Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ จี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เปิดเผยรายชื่อประชาชนผู้ป่วยจำนวน 250 คน และขอให้ตรวจสอบและมีการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลและสถิติการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบันตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเปรียบเทียบว่าเกิดความผิดปกติหรือไม่ในการมีเหมืองแร่ทองคำ

พิจิตร  25 มกราคม 2558  น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรียกร้องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ 1.ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อประชาชนผู้ป่วยจำนวน 250 คน ที่อธิบดี กพร.มีคำสั่งให้บริษัท อัครารีซอร์สเซส (มหาชน) จำกัด นำไปรักษาเพื่อขอให้ทราบในการดำเนินการ 2.ขอให้ตรวจสอบและมีการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลและสถิติการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบันในเขตพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิตร สู่สาธารณะตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเปรียบเทียบว่าเกิดความผิดปกติหรือไม่ในการมีเหมืองแร่ทองคำ

เธอระบุต่อว่า 3.ขอให้ดูแลเรื่องค่าแรงงานคนงานภายในเหมืองแร่ทองคำ ขณะบริษัทปิดทำการถึงแม้จะเป็นเรื่องภายในของบริษัทฯแต่ว่าคนงานจำนวนมาก คือ คนในชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนและแตกแยกในชุมชน เนื่องจากคนงานเกรงว่าพวกเขาจะตกงานและบางคนเข้าใจผิด ว่ากลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องทำให้พวกเขาต้องตกงาน เพื่อลดปัญหาการแตกแยกที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ 4.ขอให้ผู้ประกอบการยอมรับในผลการตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทีร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมา เพื่อหาทางแก้ไขช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

"มีกลุ่มคนงานของบริษัทเข้ารับการตรวจสารพิษ และพนักงานหลายคนไม่ได้รับรายงานผลตรวจเลือดของตน และไม่กล้าแสดงตนเพราะกลัวจะตกงาน เราจึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลโดยด่วน เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลสำคัญและจะได้ทราบว่าชาวบ้านรายใดตรวจแล้วหรือยังไม่ตรวจ เพื่อความสะดวกในการทำงานร่วมกับหน่วยงานกลางต่างๆ" น.ส.สื่อกัญญา ระบุ.

สื่อกัญญา ระบุด้วยว่า จากที่เป็นข่าวอยู่นั้นว่าบริษัทได้รายงานไปยังอุตสาหกรรมว่า ได้ส่งผู้ป่วยไปตรวจรักษาแล้วนั้น พวกเราชาวบ้าน 3 จังหวัด ยังไม่เคยทราบเรื่องมาก่อนว่าผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับสารพิษในเลือดจำนวน 250 คน ตามคำสั่งอธิบดี กพร.ซึ่งเป็นผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2556 ว่าเป็นใครบ้าง และเหตุใดบริษัทและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยปละละเลยปกปิดข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับชาวบ้าน

น.ส.สื่อกัญญา ระบุอีกว่า ขอให้ผู้ประกอบการยอมรับในผลตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้ช่วยเหลือเร่งด่วนต่อชาวบ้านอย่างเสมอภาคกัน ไม่เลือกปฎิบัติเฉพาะกลุ่มคน เนื่องจากชาวบ้านที่ป่วยหนักส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในเหมือง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเกรงว่าหากยอมรับผลจะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจของบริษัทในเครือ จึงอาจพยายามปกป้องโดยการใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเข้าในพื้นที่พูดไม่ให้ประชาชนตกใจ หรือตื่นตระหนก กับผลตรวจเลือดที่ผ่านมา

"ชาวบ้านสับสนและไม่เร่งตรวจหาสารพิษและส่งผลให้ไม่ระวัง ตัวและรับสารพิษเพิ่ม กรณีของนางบุญยืน อุกอาจ  ชาวบ้านหมู่ 3บ้านเขาดิน ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าตนเองมีชีวิตปกติ ไม่เจ็บป่วย ซึ่งพบว่าเมื่อทีมของนิติวิทยาศาสตร์และม.รังสิตลงพื้นที่ตรวจเลือด นางบุญยืน ไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือดพิสูจน์แต่อย่างใด และสามีของเธอก็เป็นคนงานเหมืองในปัจจุบัน ซึ่งการที่ประชาชนไม่เข้าใจ หรือ ล่าช้าในการรับการตรวจ ก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตนเอง ที่เกิดจากสารพิษซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมมากขึ้น" น.ส.สื่อกัญญา ระบุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net