นิธิ เอียวศรีวงศ์: กองทัพการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กองทัพประจำการเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นได้ในรัฐสมัยใหม่ทั้งสิ้นในรัฐประเภทนี้เท่านั้นที่จะสามารถจะสำรองเสบียงอาหารมาเลี้ยงดูกองทัพได้อย่างต่อเนื่องหรือตลอดไป และที่สามารถปล่อยกำลังแรงงานเพื่อการผลิตไปประจำการโดยไม่ผลิตอะไรเลยอยู่ได้นานๆ รัฐสมัยใหม่เท่านั้นที่จัดองค์กรให้ทำอย่างนั้นได้

แค่เป็นกองทัพประจำการอย่างเดียวก็ชนะกองทัพประเภทอื่นๆไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะมีข้อได้เปรียบสองอย่างซึ่งกองทัพอย่างอื่นไม่มี หนึ่งคือสามารถทำการรบได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจแพ้การรบในบางครั้ง แต่กองทัพก็ยังอยู่และสามารถส่งคนเข้าสู่สมรภูมิใหม่ได้ ในสังคมที่ยังไม่เป็นรัฐ กองทัพต้องหยุดรบเพื่อกลับไปหาอาหาร จึงทำการรบนานๆ ไม่ได้ แม้แต่กองทัพของสังคมที่เป็นรัฐแล้ว แม้ว่ารัฐมีความสามารถส่งเสบียงอาหารให้กองทัพได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่อาจปล่อยให้ชายฉกรรจ์ว่างเว้นการผลิตไปเป็นปีๆ ได้ ดังนั้นรบกันไม่กี่ทีก็มักจะรู้แพ้รู้ชนะในสงครามกันไปแล้ว

นี่เป็นข้อได้เปรียบประการแรก ซึ่งทำให้ยุโรปสามารถล่าเมืองขึ้นได้ทั้งโลก เพราะยุโรปเป็นรัฐสมัยใหม่รุ่นแรก จึงมีกองทัพประจำการ ซึ่งเอาชนะกองทัพของราชวงศ์โมกุล, ราชวงศ์เหงวียน, ราชวงศ์กอนบอง, ราชวงศ์มัชปาหิต, ราชวงศ์ชิง, และราชวงศ์ออตโตมัน ฯลฯ ได้ เพราะแพ้รบ ไม่ได้ทำให้แพ้สงคราม

ข้อได้เปรียบประการที่สองคือ กองทัพประจำการสามารถฝึกทหารได้ ทหารที่ถูกฝึกแล้วเท่านั้นจึงสามารถรบในฐานะส่วนหนึ่งของแผนยุทธการขนาดใหญ่ได้ กองทัพโบราณวางแผนการยุทธได้จำกัดกว่ากันมาก

ผมอยากคุยเรื่องข้อได้เปรียบประการที่สองนี่แหละครับ นั่นคือการฝึกทหาร ซึ่งไม่ได้มีแต่การใช้อาวุธและยุทธวิธีบุคคลเท่านั้น แต่ในทุกกองทัพยังรวมถึงการปลูกฝังฐานความคิดและค่านิยมด้วย อย่างน้อยในทุกสังคมก็อบรมสั่งสอนเด็กแต่เล็กแต่น้อยให้เห็นการฆ่า (คน) เป็นความชั่วอย่างร้ายแรง กองทัพจึงต้องปลูกฝังฐานความคิดใหม่ให้แก่ทหารเกณฑ์ว่า การฆ่าศัตรูเป็นข้อยกเว้น ซ้ำเป็นวีรกรรมที่ควรได้รับการยกย่องด้วยซ้ำ ในชาตินี้ก็ได้รับการเลื่อนยศเลื่อนขั้นหรือเหรียญตรา ในชาติหน้าก็มีชื่อติดอยู่ในประวัติศาสตร์

กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่มีกองทัพประจำการใดที่จะไม่ปลูกฝังฐานความคิดใหม่เกี่ยวกับการฆ่า และค่านิยมใหม่ที่ได้จากการฆ่า (เรื่องนี้ใหญ่มากนะครับ มีสถิติว่าทหารสหรัฐจำนวนมากทีเดียว บางแห่งว่าถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำที่ไม่ยอมฆ่าศัตรูต่อหน้าในสงครามโลกครั้งที่สอง การฆ่าที่มองไม่เห็นเหยื่อ เช่น ยิงปืนใหญ่, จรวด, ทิ้งระเบิด ฯลฯ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทหารมีกำลังใจรบ อดีตพ่อตาผมซึ่งเป็นทหารผ่านศึกอินโดจีนของฝรั่งเศส เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อสั่งระดมยิงแนวต้านของข้าศึก ท่านก็ยิงไปเหนือพุ่มไม้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่โดนใคร)

แต่กองทัพไม่ได้ปลูกฝังฐานความคิดและค่านิยมเพียงเท่านี้ ในหลายรัฐเป็นเรื่องง่ายมากที่กองทัพซึ่งเป็นองค์กรทางสังคมขนาดมหึมา จะขยับเป้าหมายของตนมาสู่การเมืองด้วย ในความหมายที่ว่าวางสถานะของกองทัพไว้ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปลอดพ้นจากการควบคุมบังคับบัญชาขององค์กรอื่นหรือสถาปนาอำนาจของกองทัพขึ้นเหนือองค์กรอื่นทั้งหมด โดยทำรัฐประหารยึดอำนาจบ้านเมือง หรือเขียนรัฐธรรมนูญให้องค์กรอื่นทุกองค์กรอ่อนแอลงหมด จนต้องพึ่งอำนาจของกองทัพอย่างไม่มีทางเลือก

ในทางกลับกัน องค์กรทางการเมืองอื่นก็อาจใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเอง เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้หรือเพื่อขยายอำนาจของตนให้กว้างใหญ่ไปกว่าเดิม

โดยสรุปก็คือ กองทัพประจำการในฐานะองค์กรทางสังคมมหึมาในทุกรัฐจะถูกกันให้อยู่นอกปริมณฑลของการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะเปลี่ยน "กองทัพการเมือง" ให้กลายเป็น "กองทัพไม่การเมือง" นั้น ไม่ง่ายเลยในหลายสังคม รวมทั้งสังคมไทย นอกจากกองทัพจะมีกำลังคนและกำลังอาวุธพร้อมมูลกว่าองค์กรอื่นทั้งหมดแล้ว กองทัพยังมีช่องทางเผยแพร่อุดมการณ์ของตนเองที่มีประสิทธิภาพมากด้วย นั่นคือการฝึกทหารใหม่ซึ่งต้องทำทุกปีไปอย่างต่อเนื่อง

ขอยกตัวอย่างจากกองทัพไทยในปี 56 กองทัพเกณฑ์ทหารจำนวน 100,000 คน และว่าจะเพิ่มเป็น 150,000 ในปีนี้ แปลว่าในหนึ่งรุ่น (2 ปี) มีเด็กหนุ่มเข้ารับการฝึก 200,000 ถึง 300,000 คน หากเทียบกับมหาวิทยาลัย ไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่มีนักศึกษาในแต่ละปีรวมกันจำนวนเท่าครึ่งหนึ่งของกองทัพ ซ้ำนักศึกษาของกองทัพยังเป็นนักเรียนประจำทั้งหมดอีกด้วย หมายความว่าสามารถใช้เวลาทั้งหมดของทุกวัน เพื่อปลูกฝังความคิดและอุดมการณ์ให้ลงรากหยั่งลึกได้อย่างแน่นหนา

ทุกปีจะมีชายฉกรรจ์ซึ่งได้รับการฝึกและปลูกฝังความคิดจากกองทัพออกไปสู่กิจการต่างๆในสังคมถึง 100,000 คน เป็นอย่างต่ำ อำนาจในการเป็นตัวการ (agent) ความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงของกองทัพ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในบุคลากรของกองทัพเท่านั้น แต่กระจายออกไปยังสังคมในวงกว้างอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายด้วย

เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยอุดมคติแล้ว ก็ควรเป็นแดนที่ผู้เรียนถูกนำไปสู่ความหลากหลายของความคิด สามารถใช้สติปัญญาของตนเองในการวิเคราะห์เห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของแนวคิดต่างๆ จึงมักไม่ยึดมั่นกับอุดมการณ์อะไรตายตัวจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม "กองทัพการเมือง" นั้นมีจุดอ่อนที่รู้กันทั่วไปมานานแล้ว นั่นคือสมรรถภาพในการสู้รบลดลง จนไม่อาจเอาชนะในการทำสงครามกับใครได้ (นอกจากประชาชนผู้ปราศจากอาวุธของตนเอง) ดังความปราชัยย่อยยับของกองทัพอาร์เจนตินาเมื่อเผชิญกับอังกฤษ, ของกองทัพเวียดนามใต้เมื่อเผชิญกับกองกำลังติดอาวุธเวียดกง, ของกองทัพกัมพูชาภายใต้นายพลลอนนอล เมื่อต้องเผชิญกับกองทัพเขมรแดง, ของกองทัพจีนคณะชาติเมื่อเผชิญกับกองทัพปลดปล่อยจีนคอมมิวนิสต์ ฯลฯ

เหตุที่ "กองทัพการเมือง" ที่ไหนๆ ก็อ่อนแอนั้น เห็นได้ชัด กล่าวโดยสรุปก็คือ "กองทัพการเมือง" ต้องจัดทรัพยากรของตนทั้งหมดเพื่อรักษา ขยาย และให้ความชอบธรรมแก่อำนาจและภารกิจทางการเมืองของตน ไม่ว่าจะเป็นการวางกำลัง, วางคนในสายบังคับบัญชา, การจัดหากำลังอาวุธ ฯลฯ เพื่อเป้าหมายทางการเมืองภายใน ไม่ใช่เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ

ในขณะเดียวกันก็ต้องเน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ของ "กองทัพการเมือง" อย่างมืดบอดมากขึ้น เพื่อทำให้ทหารในสังกัดสามารถสังหารคนชาติเดียวกันได้อย่างเลือดเย็น ไม่ว่าในการปะทะกับฝูงชนโดยตรง หรือการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหด ยิ่งสังหารหมู่มากเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นต้องขยายอำนาจของตนไปครอบงำองค์กรอื่นมากขึ้นเท่านั้น เพื่อระงับมิให้อาชญากรรมของตนมีผลในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ "กองทัพการเมือง" ก็ยิ่ง "การเมือง" หนักขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ยิ่งอ่อนแอลงในทุกทาง

ยังมีความย้อนแย้งของ "กองทัพการเมือง" อีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้หาเสถียรภาพในกองทัพได้ยาก นั่นคือ ยิ่ง "การเมือง" มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้นายทหารระดับกลางซึ่งคุมกองกำลังมีสำนึกทางการเมืองสูงขึ้น ตามปรกติแล้ว "กองทัพการเมือง" ต้องรักษาความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ของกองทัพไว้ให้มั่นคง (เช่น 99% ของนายทหารทั้งหมดจบจากโรงเรียนเดียวกัน) แต่ความเป็นปึกแผ่นของศิษย์เก่าอย่างเดียวนี้ไม่มั่นคงนัก "รุ่น" อาจกลายเป็นพลังของความเป็นปึกแผ่นได้ และอาจอยู่เหนือความเป็นปึกแผ่นของโรงเรียนเก่า เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของ "รุ่น" (เช่นรุ่น 5 รุ่น 7 หรือรุ่น 11 ในเมืองไทย) หน่วยก็อาจถูกพัฒนาขึ้นเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นปึกแผ่นแทนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในกองทัพกลายเป็น "การเมือง" มากขึ้น

ประสบการณ์ร่วมกันในสมรภูมิสร้างความเป็นปึกแผ่นได้เหนือกว่าความเป็นปึกแผ่นของกองทัพเสียอีกเช่น เคยไปรบในฐานะทหารรับจ้างในลาว ในเวียดนามมาด้วยกัน อาจทำให้ทหารที่มีประสบการณ์ร่วมเหล่านี้เกาะกลุ่มกันเป็น "ทหารประชาธิปไตย" หรือ "ยังเติร์ก" ขึ้นมาได้ และเข้าไปใช้ความเป็นปึกแผ่นนี้เพื่อ "การเมือง" ภายในกองทัพ ซึ่งแยกออกจาก "การเมือง" ภายนอกกองทัพไม่ได้

นายทหารระดับกลางที่คุมกองกำลังเหล่านี้ กลายเป็น "ตัวการความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง" ใน "กองทัพการเมือง" หลายแห่ง เช่น ในหลายประเทศของแอฟริกาและละตินอเมริกา ในประเทศไทยเอง "กบฏ" รศ.130 และการปฏิวัติ 2475 และการรัฐประหาร 2490 ก็ได้กำลังจากนายทหารระดับนี้เป็นหลัก เช่นเดียวกับนัสเซอร์ในอียิปต์ และเคมาล อตาเติร์กในตุรกี แต่ "กองทัพการเมือง" เหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนตัวเองจากตัวการความเปลี่ยนแปลงมาเป็นตัวการความไม่เปลี่ยนแปลงได้ ดังเช่นกองทัพอียิปต์ในปัจจุบัน

กองทัพประจำการในรัฐสมัยใหม่ที่จะไม่ "การเมือง" ได้นั้น มีอยู่ทางเดียว คือกองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเด็ดขาดขององค์กรอื่น แม้กองทัพประเภทนี้จะ "การเมือง" อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่เป็น "การเมือง" ภายใต้การกำกับขององค์กรภายนอก

องค์กรภายนอกที่จะสามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเด็ดขาดในรัฐสมัยใหม่มีอยู่สองประเภทหนึ่งคือองค์กรประชาธิปไตยที่ได้สั่งสมอำนาจและความชอบธรรมมานาน จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างมั่นคง บางประเทศในอาเซียนกำลังพัฒนาไปสู่สภาพเช่นนั้น เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นได้มาก

สองคือ องค์กรการเมืองที่ให้กำเนิดกองทัพมาแต่ต้น เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ในบางประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม เป็นต้น แม้แต่กรรมการพรรคซึ่งมีตำแหน่งคุมกองทัพ ก็อาจไม่ได้อำนาจสูงสุดไปโดยปริยาย พรรคยังอาจเลือกกรรมการคนอื่นขึ้นเป็นประธานหรือเลขาธิการ ซึ่งอาจสั่งปลดกรรมการผู้คุมกองทัพเมื่อไรก็ได้ โดยกองทัพไม่เคยหือ อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่กรรมการกลาง ไม่ได้อยู่ที่กองทัพ

ในกรณีเกาหลีเหนือ พรรคไม่เข้มแข็งเท่าตระกูลคิม ซึ่งสถาปนาตนเองเป็นสถาบันสืบสาโลหิตไปแล้ว สถาบันคิมจึงเป็นผู้คุมกองทัพอย่างเด็ดขาดแทนพรรค เมื่อใดที่สถาบันตระกูลคิมสิ้นอำนาจลง จะเกิดอะไรขึ้นกับกองทัพเกาหลีเหนือ

หากเปรียบเทียบกับกองทัพของยุโรปตะวันออก เมื่อโซเวียตล่มสลาย กองทัพซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของพรรคมานาน ไม่สามารถเข้ามาช่วงชิงการนำกับกลุ่มการเมืองอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายได้ เช่น สหภาพแรงงานเสรี แต่ในเกาหลีเหนือไม่มีกลุ่มการเมืองอื่นที่อาจเข้ามาแข่งขันอำนาจได้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็อาจยึดกุมกองทัพได้ต่อไป

แต่พรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือก็แตกแยกกันอย่างหนัก เพราะแข่งกันประจบเอาใจสถาบันคิม มีการขจัดบุคคลชั้นนำของพรรคลงบางกลุ่ม ดังที่เป็นข่าว พรรคเองจะสามารถรักษาอำนาจนำต่อไปได้หรือไม่ก็ยังน่าสงสัยอยู่

ความเป็นไปได้ประการสุดท้ายก็คือ กองทัพเกาหลีเหนือจะกลายเป็น "กองทัพการเมือง" กล่าวคือช่วงชิงอำนาจครอบงำมาไว้ในมือตนเอง แล้วสถาปนาอำนาจนำอันใหม่ที่ทำให้กองทัพกลายเป็นองค์กรการเมืองอิสระที่ไม่ขึ้นกับใครเลย อย่างที่กองทัพไทยเคยเป็นเช่นนั้นจาก 2475-2516

ในรัฐสมัยใหม่ที่กองทัพประจำการกลายเป็น "กองทัพการเมือง" โอกาสที่การเมืองของรัฐนั้นจะมีเสถียรภาพ แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 9 กุมภาพันธ์ 2558)
ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท