Charlie Hebdo: สามคำสำหรับผู้จากไปและผู้มีชีวิตอยู่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ฮารูฮิซะ คาโตะ เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ชาวญี่ปุ่นและอดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว เขียนข้อความถึงผม ความว่า

“ผมได้เห็นภาพประเทศฝรั่งเศสทั้งประเทศตกอยู่ในห้วงอาลัย ทั้งหมดทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจยิ่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมชื่นชอบผลงานของโวแล็งสกี[3] เป็นอย่างมาก ผมรับหนังสือพิมพ์ Canard enchaîné อยู่เป็นประจำและเพลิดเพลินกับตัวละคร “Beauf” ของกาบู[4] ในทุก ๆ สัปดาห์ ผมยังมีหนังสือการ์ตูนชุด Cabu et Paris รวมถึงภาพวาดลายเส้นสวย ๆ ที่เขาวาดนักท่องเที่ยวสาวชาวญี่ปุ่นกำลังเที่ยวเล่นกันบนถนนช็อง-เซลิเซ่ อยู่บนโต๊ะทำงานอยู่เลย”

แต่หลังจากนั้น เขาแสดงความวิตกกังวลว่า

“บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Le Monde ฉบับวันที่ 1 มกราคม เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า “โลกที่ดีกว่างั้นหรือ? คงต้องเริ่มจากการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) กับสาวกเถื่อนถ่อยพวกนั้นเสียก่อน”

ผมประหลาดใจมากกับข้อความดังกล่าว ผมคิดว่าเป็นเรื่องค่อนข้างขัดแย้งในตัวเองในการกล่าวว่าเราต้องการสงครามเพื่อสร้างสันติภาพ!”

ผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะมาจากตุรกี อาร์เจนติน่า สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ต่างเขียนข้อความถึงผม ทุกคนแสดงความเห็นอกเห็นใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ระคนด้วยความวิตกกังวล กังวลต่อความปลอดภัยของพวกเรา ต่อประชาธิปไตยของพวกเรา ต่ออารยธรรมของพวกเรา และคงรวมถึงจิตวิญญาณของพวกเราด้วย ผมอยากจะเขียนตอบผู้คนเหล่านี้ พร้อม ๆ กับตอบรับคำเชิญของหนังสือพิมพ์ Libération ที่ชักชวนให้ผมแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ปัญญาชนควรแสดงจุดยืนของตนเองออกมา มิใช่ด้วยการเข้าใจอะไรทะลุปรุโปร่งกว่าคนอื่นหรือรู้แจ้งเห็นจริงกว่าใคร ๆ แต่ยังต้องแสดงจุดยืนโดยไม่สงวนท่าทีและไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ นี่เป็นภาระหน้าที่ของปัญญาชนที่จะต้องแสดงความคิดของตนแก่คนอื่นเมื่อถึงโมงยามที่อันตราย ในวันนี้ ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน ผมอยากพูดถึงคำเพียงสามคำ

ชุมชน ถูกต้อง เราต้องการชุมชน เพื่อการไว้อาลัย เพื่อการเป็นหนึ่งเดียว เพื่อการปกป้องคุ้มครองกันและกัน เพื่อการครุ่นคิดไตร่ตรอง ชุมชนที่ว่าต้องไม่กีดกันผู้ใดออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองฝรั่งเศสหรือเป็นผู้อพยพ แต่ถูกป้ายสีว่าเป็นผู้รุกรานและก่อการร้าย โดยโฆษณาชวนเชื่อที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น ซึ่งชวนให้เราหวนระลึกถึงโมงยามอันมืดมิดในประวัติศาสตร์ เพื่อทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นแพะรับบาปต่อความหวาดกลัว ความเข้าใจผิด และความเสื่อมทรามของพวกเราเอง ชุมชนแห่งนี้ต้องไม่กีดกันทั้งผู้ที่เชื่อในสิ่งที่พรรคแนวหน้าแห่งชาติ[5] บอก และผู้ที่หลงใหลได้ปลื้มกับข้อเขียนของอูแอลเบค[6] ฉะนั้น ชุมชนจึงต้องสื่อสารกับตัวเอง และต้องไม่ยุติภายใต้เขตพรมแดนใด ๆ เพราะชัดเจนว่า การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึก ความรับผิดชอบ และความคิดริเริ่มที่จุดประกายขึ้นมาจาก “สงครามกลางเมืองของโลก” ในทุกวันนี้ จำต้องเป็นกิจกรรมที่กระทำร่วมกัน กระทำในระดับระหว่างประเทศ และหากเป็นไปได้ (เอ็ดการ์ โมแร็ง[7] กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ถูกต้องทีเดียว) ต้องกระทำภายใต้กรอบของ “การเมืองสากล” (Cosmopolitics)

นี่คือเหตุผลว่าทำไมชุมชนจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเป็นปึกแผ่นของชาติ” ในทางปฏิบัติ ชุดความคิดอย่างหลังรับใช้แต่เป้าหมายที่สกปรก เช่น การเหยียบปัญหาต่าง ๆ ไว้ให้เงียบ หรือทำให้ผู้คนเชื่อว่าสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่ขบวนการเสรีฝรั่งเศส[8] ก็ยังไม่ปลุกผีคำนี้ขึ้นมาใช้ (ด้วยเหตุผลที่ดี) ถึงตอนนี้ เราได้เห็นกันแล้วว่า ท่านประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้ฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากการประกาศวันไว้อาลัยแห่งชาติ อันเป็นอำนาจอย่างหนึ่งของเขา ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงด้วยกำลังทหารซึ่งเขามั่นอกมั่นใจว่าจะไม่ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายไปมากกว่านี้ ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง นับจากนั้น ข้อถกเถียงทั้งหมดก็ติดหล่มอยู่กับคำถามที่ว่าพรรคการเมืองใดที่เป็นและไม่ได้เป็นพรรค “แห่งชาติ” หรือพรรคแห่งชาติควรใช้ชื่อเดิมต่อไปหรือไม่ นี่เราอยากไปแข่งขันกับมาดาม เลอ แป็น[9] อย่างนั้นหรือ

การไม่ใยดี นักวาดการ์ตูนของ Charlie Hebdo ไม่ใยดีต่อสิ่งต่าง ๆ หรือเปล่า ใช่ แต่คำคำนี้มีสองความหมายที่พอจะแยกแยะง่าย ๆ ได้อยู่ (แน่นอนว่าความหมายของคำเป็นเรื่องค่อนข้างนานาจิตตัง) ความหมายแรกคือ ไม่นำพาต่ออันตราย ชอบความเสี่ยง บางคนอาจเรียกว่ากล้าหาญเยี่ยงวีรบุรุษ แต่อีกความหมายหนึ่งหมายถึงการเพิกเฉยต่อผลพวงอันอันตรายยิ่งจากการยั่วยุอย่างจงใจ ในกรณีนี้ การดูหมิ่นผู้คนนับล้านที่มีตราบาปกันอยู่แต่เดิมได้ส่งพวกเขาให้ไปอยู่ใต้การบงการขององค์กรจัดตั้งคลั่งศาสนา

ผมคิดว่าทั้งชาร์บและมิตรสหายของเขาไม่ใยดีในทั้งสองความหมาย ในวันนี้ ในวันที่ความไม่ใยดีพรากชีวิตพวกเขาไป ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นภยันตรายร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผมอยากคิดถึงเพียงความหมายแรกของคำว่าไม่ใยดีเท่านั้น แต่ในวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป (และไม่ได้สำคัญแค่กับวันใดวันหนึ่ง) ผมอยากให้พวกเราคิดไตร่ตรองด้วยปัญญาถึงวิธีในการรับมือกับคำว่าไม่ใส่ใจในความหมายที่สอง รวมทั้งครุ่นคิดว่ามันเชื่อมโยงกับความหมายแรกอย่างไร ครุ่นคิดโดยไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเราขี้ขลาดตาขาว

ญิฮาด ผมตั้งใจปิดท้ายด้วยคำที่ผู้คนหวาดกลัว เพราะเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการพิเคราะห์ถึงนัยความหมายทั้งหมดของคำคำนี้ ผมเพิ่งคิดอะไรได้ไม่มากนัก แต่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ กล่าวคือ ไม่ว่าคำคำนี้จะดูคลุมเครือเพียงใด แต่ชะตากรรมของเราอยู่ในกำมือของคนมุสลิม ทำไม? ก็เพราะว่า แม้การตักเตือนไม่ให้เราเหมารวม รวมถึงการตอบโต้ต่อกระแสเกลียดชังอิสลามที่อ้างว่าคัมภีร์อัล-กุรอานและหะดีษเรียกร้องให้ฆ่าผู้อื่น จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เท่านั้นยังไม่พอ

         
วิธีการเดียวในการตอบโต้กับการหาประโยชน์จากศาสนาอิสลามอย่างผิด ๆ ของเครือข่ายญิฮาด ซึ่งมีเหยื่อส่วนใหญ่ทั่วโลกและในยุโรปเป็นชาวมุสลิม เว้นแต่ว่าเราจะลืมข้อเท็จจริงนี้ไป ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเทววิทยาและปรับปรุง “สามัญสำนึก” ทางศาสนาให้ถึงแก่น เพื่อให้ชาวมุสลิมมองเห็นว่ากลุ่มหัวรุนแรงญิฮาดเป็นคนหลอกลวง ไม่เช่นนั้นเราทุกคนจะตกอยู่ในเงื้อมมือยมทูตของการก่อการร้ายซึ่งมีอำนาจในการจูงใจผู้คนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามทุกคนในสังคมที่อยู่ในวังวนของวิกฤต กับเงื้อมมือของ “นโยบายที่เน้นด้านความมั่นคง” (Securitarian policies) ซึ่งเป็นภัยต่อเสรีภาพ ทั้งยังเป็นนโยบายที่บังคับใช้โดยรัฐที่มีลักษณะเป็นรัฐทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ นี่จึงเป็นความรับผิดชอบหรือพูดให้ถูกคือเป็นภาระหน้าที่ของชาวมุสลิม กระนั้นก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเราด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงเพราะคำว่า “พวกเรา” ที่ผมกำลังกล่าวถึงในตอนนี้ โดยนิยามแล้วหมายถึงชาวมุสลิมจำนวนมาก แต่เพราะโอกาสในการวิพากษ์วิจารณ์และการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยจะสูญสลายไป หากเรายังคงยอมรับวาทกรรมแบ่งแยกที่โดยทั่วไปแล้ว มุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิม รวมถึงศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม.



[1] แปลจาก Etienne Balibar. “Three words for the dead and the living Verso. http://goo.gl/FdsMY1

[2] เอเธียน บาลิบาร์ (Etienne Balibar, 1942- ) นักปรัชญามาร์กซิสต์ชาวฝรั่งเศส

[3] ฌอช โวแล็งสกี (Georges Wolinski, 1934-2015) นักวาดการ์ตูนชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรม Charlie Hebdo

[4] กาบู เป็นนามปากกาของ ฌ็อง กาบู (Jean Cabut, 1938-2015) นักวาดการ์ตูนชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรม Charlie Hebdo

[5] พรรคแนวหน้าแห่งชาติ (Front National - FN) พรรคการเมืองฝ่ายขวาของฝรั่งเศส

[6] มิแชล อูแอบเบค (Michel Houellebecq, 1958- ) นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้มีจุดยืนต่อต้านศาสนาอิสลาม

[7] เอ็ดการ์ โมแร็ง (Edgar Morin, 1921- ) นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส

[8] ขบวนการเสรีฝรั่งเศส (La Résistance française) เป็นกองกำลังแห่งชาติที่ต่อต้านการยึดครองฝรั่งเศสโดยพรรคนาซีเยอรมัน

[9] มารี เลอ แป็น (Marie Le Pen, 1968- ) นักการเมืองชาวฝรั่งเศส หัวหน้าพรรคแนวหน้าแห่งชาติ (FN)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท