Skip to main content
sharethis

9 ก.พ.2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ชี้กองทัพไทยพยายามขยายอำนาจในการคุมตัวพลเรือน รวมถึงมีการละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

รูเพิร์ต แอ็บบอต (Rupert Abbott) ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่กองทัพไทยพยายามให้อำนาจมากขึ้นกับตนเอง เพื่อละเมิดสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำการพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ในปลายเดือนนี้

ซึ่งร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ในสภาพที่เกิด “เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นๆ” ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้นอาจสั่งให้ควบคุมผู้ต้องหารวมทั้งพลเรือนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งปรกติเป็นอำนาจของศาลพลเรือน

แอ็บบอต กล่าวว่า นับแต่เกิดรัฐประหาร กองทัพได้เพิ่มอำนาจให้กับตนเองในการจับกุมพลเรือน โดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือไม่มีโอกาสได้รับการไต่สวนคดีจากศาล โดยสามารถสั่งควบคุมตัวไว้เป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวัน และมีการนำตัวมาขึ้นศาลทหารโดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี เมื่อรวมกับอำนาจที่มาจากร่างแก้ไขพระราช บัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 แล้ว จะทำให้ทหารสามารถควบคุมตัวพลเรือนได้นานถึง 84 วัน ซึ่งที่ผ่านมามีบุคคลหลายร้อยคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการตามอำนาจของกฎอัยการศึก และพลเรือนอีกหลายคนต้องเข้ารับการไต่สวนคดีในศาลทหารนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

“ประเทศไทยมีแนวโน้มมุ่งไปสู่การกดขี่ปราบปราม โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ที่ผ่านมากองทัพละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และจากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า กองทัพไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่เลย และถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับข้ออ้างภายหลังการทำรัฐประหารว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการที่จำกัดสิทธิเพียงชั่วคราว แต่อันที่จริงกองทัพได้ให้อำนาจกับตนเองอย่างกว้างขวางและโดยถาวร และได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อการปฏิบัติมิชอบ” ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

นอกจากนี้ แอ็บบอตยังเรียกร้องให้ยุติการเพิ่มอำนาจแก่ศาลทหารโดยทันที รวมถึงยกเลิกการขยายเขตอำนาจแก่ศาลทหารในการพิจารณาคดีกับพลเรือน และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกอำนาจของผู้บัญชาการทหาร และให้ฟื้นฟูการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net