Skip to main content
sharethis

กสม.ทำหนังสือด่วนถึง คสช.-สปช.-สนช.-ครม.-กมธ.รธน. เสนอทบทวนควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการ

4 ก.พ. 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง "การยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาระบุแม้ กสม.จะสนับสนุนการปฏิรูปประเทศในภาพรวม แต่เห็นว่า แนวคิดการควบรวม กสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

อาทิ
-อำนาจหน้าที่ของ กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินมีความแตกต่างกัน การควบรวมองค์กรดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสร้างองค์กรกลุ่มขึ้นใหม่ที่รวมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะให้ไปทำหน้าที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย จึงย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน

-วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การควบรวมจึงทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะทำให้เหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว

- การควบรวมองค์กรทำให้ความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมกาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเวทีระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือต่างๆ ได้รับผลกระทบ


       

00000

ตามที่ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการประชุม เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ได้พิจารณาการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วมีมติให้ควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน โดยถือเป็นการยกสถานะขึ้นเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญรองรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กร ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 11 คน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถยื่น เรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานเดียวได้ครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิทักษ์สิทธิของประชาชน โดยกรรมการแต่ละคนจะแยกกันทำหน้าที่ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน อีกทั้งได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้รายงานต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ยังพร้อมรับฟังความเห็นและประเด็นข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ นั้น
       
แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะสนับสนุนการปฏิรูปประเทศในภาพรวม แต่เมื่อได้พิจารณามติและเหตุผลของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมองค์กรดังกล่าวแล้ว เห็นว่า แนวคิดการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
1.1 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินมีความแตกต่างกัน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นสำคัญทั้งตามหลักการของรัฐธรรมนูญ กฎหมายไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 การควบรวมองค์กรดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสร้างองค์กรกลุ่มขึ้นใหม่ที่รวมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะให้ไปทำหน้าที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย จึงย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
       
1.2 ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้รายงานต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วย นั้น ขอเรียนว่า พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 และมาตรา 31 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว
       
1.3 ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า การควบรวมองค์กรเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการร้องเรียนได้ครบวงจรโดยไม่ต้องไปร้องเรียนสองแห่ง นั้น ขอเรียนว่า วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การควบรวมจึงทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะทำให้เหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว
       
1.4 ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ ได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการองค์กรใหม่ว่า แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่กว้างขวางและไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปที่สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่ในทางตรงข้ามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับลดความสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรง
       
1.5 การควบรวมมีผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนระเบียบ กฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการองค์กรของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นระบบเดียวกัน ต้องใช้เวลา ทรัพยากร เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสำนักงานของทั้งสองหน่วยงานมีระบบโครงสร้างองค์กรที่แตกต่างกัน กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีโครงสร้างเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายอื่นใดทั้งสิ้น ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานที่มีพนักงานของรัฐในการสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนั้น การควบรวมเข้าด้วยกันจึงอาจนำไปสู่ปัญหาในการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารงานบุคคล และงบประมาณ รวมทั้งการให้บริการด้านเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มีอยู่เดิมของแต่ละองค์กรต้องขาดความต่อเนื่องและเกิดภาวะชะงักงันในเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

2. ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยสถานะขององค์กรตามหลักการปารีส 
2.1 ตามหลักการปารีส สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีพระราชบัญญัติเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติก็ตาม ล้วนแต่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และประกันความเป็นอิสระรวมทั้งความยั่งยืนขององค์กร
       
2.2 การควบรวมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ย่อมทำให้บทบาทขององค์กรใหม่ในเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ชัดเจนและอาจถูกลดทอนความสำคัญลงได้ เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีกรรมการ 11 คน และให้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการแต่ละคนให้ชัดเจน กรณีใดต้องเป็นมติร่วมกันของกรรมการในองค์กรใหม่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมส่งผลให้การทำหน้าที่ขององค์กรใหม่ในด้านสิทธิมนุษยชนถูกแยกย่อยออกเป็นการพิทักษ์สิทธิในแต่ละด้านขาดการพิจารณาในองค์รวม ไม่สอดคล้องกับหลักการทำงาน
ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นสากลและไม่อาจแบ่งแยกได้
       
ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาในมิติและบริบทที่สอดคล้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรอย่างรอบด้าน ประการสำคัญ
ในการใช้อำนาจหน้าที่จำเป็นต้องอาศัยความรอบรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการทำงานเป็นองค์คณะบุคคลในการพิจารณาวินิจฉัยตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยในระหว่างการทำหน้าที่ดังกล่าวอาจมีกลไกในรูปคณะอนุกรรมการช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในมิติและบริบทที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในแต่ละด้านในเบื้องต้นได้
       
2.3 การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีบริบทที่กว้างขวางไปกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายภายใน โดยต้องคำนึงถึงคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี (ดังปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2) และสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทสากลที่ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่เป็นสถาบันตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระและไม่อยู่ในอาณัติหรือในบังคับบัญชาของรัฐบาล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนับสนุนภารกิจให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
       
2.4 ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ ไม่ได้บัญญัติถึงการให้มีสำนักงานฯ ที่เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสที่ให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีโครงสร้างที่เหมาะสมที่จะทำให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีงบประมาณที่เพียงพอและไม่อยู่ภายใต้การควบคุมทางการเงินที่อาจกระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กร

3. ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยผลกระทบต่อบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศ
3.1 การควบรวมองค์กรทำให้ความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมกาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเวทีระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือต่างๆ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงภายใต้ชื่อขององค์กรใหม่ หรืออำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ระบุไว้ในหลักการปารีสที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการควบรวมดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันในเวทีระหว่างประเทศคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันและเป็นที่ยอมรับทั้งในกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับอนุภูมิภาค อาทิ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรบริหาร (Bureau) ของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบัน สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions – ICC) การเป็นประธานกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum - APF) และกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum – SEANF) รวมทั้งจัดทำรายงานคู่ขนานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศและภายใต้อนุสัญญาต่างๆ ให้กับหน่วยงานของสหประชาชาติ
       
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้รับการเสนอให้ทำหน้าที่เป็นกลไกป้องกันการต่อต้านการทรมาน (National Preventive Mechanism - NPM) ภายใต้พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งปัจจุบันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในสามเสาหลักของสหประชาชาติ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความมั่นคง และเศรษฐกิจกับการพัฒนา โดยได้ส่งเสริมให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ จัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะเป็นกลไกเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ รวมทั้งจัดทำข้อมูลหรือเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้หน่วยงานของสหประชาชาติ โดยเฉพาะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) และคณะกรรมการภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังเช่นประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สอดคล้องกับหลักการปารีส ดังนั้น การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นการสื่อสารว่า บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยถูกลดทอนความสำคัญลงทั้งที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศตลอดมา
       
3.2 ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมิได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะ
ตลอดหากมีการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระซึ่งรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็จะยิ่งเป็นการส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นการสวนกระแสของประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนั้น แนวคิดที่จะให้ควบรวมองค์กรดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรง อาจเป็นการทำให้สังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศเข้าใจได้ว่า รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
       
นอกจากนี้ ในปัจจุบันสหประชาชาติกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังปี ค.ศ. 2015 (Post 2015 Sustainable Development Agenda) ซึ่งเน้นหลักการว่าด้วยการพัฒนา การสร้างสันติภาพ และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นหลักในการส่งเสริมสภาพการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนในทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล โดยจะจัดการประชุมระดับสุดยอดเพื่อรับรองเอกสารสำคัญว่าด้วยระเบียบวาระดังกล่าวในเดือนกันยายน 2558 ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลจะต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกล่าวถ้อยแถลงและรับรองเอกสารร่วมกับผู้นำประเทศอื่นๆ อีก 192 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ สาระสำคัญที่จะปรากฏในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีต้องเป็นการสะท้อนความจริงใจของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติหน้าที่และความเข้มแข็งของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล ดังเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากระดับสากลลงสู่การดำเนินงานภายในประเทศ

4. ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยมาตรการที่จะให้การดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานขององค์กรในด้านต่างๆ ไว้แล้ว ได้แก่ ด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย ด้านการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประสานงานเครือข่าย และด้านการจัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ (ดังปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 และ 4) ทั้งนี้ ในการปรับรูปแบบและกลไกที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามหลักการของมาตรา 35 วรรคสอง มีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นเอกเทศ
       
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ประกอบกับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 34 วรรคสอง ที่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโปรดนำข้อควรคำนึงและข้อพิจารณาที่กล่าวมาข้างต้นไปประกอบการพิจารณาทบทวนเรื่องการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกันโดยให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ และไม่สมควรควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4 กุมภาพันธ์ 2558  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net