รายงาน : แปลงที่รกร้างเป็นสวนผักกลางกรุง ROOT GARDEN ทองหล่อ

สวนผัก Root Garden ทองหล่อ ตั้งอยู่ปากซอยทองหล่อ 3 ติดสถาบันปรีดีพนมยงค์ โดยที่ดินผืนนี้ในอดีตเป็นบ้านของ “ครูองุ่น มาลิก” ที่มอบให้แก่มูลนิธิไชยวณา ด้วยเจตนารมณ์ให้ใช้ที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ จากองค์การ OXFAM ได้กล่าวถึงแรงบันดาลที่ทำให้เกิดกิจกรรมเปิดสวนผักขึ้น คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการถือครองที่ดิน ประเทศไทยมีการกระจุกตัวที่ดินสูงมาก ทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ จึงเกิดองค์กรภาคีจากหลายร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ โดยการเสนอกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่าเทียมกันมากขึ้น หรือกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ประกอบด้วย กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อให้เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์สูงขึ้นและเก็บภาษีเฉพาะคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ให้ที่ดินรกร้างต้องเสียภาษีที่มากกว่าที่ดินที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็นการบังคับให้คนคายที่ดินออกมาให้คนอื่น ๆ ใช้ได้วงกว้างมากขึ้น กฎหมายเรื่องของโฉนดชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน คนยากจนสามารถรวมตัวกัน และเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น กฎหมายกองทุนยุติธรรมที่จะเอื้ออำนวยให้คนจนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินสามารถหาเข้าถึงกลไกยุติธรรมได้จริง และกฎหมายธนาคารที่ดิน

จักรชัยกล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงมีความคิดว่าจะเริ่มต้นเป็นเมล็ดพันธ์ทางความคิด เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแก่ชุมชน เป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมและทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน โดยทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนเวลา บ่าย 3 เราจะชวนคนกรุงเทพฯ คนทองหล่อมาพูดคุยกัน และทุกวันอาทิตย์ที่ 1 ของเดือนจะมีเวิร์คช็อปเพื่อสอนปลูกผัก สอนทำสบู่ ทำน้ำสลัด และจะมีตลาดชุมชนมาเปิดยังสถานที่ตรงนี้ มีกลไกผักกระถางให้คนเอากระถางมาเพื่อมาเอาต้นกล้าผักกลับไปปลูกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดย Root Garden นอกจะจะมีสวนผัก คอกไก่ คอกแพะ เรือนเพาะเห็ด แปลงปลูกผัก ปลูกข้าวแล้ว ยังมีร้านกาแฟที่เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ โดยมีเมนู กาแฟเอสเพรสโซ่ คาปูชิโน่ และลาเต้ กับเมนูขนมเค้กส้มกับบราวนี่ ซึ่งทางร้านอบขึ้นเองโดยวัตถุดิบที่ใช้มาจากผลผลิตของเครือข่ายชาวบ้านเป็นหลัก

จักรชัยยังกล่าวต่ออีกว่า ความมุ่งหวังของทางกลุ่มคือในหนึ่งปีคนกรุงเทพฯ และคนที่มาร่วมกับเราจะมองที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าเปลี่ยนไปจากเดิม คือจะมีความรู้สึกที่จะอยากทำให้มันมีชีวิตเพื่อให้มันมีความหมายต่อชุมชน เพื่อเป็นฐานในการผลักดันเชิงนโยบายต่อไป รัฐบาล ผู้แทนราษฎร หรือใครที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่าความสำคัญของที่ดินเป็นเรื่องที่จะต้องเอาจริงเอาจัง และคนกรุงเทพฯจะเข้าใจคนชนบท คนชนบทก็จะเข้าใจคนกรุงเทพฯ และมองเรื่องของที่ดินเป็นเรื่องของประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งสังคมไทยไม่ใช่คนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

องค์กรที่ร่วมจัดและร่วมสนับสนุนการสร้าง Root Garden คือ มูลนิธิชัยวนาซึ่งให้ใช้พื้นที่ตรงปากซอยทองหล่อ 3 ในการทำ  root garden เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เครือข่าย SVN เครื่อข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) องค์การ OXFAM ชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายคนไร้บ้าน ทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่

พื้นที่-กาลเวลาของกรุงเทพฯ ผ่านมุมมอง 3 คนกรุง

จากนั้นมีการเสวนาโดย สันติสุข โสภณสิริ, สฤนี อาชวนันทกุล และตุล ไวฑูรเกียรติ ดำเนินรายการโดย ชลณัฏฐ์ โกยกุล

เริ่มจากความทรงจำของ ‘สันติสุข โสภณสิริ’ ภาพกรุงเทพฯ เมื่อ 50 ปีก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีสวนและนาข้าว เขาแอบหนีแม่ไปเที่ยวว่ายน้ำแถวปากคลองสานซึ่งก็เป็นแหล่งท้องร่องสวน และแปลงนาข้าว แต่สวนที่เคยวิ่งเล่นตอนเด็กก็ไม่มีแล้วในปัจจุบัน เขาเล่าด้วยว่าสะพานข้างทองหล่อชื่อช้างโรงสี ชื่อเดิมของมันคือฉางโรงสี เพราะมีทั้งยุ้งฉางที่เก็บข้าวและโรงสี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอยู่ตรงนั้น แต่ต่อมาอาจเรียกเพี้ยนจากคนโบราณเพราะฟังฉางโรงสี เป็น ช้างโรงสี

‘สฤนี อาชวนันทกุล’ กล่าวถึงกรุงเทพฯ ที่เธอเห็นในสมัยเด็กคือย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนเด็ก ๆ ช่วงประถมก็เริ่มมีรถติดให้เห็นแล้วซึ่งทำให้เธอไปโรงเรียนสายแทบทุกวัน เธออยู่ย่านเอกมัย พื้นที่แถวบ้านก็มีแค่ห้องแถวและต้นไม้ สิ่งซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจอยู่บ้างคือแถวบ้านเป็นแหล่งร้านอาหารอร่อยเจ้าดังหลายร้าน พอเริ่มโตขึ้นก็เริ่มมีผับ บาร์มาตั้ง และในเวลาไม่นานนักผับบาร์ก็แข่งกันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เกิดคอนโดขึ้นตามมาจนคนในละแวกบ้านเริ่มขายบ้านให้คนมาปลูกคอนโด ทำให้บ้านของเธอถูกล้อมรอบด้วยคอนโด วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปจากตอนเด็กๆ มาก  

‘ตุล ไวฑูรเกียรติ’ ย่านรัชดาเป็นย่านที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตอนเด็ก ๆ อยู่ตรงพื้นที่ก่อนจะสร้างเป็นห้างฟอร์จูน ไปขี่จักรยานเล่นแถวนั้นกับเพื่อนๆ พอห้างฟอร์จูนสร้างก็ย้ายบ้านมาอยู่แถวเหม่งจ๋าย ตอนนั้นเหม่งจ๋ายมีแต่ทุ่งนาโล่งๆ รอบๆ หมู่บ้านที่อาศัยอยู่มีคนเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ตอนนี้เมืองโตขึ้นมาก จากทุ่งโล่งก็กลายเป็นถนนสายหลักอีกสายหนึ่ง ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯเติบโตแบบไม่มีการวางแผน ไม่ได้จัดการว่าที่ตรงไหนไว้พักอาศัย ที่ตรงไหนจัดให้เป็นผับบาร์หรือบันเทิง ดังนั้นเราจะเห็นว่าในกรุงเทพฯ หลายๆ สิ่งจะอยู่แบบผสมปนเปกันหมดเลย เราจะคาดเดาการเติบโตของกรุงเทพฯไม่ได้เลย การจัดสรรที่ดินไปเพื่อประโยชน์รวมพื้นที่สาธารณะก็แทบไม่มี 

ผู้ดำเนินรายการ ‘ชลณัฏฐ์’ ได้ถามถึง “การเปลี่ยนไปของเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนกรุงเทพฯอย่างไร” ในทัศนะของ ‘สันติสุข’ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องมาคิดร่วมกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะซอยทองหล่อเป็นซอยที่มั่งคั่งที่สุด หน้าซอยอยู่ตรงถนนสุขุมวิทที่เป็นถนนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่มันจะมีพื้นที่ทางการพัฒนาและพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางการพัฒนามาก่อนการเริ่มมีถนน มีมาตั้งแต่สมัยปลาย ร.4 เมื่อก่อนเราเดินทางด้วยเรือ ผู้คนก็จะอยู่ริมน้ำที่สะดวกต่อการสัญจร หากจะเทียบสังคมไทยเป็นแบบที่ ‘ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา’ เรียกว่าเป็นสังคมแบบ Aquatic societies แต่เรากลับไม่ได้พัฒนาเมืองแบบอัมสเตอร์ดัมทั้งที่อ่าวไทยถูกเรียกว่าอัมสเตอร์ดัมน้อย หรือไม่ได้มีการจัดการเมืองแบบตะวันตกที่มีการจัดการเมืองที่ดี รักษารูปแบบวิถีดั้งเดิมไว้จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีความทันสมัยอยู่ภายในและความเก่าแก่อยู่ภายนอก แต่เรากลับปลูกบ้านปลูกเมืองแบบเกาะฮ่องกงราวกับไม่มีแผ่นดินอยู่จนทิ้งรากเดิม โดยการสร้างถนนพัฒนาเป็นย่านทันสมัย ในยุคเริ่มต้นนั้นเริ่มที่ย่านเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ส่วนพื้นที่ทางการเมืองเข้ามาตั้งแต่ หลัง 2475 มีถนนสุขุมวิท พหลโยธิน ที่ตั้งตามชื่อของหัวหน้าคณะราษฎร เดิมทีถนนพหลโยธินตั้งชื่อว่าถนนประชาธิปไตยด้วย เพราะกิโลเมตรที่ศูนย์ ถ้านับจริง ๆ จะอยู่ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พื้นที่ทางการเมืองจึงเข้ามาก่อนยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์แล้ว เมื่อมาถึงถนนมิตรภาพเป็นชื่อที่ถูกเปลี่ยนโดยจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้ตั้งตามวันที่ 10 ธ.ค. อีกต่อไปแล้ว เพื่อไม่ให้มีนัยยะทางการเมือง ถนนสุขุมวิทเป็นถนนที่เส้นทางยาวไปถึงจังหวัดตราด โดยเป็นแหล่งท้องไร่ท้องนาแต่ก่อนห่างไกลจากวัดทำให้ถนนสายสุขุมวิทเป็นสายที่มีแหล่งอบายมุขอยู่เยอะ อีกส่วนคือเป็นย่านที่คนญี่ปุ่นและต่างชาติอยู่เยอะ

‘ชลณัฏฐ์’ ผู้ดำเนินรายการถามต่ออีกว่า “ก่อนหน้านี้จากการใช้ชีวิตอยู่กับคลอง เมื่อเปลี่ยนมาเป็นถนนวิถีชีวิตคนมันเปลี่ยนอย่างไร” ‘สันติสุข’ กล่าวว่า ความเปลี่ยนไปคือความงามของวิถีชีวิตแบบอยู่กับคลอง แต่ภาพที่เหลืออยู่ทุกวันนี้คือซอยทองหล่อมันมีถนนขนาดใหญ่ซึ่งทำให้สามารถสร้างตึกสูงได้ตามขนาดถนน และทะลุไปยังซอยอื่น ๆ ได้เยอะทำให้มีการสัญจรกันตลอดเวลา เป็นที่ที่คนญี่ปุ่นอยู่เยอะทำให้ทองหล่อถูกเรียกว่าลิตเติลโตเกียว ค่าที่ดินก็สูงพอ ๆ กับโตเกียว พื้นที่ตรงถนนเพชรบุรีก็เป็นพื้นที่ซึ่งทหารอเมริกันเอาเงินมาทิ้งที่นี่ในช่วงสงครามเวียดนามทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง RCA เป็นที่ท่องเที่ยวของวัยรุ่นในสมัยก่อนและเป็นแหล่งอาบอบนวดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยก่อน

ส่วน ‘สฤนี’ มองว่า ในระแวกบ้านเมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่รถติดมาก ทำให้เราต้องคิดว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน แถวละแวกบ้านมันมีอะไรเป็นข้อจำกัด เมื่ออยู่ในย่านทองหล่อหรือเอกมัย ในวันศุกร์ วันเสาร์เราถ้าเป็นไปได้ก็จะไม่ใช้รถเพราะว่ามันเข้าบ้านไม่ได้ ขณะเดียวกันพื้นที่มันก็มีห้างซึ่งเป็น community mall มากขึ้ มีส่วนทำให้เรามี contact มากขึ้น เพราะหากเป็นตึกออฟฟิสใหม่หรือคอนโดใหม่อย่างเดียวมันก็จำกัดโลกทัศน์ของเราเหมือนกัน เวลาเราจะใช้เวลาว่างหรือเจอเพื่อนจะไปเจอกันได้ที่ไหนบ้าง หรือตอนสมัยเด็ก ฟุตบาทสามารถเดินได้ แต่ตอนนี้ฟุตบาทที่ถูกทำขึ้นมันสกปรกเวลาเดินก็ต้องคอยระวังฝาท่อระบายน้ำ เมื่อคนหันมาใช้รถกันมากขึ้นก็ดูเหมือนรัฐจะให้ความสนใจพื้นที่ตรงนี้ลดน้อยลง ถ้าเราดูสังคมแถวนี้สังคมแถวทองหล่อมันก็จะมีอะไรซ้ำๆ กันอยู่แค่นี้ ถ้าไม่ได้ใช้ความพยายามเยอะที่จะไปที่อื่น ชีวิตก็จะวนอยู่แค่เดินห้าง ดูหนัง และก็ไปชิมร้านอาหารกับเพื่อน ๆ หรือไม่ก็ไปเดินดูชุดแต่งงานแถวนี้เพราะมันมีเยอะมาก

‘ตุล’ แสดงความเห็นว่า การเติบโตของสังคมเมืองเติบโตมากเสียจนรู้สึกสงสัยว่ามันมากเกินความจำเป็นรึเปล่า เมื่อมีคอนโดและโปรเจ็คใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายก็ทำให้เกิดธุรกิจที่เปิดใหม่มากมาย ถามว่าธุรกิจจะสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวหรือไม่ หรือมันอยู่ในจุดที่บูมเกินไป ผลักดันให้ค่าครองชีพของคนในละแวกนี้สูงมาก ขยับตัวแต่ละครั้งก็จะต้องเสียเงินไปหมด ไม่มีสวนสาธารณะให้พอได้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม

‘ชลณัฏฐ์’ ได้ตั้งคำถามต่อจากสิ่งที่ ‘ตุล’ ได้พูดไว้ “เรื่องของอาหารการกินที่คนเมืองเลิกที่จะผลิตเองแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่คนจะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ” ‘สฤนี’กล่าวว่า สำหรับเธออาจจะไม่มีความสนใจในเรื่องนี้ แต่เสริมจากที่ ‘ตุล’ พูดไว้ว่าอาหารการกินแถวเอกมัย ทองหล่อมันแพงขึ้นมากต่อให้เป็นร้านห้องแถวก็มีราคาอาหารเท่ากับกินในห้าง เราอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามต่อค่าครองชีพที่มันถีบตัวขึ้นมากและแรงกดดันต่าง ๆ จากที่ ‘ตุล’ ได้ตั้งคำถาม ว่ามันจะโตขึ้นได้อีกนานแค่ไหน ไม่มีถึงจุดที่มันจะชนเพดานหรืออย่างไร ส่วนตัวมองว่าตอนนี้มันยังไม่ถึงเวลาที่จะมาตั้งคำถามในจุดนั้น โดยเอาต้นทุนของคนเอกมัย-ทองหล่อเองที่ตั้งคำถามตอนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ซึ่งในฤดูที่มีน้ำหลากแถวนี้จะท่วมตลอด หากแต่เมื่อปี 54 น้ำมันไม่ท่วม ตนเองก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นการจัดการ เป็นการเมืองซึ่งตนก็รู้สึกแย่มากเพราะคนอื่นเดือดร้อนกันเป็นวงกว้าง มันมีการจัดการที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นการจัดการอย่างเป็นธรรมในเรื่องของการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางธุรกิจ พื้นที่ตรงดอนเมืองถูกท่วมทั้ง ๆ ที่มันเป็นดอน เมื่อเราตั้งคำถามว่าน้ำประปาที่เราใช้ ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่มันมาจากไหนมันก่อให้เกิดคำถามว่ามันจะยั่งยืนจริงหรือ หรือคิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปได้อีกนานรึเปล่า พื้นที่ตรงทองหล่อในอนาคตมันจะเป็นอย่างไรมันจะมีคอนโดผุดขึ้นอีก 50 โครงการได้หรือไม่ และรถยนต์มันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเป็นล้านคันได้หรือไม่แต่เมื่อเกิดคำถามเราไม่สามารถที่จะไปต่อ ไปดูถึงตัวต้นทุนจริง ๆ พอเราไม่สามารถมองไปถึง มันทำให้เราขาดพลังที่จะไปถึงในการเรียกร้องหรือชี้ว่าจะให้ใครไปทำอะไร

‘ชลณัฏฐ์’ ผู้ดำเนินรายการได้ถาม ‘สฤนี’ เรื่อง “กระแสค่อนขอดคนเมืองที่อยากใกล้ชิดธรรมชาติ มันเป็นเรื่องโรแมนติกของคนเมือง มันเป็นเรื่องดัดจริตของคนเมือง กับมุมมองว่ามันจะไม่มีความยังยืน” ‘สฤนี’ ตอบว่า กาลเวลาก็จะพิสูจน์เอง เธอเองก็เป็นคนที่ไม่ได้เป็นคนอนุรักษ์ธรรมชาติ ชอบใช้ชีวิตแบบคนเมืองอยู่กับคอมพิวเตอร์มากกว่าอยู่กับนาข้าว แต่การจะมองว่ามันโรแมนติกหรือไม่โรแมนติกเป็นคำพูดที่มองได้สองมุม สมมุติว่าใครเดินผ่านไปผ่านมาซึ่งไม่รู้ว่าเขาจัดอะไรกันแต่เห็นมีผักมีฟางข้าวก็อาจจะเดินเข้ามาดูว่ามันโรแมนติกดี เราคิดว่าการที่เรามาเถียงกันว่าใครโรแมนติกหรือไม่โรแมนติก เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะว่าต่อให้โรแมนติก เราก็ต้องดูต่อไปว่าแล้วมันจะยังไงต่อ จะจุดประกายให้คนอื่นหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนมีความคิดที่หลากหลาย มีความต้องการที่หลากหลาย อาจจะมีคนอื่นที่อยากทดลองเข้ามาในพื้นที่แบบนี้ อยากปลูกผัก ทำอาหารกินเอง ซึ่งแต่ละคนจะได้ลงมาทดลองด้วยตัวเอง เป็นเจตจำนงที่แตกต่างจากห้าง พื้นที่ตรงนี้จะกระตุ้นให้คนเมืองได้เข้ามาและได้เห็นว่ามันเกิดปัญหาอะไรเกี่ยวกับที่ดินในเมืองไทย คนจนมีปัญหาอะไร คนชนบทมีปัญหาอะไร เราควรจะร่วมกันผลักดันอะไรบ้าง ซึ่งนี่เป็นเจตนาของผู้จัดที่แตกต่างกับเจตนาเวลาห้างจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว แม้ว่ามองจากภาพอาจจะมองว่าคล้าย ๆ กัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท