Skip to main content
sharethis

21 ม.ค.2558 สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนธันวาคม 2557 ว่า สูงสุดในรอบ 14 เดือน อยู่ที่ระดับ 92.7 เพิ่มจากระดับ 89.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2557 และนับเป็นการปรับตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ผลจากคำสั่งซื้อและยอดขายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมีการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2014 ช่วยให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้นและยังเป็นผลมาจากระดับราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเกื้อหนุนให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งลดลงด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ คือ อยากให้ภาครัฐเร่งพัฒนาระบบขนส่งและการคมนาคมให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พร้อมเร่งเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียู เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอยากให้ภาครัฐเร่งขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ให้กว้างขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ

คาดปีนี้ส่งออกโตร้อยละ 4

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่หดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงการที่ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (จีเอสพี) ผู้ประกอบการจึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเร่งเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียู เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน

สุพันธุ์ กล่าวต่อว่า กังวลการส่งออกของไทยปีนี้จะไม่ดี หากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ยังไม่ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกปีนี้ โดยคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 4 อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ระดับราคาน้ำมันปรับลดลงช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงเช่นกัน ภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวแข่งขันได้จะยังคงสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งบางสินค้าจำเป็นต้องซื้อไม่ว่าจะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

ส่วนการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ส.อ.ท.มีความเห็นว่าไม่ว่าจะมีการถอดออกจากตำแหน่งหรือไม่ ปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ คือ ต้องไม่มีประเด็นความไม่สงบหรือประท้วงเกิดขึ้นในประเทศ หากมีก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจได้

ธปท.คาดตัดสิทธิจีเอสพีเห็นผลไตรมาสแรก
 
จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คาดการณ์การขยายตัวมูลค่าการส่งออกไทยของ ธปท.ที่ร้อยละ 1 ปีนี้นั้น รวมปัจจัยเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่เป็นข่าวมานานพอสมควรไว้แล้ว โดยสินค้าส่งออกภายใต้สิทธิจีเอสพี ถูกตัดสิทธิทั้งหมดวันที่ 1 มกราคม 2558 จึงน่าจะเริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2558
 
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการส่งออกไทยน่าจะมีขนาดไม่มาก เนื่องจากสัดส่วนสินค้าส่งออกภายใต้สิทธิจีเอสพีไปสหภาพยุโรป (อียู) มีเพียงร้อยละ 4 ของการส่งออกรวมของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เสียภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2-6 (ยกเว้น สับปะรดกระป๋อง อาหารทะเลแปรรูป ที่เสียภาษีเพิ่มขึ้นมาก) อีกทั้งสินค้าบางส่วนยุโรปยังจำเป็นต้องนำเข้าจากไทย อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในรุ่นที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต
 
จิรเทพ กล่าวว่า ภาพรวมด้านการแข่งขันของไทยอาจค่อนข้างเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่ยังได้รับสิทธิจีเอสพี คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศคู่แข่งที่โดนตัดสิทธิจีเอสพีไปแล้ว เช่น มาเลเซีย และบราซิล สามารถใช้ประโยชน์ผ่านช่องทางเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งไทยยังไม่บรรลุข้อตกลงเอฟทีเอกับยุโรป
 
ยอดผลิตรถยนต์ปี 57 พลาดเป้าที่ตั้งไว้ 2.1 ล้านคัน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดือนธันวาคม 2557 ว่า มียอดผลิตรวม 153,669 คัน และเมื่อรวมยอดผลิตตลอดปี 2557 คือ ในช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2557 มียอดผลิตรวมทั้งสิ้น 1,880,000 คัน ลดลงจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 23.49

ด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ แม้งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2014 จะทำให้ยอดขายเดือนธันวาคม 2557 สูงสุดในรอบ 12 เดือน โดยมียอดจำหน่ายเดือนนี้ 89,504 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2557 คิดเป็นร้อยละ 22.49 และรวมตลอดปี 2557 มียอดขายรวม 881,832 คัน ลดลงจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 33.7 เพราะช่วง 8 เดือนแรกปี 2556 ยังมีการส่งออกมอบรถยนต์คันแรก แต่ปี 2557 ไม่มีการส่งมอบรถยนต์คันแรกแล้ว

ส่วนการส่งออกรถยนต์เดือนธันวาคม 2557 ส่งออกได้ 89,146 คัน คิดเป็นร้อยละ 104.85 ของยอดการผลิตเพื่อส่งออก เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 1.35 และตลอดปี 2557 (ม.ค.-ธ.ค.) มียอดส่งออกรวม 1,128,102 คัน ส่งออกเท่ากับร้อยละ 100.53 ของยอดการผลิตเพื่อส่งออก ลดลงจากปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 0.0045 นับเป็นยอดส่งออกเท่ากับปี 2556 เนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดออสเตรเลียและตะวันออกกลางเริ่มนำเข้ารถยนต์ลดลงในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2557 จากเหตุการณ์สู้รบ ส่วนตลาดแอฟริกาเริ่มนำเข้าลดลงจากเชื้ออีโบลาระบาด รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ปี 2557 อยู่ที่ 781,088.51 ล้านบาท

สุรพงษ์ กล่าวถึงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งเป้าหมายว่า จะมียอดผลิตรถยนต์ 2.2 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ใจเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและการเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ รวมถึงเงินช่วยเหลือเกษตรกร หากดำเนินการได้จะทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1 ล้านคันได้

ส่วนการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะส่งออก 1.2 ล้านคัน หรือเท่ากับปี 2557 หรือเท่ากับร้อยละ 60 ของยอดการผลิตรถยต์ทั้งหมด แต่เหตุการณ์และปัญหาค่าเงินรูเบิลอาจทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ไทยไปรัสเซียชะลอลง รวมถึงการสู้รบในตะวันออกกลาง และเชื้ออีโบลาในแอฟริกา ขณะที่ตลาดออสเตรเลียจะต้องติดตามว่า สินค้าถ่านหินดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นจะนำเข้ารถกระบะจากไทย ส่วนตลาดญี่ปุ่นเงินเยนอ่อน จึงลดการนำเข้ารถยนต์จากไทย การส่งออกไปจีนก็ลดลงเช่นกัน

หนุนรัฐบาลเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

เจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งดำเนินการสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ต่อไป โดยเน้นเรื่องข้อมูลความโปร่งใสตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันขอให้มีการศึกษาระบบอื่น ๆ รวมทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อเป็นทางเลือกในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับการเจาะสำรวจพื้นที่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในอนาคตอันใกล้ แต่หากภาครัฐตัดสินใจใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตรอบ 21 นี้ ก็ต้องรีบเร่งให้เกิดความพร้อมโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของพลังงานได้ และรัฐต้องดูแลเยียวยาผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจและผลิต ซึ่งอาจรวมถึงการให้ประโยชน์ต่อชุมชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดการยอมรับในพื้นที่นั้น ๆ อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมถือว่าพลังงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องมีความมั่งคงทางพลังงานและประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ เพราะการเปิดสัมปทานรอบ 21 ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นมากแล้ว จึงมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาการผลิตไม่ทันต่อการใช้งาน ขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติปัจจุบันจะเริ่มน้อยลงในเร็ววันนี้ ขณะที่การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใช้เวลานานมาก โดยการผลิตเชิงพาณิชย์อาจใช้เวลาถึง 10 ปี การชะลอการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมออกไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า

ส่วนระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตที่ยังมีการใช้ในปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎหลักฐานใดที่จะชี้ชัดได้ว่า ระบบใดเหมาะสมกับประเทศไทย หรือกับแหล่งปิโตรเลียมใดเป็นการเฉพาะ ทั้ง 2 ระบบสามารถดัดแปลง ออกแบบ ปรับปรุงให้มีเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งฝ่ายเจ้าของทรัพยากรและฝ่ายผู้ลงทุนได้

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net