Skip to main content
sharethis
5 องค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขมาตรา 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ให้อำนาจทหารมีอำนาจสั่งขังพลเรือนโดยไม่มีองค์กรตุลาการในการตรวจสอบ
 
6 ก.พ. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขมาตรา 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ให้อำนาจทหารมีอำนาจสั่งขังพลเรือนโดยไม่มีองค์กรตุลาการในการตรวจสอบ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
คัดค้านการแก้ไขมาตรา 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
ให้อำนาจทหารมีอำนาจสั่งขังพลเรือนโดยไม่มีองค์กรตุลาการในการตรวจสอบ
 
ตามคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่...) พ.ศ…. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งมีการแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 46 [1] ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจสั่งขังพลเรือนโดยไม่มีองค์กรตุลาการในการตรวจสอบ องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายนี้ เห็นว่าร่างมาตราดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีความเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนดังต่อไปนี้
 
1. โดยผลของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารนั้นทำให้ประชาชนซึ่งเป็นพลเรือน ต้องถูกดำเนินคดีต่อศาลทหารในคดีบางประเภท ทั้งที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆกับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งการควบคุมตัวบุคคลนั้นยังคงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือต้องนำตัวผู้ต้องหามาฝากขังต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่ถูกจับและต้องขอฝากขังต่อศาลทุก 12 วัน อันเป็นการให้อำนาจศาลเข้ามาตรวจสอบการควบคุมตัวไม่ให้มีการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ อย่างไรก็ตามการแก้ไขมาตรา 46 กลับให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด ณ ที่นั้น สั่งขังผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ หากมี“เหตุสุดวิสัย” หรือ “เหตุจำเป็นอย่างอื่น” ทำให้ไม่อาจร้องขอต่อศาลได้ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการควบคุมตัวอันอาจมีผลเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาโดยการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยปราศจากเหตุผลเเละความจำเป็นในการดำเนินคดีเเละขาดการกลั่นกรองเเละการตรวจสอบ (Accountability) จากองค์กรตุลาการ จึงอาจทำให้เกิดการควบคุมตัวไม่ชอบหรือโดยพลการ และในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นขึ้นจริงพนักงานสอบสวนก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายให้แตกต่างกับหลักการที่มีอยู่
 
2. นอกจากนี้ในมาตรา 46 วรรคสอง เเม้เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นจะสิ้นสุดลงและสามารถร้องขอต่อศาลทหารได้แล้ว หากยังมีความจำเป็นในการควบคุมตัว ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้นสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ ภายในกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง  ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนควบคุมตัวบุคคลไว้โดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด ขาดความความโปร่งใสและอาจทำให้ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อาทิเช่น สิทธิในการได้รับการเยี่ยมญาติ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิในการพบแพทย์
 
3. ถึงแม้ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) โดยหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯฉบับนี้คือการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกว่า ประเทศไทยจะพยายามดำเนินการเพื่อให้หลักการห้ามทรมานโดยเด็ดขาด  โดยได้มีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายไทยและการดำเนินการในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่องนับแต่ลงนามเป็นรัฐภาคีเมื่อปีพ.ศ. 2550 เช่นการร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ.... โดยกระทรวงยุติธรรม   แต่การแก้ไขการแก้พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารมาตรา 46 เป็นการยกเว้นหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รับรองไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะถูกละเมิดสิทธิตามอนุสัญญาดังกล่าว
 
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามด้านล่างนี้ ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฐานะนายกรัฐมนตรี พิจารณาถอนร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้รัฐบาลประชาชนพิจารณาถึงการแก้ไขกฎหมายธรรมนูญศาลทหาร โดยดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรมและหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมควบคุมตัวตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดอันเป็นระเบียบประเพณีสากลที่เป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตย
 
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
 
 
[1] มาตรา 46 ในกรณีที่มีเหตุสงสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นทำให้ไม่อาจร้องขอให้ศาลทหารที่มีอำนาจสั่งขังผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ ให้ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้นเป็นผู้มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาไว้ตามความจำเป็นและกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง
 
เมื่อเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นในวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง ถ้ายังมีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปอีก และการควบคุมนั้นยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง ให้ร้องขอต่อศาลทหารที่มีอำนาจเพื่อสั่งขังผู้ต้องหานั้นต่อไปได้
 
ให้นำความวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่บุคคลตามมาตรา 16 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา 14 ด้วยโดยอนุโลม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net