ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล : จุดพลิกผันประวัติศาสตร์นิพนธ์สยาม-ปาตานี

ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ หลักสูตรอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอบทความวิชาการ “หนึ่งทศวรรษของการเขียนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-ปาตานี” ในงานครบรอบ 40 ปีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ภาคใต้ในกระแสโลก กระแสโลกในภาคใต้”

ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ หลักสูตรอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ทบทวนเส้นทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ ‘สยาม-ปาตานี’

ธนภาษเริ่มต้นคำถามว่า “ถ้าหลังปี 2547 เป็นการเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ภาคใต้ แล้วก่อนหน้านั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ภาคใต้เป็นอย่างไร?”

ธนภาษกล่าวว่า ก่อนเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะจะเกิดขึ้นในปลายเดือนเมษายน 2547 โดยทั่วไปแล้วการเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีโดยนักวิชาการไทยและผู้รู้ชาวมลายูในท้องถิ่น มักดำเนินไปภายใต้กรอบของการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งมอง “ปาตานี” ในฐานะที่เป็นดินแดนปลายด้านขวาน และเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากรัฐไทย

นอกจากนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีช่วงก่อนปี 2547 ยังมุ่งไปที่การเล่าอดีตปาตานีให้ไปไกลสู่ยุคโบราณ และดำเนินเรื่องเรื่อยมาบรรจบที่การเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนระหว่างกษัตริย์สยามกับชนชั้นนำมลายู

เหตุการณ์ ‘กรือเซะ’ ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์พลิกผัน

ธนภาษกล่าวว่า เหตุการณ์โจมตีที่ทำการของรัฐ และลงเอยด้วยการปะทะระหว่างกันเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้ต่อต้านชาวมลายูที่มัสยิดกรือเซะ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพลิกประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานี 2 ประการ

ประการแรก คือ การจัดพิมพ์ประวัติศาสตร์ปาตานีในเวอร์ชั่นแบบชาตินิยมปาตานี หรือกล่าวอย่างง่ายว่า มีความพยายามศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีในแบบฉบับของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสียมาก

ประการถัดมา คือ เหตุการณ์กรือเซะได้กระตุ้นให้นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวไทยหันกลับมาสำรวจและแสวงหาแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ปาตานีอีกครั้ง เช่น การพยายามหันกลับมาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอำนาจระหว่างสยาม-ปาตานี ผ่านกรอบคิดเรื่องที่ปาตานีถูกผนวกดินแดน/มีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 และการสร้างรัฐชาติใหม่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยนโยบายผสมกลมกลืน (assimilation policy) ฯลฯ ท้ายที่สุด การศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานีด้วยกรอบคิดแบบนี้ มีประโยชน์ในแง่ของการนำมาใช้ทำความเข้าใจมูลเหตุของความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

ธนภาษชี้ว่า นักวิชาการที่มีบทบาทมากในช่วงนี้ คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชุลีพร วิรุณหะ  และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับงานวิจัยชายแดนใต้

หลักสูตรภูมิภาคศึกษา สำนักวิชาการศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิจัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก จากการริเริ่มแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการวิจัยและการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “คาบสมุทรแห่งความหลากหลาย” หรือ “Plural Peninsula” ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 อันถือเป็นช่วงเวลาที่เหตุการณ์กรือเซะปะทุขึ้น

โครงการวิจัยของหน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง “ชาติพันธ์” มาโดยตลอด เพราะมองเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวได้ชัดเจน จากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ความขัดแย้งในพม่า และความขัดแย้งในประเทศฟิลิปปินส์

ฉะนั้นประเด็นเรื่องชาติพันธ์ จึงเป็นประเด็นหลักที่ภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สนใจมาตั้งแต่เริ่มแรก กระทั่งภูมิภาคศึกษาเริ่มสนใจศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานี จึงค้นพบว่า การศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานีช่วงเวลาดังกล่าวยังคงมีช่องว่างของความรู้ เพราะสิ่งที่ขาดหายไปคือ การศึกษาเรื่อง “ชาติพันธ์”

‘ชาติพันธุ์’ ประเด็นที่หายไปในงานประวัติศาสตร์ปาตานี

ก่อนหน้านี้นักวิชาการโดยทั่วไป ไม่ได้เน้นให้ “ชาติพันธุ์” เป็นองค์ประธานหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี แต่ข้อค้นพบใหม่ของภูมิภาคศึกษา พบว่าชาติพันธุ์มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับมิติประวัติศาสตร์ปาตานีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดประเด็น “ชาติพันธุ์” จึงกลายมาเป็นองค์ประธานในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธนภาษชี้ว่า สิ่งที่ภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำ คือการดึงอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาศึกษาร่วม กล่าวคือ พยายามมองปาตานีจากภาพรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของผู้คน ชาติพันธุ์ต่างๆ และอดีตที่เป็นมาของปาตานี เช่น การศึกษาปาตานีให้เชื่อมโยงกับโลกมลายู และอัตลักษณ์มลายู เป็นต้น

ศึกษาปาตานีจากมุมมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับประเด็น “ชาติพันธุ์” และการศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีจากมุมมองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเป็นการพลิกผันการศึกษาว่าด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานีอีกครั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ

ธนภาษกล่าวในตอนท้ายว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในช่วงใด ใช้กรอบมุมมองหรือจัดวางองค์ประธานแบบไหนก็ตาม ก็มีความสำคัญในตัวของมันเอง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การมีงานศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-ปาตานีหลากหลายชุด จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ความเข้าใจใหม่ๆ และนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ต่อไปที่จะหยิบยกงานเก่าๆ เหล่านั้นไปใช้ต่อไปจะเห็นถึงพัฒนาการ/ความเปลี่ยนแปลง และเลือกใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท