นักกิจกรรมต่างชาติเปรียบเทียบผู้อพยพพม่าในไทยกับกลุ่ม 'ซาปาติสตา'

นักกิจกรรมผู้ทำงานด้านแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์เปรียบ กลุ่มผู้อพยพจากความโหดร้ายของรัฐบาลทหารพม่าเข้ามาอยู่ในไทยและถูกกระทำต่อจากรัฐและนายทุนไทยมีส่วนคล้ายคลึงกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในรัฐเชียปัส เพราะต้องเผชิญผลกระทบจากเศรษฐกิจแบบเกื้อหนุนกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่

26 ม.ค. 2558 เจย์ เคอร์ นักกิจกรรมที่ทำงานให้กับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) และองค์กรเครือข่ายการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมของออสเตรเลีย (AFTINET) เขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่าการต่อสู้กดขี่จากรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ในขบวนการซาปาติสตาในละตินอเมริกามีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งที่กลุ่มผู้อพยพจากพม่าเพื่อมาเป็นแรงงานข้ามชาติในไทยต้องเผชิญ

เคอร์ระบุว่าเพื่อนร่วมงานในมูลนิธิ MAP ได้หารือกันหลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องราวของกลุ่มกบฏซาปาติสตาและโรงเรียนเพื่อรัฐเชียปัสในประเทศเม็กซิโก พวกเขามีความคิดเห็นว่ากลุ่มซาปาติสตาและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่อพยพมาอยู่ในไทยมีความคล้ายคลึงกันในแง่การต่อสู้กับการกดขี่ของรัฐและผลกระทบจากการค้าเสรีที่มีผลต่อพม่า ไทย และเม็กซิโก

กลุ่มซาปาติสตา หรือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (EZLN) เป็นการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมของชุมชนชาติพันธุ์จำนวนมากในรัฐเชียปัสที่ประกาศอิสรภาพจากประเทศเม็กซิโก พวกเขาบริหารกันเองด้วยประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและมีระบบประกันสุขภาพและโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในแบบของตนเอง

เคอร์ระบุอีกว่ากลุ่มผู้อพยพจากประเทศพม่าเข้ามาอยู่ในไทยเจอสภาพคล้ายคลึงกับผู้อพยพข้ามเขตแดนสหรัฐฯ จากเม็กซิกัน มีประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนจากพม่าหลีกหนีจากความยากจนภายใต้การปกครองอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลเข้ามาทำงานในไทย แต่หลายคนก็ประสบปัญหาถูกเอาเปรียบด้านแรงงาน ถูกรัฐบาลไทยกดขี่จากการจำกัดการเดินทาง และมักจะถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตกเป็นแพะรับบาปเมื่อมีอาชญากรรม

เคอร์ยังแสดงความชื่นชมที่กลุ่มซาปาติสตาสามารถทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันมาอยู่ร่วมกันได้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพม่าและเป็นสิ่งที่คนทำงานเกี่ยวชาติพันธุ์ในพม่าควรเรียนรู้ ขณะที่เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านในหมู่บ้านแอกทิลโดยกลุ่มกองกำลังต่อต้านซาปาติสตาก็ชวนให้นึกถึงความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับชาวพม่า โดยเหตุการณ์ในหมู่บ้านแอกทิลส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 ราย รวมถึงเด็กและผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งทางซาปาติสตาและผู้อาศัยในรัฐเชียปัสจำนวนมากกว่าบอกว่าพรรครัฐบาลพีอาร์ไอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่นี้

ในวงหารือของคนทำงานองค์กร MAP ยังมีการพูดถึงผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ในประเทศไทยเทียบกับตอนที่ชาวพื้นเมืองเม็กซิกันลุกขึ้นต่อต้านความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือ 'นาฟตา' (NAFTA) ในปี 2537 และการต่อต้านข้อตกลงด้านการค้าเสรีในที่อื่นๆ ของโลก พวกเขาหารือกันถึงผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีที่มีต่อชีวิตของชาวนาไทยและแรงงานข้ามชาติที่ต่อสู้ดิ้นรนในภาคการเกษตรซึ่งมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ตัดราคาผู้ผลิตในประเทศทำให้มีความกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาคล้ายกันได้

สมาชิกของ MAP รายหนึ่งกล่าวในวงสนทนาว่าในอดีตก็มีกลุ่มชาวนาไทยที่ลุกขึ้นต่อสู้กับการถูกยึดที่ดินทำกินโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากการเคลื่อนไหวของซาปาติสตาในปี 2537 แต่ในไทยจะเป็นการต่อสู้ด้านกฎหมายซึ่งต่างจากซาปาติสตาที่เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธและ "ถ้อยคำ"

เคอร์ระบุอีกว่าหลังจากเผยแพร่เรื่องราวของซาปาติสตาให้องค์กร MAP ไม่นาน เขาก็เดินทางไปเยี่ยมชุมชนซาปาติสตาในเม็กซิโกแล้วนำภาพยนตร์ของมูลนิธิ MAP เกี่ยวกับความยากลำบากของผู้อพยพในไทยไปเผยแพร่เพื่อเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ฉายเพราะเพิ่งเกิดเหตุตึงเครียดหลังจากครูของซาปาติสตาถูกกองกำลังกึ่งทหารสังหารจึงได้ให้ภาพยนตร์ไว้กับกลุ่มแกนนำซาปาติสตา

"ความสำเร็จในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่มนี้รวมถึงสถานการณ์ยากลำบากที่เกิดขึ้นในระหว่างโครงการอย่างเรื่องการรัฐประหารโดยกองทัพในประเทศไทยและการแก้ไขปัญหาหลังจากมีสมาชิกถูกสังหารในเม็กซิโกล้วนถือเป็นการย้ำเตือนให้เห็นความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับนานาชาติเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง" เคอร์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

What can Zapatistas teach Burmese migrants in Thailand?, The Guardian, 14-01-2015
http://www.theguardian.com/global-development-professionals-network/2015/jan/14/zapatistas-burmese-migrants-thailand-international-solidarity

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Acteal_massacre
http://en.wikipedia.org/wiki/Zapatista_Army_of_National_Liberation

ข้อมูลผู้เขียนบทความ

https://au.linkedin.com/pub/jay-kerr/70/60/738

 

ภาพประกอบหน้าแรกจาก http://www.alternavox.net/ cc by-nc-sa 2.5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท