แรงงานบุกสภาค้าน ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม-สนช.ไฟเขียวให้ตัวแทนชี้แจงใน กมธ.

 

29 ม.ค. 2558 เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวน 27 องค์กร ได้เดินทางเพื่อขอเข้าพบและยื่นจดหมายคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งอยู่ในการพิจารณาวาระที่2 ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งมีเนื้อหาตัดสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 33 กรณีว่างงาน จากเดิมเมื่อลาออกจากงานด้วยความสมัครใจ จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน สาเหตุที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ตัดออกเนื่องจากไม่มีประเทศใดในโลกที่มีกฎหมายให้เงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน หากแรงงงานสมัครใจลาออก และเห็นว่า มีผู้ประกันตนบางรายลาออกเพื่อหวังใช้ใช้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้แถลงข้อคัดค้านบริเวณหน้าสวนสัตว์ดุสิตก่อนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน เข้ายื่นจดหมายต่อพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่อาคารรัฐสภานั้น โดยกล่าวถึงสองประเด็น คือ สิทธิกรณีการการลาออกของแรงงานอาจมาจากหลายสาเหตุ ไม่มีบุคคลใดต้องการลาออกจากงาน เพราะอาจทำให้สูญเสียรายได้ มีบางส่วนถูกนายจ้างบีบให้ออก จากการมีข้อพิพาทกันระหว่างลูกจ้างนายจ้าง และจากการที่นายจ้างย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการหรือเศรฐกิจชะลอตัว

ส่วนประเด็นที่สอง การสิ้นสุดสิทธิการเป็นผู้ประกันตนกรณีชราภาพ ซึ่งจะได้รับเงินรายเดือนนั้น มีกำหนดให้ผู้ประกันตนต้องส่งเงินครบ 15 ปี หรืออายุ 55 ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยซึ่งมักกำหนดการจ้างงานเป็นเวลา 4 ปีหรืออยู่ทำงานไม่ถึง 55 ปีก็เดินทางกลับประเทศก่อน ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบประกันสังคม จึงควรให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี และอายุไม่ถึง 55 ปี สามารถเลือกรับสิทธิเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญได้

นางสาววิไลวรรณกล่าวเสริมอีกว่า เงินประกันตนนั้นมาจากเงินของผู้ประกันตนและจากนายจ้าง จ่ายร่วมกันคนละ5% ส่วนรัฐบาลมีส่วนช่วยออกเงินผู้ประกันเพียง2.75% เท่านั้น โดยปกติตามหลักการต้องออกเท่ากัน โดยเฉพาะเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายสมทบ2.75%ยังคงค้างจ่ายให้กับผู้ประตนอีกด้วย จะเข้ามาจัดการละเมิดสิทธิเงินของแรงงานไม่ได้

ขณะที่กระทรวงแรงงานอยู่ในช่วงการเสนอร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของครม.และสนช. ซึ่งเดิมเป็นฉบับประชาชนผ่านการเข้าเสนอชื่อกฎหมายจำนวน 12,130 รายชื่อ นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการแรงงาน โดยภาคประชาชน แต่ฉบับดังกล่าวกลับไม่ได้รับการพิจารณา หลังจากเปลี่นรรัฐบาล ได้เดินทางร่วมกับกลุ่ม คสรท.เพื่อยื่นจดหมายขอชะลอการนำร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับกระทรวงแรงงานไว้ก่อน เนื่องจากฉบับดังกล่าวไม่มีประชาชนและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งยังขัดต่ออนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 94 ที่กำหนดให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในอุตสาหกรรม แรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานเกษตร แรงงานข้ามชาติ

นายชาลียังกล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับกระทรวงมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ในมาตรา4 มีการบังคับใช้กับกลุ่มเป้าหมายโดยกีดกันกลุ่มอื่น ไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มลูกจ้างและภาคธุรกิจขนาดเล็ก สะท้อนว่าแรงงานยังไม่มีสิทธิที่จะรวมตัวจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กรตนได้อิสระ และในมาตรา 5 รัฐสามารถแทรกแซงการจัดตั้งองค์กรของแรงงานตั้งแต่ขั้นตอนของการก่อตั้ง การปฏิบัติงาน รวมถึงการบริหารงาน ทั้งที่การรวมตัวจัดตั้งองค์กรแรงงานทั้งในประเทศและระดับนานชาติ  ต้องจำกัดบทบาทรัฐไม่ให้เข้ามาแทรกแซง และมุ่งเน้นเปลี่ยนกรอบความคิดจาก"นายจ้าง"เหนือ"ลูกจ้าง" ไปสู่สถานะแบบ "ผู้จ้างกับคนทำงาน" ที่เป็น "หุ้นส่วนกัน" แบบเสมอภาคและเท่าเทียม

ทั้งนี้กิจกรรมดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ชุมนุมยื่นจดหมายรอบริเวณลานพระบรมรูปฯ หน้าอาคารรัฐสภา โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกสนช. พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร  และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. เข้ามารับหนังสือคัดค้าน

พลเอกสิงห์ศึก ชี้แจงว่า วันที่ 2 ก.พ.นี้จะมีการพิจารณาต่อสภานิติบัญญัติในวาระที่ 2 จึงมีการเสนอให้ตั้งตัวแทน 5 คน จากตัวแทนกลุ่มองค์การแรงงาน 27 แห่ง เข้าร่วมเพื่อชี้แจงต่อหน้ากรรมธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีน้ำหนักขึ้นในการพิจารณา

จากนั้นเวลา 11.00 น. หลังจากยื่นจดหมายคัดค้านที่รัฐสภา คสรท.และอีกกว่า 27 องค์กรแรงงานได้เดินเท้าต่อเพื่อไปยื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม และยื่นจดหมายให้ชะลอพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ต่อพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน และตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้รับจดหมาย ฝ่ายกลุ่มผู้ยื่นจดหมายคัดค้านได้เน้นย้ำกับผอ.ศูนย์ว่า หนังสือคำร้องต้องส่งถึงมือนายกรัฐมนตรี โดยตนและกลุ่มต้องการเห็นนายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ในวันศุกร์ที่ 30 ม.ค.58 เพื่อคืนความสุขให้กับผู้ใช้แรงงาน

ด้านผู้อำนายการกฎหมาย ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ได้แจงกับกลุ่มผู้เรียกร้องว่า กลุ่มแรงงานจะได้รับผลประโยนช์มากว่ากฎหมายเดิม ซึ่งเรื่องกำลอยู่ในการพิจารณา ส่วนการแก้กฎหมายนั้นต้องแก้กันอีกหลายครั้ง ไม่ใช่แก้ครั้งนี้ครั้งเดียวในส่วนของกรณีการว่างงานจะรับเข้าพิจารณา ด้านทำเรื่องให้ถึงมือ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชาพูดในวันพรุ่งนี้นั้น คงไม่สามารถรับปากได้แต่จะเร่งให้ถึงมือให้เร็วที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท