จันจิรา สมบัติพูนศิริ : ทำความเข้าใจการเสียดสีผ่านพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

ถอดคำบรรยายฉบับเต็ม งานเสวนาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส จันจิรา ชี้ หากจะเข้าใจชาร์ลี ต้องเข้าใจพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมการเสียดสีของยุโรป

<--break- />

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ห้อง ร.102  ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จิติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนา ราว 150 คน

ประชาไทถอดความคำบรรยายฉบับเต็มของวิทยากรแต่ละคน รวมทั้งช่วงตอบคำถาม แบ่งเป็น 4 ตอน โดยในตอนนี้เป็นคำบรรยายของ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ : พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ กับความหวาดกลัวของยุโรป

พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ และวัฒธรรมการเสียดสีในยุโรป

เนื่องจากตัวเองเป็นผู้สอนวิชายุโรป และได้ทำงานวิจัยเรื่องอารมณ์ขัน เลยอยากพาดูยุโรปในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมคู่กับพัฒนาการของการสีเสียด (satire) ดังที่จะเห็นได้จากกรณี Charlie Hebdo ว่าตรงนั้นมันสะท้อนให้เห็นภาวะทางอารมณ์ และการปะทะกันของพื้นที่ทางวัฒนธรรมในยุโรปขณะนี้อย่างไรซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ได้กล่าวไว้ถึงเรื่องความกลัวในยุโรปเราจะมาดูกันว่าเป็นอย่างไร

Charlie Hebdo เป็นนิตยสารการ์ตูน ที่ทำการ์ตูนล้อเลียนโดยเป้าหมายที่สำคัญคือ ศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าทุกศาสดาของทุกศาสนาโดนล้อเลียนหมด ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Charlie Hebdo เป็นนิตยสารที่ไม่พยายามพูดในสิ่งที่ถูกต้องทางการเมือง(politically incorrect) อะไรก็ตามที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราควรจะเคารพความแตกต่างทางศาสนา ควรจะเคารพเรื่องเพศ ควรจะเคารพเรื่องหลักจริยศาสตร์ บางอย่างในสังคม

สิ่งที่ Charlie Hebdo ทำคือการข้าม หรือท้าทายเส้นเหล่านี้ ที่สังคมบอกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) แต่ว่าสิ่งที่ชาร์ลีเอ็บโดทำคือการล้ำเส้น a joke too far การจะมาถึงจุดนี้ได้ เราต้องมองตัวการสีเสียด ในสิ่งที่ชาร์ลีเอ็บโดทำว่ามีรากในยุโรป ซึ่งทำให้เรามองเห็นเป็นกระจกของวิธีคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในยุโรปได้เหมือนกัน

การสีเสียด มีที่มาจากนิยายปรัมปราของกรีซจากเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) คือตัวไดโอนีซุสเป็นเทพแห่งการทำลายล้างคือ ทำลายล้าง establishment อะไรที่สังคมยึดถือ เป็นธรรมเนียม เป็นจรรยา เป็นสิ่งที่ดีงาม ตัวไดโอนีซุสมีแนวโน้มที่จะล้อเลียนและถากถาง ทำให้เห็นว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีงามอีกหน้าหนึ่งมันคืออะไร เพราะฉะนั้นตัวไดโอนีซุสเองต่อมาจึงเป็นที่มาของเทศกาลที่เรียกว่า dionysian rites ซึ่งคือการเฉลิมฉลองการละเมิดหลักศีลธรรมจรรยาในสังคมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงพิธีกรรมนั้น

กระทั่งถึงช่วงยุคกลางในยุโรปที่ศาสนาคริสต์มีบทบาทมากขึ้นพิธีกรรมนี้ได้ถูกห้าม ถึงขั้นห้ามหัวเราะที่เกินงามมากๆ ซึ่งการหัวเราะที่เกินงามมากๆ มันจะบ่อนทำลายศาสนา คุณต้องเป็นศาสนิกที่สำรวม โดยตัวศาสนาคริสต์เองในช่วงแรกได้รับอิทธิพลมาจากพิธีกรรมไดโอนีเซียนเล็กน้อย จะมีพิธีกรรมอย่างเทศกาลตูดคือ พิธีกรรมที่อนุญาตให้คนละเมิดเกณฑ์ทางสังคมบางอย่างที่คนยึดถือกัน รวมถึงทำลายขั้นของชนชั้นบางอย่างในสังคมลง เช่นมีการสลับบทบาท ผู้ชายแต่งเป็นผู้หญิงในพิธีกรรมนั้น ผู้หญิงแต่งเป็นผู้ชายและทำพฤติกรรมแบบผู้ชายได้ พระเองก็ทำพฤติกรรมเช่นฆราวาสพฤติกรรมอย่างเช่นเต้นรำ ร้องเพลง ดื่มเหล้า นี่คือทำให้เห็นว่าการสีเสียดมันพัฒนามา โดยมีรากฐานแบบนี้  

ในช่วงที่ยุโรปผ่านยุคกลางมามันกลายเป็นว่า การถางถางเสียดสีมันเปลี่ยนไปจากตัวพฤติกรรมกลายมาเป็น คำพูด ฉะนั้นคำพูด จึงเป็นคำพูดที่มาพร้อมๆ กับภูมิปัญญา และความฉลาด ซึ่งมันแสดงว่าถ้าคุณต้องการมีบทสนทนากับคู่สนทนาได้ในร้านน้ำชาในช่วงที่ยุโรปผ่านยุคกลางมาแล้ว คุณจะต้องมีบทสนทนาที่ชาญฉลาด เป็นการพูดจาตลกๆ ที่มันฉลาดๆ ได้ เพราะฉะนั้นการสีเสียดมันถูกเห็นเป็นเครื่องมือของปัญญาชนบางอย่าง เช่นจะเห็นได้จากขบวนการปัญญาชนบางอย่างที่ต่อต้านฝ่าย establishment ทั้งหลายใช้การเสียดสีล้อเลียนลงในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งหมายความว่าตัวการล้อเลียนเองมันแบกเอากระเป๋าทางประวัติศาสตร์อันนี้มาและเติบโตในบริบทใหญ่ในยุโรปซึ่งมันสู้กับศาสนา ทีนี้เวลาที่คุณสู้กับศาสนาเครื่องมืออันหนึ่งที่คนชอบใช้กันคือ การเสียดสีมันทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ การสู้กับศาสนจักรที่ใหญ่ การเสียดสีล้อเลียนมันจึงมีบทบาทแบบนี้ ตลกเสียดสีแบบนี้มันเป็น การต่อต้านอำนาจในยุโรป เป็นการต่อสู้เพื่อจะหลุดพ้นยุคกลาง ซึ่งอำนาจที่ต่อสู้ด้วยคือ อำนาจจากศาสนจักร

ตอนที่ดิฉัน อ่านบทความของอาจารย์ ‘ชัยวัฒน์’ จบ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ส่งจดหมายไปหาอาจารย์ชัยวัฒน์ คือเวลาที่อาจารย์เรียกร้องให้มีการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อยากให้มีพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นพื้นที่ซึ่งเราจะไม่ไปแตะต้องด้วยตลกล้อเลียน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งคือยุโรป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณกำลังเอาโลกทัศน์แบบที่ยุโรปบอกว่าผ่านมาแล้ว เคยต่อสู้จนสิ้นสุดไปแล้วกับศาสนา แล้วก็บอกว่าโลกทัศน์แบบนี้มันกลับมาใหม่ เพราะฉะนั้นคนในยุโรปจึงไม่ยอมเพราะ เขาให้พื้นที่กับโลกแบบยุคกลางไม่ได้

สิ่งสำคัญคือ เราต้องดูว่าการล้อเลียนเสียดสีมันเกิดขึ้นที่ไหน คือเกิดขึ้นที่พื้นที่ในยุโรป พื้นที่ทางประวัติศาสตร์มันเป็นแบบไหน คือมันเป็นประวัติศาสตร์ที่อาศัย joke อาศัยการเสียดสีล้อเลียนในการสู้กับศาสนจักร ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ยอมรับในเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว สังคมมันเจริญก้าวหน้าแล้ว การที่จะให้กลับไปยอมรับการเคารพรูปปั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับว่าเป็นการพาสังคมสู่การก้าวถอยหลังกลับไป จึงอยากพาให้ดูภาพใหญ่ในยุโรปซึ่งไปไกลกว่าดีเบทเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารเสรีภาพในการแสดงความเห็น สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Charlie Hebdo มันเป็นการเตะหมาเข้าปากหมู ต้องบอกว่าตอนนี้ยุโรปมีความกลัวเรื่องความเสื่อม การตกต่ำของอำนาจยุโรป

ความกลัวของยุโรป และความล้มเหลวในการสร้างสังคมที่มีความหมาย กับคนหลายกลุ่ม

ความกลัวประจวบเหมาะกับกระแสชาวมุสลิม ที่อพยพมาจากแอลจีเรีย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวยุโรปจำนวนหนึ่งมีท่าทีที่จะมองว่าเป็น Islamization มีนวนิยายเล่มหนึ่งที่เพิ่งเขียนขึ้นมาและเป็นประเด็นให้โต้เถียงกันมาก็คือในเนื้อหามันพูดถึงว่าฝรั่งเศสในปี 2022 จะมีประธานาธิบดีเป็นชาวมุสลิมคนแรกและบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ ทีนี้ข้อสรุปของนักเขียนไม่ได้เป็นข้อสรุปแบบฝ่ายขวาที่กลัวชาวมุสลิม แต่ข้อสรุปของเขาคือ สมมุติว่าความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ถ้ามันมีการบังคับใช้กฎหมายแบบนี้ มันจะจำกัดพวกนายทุนหน้าเลือดได้หรือไม่ นี่คือโจทย์ของเขา แต่พวกฝ่ายขวาเอานวนิยายเล่มนี้ไปตีความในอีกแบบหนึ่งว่า เราจะถูกกระแสอิสลามครอบงำยุโรป ทำไงดีว่ะ ซึ่งอาการ paranoid นี่มันประจวบกับอาการกลัวการตกต่ำของอารยะธรรมยุโรปขนานใหญ่

การเกิดกรณีที่สื่ออย่าง Charlie Hebdo ถูกโจมตี ยิ่งเป็นการตอกย้ำในจินตนาการของฝ่ายขวาในยุโรปให้พวกเค้ารู้สึกจริงยิ่งขึ้น ตอนแรกเพียงแค่กลัวกระแสผู้อพยพชาวมุสลิม ทั้งๆ ที่ชาวมุสลิมในฝรั่งเศส และในปารีสเองเป็น คนกลุ่มน้อยมาก มีฐานะยากจนไม่ได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกับชาวฝรั่งเศสเอง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันต้องข้ามกับจินตนาการที่มีของผู่คนในฝรั่งเศส และในยุโรป

นั่นหมายความว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับ Fundamentalism กับ extremism ทั้งสองฝ่าย สิ่งที่กำลังเจอคือ คนที่ส่องกระจกกันเอง เราจะเจอกับคนที่โกรธกับการถูกเหยียดหยาม โกรธกับการถูกhumiliated และใช้ความรุนแรงโต้กลับ และเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ ยิ่งเป็นการเสริมจินตนาการว่าต่อไปนี้เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเพื่อป้องกันการครอบงำบางอย่างของอิสลามในยุโรป เพราะฉะนั้นไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าจะมีโพลล์ออกมาว่าในปี 2017 มีโอกาสที่ผู้นำทางฝ่ายขวาอย่าง ‘ฌอง-มารี เลอ เป็น’ อาจจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศส คนนี้เป็นฝ่ายขวาที่ไม่ใช่ ‘ซาร์กอซี’ ซึ่งเป็นฝ่ายขวากลาง หากว่า  ‘ฌอง-มารี เลอ เป็น’ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเมื่อไหร่ดอฉันคิดว่าชาวมุสลิมในฝรั่งเศสจะประสบความยุ่งยากไม่น้อย

ฉะนั้นอยากที่ประเด็นไว้ประเด็นไว้อีกนิดหน่อยคือ เมื่อเช้าดิฉันอ่านข่าวและรู้สึกโกรธกับข่าวพระพม่ากลุ่ม 696 ซึ่งเป็นพระกลุ่มชาตินิยม ซึ่งออกมาพูดในสาธารณะว่า “ตัวแทน UN ที่เข้ามารายงานสถานการณ์ชาวโรฮิงญาในพม่าเป็น กระหรี่ คือเป็นการใช้ภาษา sexist ในการเหยียดคนไม่เห็นด้วยกับตนเอง คำถามก็คือ นี่มันไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมมุสลิม หรือเกิดขึ้นในสังคมยุโรปเท่านั้น แต่ภาวะแบบสุดโต่งแบบนี้นี้มันกำลังเกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก ซึ่งมันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของคนในโลก มันสะท้อนความกลัว ความไม่แน่นอนในชะตากรรม และรวมถึงความล้มเหลวในการสร้างสังคมที่มีความหมายกับคนหลายกลุ่ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท