Skip to main content
sharethis

แกนนำชาวบ้านถูกจี้ บอกชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่ ด้านสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งหนังสือชี้แจง การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ จ.สุราษฎร์ธานี แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยระวังไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

 

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่ปิดล้อมชุมชนเพิ่มทรัพย์ หมู่ 1 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2558 และได้เรียก เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เข้ารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ 3 วัน (3-5 ก.พ.) (อ่านข่าวที่เกียวข้อง) ทั้งนี้เนื่องจาก ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา

ตามหนังสือระบุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ขอเรียนว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2558 ได้รับพิจารณากรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสุราษฎร์ แล้วมีติ ดังนี้

1.เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมฯ ดังนี้

1.1 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง

1.2 แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบกับชีวิตปกติของประชาชน และในระหว่างที่การดำเนินการยังไม่ได้ข้อยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข

1.3 การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม

1.4 การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น

1.5 ขอให้คณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านไปประกอบพิจารณาด้วย

ในกรณีที่เกิดขึ้นพื้นที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์นั้น ได้มีการขอให้ยุติการไล่รื้อ และปล่อยตัว เพียรรัตน์ โดยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เพียรรัตน์ ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่าน แต่จำยอมต้องเซ็นชื่อในข้อตกลงก่อน ออกจากค่ายฯ ว่าให้เรียกประชุมชาวบ้านเพื่อชี้แจงให้ชาวบ้านย้ายออกนอกพื้นที่ โดยยังไม่การเตรียมพื้นที่ไว้รองรับ

ทั้งนี้ในช่วงที่ เพียรรัตน์ ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายฯ ชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาดูแลการเก็บเกี่ยวผลอาสินของบริษัทไทยบุญทอง จำกัด โดยชาวบ้านรายหนึ่งได้เข้าไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า อย่าให้บริษัทเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับเพิกเฉย และบอกว่า ไม่รู้ว่าส่วนไหนเป็นของใคร ถ้ามีปัญหาอย่างไรให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเอง

ข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์

แต่เดิมบริเวณพื้นที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ได้มีชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้าน หมากและป่าปากพัง สืบเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านเข้าบุกรุกป่าทำไร่ปลูกข้าว สร้างบ้านเรือนอยู่กันหลายกลุ่มบ้าน หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2527 มีกลุ่มนายหน้าเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ราคาไร่ละ 200 ถึง 300 บาท และในปี พ.ศ. 2528 บริษัทไทยบุญทอง จำกัด ก็เข้ามาบุกเบิกขอใช้พื้นที่ในการปลูกปาล์มน้ำมัน บริษัทไทยบุญทอง จำกัดได้ขอจดทะเบียนเมือวันที่ 23 พ.ย. 2527 และขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน วันที่ 3 ธ.ค. 2528 จำนวนเนื้อที่ 3,070 – 3 – 55 ไร่ และบุกรุกที่ ส.ป.ก. 1,114 ไร่  จนถึงวันที่  2  ธ.ค. 2543  เป็นวันสิ้นสุดสัญญา แต่บริษัทยังคงไม่ย้ายออกจากพื้นที่เป็นเวลา 14 ปี

ด้านสมาชิกใน ชุมชนได้เข้ามาจัดตั้งชุมชน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในแปลงไทยบุญทอง เนื่องจากยึดตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 ซึ่งได้เริ่มเข้าสร้างบ้านตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2556 โดยเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ จำนวน 265 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนขอเป็นพื้นที่โฉนดชุมชน และเข้าร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ในการดำเนินการประสานนโยบายกับทางภาครัฐ ร่วมกับทางเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จนมีข้อตกลง ( MOU )  สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่  22  พ.ค. 2556 ได้อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net