Skip to main content
sharethis

4 ก.พ. 2558 จาการ์ต้า- เครือข่าย ส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ สภานิติบัญญัติไร้ความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงที่จะออกกฎหมายหลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ระบุไทยวันนี้เหมือนพม่าเมื่อทศวรรษ 1990 จี้คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งทันที

“องค์กรซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยทหารที่ทำการรัฐประหารเข้ามาสู่อำนาจ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดกันตามหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ” ชาร์ลส์ ซาติเอโก สมาชิกรัฐสภาของมาเลเซียและประธานเครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว

ทั้งนี้แถลงดังกล่าวของ เครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เช่นเดียวกันกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คสช. โดยผ่าน สนช. ได้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายใหม่หลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้การกดขี่สิทธิพื้นฐานนับตั้งแต่ คสช. เข้ามามีอำนาจได้มีฐานะเป็นกฎหมายถาวร

เครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงการจำกัดสิทธิในการชุมนุม การละเมิดความเป็นส่วนตัวและเปิดโอกาสให้รัฐได้เข้ามาสอดส่องพลเมืองโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ ที่การยกเลิกการคุ้มครองสิทธิของชุมชนในการปกป้องตัวเองจากผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ภาคประชาสังคมไทยนั้นอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างยิ่งและถูกกดทับจากระบบภายใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. อย่างไรก็ตามยังเห็นความพยายามที่จะส่งเสียงต่อต้านต่อกฎหมายที่ระบอบทหารต้องการผลักดัน โดยปราศจากการปรึกษาหารือ และยึดเอาประชาธิปไตยของประเทศไว้เป็นตัวประกัน

“เราได้เห็นทั้งความก้าวหน้าและล้าหลังในกระบวนการนิติบัญญัติของเราอยู่ตลอดเวลา และมันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ได้เห็นรัฐบาลเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ" วอลเดน เบนโล สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ และรองประธานเครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ และกล่าวต่อไปว่า

“แต่แม้ในระบอบการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาที่บกพร่อง แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งที่เป็นการถ่วงดุลอำนาจและมีหลักในการปกครองและการผ่านกฎหมาย การติดตามข่าวและการต้องพูดถึงประเทศไทยในวันนี้ทำให้นึกถึงพม่าในยุคทศวรรษที่ 1990 ที่มีการกดขี่ การจับกุม ศาลทหาร และนักวิชาการ ปัญญาชนและนักการเมืองขั้วข้ามถูกกดดันให้ต้องลี้ภัย”

“เผด็จการทหารของไทยนั้นมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเท่ากับศูนย์ และต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยทันที และต้องให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนที่ทำหน้าที่แทนพวกเขาในสภา” วอลเดน เบนโลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net