Skip to main content
sharethis

ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน-กสม., ให้อำนาจถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้, ตั้งคณะกรรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม และกันรัฐบาลกู้เงินนอก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี

 

 

ประชาไท รวบรวมประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังเดินการพิจราณารายมาตรา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการร่างในประเด็นสำคัญๆ  โดยมีรายระเอียดดังนี้

26 ม.ค.2558

กำหนดให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม ได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วน ภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

โดยได้มีการกำหนดเพิ่มให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรส และบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรตรวจสอบอื่น พร้อมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร็ว จากเดิมกฎหมายบัญญัติให้แค่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น

27 ม.ค. 2558

รธน.ใหม่ สามารถถอดถอนย้อนหลัง อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) เปิดเผย เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2558  ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่งและการตัดสิทธิทางการเมือง ได้กำหนดหากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือถูกพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อร้องขอตามที่ รธน.กำหนด โดยต้องใช้มติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาในการถอดถอน โดยผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่รัฐสภามีมติ และยังสามารถถอดถอนย้อนหลังได้ถึงแม้จะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วก็ตาม

ให้คณะกรรมสรรหา กกต. มี 12 คน พรรครัฐบาลได้และคณะรัฐมนตรี ได้โควต้าคนละที่นั่ง

ส่วนการพิจารณาองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประชุมเห็นควรกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กกต.มีจำนวน 12 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน โดยเลือกจากที่ประชุมศาลฎีกา จำนวน 2 คนและตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ จากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1คน และพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 2 คน

กกต. 6 ปี วาระเดียว และให้การเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นอำนาจศาลอุทธรณ์

ขณะที่ กกต.จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีได้เพียงวาระเดียว ส่วนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งตามที่กำหนดใน รธน.

28 ม.ค. 2558

ให้ ป.ป.ช. เหลือ 9 คน ดำรงตำแหน่ง 9 ปี วาระเดียว และห้ามดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน

การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558  เป็นการพิจารณาหมวดว่าด้วยการใช้อำนาจรัฐ เรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยปรับจำนวนของคณะกรรมการ จากที่กำหนดไว้ 10 คน เป็น 9 คน รวมตำแหน่งประธานกรรมการ มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียวและต้องไม่เคยเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ ยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบคณะกรรมการองค์กรอิสระด้วย

กำหนดเพิ่มอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ในการไต่สวน จากเดิมไต่สวนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถไต่สวนและวินิจฉัยกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และตัวการ ผู้ใช้และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
 

29 ม.ค. 2558

ปรับนิยาม ‘เงินแผ่นดิน’ ใหม่ รวมเงินกู้เข้าไปด้วย กันรัฐบาลกู้เงินนอก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) กล่าวเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 ถึง ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 5 ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณ โดยได้มีการวางหลักการใหม่ของการเงินการคลังใหม่หลายประการ อาทิ ได้มีการปรับนิยามเงินแผ่นดินใหม่ ให้หมายความรวมถึง เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครอง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม พร้อมกันนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติห้ามรัฐบาลกู้เงินโดยไม่ผ่านการตราพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ซึ่งหมายถึงว่าไม่สามารถออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลในอดีตได้ออกกฎหมายพิเศษกู้เงินทำโครงการต่างๆ โดยไม่ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จนทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าการนำงบประมาณกู้เงินดังกล่าวมาใช้นอก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีสามารถทำได้หรือไม่

บัญญัติหลักการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณแผนดิน ใหม่ – งบประมาณประจำปี ต้องรวมทั้งรายจ่าย และรายได้

นอกจากนี้ยังบัญญัติหลักการของการจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดตราเป็นร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้หลังจากนี้ไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องจัดทำเป็นรูปแบบที่มีรายละเอียดทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบประมาณรายได้ ประจำปี เพื่อเอื้อต่อการออกเป็นกฎหมายลูกในอนาคตต่อไป ขณะที่การจัดสรรงบฯ นอกจากจัดสรรตามหน่วยงาน และภารกิจแล้ว ยังเพิ่มการจัดสรรงบฯ ให้เป็นไปตามพื้นที่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการตามพื้นที่ของประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้การใช้จ่าย การก่อหนี้และภาระผูกพันที่มีผลต่อรายได้แผ่นดินต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้ม ค่า โปร่งใส และการรักษาวินัยทางการคลัง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณของรัฐ

 

30 ม.ค. 58

ควบรวม ผู้ตรวการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน"

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" เนื่องจากทั้งสององค์กรมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อเป็นการยกระดับสององค์กรให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์และคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิหรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบราชการหรือการเมือง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปร้องทุกข์ได้ในที่เดียวแบบวันสต็อป เซอร์วิส โดยจะมีการยกระดับกฎหมายขององค์กร ให้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน จะมีจำนวน 11คน  แบ่งงานเป็น 11ด้าน ตามความเหมาะสมเรื่องสิทธิเสรีภาพและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

ให้อำนาจ ป.ป.ช. สรุปสำนวนยื่นฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลัง และงบประมาณ เองได้เลย

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวถึง ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ต่อในหมวด 5 ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการปรับหลักการในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปีงบประมาณ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีการแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายการ หรือจำนวนรายการใด แล้ว จะนำไปจัดสรรสำหรับรายการหรือโครงการที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้ และหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชนพึง ได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจไต่สวนและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบ ประมาณพิจารณาได้เลย

แต่งตั้งคณะกรรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม – ระบบคัดสรรคนดี

ในการพิจารณาในหมวด 6 ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชนได้มีการวางหลักการเรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระบบคุณธรรม ใหม่ทั้งระบบ โดยจัดให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมจำนวน 7 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี เพื่อแต่งตั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐขึ้น โดยคัดสรรจากบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางทางการเมือง

คณะกรรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม มีอำนาจเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ต่อนายกรัฐมนตีได้ เทียบเท่าปลัดกระทรวง

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่ง โยกย้าย หรือพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง ต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เชื่อว่าการวางหลักการดังกล่าวจะช่วยป้องกันการก้าวก่าย หรือแทรกแซงทางการเมือง เพื่อคัดสรรคนดีเข้าสู่ระบบข้าราชการ ทั้งนี้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม

จับตาความเคลื่อนไหวสัปดาห์หน้า

องค์กรปกครองส่งนท้องถิ่นจะยุบรวมหรือไม่ ?

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2558 ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ได้ยื่นหนังสื่อต่อ กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช. เรียกร้องให้ยุบรวมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น

โดยได้มีข้อเสนอให้ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายไม่ให้เกิดการ ทับซ้อนกัน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับราชการ หลังทางเครือข่ายฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบในหลายพื้นที่ในองค์กร อปท.โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วพบว่า การบริหารของ อบจ.หลายแห่งมีการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า มีการกระทำการผิดระเบียบทางราชการและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่อถึงการทุจริตและทำให้ราชการเสียประโยชน์จำนวนมาก และบางแห่งเป็นที่หาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มการเมืองและเป็นแหล่งอิทธิพล อาทิ เกิดการทุจริตในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำบัญชีและการเงินการคลัง ดังนั้นจึงขอให้ สปช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายุบรวม อปท. ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน แก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น รวมถึงการใช้อำนาจและงบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปอย่างโปร่งใส

ด้านบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้ (2 ก.พ.) จะเข้าสู่การพิจารณาสาระสำคัญในหมวดการปกครองท้องถิ่น (อปท.) โดยภาพรวมจะพิจารณาหลักการและสาระสำคัญ ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมบางส่วนในรายละเอียด แต่เนื่องจากยังไม่เข้าสู่การพิจารณาจึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายได้

“หลักการของหมวดนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 แต่จะปรับปรุงรายละเอียดให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของสังคมมาก ขึ้น อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯจะไม่พูดถึงประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องการยุบรวม องค์การปกครองท้องถิ่น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่เขียนเป็นแนวทางเท่านั้น คาดว่าจะพิจารณาหมวดการปกครองท้องถิ่นให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้าก่อนจะ เข้าสู่การพิจารณาในส่วนของการปฎิรูปต่อไป”

ย้ายเรื่องท้องถื่นไปร่างวันที่ 5-6 ก.พ. ยกเรื่องรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีไปร่างปลาย มี.ค.

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันที่ 2-4 ก.พ.จะงดประชุมคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากการยกร่างรายมาตราในรายละเอียดเกี่ยวการกระจายอำนาจและการปกครอง ท้องถิ่นยังไม่เรียบร้อย และจะประชุมต่อในวันที่ 5-6 ก.พ.

“ส่วนในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองว่าด้วยรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่อง ที่มีเนื้อหารายละเอียดมาก จะพิจารณาในช่วงท้าย โดยคาดว่าประมาณปลายเดือนมีนาคม ดังนั้นจึงยังไม่สรุปว่า ผู้ที่เคยถูกถอดถอนจะสามารถกลับเข้ามาสู่การเมืองได้หรือไม่ เพราะจะต้องหารือกันก่อน แต่ที่พูดกันมากในประเด็นนี้ เพราะเคยมีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่บัญญัติเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่สมัครส.ส.ไว้ว่าจะต้องไม่เคยถูกถอดถอน ซึ่งขณะนี้ถือว่าไม่มีผลแล้ว จึงต้องแล้วแต่คณะกรรมาธิการว่าจะมีความเห็นอย่างไร” โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว

 

เรียบเรียบจาก : เว็บข่าวรัฐสภา , สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net