สุรพศ ทวีศักดิ์: เสรีภาพไม่อดกลั้นต่อศรัทธา?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มีคำถามกันมากขึ้นว่า เสรีภาพขาดความอดกลั้นต่อศรัทธามากเกินไปหรือไม่? พูดในด้านกลับเรามีสิทธิปกป้องศรัทธาของเราจากการรุกล้ำของเสรีภาพหรือไม่?

ตัวอย่างความเห็นของผู้พยามปกป้องศรัทธาจากการรุกล้ำของเสรีภาพ ก็เช่น ทรรศนะของพระสันตะปาปาที่กล่าว ณ กรุงมะนิลาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ท่านไม่อาจปลุกเร้า ไม่อาจเยาะเย้ยศรัทธาของคนอื่น และไม่อาจนำเอาศาสนามาเป็นเรื่องขบขันได้” และมีข้อโต้แย้งทำนองว่า เมื่ออ้างสิทธิมนุษยชน เราย่อมไม่มีสิทธิที่จะละเมิดร่างกายของคนอื่น และ “ย่อมไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดศรัทธาของคนอื่น” ด้วยเช่นกัน

นี่เป็นข้อโต้แย้งที่สืบเนื่องจากรณีชาร์ลี เอบโด ซึ่งฝ่ายที่โต้แย้ง ได้ปฏิเสธความรุนแรงแรงในนามศาสนาที่กระทำต่อชาลีย์ เอบโด และพยายามที่จะอธิบายเหตุผลให้ฝ่ายที่ยืนยันเสรีภาพเข้าใจและเคารพศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา แต่ในความพยายามอธิบายนั้น ยังมีการพูดทำนองว่า “ผู้ที่สนับสนุนเสรีภาพอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่มีมารยาท หรือไม่เคารพศรัทธาของคนอื่น ผลก็คือการถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง” ดังที่เห็น

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ความพยายามของฝ่ายที่ปกป้องศรัทธา คือความพยายามเรียกร้องให้ฝ่ายสนับสนุนเสรีภาพเข้าใจ มีมารยาท เคารพศรัทธาของฝ่ายตน มากกว่าที่จะใส่ใจอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรจะให้ความรุนแรงในนามศาสนาลดลง หรือหมดไป นอกจากจะไม่ตั้งคำถามในประเด็นนี้อย่างจริงจังแล้ว ทั้งที่ตนเองยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงนั้น ก็ยังพูดนำนองว่าผู้สนับสนุนเสรีภาพล้อเลียนเสียดสีศาสนา ก็ย่อมคาดหวังได้ว่าตนเองอาจจะได้รับการตอบโต้ด้วยความรุนแรงด้วยเช่นกัน

เป็นความจริงว่า ความรุนแรงทางศาสนา เกิดขึ้นในนามศาสนาหลักของโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ ต่างมีประวัติศาสตร์ความรุนแรงทั้งนั้น ในปัจจุบันศาสนาพุทธเองก็เป็นฐานของลัทธิชาตินิยมในศรีลังกา ที่ถูกอ้างอิงในการปราบปรามชาวทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย พุทธศาสนาในพม่าก็ถูกอ้างอิงในการปราบชาวมุสลิมโรฮิงยา ขณะที่ในไทยพุทธศาสนาก็มักถูกอ้างอิงสนับสนุนอำนาจเผด็จการมากกว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย

แน่นอน โลกคริสเตียนตะวันตกก็อาจมีด้านที่เบียดขับชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย ขณะเดียวกันคนในศาสนาอื่นๆ ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ ก็เป็นไปได้ที่พวกเขาอาจรู้สึกว่าพวกตนเองถูกเบียดขับ หรือยอมจำนนต่อกฎเกณฑ์แบบมุสลิมเช่นกัน

เราอาจตั้งคำถามด้วยซ้ำไปว่า แท้จริงแล้วเสรีภาพได้รุกล้ำ เบียดขับ ทำลายศรัทธาจริงๆ หรือ? หรือว่าศรัทธาต่างหากที่เบียดขับทำลายกันเองมาตลอด ในโลกยุคโบราณศรัทธาของสังคมมนุษย์มีความหลากหลาย เช่นความเชื่อแบบ “พหุเทวนิยม” แต่ก็ถูกเบียดขับ ครอบงำและทำลายลงไปด้วยศรัทธาแบบ “เอกเทวนิยม” เมื่อพระเจ้าองค์องค์เดียวเป็นสิ่งสัมบูรณ์สูงสุด คนที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียว ก็ไม่จำเป็นต้องอดกลั้นต่อคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าหลายองค์ใช่หรือไม่

แรกทีเดียว ความเชื่อเรื่องพระเจ้าองค์เดียวก็อาจไม่ใช่ความเชื่อที่ “แตะไม่ได้” จากคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า หรือเชื่อในพระเจ้าหลายเอง ต่อเมื่อกลุ่มที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียวสามารถตั้งองค์กร ตั้งสถาบันทางศาสนาที่เข้มแข็ง และรุกเข้ามาในพื้นที่ของรัฐ-การเมือง แบ่งปันอำนาจจากรัฐ กระทั่งมีอำนาจเหนือรัฐ หรือสถาปนา “รัฐศาสนา” ขึ้นมาได้ จึงทำให้ศาสนาหรือศรัทธาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาของรัฐ ถูกลดระดับความสำคัญลง ถูกเบียดขับ กระทั่งถูกขจัดออกไป

ฉะนั้น ประวัติศาสตร์แห่งโลกของศรัทธา ก็คือประวัติศาสตร์แห่งการแข่งขัน ครอบงำ เบียดขับ ขจัดทำลายศรัทธาด้วยกันเองมาตลอด จนเกิดสงครามระหว่างศาสนา นิกายศาสนา เรื่อยมาถึงการกดเหยียด เบียดขับ และความรุนแรงต่อศาสนาอื่นๆ ผ่านกระบวนการศาสนาชาตินิยม การก่อการร้ายและอื่นๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่มีคำตอบว่าความรุนแรงในนามของศรัทธาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

โลกมนุษย์เพิ่งมีเสรีภาพจากอำนาจครอบงำของศรัทธา เมื่อราวศตวรรษที่ 17-18 มานี้ กว่าจะหลุดจากยุคกลางสู่ภาวะเสรีภาพแบบสมัยใหม่ได้นั้น ต้องจ่ายด้วยชีวิตและอิสภาพของผู้คนจำนวนมหาศาล ศรัทธาอำมหิตต่อศรัทธาที่แตกต่าง และต่อเสรีภาพมาหลายพันปีแล้วไม่ใช่หรือ

ทำไมเราไม่ตั้งคำถามบ้างว่า ขณะที่ฝ่ายปกป้องศรัทธาอ้างว่าศรัทธาของตนเองคือศรัทธาในสันติภาพ ความรัก การให้อภัย และความสูงส่งดีงามทั้งหลายทั้งปวง แต่ศรัทธาของแต่ละศาสนาได้สร้างประวัติศาสตร์ “ความอดกลั้น” ต่อศรัทธาที่แตกต่างอย่างไรบ้าง? และอดกลั้นต่อเสรีภาพอย่างไรบ้าง?

อะไรคือสิ่งที่เสรีภาพไม่อดกลั้นต่อศรัทธา? คือการล้อเลียน เสียดสี “ความศักดิ์สิทธิ์” ตามความเชื่อของศาสนาเช่นนั้นหรือ? หากเทียบกับการที่ศาสนาซึ่งยืนยันศรัทธาในสันติภาพ ความรัก การให้อภัย เคยไม่อดกลั้นต่อเสรีภาพมาก่อนเป็นพันๆ ปี อย่างน้อยตั้งแต่ยุคกลางย้อนไป มันเทียบกันได้อย่างไร?

ในโลกสมัยใหม่ ทุกศาสนาต่างได้ประโยชน์จากเสรีภาพที่จะอ้างสิทธิ์ในความเชื่อทางศาสนา การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนา ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อในความวิเศษศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาตนเอง แต่ขณะที่อ้างสิทธิจากเสรีภาพทางศาสนาดังกล่าว ก็ยังฉกฉวย “อภิสิทธิ์” ในการใช้อำนาจรัฐบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาแก่คนอื่นๆ ด้วย และการรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะเชน สถานศึกษา สถานที่ราชการและอื่นๆ แปลว่าศาสนาได้เคารพหรืออดกลั้นต่อเสรีภาพอย่างไรหรือ

เมื่อศาสนาได้ประโยชน์จากการมีเสรีภาพทางศาสนาในสังคมสมัยใหม่ในการเผยแพร่ความเชื่อของตนเองอย่างสะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังพยายามฉวยโอกาสจะมีอภิสิทธิ์เหนือเสรีภาพอยู่ร่ำไป แล้วจะไม่ให้ฝ่ายที่ยืนยันเสรีภาพเขา “แตะ” ศาสนาได้เลยหรืออย่างไร

อะไรก็ตามที่แตะไม่ได้ย่อมมีสภาวะเผด็จการในตัวมันเอง การเรียกร้องให้อดกลั้นต่อสภาวะเผด็จการคือ “การบังคับให้อดกลั้น” แต่การอดกลั้น (tolerance) เป็นเรื่องของความสมัครใจ ความอดกลั้นจะเป็นคุณธรรมก็ต่อเมื่อเราเลือกได้ที่จะอดกลั้น เราไม่ควรอดกลั้นต่อความอยุติธรรม ต่อเผด็จการ เพราะมันทำลายเสรีภาพของเราใช่หรือไม่ ดังนั้น ความอดกลั้นจึงเป็นคุณธรรมที่เป็นไปได้ในโลกของเสรีภาพมากกว่าเผด็จการ และเผด็จการก็มักไม่อดกลั้นต่อการมีเสรีภาพของคนอื่น หรือไม่อดกลั้นที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายที่ยืนยันเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในนามศาสนาหรือรัฐก็ตาม

พูดอย่างถึงที่สุด ศรัทธาก็ย่อมเป็นเรื่องของความสมัครใจ ศรัทธาที่ถูกบังคับยัดเยียดย่อมไม่ใช่ศรัทธาที่แท้จริง ฉะนั้น ศรัทธาน่าจะคู่กับเสรีภาพมากกว่าเผด็จการ ไม่ใช่ว่าใช้อำนาจเผด็จการแล้วจะเปิดเพลงให้ประชาชนฟัง “โปรดจงเชื่อใจและศรัทธา” (เสียงสูง) เพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเสรีภาพ แม้แต่เสรีภาพจะปฏิเสธพระองค์ (แต่ก็นั่นแหละ ศาสนจักรและรัฐมักใช้อำนาจในนามของพระเจ้าลงโทษคนที่ปฏิเสธพระเจ้า)

หากสภาวะความอดกลั้นและศรัทธาเป็นสภาวะที่เข้ากันได้กับเสรีภาพมากกว่าเผด็จการ หรือความอดกลั้นจะมีความหมายเป็นความอดกลั้นจริงๆ ได้ ศรัทธาจะมีความหมายเป็นศรัทธาจริงๆได้ ก็ต่อเมื่อเกิดจากความสมัครใจ หรือมีเสรีภาพที่จะเลือก ก็แปลว่าศาสนาต้องเป็นสิ่งที่ “แตะได้” ซึ่งหมายถึงตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียนเสียดเสียดได้

การละเมิดศาสนาจะเป็นการละเมิด ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นการละเมิดต่อทรัพย์สิน หรือเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรทางศาสนา ซึ่งเป็นการละเมิดในมาตรฐานเดียวกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน ชื่อเสียงของบุคคล บริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นต้น

ไม่ควรมีการละเมิดศาสนา ในความหมายของการ “หมิ่นศาสนา” ซึ่งไม่มีกรอบนิยามที่ชัดเจน ไม่สามารถระบุบุคคล หรือองค์กรที่เสียหายได้ชัดเจน เพียงแค่อ้างเรื่อง “ความละเอียดอ่อน” การกระทบ “ความรู้สึก” เพื่อที่จะเอาผิดทางกฎหมายกับการใช้เสรีภาพของบุคคล (ในหลายกรณีการบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาผ่านกลไกอำนาจรัฐ ก็ไม่เคยคำนึงถึง “ความละเอียดอ่อน” ในด้านที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชน)

ดังนั้น ปัญหาจึงไม่น่าจะใช่เรื่องที่ไปเรียกร้องให้ฝ่ายยืนยันเสรีภาพอดกลั้นต่อสภาวะ “แตะไม่ได้” ซึ่งเป็นสภาวะเผด็จการของศาสนา แต่ควรเรียกร้องให้ศาสนามีสภาวะเสรีภาพคือแตะได้ ความอดกลั้นระหว่างกันถึงจะมีความหมาย และศรัทธาของศาสนาเองก็จะมีความหมายเป็นศรัทธาตามความสมัครใจได้จริงๆ และพร้อมจะถูกท้าทายต่อการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างสง่างามอีกด้วย  

หรือเมื่อพูดว่า “เรามีสิทธิปกป้องศรัทธาของเราจากการรุกล้ำของเสรีภาพหรือไม่?” คำพูดเช่นนี้จะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อเราไม่ได้พูดจากการยืนยันสภาวะเผด็จการของศาสนา แต่พูดบนฐานของการยืนยันสภาวะเสรีภาพของศาสนาเท่านั้น 

 

หมายเหตุ ผมได้แง่คิด “บางประเด็น” ที่นำมาตีความในเชิงตั้งคำถามต่อความอดกลั้นของฝ่ายปกป้องศรัทธามากกว่าในการเขียนบทความนี้ จากการอ่าน “ความไม่อดกลั้นในความอดกลั้นของเสรีนิยม” ในหนังสือ “ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม” โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์สมมติ 2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท