Skip to main content
sharethis

3 ก.พ. 2558 เมื่อเวลา 17.30 น. แหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มีการแจ้งยกเลิกการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3/2558 อย่างกะทันหันจากทางประธาน กทค. โดยเดิมทีมีการนัดหมายประชุมกันในวันพรุ่งนี้ (4 ก.พ.) ทั้งนี้ ในการแจ้งยกเลิกประชุมดังกล่าว ไม่มีการระบุถึงเหตุผลหรือสาเหตุความจำเป็นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กทค. มักมีการยกเลิกหรือเลื่อนประชุมอยู่บ่อยครั้ง โดยสถิติการประชุมในปี 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฝั่งโทรคมนาคมมีการประชุมกัน 29 ครั้ง ในขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือฝั่งกระจายเสียง มีการประชุมกันทั้งสิ้นถึง 55 ครั้ง
   
อนึ่ง เดิมทีในการนัดประชุม กทค. วันพรุ่งนี้ มีวาระการประชุมที่สำคัญหลายวาระด้วยกัน ทั้งเรื่องการพิจารณาร่างประกาศดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งเป็นประเด็นที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมายว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจมากขึ้นในกิจการดาวเทียมสื่อสารหรือไม่ และเรื่องที่ บมจ. ทีโอที เสนอแผนการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งถ้าหาก กทค. ยอมตาม ก็จะมีผลกระทบต่อการนำคลื่นย่านดังกล่าวไปประมูลหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ NBTC Rights ระบุถึงประเด็นที่น่าจับตาในวาระการประชุม กทค. อาทิ
 

 


วาระพิจารณาร่างประกาศดาวเทียมสื่อสาร
วาระที่คลาดสายตาไม่ได้เลยในการประชุม กทค. ครั้งนี้ คือเรื่องการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. … ซึ่งเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานานและร่างประกาศดังกล่าวจดๆ จ้องๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. มาหลายระลอก แต่ก็เป็นโรคเลื่อนมาเรื่อยๆ

กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาด โดยผู้ให้บริการช่องสัญญาณมีเพียงบริษัทไทยคมเพียงรายเดียว ขณะที่การยกร่างประกาศดังกล่าวก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย ทั้งเรื่องหน่วยงานใดกันแน่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเป็น ITU Administrator เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลวงโคจร เรื่องผู้ประกอบการฝ่ายใดต้องเป็นผู้ประมูลใช้คลื่นความถี่ ระหว่างผู้ประกอบการดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศหรือผู้ประกอบการสถานีภาคพื้นดิน รวมถึงนโยบายเรื่อง Landing Rights ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้าหากอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติสามารถเข้ามาใช้สิทธิวงโคจรของประเทศ หรือสามารถเปิดให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมกับสถานีภาคพื้นดินในประเทศ ก็จะช่วยให้ตลาดบริการโครงข่ายและช่องสัญญาณดาวเทียมเกิดการแข่งขัน ส่งผลให้อัตราค่าบริการถูกลง คุณภาพบริการดีขึ้น การพิจารณาวาระนี้ของที่ประชุม กทค. จึงมีความสำคัญอย่างมาก ว่าจะเป็นการเปิดประตูนำไปสู่การแข่งขันกันมากขึ้น หรือตอกตะปูปิดโลงให้เกิดการผูกขาดในกิจการประเภทนี้กันต่อไป

วาระ บมจ. ทีโอที จำกัด ขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตและเสนอแผนการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz
สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 บมจ. ทีโอที จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และเสนอแผนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นฝ่ายนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการต่อไปเอง

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในการให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ก็สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้นต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลต่อไป เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่บัญญัติไว้ให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ นั่นหมายถึง บมจ. ทีโอที ไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ต่อไปได้ โดยต้องคืนคลื่นความถี่กลับมาที่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สิ้นสุดลง หนนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทำแผนขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ถึงสำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2556 ก็มีมติชี้ว่า สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลงด้วยเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง หนนี้จึงคาดว่ามติที่ประชุม กทค. ไม่น่าสวนทางแตกต่างออกไป

ที่น่าลุ้นต่อจึงอยู่ที่ว่า สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดด้วยหรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net