ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ กต.ควรเผยข้อมูลนำเข้าขยะอันตรายจาก JTEPA

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กังวลการซื้อขายขยะอันตรายจากข้อตกลง JTEPA หลังกระทรวงการต่างประเทศเสนอเข้ามากำกับดูแลแทน ก.พาณิชย์ ชี้ปัญหาขยะอุตสาหกรรมอยู่ขั้นรุนแรง ชี้ กต.ควรเผยข้อมูลนำเข้าขยะอันตราย

9 ก.พ.2558 เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ แสดงความกังวลถึงการที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้โอนภารกิจกำกับดูแลความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย–ญี่ปุ่น (JTEPA) จากกระทรวงพาณิชย์ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ โดยกังวลถึงปัญหาการนำเข้าขยะอันตราย เนื่องจากมีการเจรจายอมรับขยะสารพิษและขยะอันตรายเป็นสินค้าที่มีซื้อขายกันได้ปกติ

เพ็ญโฉมกล่าวว่า ผลกระทบต่อประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากความตกลง JTEPA ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเจรจานั้น กำลังปรากฏชัดอย่างน่าวิตก ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชนในระดับรุนแรงมาก และมีโรงงานคัดแยกและแปรรูปขยะมากผิดปกติ ซึ่งหลังจากการคัดแยกและแปรรูปแล้ว มีขยะที่เหลือจากกระบวนการถูกนำไปทิ้งตามที่ต่างๆ ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังก่อความเสียหายกับชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ

“การติดตามพบว่า มีขยะอันตรายนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไปลอบทิ้งตามหลุมขยะของชุมชนและตามที่ต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี แต่ 6 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐซึ่งไปทำความตกลงให้ขยะอันตรายกลายเป็นสินค้าปกติ ไม่เคยทำข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลว่า แต่ละปีมีการนำเข้าขยะอันตรายจากกี่ประเทศ เป็นปริมาณเท่าไร และเศษสุดท้ายจากการคัดแยกที่ไม่สามารถแปรรูปแล้วไปอยู่ที่ใด” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว
 

ภาพจาก Greenpeace

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งโรงงานแปรรูปขยะที่มากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอีกรูปแบบของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง

“เราพบว่า ปี 56-57 มีขยะที่ไม่สามารถแปรรูปได้ถูกลักลอบทิ้งจำนวนมาก และจากการติดตามข่าวนับจากเพลิงไหม้ที่แพรกษา จาก มี.ค.-มิ.ย. 57 พบว่ามีการลอบเผาบ่อขยะชุมชนมากถึง 15 ครั้ง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นการทำลายหลักฐานการลอบทิ้งขยะอันตราย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ แต่ไม่มีการสำรวจปัญหาที่แท้จริง”

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและมีการศึกษา-สำรวจว่า จากความตกลง JTEPA ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายขยะอันตรายทั้งนำเข้าและส่งออกกี่ชนิด จำนวนเท่าไร และปลายทางการกำจัดส่วนที่ไม่สามารถแปรรูปได้อยู่ที่ไหนอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้ชุมชนต่างๆ เป็นผู้รับภาระผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้

สำหรับของเสียอันตรายที่อยู่ในพิกัดภาษีศุลกากรของ JTEPA อาทิ ขี้แร่, ขี้ตะกอน, เศษอื่นๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า, ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่ว, ตะกอนของสารกันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว, เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล, ของเสียทางเภสัชกรรม, ของเสียจากสถานพยาบาล, ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน, ขยะเทศบาล, ตะกอนจากน้ำเสียและของเสียอื่นๆ, ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ, น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรคและของเหลวกันการเยือกแข็ง, ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (10 ก.พ.) กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอให้ ครม.โอนภารกิจกำกับดูแลความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย–ญี่ปุ่น (JTEPA) จากกระทรวงพาณิชย์ไปที่กระทรวงต่างประเทศ โดยออกเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ เรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการกำกับการดำเนินการตามข้อตกลง และมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท