'เคร่งไปก็ไม่ดี' เมื่อนักวิทย์ชี้คุมอาหารมากเกินไปส่งผลเสียทั้งกาย-ใจ

แม้ว่าการคำนึงถึงสารอาหารและความปลอดภัยจากการบริโภคจะเป็นเรื่องดี แต่การพยายามควบคุมอาหารมากเกินไปกลับมีโอกาสส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเช่นกัน จากการยืนยันของแพทย์และนักจิตวิทยารวมถึงองค์กรป้องกันโรคการกินผิดปกติ

6 ก.พ. 2558 นิตยสารป๊อปปูลาร์ไซเอนซ์รายงานว่า ในขณะที่สื่อหลายแห่งระบุถึงเรื่องชาวอเมริกันจำนวนมากรับประทานอาหารจำพวกเนื้อมากเกินไปและสถิติเป็นโรคเบาหวานสูง แต่สื่อในอีกกระแสหนึ่งก็ดูจะสุดโต่งมากในเรื่องการควบคุมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องน้ำผลไม้ "ล้างพิษ" การหลีกเลี่ยงกลูเตน และอุตสาหกรรมอาหารแนว "ซูเปอร์ฟู้ด" ซึ่งมักจะอ้างสรรพคุณอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเกินจริงเพื่อการค้าก็ตั้งเป้าว่าจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำในปี 2558 นี้

ซูเปอร์ฟู้ด เป็นการอ้างสรรพคุณของอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเป็นการอ้างเพื่อการตลาด มักจะมีการกล่าวอ้างสรรพคุณในเชิงช่วยให้สุขภาพดีหรือช่วยรักษาโรคได้ แต่ก็มีนักโภชนาการหลายแห่งบอกว่าเป็นการโฆษณาโดยไม่มีการอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปสั่งห้ามวิธีการโฆษณาอาหารในรูปแบบนี้เว้นแต่จะมีข้อมูลจากแหล่งวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้

ป๊อปปูลาร์ไซเอนซ์ระบุว่า ผู้คนเป็นห่วงสุขภาพมากขึ้นจึงพยายามปรับเปลี่ยนการทานอาหารของตน บางครั้งก็ตัดอาหารบางชนิดออกไปเลย แต่ในบางกรณีการควบคุมตัวเองในเรื่องการกินมากเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสีย

มีนักจิตวิทยาเรียกความเคร่งครัดในการเลือกทานอาหารมากเกินไปว่า Othorexia nervosa คืออาการกลัวเกินกว่าเหตุว่าอาหารที่ทานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ การควบคุมอาหารเกินกว่าเหตุจะส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายบางชนิด และในกรณีที่ทานแต่อาหารจำพวกผักใบเขียวเพียงอย่างเดียวก็ทำให้คนเราไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินบางอย่างได้

โธมัส ดุนน์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโดระบุว่า Othorexia nervosa คือ "ความย้ำคิดในเรื่องความบริสุทธิ์ทางชีววิทยาและสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพในระดับที่เป็นโรค"

ป๊อปปูลาร์ไซเอนซ์ระบุอีกว่าการเคร่งจัดจนรับประทานอาหารน้อยชนิดเกินไปจะทำให้เกิดสภาวะกระดูกอ่อน การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ นอกจากนี้อาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิต เกิดความวิตกกังวล การยึดติด และเกิดความคิดแบบหลงผิดได้

ซอนดรา ครอนเบิร์ก โฆษกสมาคมโรคเกี่ยวกับการกินที่ผิดปกติแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่าการที่มีวัฒนธรรมส่งเสริมสุขภาพเป็นเรื่องดี แต่บางคนก็มีการกินเพื่อสุขภาพแบบสุดโต่งเกินไป พวกเขามักจะมีความคิดว่าอาหารบางชนิดส่งผลลัพธ์ได้อย่างอัศจรรย์

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้คนอาศัยข้อมูลจากสื่อบางจำพวกวินิจฉัยโรคด้วยตัวเอง เช่น คิดว่าคนมีอาการแพ้กลูเตน (กลูเตน คือ ไกลโคโปรตีนชนิดหนึ่งที่มักจะพบในอาหารจำพวกขนมปังหรือธัญพืช) จนบางครั้งก็ทำให้พวกเขาเหมารวมว่าปัญหาทางร่างกายของพวกเขาทั้งหมดมาจากอาหารแต่เพียงอย่างเดียว

"พวกเราเห็นคนไข้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะกินอะไรอีกแล้วเพราะพวกเขามองว่าอาหารเป็นต้นตอของปัญหาพวกเขาไปหมด" ปีเตอร์ กรีน ผู้อำนวยการจากศูนย์โรคเกี่ยวกับช่องท้องมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว

เจนนิเฟอร์ เกาดิอานี ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์โรคเกี่ยวกับการกินที่ผิดปกติในเมืองเดนเวอร์กล่าวว่าเมื่อบุคคลที่มีบุคลิกแบบอ่อนไหวง่ายและชอบแข่งขันได้รับสื่อบางประเภทก็จะเชื่อจนทำให้เกิดผลเสียกับตนเอง และคนไข้ที่คิดอะไรแบบแบ่งแยกขาวดำมักจะสร้างความยุ่งยากในการบำบัด

เว็บไซต์ป๊อปปูลาร์ไซเอนซ์แนะนำว่าสุดท้ายแล้วการกินที่ดีส่วนใหญ่คือการทานอาหารอย่างมีสมดุล

 

เรียบเรียงจาก

STRIVING FOR THE PERFECT DIET IS MAKING US SICK, Popular Science, 06-02-2015
http://www.popsci.com/striving-perfect-diet-making-us-sick

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ความรู้เรื่องกลูเตน จากเว็บไซต์ food Network Solution
http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0351/gluten-%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%99

http://en.wikipedia.org/wiki/Orthorexia_nervosa
http://en.wikipedia.org/wiki/Superfood

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท