอันดับกลุ่มก่อการร้าย ISIS เป็นภัยคุกคามใหญ่อันดับที่สองต่อความมั่นคงของสหรัฐ ฯ รองจากกลุ่มอัลกออิดะห์ และการสำรวจความคิดเห็นของ NBC / Wall Street Journal แสดงให้เห็นว่า 94 % ของชาวอเมริกันได้ยินข่าวเกี่ยวกับนักข่าวสองคนที่ถูกฆ่าตัดคอโดยกลุ่ม ISIS ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รับรู้สูงสุดและสังคมอเมริกันให้ความสนใจ[4]

ความเหี้ยมโหดของกลุ่ม ISIS ได้ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาออกมาแถลงแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการกลุ่ม ISIS ต่อชาวอเมริกันเมื่อคืนวันพุธที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา (2014) ด้วยการขยายปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่ม ISIS ตามแนวชายแดนของซีเรีย ซึ่งถือเป็น “รังใหญ่” ของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ โดยประธานาธิบดีโอบามา ยังประกาศกร้าวว่า จากนี้ไป จะไม่มีสวรรค์ที่พักพิงของกลุ่ม ISIS ในซีเรีย หรือไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ในโลก[5]

กระแสดังกล่าวนี้ทำให้สังคมอเมริกันรวมถึงชาติพันธมิตรหวนคิดถึงมาตรการการต่อต้านการก่อการร้ายลับขั้นสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ที่ถูกนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) เปิดโปงว่าเป็นวิธีที่คนอย่างสโนว์เดนกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานอย่างรุนแรงผ่านวิธีการที่รัฐบาลใช้ คือ การวิธีติดตาม สอดแนมชีวิตประจำวันการเคลื่อนไหวของประชาชนในประเทศ ซึ่งมีข้ออ้างว่าเพื่อต่อต้าน สืบหาและขัดขวางขบวนการการก่อการร้ายใต้ร่มความมั่นคงของชาติ โดยยุทธศาสตร์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เป็นต้นมา

บทความชิ้นนี้ผู้เขียนต้องการศึกษาและอธิบายสังคมอเมริกาในปัจจุบันซึ่งตกอยู่ในสภาวะความกลัวจากภัยการก่อการร้ายครั้งใหม่หลังผ่านเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 มา 13 ปี ว่าปัจจุบันความคิดเห็นของคนอเมริกันที่มีต่อมาตรการเผ้าระวังภัยการก่อการร้ายของรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มไปในทิศทางใด ? สนับสนุนหรือต่อต้าน เนื่องจากมาตรการนี้ให้อำนาจแก่หน่วยงานย่อยภายใต้หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ เคยถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นรุนแรง แต่ก็ยังมีคนอเมริกันบางส่วนให้การสนับสนุนมาตรการดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งบทสรุปของการวิเคราะห์ทั้งหมดมีผลกระทบต่อความเชื่อเรื่องเสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของสังคมอเมริกันหรือไม่? อย่างไร?  การศึกษาครั้งนี้จะใช้ข้อมูลจากผลสำรวจความเห็นของคนอเมริกันต่อมาตรการเผ้าระวังภัยการก่อการร้ายของ สำนัก Poll ชื่อดังอย่าง Pew research Center ประกอบการวิเคราะห์เป็นหลัก ซึ่งแบ่งประเด็นในการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ได้ดังนี้

 

มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายกับข้อกล่าวหาว่าบุกรุกเสรีภาพความเป็นส่วนตัว

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ผู้ซึ่งออกมาเปิดโปงโครงการสอดแนมลับขั้นสุดยอดของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ฯ (NSA) ภายใต้รหัสโครงการว่า “ปริซึม” (prism) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 สมัยรัฐบาล จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบหาข้อมูลการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์โจมตีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) ของสหรัฐ ฯ เมื่อเช้าวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมทำให้โลกตกตะลึงในการโจมตีประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึงเกือบ 3,000 คน

จากการเปิดโปงของสโนว์เดน โครงการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่คอยสอดส่อง ดักฟัง บันทึก เก็บรวบรวมข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์ และกิจกรรมออนไลน์บนโลกอินเตอร์เน็ตของพลเมืองอเมริกันรวมถึงผู้ใช้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตนอกประเทศอย่างกว้างขวางเพื่อนำมาตรวจสอบและเก็บรักษาไว้คล้ายกับคลังข้อมูลติจิตอล (digital data) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โครงการลับสุดยอดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อปูทางให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติหรือ National Security Agency (NSA) พร้อมด้วยหน่วยสืบราชการลับ (CIA) และสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) สามารถจารกรรมข้อมูลส่วนตัวของอเมริกันชนและผู้ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศนี้ ด้วยการเจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีของสหรัฐฯ 9 แห่ง ได้แก่ ไมโครซอฟท์, กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ยาฮู, แอปเปิล, เอโอเแอล, พาลทอล์ค, สไกป์, และยูทูบ ซึ่งยินยอมพร้อมใจเปิดช่องทางพิเศษนี้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหาข้อมูลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ ภาพถ่าย คลิปเสียง หรือคลิปภาพเคลื่อนไหว[6]  ซึ่งการกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้รัฐบัญญัติการสอดส่องดูแลข่าวกรองต่างประเทศ (FISA)

หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ รายงานว่า ภายใต้โครงการปริซึม รัฐบาลจะสามารถเข้าไปดึงข้อมูลจาก server ของบริษัทสื่อสารทั้ง 9 รายได้โดยตรงและไม่ต้องขอหมายศาลเพื่อทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีการรายงานข้อมูลเหล่านี้ในแต่ละเดือน อย่างในปีที่แล้วมีรายงานออกมาทั้งหมด 24,005 ฉบับ และที่ผ่านมามีการใช้ข้อมูลจากโครงการปริซึมเพื่ออ้างอิงในรายงานราชการลับกว่า 77,000 ฉบับ[7] จนนำมาสู่การทวงถามจรรยาบรรณของบริษัทถึงมาตรการคุ้มครองและปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ทั้ง 9 บริษัท ที่ต่างกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวของตนอาจจะรั่วไหลไปสู่พื้นที่สาธารณะได้

จากรายงานพบว่า ตั้งแต่ปี 2010 หน่วยงานที่ความมั่นคงแห่งชาติหรือ (NSA) ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการสนทนาผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) กว่า 2 พันล้านข้อความ รวมถึงการดักฟังโทรศัพท์และการสื่อสารของคนอเมริกันอย่างใกล้ชิดเกือบทุกวัน  และอดีตที่ผ่านมาโปรแกรมการสอดแนมดังกล่าวยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องในสังคมอเมริกา ซึ่งข้อมูลการสื่อสารเหล่านั้น ล้วนเป็นความกังวลของรัฐบาลต่อพลเมืองของตน ว่าอาจเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดโดยยึดโยงกับเครือข่ายก่อการร้าย และมาตรการขัดขวางการก่อการร้ายดังกล่าวในประเทศอเมริกาปัจจุบันนี้ อนุญาตให้ หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ทำหน้าที่นี้ต่อไป อย่างน้อยเพื่อโดยจุดมุ่งหมายในการปกป้องประเทศสหรัฐอเมริกาจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอนาคต[8]

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่ามาตรการการดักฟังและสอดแนมอย่างเข้มข้นของรัฐบาลสหรัฐ ฯ นี้มีขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์การก่อการร้าย 9/11 เป็นต้นมา ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ไม่ถึง 6 สัปดาห์ สภาคองเกรสได้ออกรัฐบัญญัติสร้างความเป็นปึกแผ่นและความแข็งแกร่งให้สหรัฐ ฯ โดยให้ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการสอดส่องและขัดขวางการก่อการร้าย หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า “รัฐบัญญัติแพทรีออท” (Patriot Act)[9] โดย“รัฐบัญญัติแพทรีออท” (Patriot Act) หรือ “รัฐบัญญัติรักชาติ” ได้รับการเซ็นอนุมัติโดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2001 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจใหม่เพื่อบังคับใช้ในประเทศและให้อำนาจแก่หน่วยข่าวกรองต่างประเทศในการสืบหาการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายผ่านการสอดแนมการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนอเมริกัน

 ในขั้นตอนการยื่นเสนอร่างกฎหมายนี้ได้มีสมาชิกวุฒิสภา 2 ท่านคือ Patrick Leahy ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตุลาการ และ Tom Daschle ประธานสภาเสียงข้างมากพยายามชะลอร่างกฎหมายดังกล่าว และ Russ Feingold เป็นสมาชิกคนเดียวที่ต่อต้านร่างกฎหมายนี้[10] โดยขอให้พิจารณาร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง

การสำรวจความเห็นของคนอเมริกันต่อ “รัฐบัญญัติแพทรีออท” (Patriot Act) หลังจากผ่านการเซ็นอนุมัติมา 1 ปีรายงานของ Pew research (2011) ระบุว่า ในปี 2006 ประชาชน 39% บอกว่ามันเป็นเครื่องมือที่จำเป็น ส่วน 38% บอกว่ามันไปไกลเกินไปกว่าจะเผ้าระวังการก่อการร้าย และในปี 2004 ส่วนใหญ่ (39%) กล่าวว่ามันไปไกลเกินไปและคุกคามสิทธิเสรีภาพ แต่ผลสำรวจในปี 2011 กลับพบว่า ตัวเลขที่เห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อเผ้าระวังการก่อการร้ายมีเพิ่มมากขึ้นถึง 42 %[11] ข้อมูลเท่านี้ทำให้เราทราบว่าสังคมอเมริกันมีความเห็นค่อนข้างเห็นด้วยกับกฎหมายรัฐบัญญัติเผ้าระวังการก่อการร้าย (Patriot Act) เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

หลังจากกระแสข่าวการเปิดโปงเอกสารลับของ สโนว์เดน เกี่ยวกับมาตรการการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลสหรัฐ ฯ เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ประเด็นความเป็นส่วนตัวภายใต้เสรีภาพขึ้นพื้นฐานก็ได้ถูกขุดขึ้นมาพูดถึงในหมู่คนอเมริกันผู้รักเสรีภาพ และลามไปถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเข้มข้นอีกครั้งว่า วิธีการดังกล่าวที่รัฐบาลสหรัฐ ฯ ได้กระทำนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พูดถึงการมีชีวิตอยู่ในสังคมภายใต้พื้นที่ส่วนตัวอย่างรุนแรง การตั้งคำถามถึงมาตรการดังกล่าวนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงวงวิชาการและสังคมเมริกันจนไปถึงเวทีสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่างหนาหูว่าแท้จริงแล้ว ความเป็นส่วนตัวภายใต้เสรีภาพขั้นพื้นฐานกับความมั่นคงปลอดภัยของชาติ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ?  

 

“ความมั่นคงแห่งชาติ” กับ “เสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

 “มันคงจะเป็นความจริงสากล ที่การสูญเสียเสรีภาพภายในบ้านคือค่าใช้จ่ายสำหรับบทบัญญัติป้องกันอันตรายภายนอก ทั้งอันตรายที่แท้จริงหรือถูกเสแสร้งขึ้น”

(เจมส์ เมดิสัน กล่าวถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล 1798)

คำกล่าวข้างต้นเป็นการถกเถียงเรื่องการยอมเสียสละเสรีภาพเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติอเมริกาในอดีต  ซึ่งเป็นการปะทะกันครั้งแรกเริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อตั้งสาธารณรัฐ ในประเด็นเรื่องการจำกัดอำนาจรัฐบาลเป็นเรื่องเจตจำนงเอกฉันท์ของสังคมอเมริกา วิธีการหนึ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาคือ “การเรียกร้องให้กำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐบาลไม่อาจละเมิดได้”[12]

“เสรีภาพ” กับ “ความมั่นคง” ถือเป็นหนึ่งในคู่ชกตลอดกาลในการเมืองอเมริกา ทั้งนี้เพราะแนวคิดเรื่องความมั่นคงเป็นความชอบธรรมพื้นฐานที่สุดที่อนุญาตให้รัฐสามารถใช้อำนาจต่อประชาชน ในขณะเดียวกัน เสรีภาพก็เป็นความชอบธรรมพื้นฐานที่สุดที่อนุญาตให้ประชาชนปฏิเสธอำนาจรัฐ แม้แต่ในดินแดนเสรีภาพ ข้ออ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาลดทอนพื้นที่เสรีภาพบ่อยที่สุด จวบจนปัจจุบันก็คือข้ออ้างเรื่อง “ความมั่นคง” หรือถ้อยคำอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน[13]

ในสหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ “ความยุติธรรมผ่านกฎหมาย” เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศสหรัฐ ฯ ซึ่งศาลสูงของสหรัฐ ฯ  ได้พัฒนาขึ้นโดยเน้นถึงความสำคัญของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการดำเนินคดีอาญาเป็นหลัก

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ว่าด้วยเรื่องการให้ความคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลนั้นอยู่ในบทแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 10 (First Amendment to Tenth Amendment) หรือเรียกว่า “Bill of Rights” นี้เป็นที่มาของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแนวรัฐธรรมนูญดังกล่าว สิทธิต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ใน Bill of Rights มีอยู่หลายประการด้วยกันที่เกี่ยวข้องกันอันได้แก่สิทธิที่บัญญัติไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4,5,6,7,8[14]

อาจจะกล่าวได้ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ว่าด้วยเรื่องการให้ความคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลนั้นอยู่ในบทแก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 10 นั้นถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อทางด้านการเมืองที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองในเรื่องค่านิยมประชาธิปไตยของคนอเมริกัน กล่าวคือ “ความเป็นอเมริกัน” นั้นได้สะท้อนผ่านวัฒนธรรมทางการเมืองในเรื่องค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในตัวบุคคลหรือปัจเจกชนนิยม ซึ่งผสมผสานกับหลักการประชาธิปไตยที่ว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทั้งความเท่าเทียมทางด้านโอกาสในความอิสระที่กระทำอะไรก็ได้ภายใต้การตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สร้างประชาธิปไตยโดยประชาชนเป็นใหญ่ที่เข้มแข็ง

ปัจเจกชนนิยมจึงขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับรัฐนิยม คนอเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญต่ออำนาจอย่างพวกนิยมเผด็จการ หรือ อำนาจนิยม “รัฐนิยม” ซึ่งเน้นความสำคัญของรัฐเหนือบุคคล ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐเพื่อความอยู่รอดและความยิ่งใหญ่ของรัฐ บุคคลต้องสละเสรีภาพและความต้องการส่วนตัวเพื่อรัฐ เป็นต้น

ประเด็น “การให้อำนาจรัฐในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว” ถือว่าเข้าข่ายการให้อำนาจรัฐอยู่เหนือตัวประชาชนในระดับบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยใช้อำนาจศาลและกฎหมายเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและขัดกับหลักการเกี่ยวกับสิทธิที่บัญญัติไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 (The Fourth Amendment)[15] ที่มีใจความว่า “สิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกายเคหะสถาน และทรัพย์สิ่งของจากการถูกตรวจค้นหรือยึด โดยไม่มีสาเหตุอันควรจะละเมิดมิได้และจะออกหมายเพื่อกระทำดังกล่าวใด ๆ ไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันควรเชื่อถือ ซึ่งได้รับการยืนยันด้วยคำสาบานหรือคำปฏิญาณและโดยเฉพาะต้องระบุสถานที่ที่จะค้นหรือบุคคลที่จะจับกุมหรือสิ่งที่จะยึดไว้ในหมายนั้น”

หนึ่งในข้อกังวลของผู้สนับสนุนความเป็นส่วนตัวและผู้นิยมเสรีภาพพลเมืองได้ออกมาประณามกฎหมาย “รัฐบัญญัติรักชาติ (Patriot Act)” คือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายได้ลดอำนาจตุลาการในการกำกับดูแลการสอดส่องอิเล็กทรอนิกส์ลงด้วยการทำให้กระบวนการอนุมัติของศาลในการดักฟังการสื่อสารส่วนตัวทางอินเตอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก กฎหมายใหม่ยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอ “หมายศาลเปล่า” ได้ในทางปฏิบัติ กล่าวคือกฎหมายใหม่ให้อำนาจออกหมายศาลในการดักฟังโทรศัพท์แบบ “กระจัดกระจาย” ที่ไม่จำเป็นต้องระบุพื้นที่ในการค้นอย่างชัดเจนหรือจำกัดว่าสามารถักฟังได้เพียงบทสนทนาของเป้าหมายเท่านั้น[16]

ซึ่งทั้งที่ในกฎหมายระบุไว้ว่า การดักฟังหรือการใช้เครื่องมือใด ๆ ในการบันทึกการสื่อสารของผู้อื่นโดยที่ไม่มีการอนุมัติจากศาลก่อนถือเป็นอาชญากรรมระดับสหพันธรัฐ และการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการดักฟังโทรศัพท์หรือการดักฟังทางอิเล็กทรอนิกส์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นอาชญากรรมระดับสหพันธรัฐเช่นเดียวกัน  มาตรการทางกฎหมายเหล่านี้ยังรวมไปถึงกลไกเชิงกระบวนการที่จะจำกัดอำนาจของรัฐในการเข้าถึงการสื่อสารส่วนตัวและเทปบันทึกการสื่อสารอีกด้วย[17]

ในช่วงปลายปี 2005 มีข่าวว่าประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้มีอำนาจในสภาความมั่นคงแห่งชาติมีการตรวจสอบสายโทรศัพท์และอีเมลได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล – ซึ่งปราศจากความกังวลในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พรรคเดโมแครท  จากต้นปี 2006 ถึงต้นปี 2009 การสนับสนุนจากประชาชนสำหรับโปรแกรมดังกล่าวนี้ มีตั้งแต่ 48% ถึง 54% คำถามนั้นถามว่า มันคือสิ่งถูกต้องหรือผิด  "ที่ให้รัฐบาลมีการตรวจสอบ ติดตามโทรศัพท์และ e-mail ในการสื่อสารของชาวอเมริกันที่สงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับการก่อการร้ายโดยไม่ต้องรับอนุญาตจากศาล"[18]

ถึงแม้ว่าข้อครหาของมาตรการเผ้าระวังการก่อการร้ายของรัฐบาล ที่ถูกโจมตีจากคนอเมริกันผู้รักในเสรีภาพว่า วิธีการดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมาตรการที่อาศัยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือใหม่ที่มอบอำนาจแก่หน่วยงานความมั่นคงทำการสอดแนมประชาชนของตนผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่  ซึ่งการกระทำครั้งนี้เป็นการบุกรุกเสรีภาพของพลเมืองในเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เข้มข้นกว่าครั้งไหน ๆ ที่ผ่านมา และสังคมอเมริกันไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับคนอเมริกันบางส่วนแล้ว การเสียสละเสรีภาพความเป็นส่วนตัวกลายเป็นราคาที่ยอมรับได้ เพื่อให้รัฐบาลประกันความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการก่อการร้ายหรือการก่ออาชญากรรมที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา[19] สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดที่สุดเกี่ยวกับปรากฏการณ์การยอมรับมาตรการการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้นโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศของคนอเมริกันนั้น บางส่วนเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บูช สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อปี 2004 โดยมีคะแนนเสียงถล่มทลายกลายเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมจากประชาชน (Popular vote) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ  สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเห็นของคนอเมริกันต่อการยอมรับนโยบายสายเหยี่ยวตามอุดมการณ์ของพรรครีพับลิกันที่มุ่งใช้กำลังเพื่อสร้างความเป็นใหญ่ของประเทศและในการขจัดภัยความมั่นคงจากภายนอกที่รุกรานสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันการถกเถียงในประเด็นเรื่อง ความเป็นส่วนตัวภายใต้เสรีภาพขั้นพื้นฐานกับความมั่นคงปลอดภัยของชาติ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ?  ในสังคมอเมริกันนั้นยังมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในสภาวะความกลัวในความหวาดระแวงต่อภัยการก่อการร้ายครั้งใหม่ ประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากสังคมอเมริกันมากกว่า

ผลสำรวจในปี 2013 จากบทความของ Pew Research Center (2013)[20] ในหัวข้อ “Majority Views NSA Phone Tracking as Acceptable Anti-terror Tactic” พบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ 56% กล่าวว่าโปรแกรมการต่อต้านการก่อการร้ายของ NSA โดยการดังฟังและบันทึกข้อมูลสนทนาทางโทรศัพท์คนอเมริกันเกือบหนึ่งล้านคนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพื่อให้รัฐบาลสืบสวนหาขบวนการกลุ่มก่อการร้ายผ่านการติดตามตรวจสอบกิจกรรมในแต่ละวันของคนอเมริกัน

การสำรวจระดับชาติครั้งใหญ่ของ Pew Research Center และThe Washington Post ของเดือนมิถุนายม 2013 ในบทความเดียวกันโดยซุ่มสำรวจความเห็นของคนอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ประมาณ 1,004 คน พบว่าข้อบ่งชี้เกี่ยวกับความเห็นของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประเด็นการสอดแนม บันทึกเก็บข้อมูลทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลว่า ความสมดุลระหว่างการสืบสวนการก่อการร้ายกับความเป็นส่วนตัว พบว่า 62% การสืบสวนการก่อการร้ายโดยกระทบความเป็นส่วนตัวมันยังมีความสำคัญอย่างมากเพื่อให้รัฐบาลได้สืบสวนหาความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อการร้ายอีกครั้ง แต่มีเพียง 34% กล่าวว่ารัฐบาลไม่มีความความสำคัญที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและควรจะจำกัดความสามารถในการสืบสวนสอบสวนความเป็นไปได้ที่จะเกิดการคุกคามของกลุ่มก่อการร้ายอีกด้วย

การสำรวจนี้ยังพบอีกว่าถึงแม้จะมีความชัดเจนในเรื่องความแตกต่างของโปรแกรมเฝ้าระวังการก่อการร้ายของ NSA ระหว่างการบริหารงานของบุชและโอบามา แต่สิ่งที่คล้ายกันคือปฏิกิริยาของประชาชนมีการการยอมรับมาตรการของ NAS โดย 56% กล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ว่า NSA - ได้รับคำสั่งศาลที่เป็นความลับในการติดตามการใช้โทรศัพท์ของประชาชนชาวอเมริกันในความพยายามที่จะตรวจสอบการก่อการร้าย[21] เป็นต้น

 

 

บทความของ Scott Bomboy (2014) ที่พูดถึงประเด็นคนอเมริกันยอมขายเสรีภาพภายใต้ความเป็นส่วนตัวให้กับรัฐบาลเพื่อแลกมาซึ่งความมั่นคงของชาติ ในหัวข้อ “The price of privacy in a post-9/11 world” ซึ่งระบุว่าชาวอเมริกันได้สะท้อนความเห็นถึงวันครบรอบ 13 ปีของการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ว่ามีการถกเถียงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความสมดุลที่เหมาะสมของ สิทธิความเป็นส่วนตัวและปัญหาด้านความมั่นคงของชาติว่าสิ่งไหนที่จำเป็น ?

ข้อมูลการสำรวจความเห็นของคนอเมริกันในประเด็นนี้ พบว่าผ่านมา 13 ปีแสดงให้เห็นถึงกระแสสังคมที่สนับสนุนในเสรีภาพความเป็นส่วนตัวพยายามกัดเซาะมาตรการของรัฐบาลที่จำกัดความเป็นส่วนตัวของคนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดเผยเกี่ยวกับขอบเขตของการสอดแนมและเฝ้าระวังการก่อการร้ายของหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติหรือ (NSA) แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงที่จะยอมรับการเฝ้าระวังของรัฐบาล[22] ซึ่งเห็นว่าเป็นราคาที่พวกเขาจะจ่ายเพื่อขัดขวางการโจมตีของผู้ก่อการร้าย เนื่องจากชาวอเมริกันเชื่อว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีความปลอดภัยน้อยลงถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ 11 กันยายน 2001 การโจมตีของผู้ก่อการร้ายตามที่ใหม่ข่าวเอ็นบีซี / วอลล์สตรีทเจอร์นัลสำรวจความคิดเห็น 70% กล่าวว่าประเทศที่มีความปลอดภัยน้อยลงขณะที่เพียง 26% บอกว่ามันเป็นความปลอดภัยมากขึ้นนั่นคือเมื่อเทียบกับผลที่ได้จากกันยายน 2002 (เพียง 20% บอกว่าประเทศมีความปลอดภัยน้อยกว่า) และจากปีที่แล้ว (เมื่อมันเป็น 28%) และการสำรวจความคิดเห็นพบว่ากว่า 6 ใน 10 ผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าการดำเนินการทางทหารกับกลุ่มหัวรุนแรงอิสลาม ISIS อยู่ในความสนใจของคนในประเทศ[23]

บทความ ของ Carroll Doherty (2013)[24]  เผยแพร่สาธารณะ ผ่านเว็บไซด์ Poll ชื่อดัง อย่าง Pew Research Center ในหัวข้อ “Balancing Act: National Security and Civil Liberties in Post-9/11 Era” ระบุว่า มีการเปิดเผยว่าการบริหารงานของโอบามา แอบเก็บบันทึกข้อมูลทางโทรศัพท์และเข้าถึงกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตของคนอเมริกันนับล้าน ทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับความตั้งใจของประชาชนที่จะเสียสละเสรีภาพให้แก่ผลประโยชน์ในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ชาวอเมริกันโดยทั่วไปมีค่านิยมในการป้องกันการก่อการร้ายเหนือกว่าเสรีภาพของตนเอง แต่พวกเขาก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการทำเลยเถิดของรัฐบาลในการรุกรานความเป็นส่วนตัวของพวกเขา

ตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์ 9/11 มีการทำวิจัยโดยถามถึงความกังวลที่มีมากขึ้นของผู้คนในสังคมว่า นโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายจะไปไกลเกินกว่าการป้องกันประเทศโดยเข้าไปมีส่วนในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพหรือไม่ ?

ในส่วนของการป้องกันประเทศ คนอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วย จากข้อมูลในปี 2010, 47% กล่าวว่าพวกเขามีความคิดว่านโยบายของรัฐบาล "ไม่ได้ไปไกลกว่าเรื่องการปกป้องประเทศ" แต่ในขณะที่ 32% กล่าวว่าพวกเขากังวลมากขึ้นว่า "การกระทำของรัฐบาลได้ไปไกลเกินกว่าการป้องกันประเทศโดยเข้าไปมีส่วนในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง"  

จะเห็นได้ว่าประเด็นการถกเถียงเรื่อง “ความเป็นส่วนตัวภายใต้เสรีภาพขั้นพื้นฐานกับความมั่นคงปลอดภัยของชาติ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ?”  ในสังคมอเมริกันปัจจุบันนั้นเมื่อเทียบจากผลสำรวจข้างต้นพบว่า กระแสการยอมรับและอนุญาตให้รัฐบาลใช้มาตรการการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาล ด้วยวิธีการสอดแนม ดักฟัง เก็บข้อมูลการสื่อสารและตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของประชาชนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาตินั้น ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับมากกว่าการต่อต้านจากกลุ่มผู้รักในเสรีภาพที่โจมตีวิธีการดังกล่าวของรัฐบาลว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล ประเด็นความกลัวภัยการก่อการร้ายครั้งใหม่รวมถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม ISIS ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2014 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเป็นข้ออ้างใหม่ของรัฐบาลที่จะนำเอาโปรแกรมเผ้าระวังการก่อการร้ายในรูปแบบของการสอดแนมชีวิตประจำวันของคนอเมริกันกลับมาใช้อีกครั้ง

 

 

โดยเฉพาะประเด็นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ISIS ดูเหมือนสังคมอเมริกันทุกภาคส่วนจะเห็นด้วยกับการให้รัฐบาลต่อต้านและทำลายกลุ่ม ISIS ผลสำรวจของ Pew research Center ที่ดำเนินการในช่วงวันที่ 15-20 ตุลาคม 2013 จากการสำรวจผู้ใหญ่จำนวน 1,003 คน พบว่า 57% เห็นด้วยกับการรณรงค์ทางทหารสหรัฐกับก่อการร้ายอิสลามในอิรักและ ซีเรียขณะที่เพียง 33% ไม่เห็นด้วย การสนับสนุนสูงที่สุดในบรรดารีพับลิกัน (68%); เสียงข้างมากของพรรคประชาธิปัตย์ (54%) และที่ปรึกษา (55%) นอกจากนี้ยังอนุมัติ เป็นต้น[25]

 

บทสรุป

13 ปีหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ที่ผ่านมาสังคมอเมริกันต่างตกอยู่ในสภาวะแห่งความหวาดระแวงต่อภัยความรุนแรงของขบวนการการก่อการร้ายข้ามชาติที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงและสุดโต่งมากขึ้น จนในที่สุดเกิดปรากฏการณ์กลุ่มก่อการร้าย ISIS ขึ้นมายิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความน่ากลัวของภัยสงครามแบบกองโจรที่พร้อมจะสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของตนได้ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่สังคมอเมริกันจะสนับสนุนและยอมรับมาตรการดังกล่าวถึงกับขั้นยอมสูญเสียชีวิตความเป็นส่วนตัวเปิดทางให้รัฐบาลสืบสวนหาการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายได้อย่างอิสระเพื่อที่ต้องการให้รัฐบาลรับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

สำหรับผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้กับบทความนี้ว่า สภาวะความกลัวภัยก่อการร้ายของคนอเมริกันในปัจจุบันนี้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ความเชื่อของเหล่าอเมริกันชนเกี่ยวกับค่านิยมเรื่องเสรีภาพและความเป็นอิสระอย่างชัดเจน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์การก่อการร้าย 9/11 เป็นต้นมาจนมาถึงปี 2014 ที่มีกลุ่ม ISIS เกิดขึ้นนั้น ภัยก่อการร้ายที่ผูกติดกับความมั่นคงของชาติดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของสิทธิเสรีภาพในความเชื่อของสังคมอเมริกันตั้งแต่ระดับบุคคลเป็นต้นไปนั้นลดลง ข้ออ้างการเสียสละเสรีภาพส่วนตัวเพื่อความมั่นคงของชาติดูเหมือนจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้อำนาจรัฐบาลกลางหรือสหพันธรัฐอยู่เหนืออำนาจประชาชน กระแสอเมริกันชนในปัจจุบันเมื่อเทียบกับผลสำรวจข้างต้นที่หันไปสยบยอมต่ออำนาจรัฐบาลกลางเพื่อให้ขจัดความกลัวจากภัยการก่อการร้ายภายใต้มาตรการเฝ้าระวังการก่อการร้าย โดยหวังพึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารที่ดูแลเรื่องความมั่นคงของชาติสามารถเข้ามาแทรกแซง ดูแล ควบคุมตั้งกฎระเบียบในการใช้ชีวิตประจำวันของคนอเมริกันถึงขั้นระดับครัวเรือน ห้องนอน ห้องน้ำ เช้าถึงเย็น แม้กระทั้งโลกอินเตอร์เน็ตที่ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวสมัยใหม่ซึ่งยากแก่การเข้าถึง (มือพิมพ์สัมผัสผ่านความคิดที่คนภายนอกมองไม่เห็น) ยังกลายเป็นพื้นที่ที่ง่ายต่อการล้วงความลับส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แม้แต่ศาลที่เป็นอำนาจที่สำคัญ 1 ใน 3 ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจยังล้มเหลวในการควบคุมหรือถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดอนุมัติกฎหมายความมั่นคง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลกลางโดยเฉพาะฝ่ายบริหารมักอ้างเหตุผล “ความปลอดภัย” ประกอบการตัดสินใจ จนนำมาสู่การละเลยและไม่สนใจถึงผลกระทบของกฎหมายต่าง ๆ ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลสะท้อนที่เห็นถึงการให้คุณค่าต่อค่านิยมที่นับถือเสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของคนอเมริกันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อวาทกรรมการก่อการร้ายภายใต้ความกลัว ถูกผลิตขึ้นมาด้วยข้ออ้างความมั่นคงชาติ ทำประชาชนต่างยอมรับกฎระเบียบที่รัฐบาลกลางบัญญัติขึ้น โดยหมดข้ออ้างที่จะทัดทาน ทวงถามถึงเหตุผล และผลกระทบ 

อย่างกรณี กระแสการยอมรับมาตรการเผ้าระวังการก่อการร้ายของสังคมอเมริกันที่ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัวซึ่งยึดโยงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแยกขาดไม่ได้นั้น ดูเหมือนจะย้อนแย้งกับหลักการเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการต่อสู่ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองครั้นตั้งแต่ก่อตั้งประเทศว่าควรจะมอบอำนาจในการดูแลประเทศให้ประชาชนหรือรัฐบาลกลางที่เป็นตัวแทนคณะบุคคลของประชาชนกันแน่ แต่ท้ายที่สุดอำนาจดังกล่างกลับตกอยู่กับประชาชนผ่านการจัดตั้งรัฐธรรมนูญและเพิ่มเติมส่วนแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล (Bill of Rights) และกลายเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดฉบับแรกของโลก นับแต่ประกาศใช้เมื่อปี 1789 มามีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียง 27 ครั้งเท่านั้น  

 

 

 

บรรณานุกรม

-          Carroll Doherty,(2013) .“Balancing Act: National Security and Civil Liberties in Post-9/11 Era”. Retrieved from : http://www.pewresearch.org/fact-tank/2013/06/07/balancing-act-national-security-and-civil-liberties-in-post-911-era/. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2014.

-          Jeffifer Van Bergen,(2002).“The USA PATRIOT Act Legislation Rushed Into Law in the Wake of 9/11/01”. Retrieved from : http://911research.wtc7.net/post911/legislation/usapatriot.html  สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014.

-          Graeme Green.(2013).“Two years after the death of Osama bin Laden, where is al-Qaeda now?. Retrieved from : http://metro.co.uk/2013/04/11/two-years-after-the-death-of-osama-bin-laden-where-is-al-qaeda-now-3589455/  สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2014.

-          G. Alex,(2013). “NSA Surveillance Since 9/11 and the Human Right to Privacy” .Human Rights Watch ; American Civil Liberties Union. August 31, 2013.

-          Michael Marcovici ,“The Surveillance Society: The security vs. privacy debate”. BoD – Books on Demand, 2013.

-          Pew research Center.(2011).”Public Remains Divided Over the Patriot Act”. Retrieved from : http://www.pewresearch.org/2011/02/15/public-remains-divided-over-the-patriot-act/  สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2014.

-          Pew Research Center,(2013).“Majority Views NSA Phone Tracking as Acceptable Anti-terror Tactic” Retrieved from : http://www.people-press.org/2013/06/10/majority-views-nsa-phone-tracking-as-acceptable-anti-terror-tactic/. สืบค้นเมื่อ  3 ธันวาคม 2014.

-          Pew research Center ,(2014). “Support for U.S. Campaign against ISIS; Doubts about Its Effectiveness,Objectives” Retrieved from : http://www.people-press.org/2014/10/22/support-for-u-s-campaign-against-isis-doubts-about-its-effectiveness-objectives/ .สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2014.

-          Raymond Wacks, “Privacy a very short introduction” (แปลไทยโดย อธิป, ปวรรัตน์), กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิด์ส, 2014.

-          Scott Bomboy ,(2014) .“The price of privacy in a post-9/11 world” Retrieved from http://news.yahoo.com/price-privacy-post-9-11-world-142608537.html .  11 กันยายน 2014  สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน. 2014.

-          ตะวัน มานะกุล ,(2012) .“เสรีภาพ ความมั่นคง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์: บทเรียนจากอเมริกาสู่ไทย”. Retrieved from  http://thaipublica.org/2012/04/freedom-security-and-sacred/.  สืบค้นเมื่อ  28 พฤศจิกายน 2014.

-          ไทยรัฐออนไลน์. (2014).“CNN ชี้กลุ่มก่อการร้ายโผล่เพียบ !! ครบรอบ 13ปี เหตุการณ์9/11’’ . Retrieved from http://www.thairath.co.th/content/449570. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2014.

-          สุรนาท วงศ์พรหมชัย,(2551) “การตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์กับพยานหลักฐานในคดีอาญา”,กรุงเทพ ฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

-          สรินณา อารีธรรมศิริกุล,(2013) . “PRISM สายลับออนไลน์ จุดเสื่อมความไว้ใจโอบามา”. Retrieved from : http://www.siamintelligence.com/prism-program-spying-system-of-obama/ .สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน  2014 .

-          อิสรนันท์ ,(2013). “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน กับการเปิดโปง “พริซึมเกต”. Retrieved from : http://thaipublica.org/2013/06/edward-snowden-prism/สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014.

 



[1] นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะรัฐศาสตร์ สาขา การปกครอง ชั้นปีที่ 4 **ขอขอบคุณ ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ปรึกษาบทความ ซึ่งคอยให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และดูแลผู้เขียนตั้งเริ่มเขียนจนบทความเสร็จ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความนี้ทุกคน

[2] Graeme Green. (2013). “Two years after the death of Osama bin Laden, where is al-Qaeda now?. Retrieved from http://metro.co.uk/2013/04/11/two-years-after-the-death-of-osama-bin-laden-where-is-al-qaeda-now-3589455/  สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2014.

[3] ไทยรัฐออนไลน์. (2014). “CNN ชี้กลุ่มก่อการร้ายโผล่เพียบ !! ครบรอบ 13ปี เหตุการณ์9/11’’ . Retrieved from http://www.thairath.co.th/content/449570. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2014.

[4] Scott Bomboy ,(2014) .“The price of privacy in a post-9/11 world” Retrieved from http://news.yahoo.com/price-privacy-post-9-11-world-142608537.html .  สืบค้นเมื่อ  25 พฤศจิกายน  2014.

[5] ไทยรัฐออนไลน์. (2014). “CNN ชี้กลุ่มก่อการร้ายโผล่เพียบ !! ครบรอบ 13ปี เหตุการณ์9/11’’ . Retrieved from http://www.thairath.co.th/content/449570. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2014.

[6] อิสรนันท์ , (2013). “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน กับการเปิดโปง “พริซึมเกต”. Retrieved from : http://thaipublica.org/2013/06/edward-snowden-prism. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014.

[7] สรินณา อารีธรรมศิริกุล, (2013) . “PRISM สายลับออนไลน์ จุดเสื่อมความไว้ใจโอบามา”. Retrieved from: http://www.siamintelligence.com/prism-program-spying-system-of-obama/ 23 กรกฏาคม 2013 . สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน  2014 .

[8] G. Alex, (2013). “NSA Surveillance Since 9/11 and the Human Right to Privacy” .Human Rights Watch ; American Civil Liberties Union August 31, 2013. , p.59.

[9] Raymond Wacks, (2014), “Privacy a very short introduction (แปลไทยโดย อธิป, ปวรรัตน์),  p.139.

[10]Jeffifer Van Bergen, (2002) .“The USA PATRIOT Act Legislation Rushed Into Law in the Wake of 9/11/01”. Retrieved from : http://911research.wtc7.net/post911/legislation/usapatriot.html  สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน  2014.

[11]Pew research Center. (2011) .”Public Remains Divided Over the Patriot Act”. Retrieved from :http://www.pewresearch.org/2011/02/15/public-remains-divided-over-the-patriot-act/  15 พฤศจิกายน  2011 สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2014.

[12] ตะวัน มานะกุล , (2012) . “เสรีภาพ ความมั่นคง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์: บทเรียนจากอเมริกาสู่ไทย”. Retrieved from :http://thaipublica.org/2012/04/freedom-security-and-sacred/.  สืบค้นเมื่อ  28 พฤศจิกายน  2014.

[13] เรื่องเดียวกัน.

[14] สุรนาท  วงศ์พรหมชัย, (2551) “การตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์กับพยานหลักฐานในคดีอาญา”,กรุงเทพ ฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น . 102 .

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] Raymond Wacks, “Privacy a very short introduction (แปลไทยโดย อธิป, ปวรรัตน์), กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิด์ส, 2014 :  p.139.

[17] เรื่องเดียวกัน , p.143.

[18] Carroll Doherty, (2013) . ““Balancing Act: National Security and Civil Liberties in Post-9/11 Era”. Retrieved from  http://www.pewresearch.org/fact-tank/2013/06/07/balancing-act-national-security-and-civil-liberties-in-post-911-era/ .สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2014.

[19] Michael Marcovici , (2013). “The Surveillance Society: The security vs. privacy debate”. (BoD – Books on Demand, 2013) , p. 1 .

[20] Pew Research Center, (2013) . “Majority Views NSA Phone Tracking as Acceptable Anti-terror Tactic” Retrieved from http://www.people-press.org/2013/06/10/majority-views-nsa-phone-tracking-as-acceptable-anti-terror-tactic/  10 มิถุนายน. 2013 . สืบค้นเมื่อ  3 ธันวาคม 2014.

[21] เรื่องเดียวกัน.

[22] Scott Bomboy ,(2014) . “The price of privacy in a post-9/11 world” Retrieved from http://news.yahoo.com/price-privacy-post-9-11-world-142608537.html . สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน. 2014.

[23] Mark Murray, (2014). “Poll: Americans feel unsafe, support action against ISIS” Retrieved from http://www.msnbc.com/msnbc/poll-americans-support-action-against-isis  . สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2014.

[24] Carroll Doherty, (2013) . ““Balancing Act: National Security and Civil Liberties in Post-9/11 Era”  Retrieved from http://www.pewresearch.org/fact-tank/2013/06/07/balancing-act-national-security-and-civil-liberties-in-post-911-era/. สืบค้นเมื่อ  3 ธันวาคม 2014.

[25] Pew research Center , (2014). “Support for U.S. Campaign against ISIS; Doubts about Its Effectiveness, Objectives” Retrieved from http://www.people-press.org/2014/10/22/support-for-u-s-campaign-against-isis-doubts-about-its-effectiveness-objectives/ . สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2014.

 

[1] นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะรัฐศาสตร์ สาขา การปกครอง ชั้นปีที่ 4 **ขอขอบคุณ ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ปรึกษาบทความ ซึ่งคอยให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และดูแลผู้เขียนตั้งเริ่มเขียนจนบทความเสร็จ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความนี้ทุกคน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท