Skip to main content
sharethis

36 องค์กรสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ชายแดน เรียกร้อง รมว.สธ.เสนอ ครม.เพิ่มคนไทยไร้สถานะ 208,631 คน ที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิเข้ากองทุนให้สิทธิรักษาพยาบาลที่ สธ.ดูแลอยู่ พร้อมเสนอตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน คาดใช้งบเพิ่มปีละ 602.5 ล้านบาท

29 ม.ค. 2558 ที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 36 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย และสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวการแก้ไขปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลให้กลุ่มคนไทยไร้สถานะ และเสนอตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน            

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่ยังมีปัญหาสถานะและสิทธิ ส่วนใหญ่เป็นประชากรในพื้นที่สูง ตามแนวชายแดน หรือแม้กระทั่งในเขตชุมชนแออัดที่ตกหล่นจากการสำรวจของทะเบียนราษฎร์ หรือที่รู้จักกันดีว่ากลุ่มคนไร้สัญชาติ ซึ่งรัฐบาลก็มียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และครม.มีมติเห็นชอบ 18 ม.ค.48 โดยในส่วนของสิทธิการรักษาพยาบาลนั้น ก็ได้มีมติ ครม. 23 มี.ค.53 ให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ 457,409 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแล ปัจจุบันประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวน 416,648 คน จำนวนที่ลดลง 40,761 คน เป็นกลุ่มบุคคลที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ก็ยังมีประชากรที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ยังตกหล่นอยู่ ทางเครือข่ายฯ จึงได้เสนอแนวทางให้ สธ.แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิสุขภาพให้ประชากรกลุ่มนี้โดยยึดแนวทางตามหลักมนุษยธรรม

นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่กลุ่มคนไร้สถานะ 4.5 แสนคนนี้ พบปัญหาว่า รพ.รัฐต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีปัญหาการควบคุมโรค เมื่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ก็พบว่าช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 จำนวน 208,631 คน ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนราษฎร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติกับกลุ่มคนไทยไร้สถานะที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลไปแล้ว

ดังนั้นทางเครือข่ายฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอไปยัง สธ. ให้เพิ่มกลุ่มคนไทยไร้สถานะที่รอการพิสูจน์สิทธิ์ 208,631 คนนี้ ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามกองทุนที่ สธ.ดูแล ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.58 ซึ่งจะได้รับงบรายหัวเท่ากับสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค เท่ากับว่าจะเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 441 ล้านบาท จากปีละ 900 ล้านบาท จะเป็น 1,341 ล้านบาท สำหรับดูแลสิทธิรักษาคนไทยไร้สถานะ 625,279 คน ส่วนงบประมาณปี 58 ซึ่งทางเครือข่ายเสนอให้เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.58 นี้ จะใช้งบเพิ่มเพียง 220.5 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เสนอให้ สธ.รับทราบและเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าครม.ต่อไป

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังเสนอให้ สธ.จัดตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน ตั้งแต่ 1 เม.ย.58 เพื่อดูแลกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข 1.5 ล้านคน โดยให้ได้รับเท่ากับงบส่งเสริมป้องกันโรคของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทฯ คือ 383.61 บาทต่อคน รวมเป็นเงิน 161.5 ล้านบาท เพื่อให้ รพ.รัฐใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ให้แพร่เข้าสู่ประเทศไทยต่อไป

“ข้อเสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะอีกประมาณ 2 แสนคน เข้าไปในกองทุนให้สิทธิการรักษาพยาบาลที่สธ.ดูแล ตามข้อเสนอของเครือข่ายฯ นั้น ก่อนหน้านี้ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และเป็นหนึ่งในนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ  นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. เมื่อรับตำแหน่ง ก.ย.57 ซึ่ง รมต.ทั้ง 2 คน ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะนำเสนอเรื่องนี้เข้า ครม. ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้เสียที เพื่อให้คนไทยไร้สถานะเหล่านี้ได้รับสิทธิ เนื่องจากมีหลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล เป็นหนี้ รพ. และมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงโดยไม่จำเป็น เพราะไม่กล้าไปรักษาที่ รพ. เนื่องจากไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ” นายวิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ การเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังตกค้าง ที่ทางเครือข่ายฯ เสนอเพิ่มให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลคือ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม จำนวน 208,631 ราย ดังนี้

1) กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร์ ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9 (0-xxxx-89xxx-xx-x) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติในกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เข้ามา,อยู่ไทยเป็นเวลานาน แต่ตกสำรวจ จำนวน 150,076 คน

2) กลุ่มบุตรของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดในประเทศไทยและได้รับการแจ้งเกิด มีสูติบัตร ได้เลข 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 0 (บุตรของกลุ่มที่ 1) จำนวน 56,672 ราย

3) กลุ่มคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะเกิดซึ่งนายทะเบียนได้จัดทำประวัติให้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 0 และ 0 (0-xxxx-00xxx-xx-x) จำนวน 1,883 คน

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สำหรับกลุ่มประชากรไทยที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ครม.รับรองให้อาศัยอยู่ถาวร และกลุ่มที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว เพื่อรอพิสูจน์สถานะ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง กาญจนบุรี และราชบุรี โดย สสส.สนับสนุนให้คนไทยไร้สถานะกลุ่มนี้ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวทางตามหลักสิทธิมุนษยชน เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตลอดจนการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณแก่ รพ. และเป็นการควบคุมโรคที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net