Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กรยื่นหนังสือค้านและให้ทบทวนการควบรวมกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ผิดเจตนารมณ์ บวรศักดิ์ขอผู้คัดค้านศึกษารายละเอียดให้ดี

3 ก.พ.2558 องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชน รวม 30 องค์กร จัดทำข้อเสนอถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คัดค้านการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน

เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า วันนี้ที่อาคารรัฐสภา นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พร้อมตัวแทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 30 องค์กร เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน และจัดตั้งองค์กรใหม่ว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” โดยกล่าวว่า การควบรวมทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกันจะมีข้อเสีย เนื่องจากหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ และ กสม.มีความแตกต่างกัน โดย กสม. มุ่งตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน มุ่งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย โดยกระทำดังกล่าวอาจไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างว่าอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานคล้ายคลึงกัน จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์และภารกิจขององค์กร ทางสมาคมจึงนำข้อเสนอแนะของ 30 องค์กรมายื่นเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนข้อเสนอการควบรวม กสม.เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายบวรศักดิ์กล่าวหลังรับหนังสือว่า การควบรวมทั้งสององค์กรจะเป็นการยกระดับการทำงาน โดยจะมีคณะกรรมการ 11 คนดูแล 11 ด้าน และการควบรวมมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย จึงอยากจะให้คิดถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลักและต้องเป็นไปตามหลักสากล ในบางประเทศให้ กสม.ควบรวมกับผู้ตรวจการ และบางประเทศให้แยก ถ้าหากมีการควบรวม องค์กรประชาชนจะไม่ต้องฟ้องร้องกับหน่วยงานหลายหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนต้องไปฟ้อง 3 หน่วยงานได้แก่ กสม. ผู้ตรวจการ และศาล หากมีการควบ 2 องค์กรจะช่วยประหยัดเวลาในการฟ้องได้มาก ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า อยากให้ผู้ที่ค้านไปลองอ่านรายละเอียดและลองเทียบดูกับระบบของต่างประเทศเพื่อหาข้อดีและข้อเสีย โดยทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียถึงวันที่ 23 ก.ค.นี้

โดยรายละเอียดของหนังสือดังกล่าว มีดังนี้


ที่ พิเศษ 001/2558

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่อง  ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน
เรียน  ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐส่วนที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตอนที่ 5 ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีมติในการพิจารณาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ให้มีการรวมทั้งสององค์กรเข้าด้วยกันและใช้ชื่อใหม่ว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” นั้น องค์กรที่มีรายชื่อท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอคัดค้านการรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน โดยขอแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบความคิดเห็น ดังต่อไปนี้

1. เจตนารมณ์ของการก่อตั้งและวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินแตกต่างกัน กล่าวคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมุ่งตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นจะเกิดจากการกระทำของบุคคลใด ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นมุ่งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายโดยการกระทำดังกล่าวอาจจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้

แม้เรื่องร้องเรียนบางกรณีสามารถร้องเรียนได้ทั้งสององค์กร คือกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องที่ได้รับร้องเรียน หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบของทั้งสององค์กรนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะนอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังต้องพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวทั้งนโยบาย กฎหมายและการกระทำเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบายและการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน  ประชาชนจึงย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมากกว่าการพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว

การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญการพิจารณารวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยอ้างว่าเป็นเพราะอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานคล้ายคลึงกันนั้น ย่อมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนารมณ์และภารกิจขององค์กร  องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปัจจุบันนั้นมีความเหมาะสมแล้ว ความบกพร่องที่มีเกิดจากกระบวนการสรรหากรรมการและสำนักงานที่ไม่เป็นอิสระจากระบบราชการซึ่งจะต้องแก้ไขในเรื่องดังกล่าวแทนการควบรวมสองหน่วยงานซึ่งมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกันอาจมีปัญหาในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานตามวัตถุประสงค์ขององค์กรในอนาคต

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักการปารีส (Paris Principles) ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันดังกล่าว 106 ประเทศทั่วโลก โดยคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC) จัดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศไทยในระดับ A คือเป็นไปตามหลักการปารีส  อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA) ภายใต้ ICC ได้มีข้อเสนอเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาในการลดสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นระดับ B คือเป็นไปตามหลักการปารีสบางส่วน ซึ่งจะมีผลในระยะเวลาหนึ่งปีข้างหน้า

เนื่องจากตามหลักการปารีสนั้น สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมาจากกระบวนการสรรหาที่มีความโปร่งใส และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ซึ่งองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้เห็นว่าปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปัจจุบันมีที่มาจากการสรรหาซึ่งขาดการมีส่วนร่วม จึงควรแก้ไขที่กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ซึ่งคณะกรรมการสรรหานั้นควรประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน  อาทิเช่น  ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน  สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน  หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีกระบวนการสรรหาที่เป็นอิสระ เปิดกว้างและมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม

3. ในส่วนของสำนักงาน  เนื่องจากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการคุ้มครองและการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงควรมีความอิสระ และมีสำนักงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยวัตถุประสงค์องค์กรและภารกิจที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้จึงขอเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณากำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหน่วยงานอิสระแยกจากกันเป็นสองหน่วยงาน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 โดยแก้ไขให้คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีความโปร่งใสและมีความเป็นธรรมในการคัดเลือก เพื่อให้ได้กรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความรู้ความสามารถอันจะนำไปสู่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนต่อไป

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ
1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
3. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
4. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
5. เครือข่ายผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย
6. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
7. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
8. โครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัค
9. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
10. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
11. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
12. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
13. สมาคมองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
14. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
15. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
16. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
17. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
18. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
19. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
20. ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
21. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย)
22. เครือข่ายผู้ชายข้ามเพศแห่งประเทศไทย (TMAT)
23. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
24. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
25. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนภาคเหนือ
26. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
27. เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง
28. มูลนิธิผู้หญิง
29. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
30. สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net