เสียงภาคประชาสังคมวาดหวังอย่างไร กับอนาคตการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่

เสียงของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กับการวาดหวังอนาคตการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ จากเวทีเสวนาพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข ของ กอ.รมน. เสนอ 6 ข้อเพื่อการพูดคุยเดินหน้า ย้ำต้องคุยทุกกลุ่ม อยากเห็นความจริงจังมากกว่าจริงใจ ต้องใช้คำว่าพูดคุยเพื่อสันติภาพไม่ใช่สันติสุข ต้องให้น้ำหนักกับตัวละครหลัก สื่อกระแสหลักต้องสนใจพลวัตรการสื่อสารที่เปลี่ยนไป
 
 
ในวาระที่สำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดเสวนาพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขดังนี้
 
“6 ข้อเพื่อการพูดคุยสันติภาพเดินหน้า”
 
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรให้กลุ่มก่อเหตุโดยตรงออกมาพูดคุยด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นเหมือนการพูดคุยในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เราจะต้องรู้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่และต้องทำอย่างไรถึงจะถูกใจพวกเขา
จากนั้นนายประสิทธิ์ ได้เสนอข้อเสนอ 6 ข้อต่อคณะพูดคุยครั้งใหม่นี้ ดังนี้
 
1.ควรผ่อนคลายสถานการณ์โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ เช่น ยกเลิกกฎหมายพิเศษในบางพื้นที่นำร่องไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายกล้าที่จะขยับตัว
 
2. ควรทำความเข้าใจกับอุดมการณ์ รวมไปถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ เพราะกว่าที่พวกเขาจะใช้อาวุธในการต่อสู้ ก็ย่อมผ่านการต่อสู้มาหลายวิธีแล้ว หากจะให้พวกเขาหยุดการต่อสู้ด้วยอาวุธแล้วจะมีทางเลือกอะไรให้พวกเขาได้ต่อสู้ต่อไป
 
“องค์กรที่มีศักยภาพที่สุดตอนนี้ก็คือฝ่ายทหาร และหากทหารเข้าใจประเด็นนี้ได้จะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างมาก”
 
3.ควรเตรียมเรื่องความรู้สึก เช่น แนะนำประชาชนว่าควรจะเดินต่อไปอย่างไรในภาวะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง หรือให้บทบาทกับผู้นำศาสนาให้มากขึ้นในการมีส่วนร่วม ซึ่งประชาชนในพื้นที่เชื่อถือผู้นำศาสนามากที่สุด
 
4.ไม่ควรมองข้ามผู้หญิง เพราะมีอิทธิพลต่อสถาบันครอบครัวรองลงมาจากผู้นำศาสนา ความเห็นของผู้หญิงสามารถเป็นกระแสสังคมได้ ดังนั้นสิ่งแรกๆ ที่จะต้องทำคือ มุ่งสร้างความเข้าใจต่อผู้นำศาสนาและผู้หญิง
 
5.ควรทำความเข้าใจกับสื่อกระแสหลัก เพราะปัญหาของสื่อกระแสหลักจริงๆ อยู่ที่บรรณาธิการส่วนกลาง นักข่าวในพื้นเข้าใจปัญหาดีกว่าผู้บริหารจากส่วนกลาง แต่การตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง
 
6. ควรให้ความสำคัญกับประเทศมาเลเซีย เพราะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญมาก แม้ไม่มีเครื่องมือพิสูจน์หรือยืนยันได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาบอกได้ว่ามาเลเซียมีความสำคัญต่อการคลี่คลายปัญหาในครั้งนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ
 
“ต้องคุยทุกกลุ่มแม้กระทั่ง RKK”
 
นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ข้อดีของการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมาคือ ทำให้เห็นว่าประเทศมาเลเซียเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า หากมาเลเซียไม่ไปกดดันฝ่ายขบวนการ เราคงไม่ได้เห็นภาพอุซตาซฮาซัน ตอยิบและคณะนั่งพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยอย่างแน่นอน
 
นายอับดุลอาซิซ กล่าวต่อไปว่า การพูดคุยครั้งใหม่นี้ดูเหมือนเราจะมีความหวังเป็นอย่างมาก เพราะนายกรัฐมนตรีกำลังจะประกาศคำสั่งที่ 230 ออกมาซึ่งหวังว่าจะเหมือนคำสั่ง 66/2523 ในสมัยนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายสงครามเย็น
 
นายอับดุลอาซิซ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญการพูดคุยจะต้องคุยกับทุกกลุ่ม แม้กระทั่ง RKK (ชื่อกลุ่มติดอาวุธ) เพราะมีตัวอย่างให้เห็นการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนมาแล้ว นอกจากนั้นฝ่ายรัฐไม่ควรสร้างเงื่อนไขเพิ่ม เช่น เหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ เพราะหากหยุดการสร้างเงื่อนไขได้ก็จะแก้ปัญหาได้แล้ว 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% ค่อยไปว่ากันบนโต๊ะพูดคุย
 
นายอับดุลอาซิซ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเท่าที่สังเกตเห็นว่า ประชาชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงนักวิชาการไปไกลกว่าเจ้าหน้าที่ทหารเยอะ จะเห็นข้อเสนอต่างๆ ตั้งแต่ Track 3 จนถึง Track 1 ออกมาอย่างไม่ขาดสาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ควรตามให้ทัน ที่สำคัญยิ่งคือผู้นำศาสนาซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนเป็นอย่างมาก รัฐจะต้องให้พวกเขามีบทบาทมากกว่าในปัจจุบันที่เพียงแค่ให้พวกเขาทำหน้าที่คอยเปิดงานหรือพาไปดูงานยังนอกพื้นที่เท่านั้น
 
“อยากเห็นความจริงจังมากกว่าจริงใจ”
 
อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ไม่มีกระบวนการสร้างสันติภาพที่ไหนในโลกนี้ที่ทำกันได้ง่ายๆ เหมือนเส้นตรง แน่นอนเส้นทางนี้ย่อมต้องเลี้ยวลดคดเคี้ยวไปมา หากเริ่มพูดคุยแล้วไม่เป็นไปตามโรดแมพก็อย่าท้อใจเพราะเป็นเรื่องปกติที่ย่อมเกิดขึ้นได้
 
อาจารย์ชินทาโร่ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญเวลานี้ คือสื่อกระแสหลักยังไม่เข้าใจและทำหน้าที่สื่อได้ไม่ค่อยดีนัก เช่น สื่อบางสำนักยังเรียกว่าโจรใต้ มันจะส่งผลต่อการพูดคุยเพราะผู้เสพสื่อก็จะเข้าใจไปตามนั้น และคนที่ไม่เข้าใจก็จะตั้งคำถามรัฐว่าทำไมไปเจรจากับโจร? เป็นต้น จึงขอฝากฝ่ายรัฐว่าควรทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก
 
อาจารย์ชินทาโร่ กล่าวต่อไปว่า การเลื่อนการพูดคุยออกไปเรื่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อการพูดคุย เพราะฝ่ายขบวนการอาจมองว่าทางฝ่ายรัฐไม่จริงใจ ดังนั้นควรจะปล่อยข่าวหรือประกาศอย่างเป็นเอกภาพว่า ตกลงจะเริ่มพูดคุยกันเมื่อไหร่
 
“ที่สำคัญรัฐควรสร้างความเชื่อมั่นต่อคนมลายู เพราะเริ่มมีเสียงให้ได้ยินมาบ้างแล้วว่า ขนาดคนไทยด้วยกันที่เห็นต่างจากรัฐยังถูกกดดันได้ขนาดนั้น แล้วผู้เห็นต่างที่เป็นคนมลายูรัฐจะคุยจริงๆ หรือ?”
 
“ต้องใช้คำว่าพูดคุยเพื่อสันติภาพไม่ใช่สันติสุข”
 
อาจารย์ชินทาโร่ กล่าอีกว่า ในทางวิชาการขอยืนยันว่าจะต้องใช้คำว่าพูดคุยเพื่อสันติภาพไม่ใช่สันติสุข เพราะสันติภาพคือคำที่ใช้ในระดับสากลทั่วโลก จึงอยากให้ฝ่ายรัฐทบทวนการใช้คำดังกล่าว เพราะหากฝ่ายขบวนการหรือมาเลเซียเองไม่เห็นด้วย ย่อมส่งผลไม่ดีต่อการพูดคุยเป็นแน่ แต่หากทั้งสามฝ่ายตกลงกันแล้วว่าจะใช้คำนั้น คนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงย่อมรับได้อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเรายังไม่ทราบเลยว่าอีกสองฝ่ายเขาคิดอย่างไรกับคำว่าสันติสุข
 
อาจารย์ชินทาโร่ กล่าวทิ้งทายว่า อยากเห็นความจริงจังมากกว่าความจริงใจ เพราะความจริงใจวัดกันไม่ได้ แต่ความจริงจังเป็นสิ่งที่เห็นกันได้ผ่านการทำงาน และที่สำคัญกระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศมักจะดำเนินการโดยผู้นำหรือรองผู้นำประเทศเอง จึงอยากเห็นภาพลักษณะดังกล่าวในพื้นที่แห่งนี้ด้วย
 
“ต้องให้น้ำหนักกับตัวละครหลัก”
 
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR กล่าวว่า คำว่าสันติภาพถูกใช้ในระดับสากลแต่เมื่อฝ่ายรัฐบาลไทยเปลี่ยนมาใช้คำว่าสันติสุข ย่อมถูกประชาชนเอาไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการพูดคุยจะต้องมาจากความบริสุทธิ์ใจและด้วยความเต็มใจจากทุกฝ่าย
 
นายตูแวดานียา กล่าวต่อไปว่า ในความคิดของฝ่ายขบวนการ พวกเขาคือคนปาตานีและต่อสู้ด้วยแรงผลักจากประวัติศาสตร์ แต่เมื่อรัฐบาลไทยตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้คำว่าสันติสุขหรือทำให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยภายในประเทศ ย่อมถือเป็นการเข้าใจความขัดแย้งที่ผิดไปจากความเป็นจริง และจะส่งผลเสียต่อโต๊ะการพูดคุยมากกว่าผลดี และยากที่จะยกระดับการพูดคุยสู่การเจรจา
 
นายตูแวดานียา กล่าวต่อไปว่า โดยความหมายของสันติสุขแล้วอีกฝ่ายไม่ได้เป็นศัตรกับรัฐเพียงแค่เห็นแยัง พูดคุยกันได้ ในขณะที่ขบวนการไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องมารบกัน ที่สำคัญพวกเขาคือตัวละครที่สำคัญ การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่ให้น้ำหนักกับตัวละครหลักก็จะแก้ปัญหาลำบาก
 
“กระบวนการสร้างสันติภาพหรือการพูดคุยจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเสียก่อน และต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
 
กระบวนการยุติธรรมกับกระบวนการสันติภาพ
 
นายตูแวดานียา กล่าวอีกว่า กระแสของการวิพากษ์วิจารย์กระบวนการยุติธรรมมีอยู่ตลอด กล่าวคือประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ อย่างกรณีการยกฟ้อง 2 อดีตทหารพราน ผู้ต้องหาในคดียิงเด็ก 3 ศพ ที่รับสารภาพแล้วในชั้นสอบสวน 
 
นายตูแวดานียา กล่าวต่อไปอีกว่า กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายในช่วงของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง ที่สำคัญรัฐจะจัดการกับกระแสของความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไร อย่างทุกวันนี้มีคำพูดที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "นึกอยู่แล้วตัองเล่นไม้นี้" หรือ "พวกกันเองจะลงโทษไปขนาดไหนกัน"
 
“สื่อกระแสหลักยังสลัดตัวเองจากรัฐไม่ได้”
 
นายมูฮำหมัด ดือราแม บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) กล่าวว่า หน้าที่ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้มี 2 อย่างหลักๆ คือ ผลิตนักข่าวและผลิตข่าว ซึ่งข่าวที่ผลิตออกมาจะนำเสนอเชิงอธิบายมากกว่านำเสนอปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว และต้องการนำเสนอข่าวสารอีกมุมจากคนในพื้นที่เอง
 
นายมูฮำหมัด กล่าวว่า นักข่าวทั่วไปมักเสนอข่าวอาชญากรรมซึ่งข้อมูลมาจากตำรวจ ทำให้ภาพการทำงานของนักข่าวต้องตามหลังเจ้าหน้ารัฐ และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ติดตัวนักข่าวมาจนปัจจุบัน คำถามคือเราจะสลัดภาพสื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักให้ออกจากการตามหลังรัฐได้อย่างไร? ทั้งที่จริงสื่อกับรัฐก็ไม่ได้ชอบคอกันมาก แต่สื่อกระแสหลักก็สลัดตัวเองออกจากรัฐไม่ได้
 
“ต้องสนใจพลวัตรการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลง”
 
“ถึงตอนนี้มองว่าสื่อกระแสหลักยังคงทำงานเหมือนเดิมเหมือนในอดีต ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง ในขณะที่คนทำงานด้านอื่นๆ สามารถสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์เองได้มากขึ้น แม้แต่รัฐเองยังทำงานลักษณะนี้ได้ แต่สื่อกระแสหลักก็ไม่สนใจพลวัตรนี้ ทำให้บางครั้งดูเหมือนว่าเรายังรู้เรื่องมากกว่านักข่าวเสียอีก จะทำอย่างไรให้สื่อกระแสหลักให้พื้นที่กับพลวัตรอื่นๆที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่ให้พื้นที่กับรัฐอย่างเดียว”
 
นายมูฮำหมัด กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เรากำลังทำก็คือในฐานะสื่อทางเลือกพยายามนำเสนอข่าวเชิงองค์ความรู้ เพื่อให้สื่อกระแสหลักตระหนักว่าแนวโน้มของการทำข่าวพัฒนาไปไกลมากแล้ว และสื่อกระแสหลักเองตามไม่ทันข้อมูลข่าวสาร เพราะไม่สนใจพลวัตรอื่นๆ แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องการชิงการนำเพราะศักยภาพในการทำงานสื่อกระแสหลักเหนือกว่ามาก
นายมูฮำหมัด กล่าวอีกว่า บางครั้งสื่อทางเลือกก็ยังนำเสนอได้ไม่รอบด้าน เป็นเพราะศักยภาพยังไม่พอหรือเป็นคนใหม่ๆที่อาจยังเกรงๆ ที่จะเข้าหาข้อมูลจากฝ่ายรัฐหรือเข้าไปไม่ถึงข้อมูลจากฝ่ายรัฐ ต่างจากสื่อกระแสหลักที่มีศักยภาพมากกว่า แต่โดยภาพรวมหลายฝ่ายทำงานได้ดีแล้ว แต่อาจมีข้อบกพร่องบางประการที่ต้องช่วยกันเติมเต็ม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท