Skip to main content
sharethis


แคมเปญใน change.org


23 ม.ค. 2558 กรณีมีการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารหลายฉบับ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว 10 ฉบับ และยังรอพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ

วานนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญ "หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล' " ล่ารายชื่อผู้สนับสนุนผ่าน change.org เรียกร้องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 13 ฉบับที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเหล่านี้ อย่างละเอียด และระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล ร่างกฎหมาย 13 ฉบับดังกล่าว

ล่าสุด (23 ม.ค. เวลา 11.20 น.) มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญแล้ว 1,372 คน



เนื้อหาแคมเปญ มีดังนี้

เร็วๆ นี้มีการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว 10 ฉบับ และยังรอพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ

พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ เป็นห่วงว่าชุดกฎหมายทั้ง 10+3 ฉบับดังกล่าว ที่แม้บางส่วนจะเป็นประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้ว ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้ประกอบการในหลายด้าน ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่กล่าวอ้าง และมีลักษณะเหมือนกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” เสียมากกว่า โดยมีข้อสังเกตดังนี้

ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่

  • ชุดกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย 8 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ถูกเสนออย่างเร่งรีบ ไม่อยู่ในวาระประชุมปกติ กระทั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่เคยเห็นร่างมาก่อน จนน่าสงสัยว่าชุดกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้างเช่นนี้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาละเอียดรอบคอบเพียงพอหรือไม่
  • มีร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ (ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มั่นคงไซเบอร์-ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ปราบปรามสิ่งยั่วยุ-วิธีพิจารณาความอาญา) ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้ หรือบางกรณีที่มีก็ไม่ชัดเจนเพียงพอ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
  • ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของหน่วยงานกำกับกิจการ และฉวยโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือรัฐบาลและกองทัพ เหมือนสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม
     
  • กองทุนที่มาจากค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียม ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากเดิมเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมการเข้าถึง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส) กลายเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
  • ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไม่แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ ซ้ำยังมีร่างกฎหมายใหม่ในชุดที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันขึ้นอีก 3 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใหม่เหล่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน
  • ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ -- ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตัดการรับประกันกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังใช้สำนักงานเลขานุการร่วมกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่อาจขัดแย้งกัน จนทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีส่วนในการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 10+3 ฉบับ ตามรายชื่อด้านล่างนี้ ได้ทบทวนและระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คณะกรรมการกฤษฎีกา
สภาปฏิรูปแห่งชาติ


ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 13 ฉบับที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเหล่านี้ อย่างละเอียด และระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อ มั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล ร่างกฎหมาย 13 ฉบับดังกล่าว ได้แก่

1. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
2. ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม]
3. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
4. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
6. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….
7. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ….
8. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
9. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
10. ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

11. ร่าง พ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย
12. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา [เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย]
13. ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย [เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผู้ต้องสงสัย กำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการ]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net