ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นกังวล แก้ พ.ร.บ.ศาลทหาร ให้อำนาจคุมตัวยาว 84 วัน

10 ก.พ.2558 โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงเนื้อหาบางมาตราในการแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ที่เพิ่มอำนาจให้กับผู้บังคับบัญชาทหารในการสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ถึง 12 สัปดาห์ โดยไม่มีองค์กรทางตุลาการตรวจสอบ

ในแถลงการณ์ดังกล่าว แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารในการสั่งควบคุมผู้ต้องหาทั้งทหารและพลเรือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ถึง 84 วัน หรือ 12 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องมีองค์กรทางตุลาการตรวจสอบ ซึ่งแถลงการณ์ระบุว่าเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่

“การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มาตรา 9 ของกติการะหว่างประเทศฯ กำหนดว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาจะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นกลไกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตีความคำว่า “โดยพลัน” ว่าหมายถึงภายในระยะเวลา 2-3 วัน”

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังย้ำถึงหลักประกันที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไว้ ว่าจะยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทบทวนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยองค์กรตุลาการ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิที่จะอุทธรณ์คดี และเรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดการใช้ศาลทหารให้มีขอบเขตอำนาจเฉพาะการพิจารณาคดีความผิดต่อกฎหมายทหารซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

รายละเอียดแถลงการณ์

 

แถลงการณ์โดยโฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
กรณีประเทศไทย/การแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร

10 กุมภาพันธ์ 2558

เรามีความกังวลต่อเนื้อหาบางมาตราของข้อเสนอเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งมีกำหนดจะนำเข้าสู่การพิจารณาภายในอาทิตย์นี้ เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารปี 2557 วางแผนที่จะลงมติเพื่อรับรองร่างแก้ไขดังกล่าว ภายใน 2-3 อาทิตย์ที่จะถึงนี้

เรามีความกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตรา 46 ซึ่งให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารในการสั่งควบคุมผู้ต้องหาทั้งทหารและพลเรือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ถึง 84 วัน โดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบ นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปี  2557 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่ผู้ต้องหาเป็นพลเรือนตามความผิดอาญาบางประเภท รวมถึงความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดต่อความมั่นคง และความผิดจากการละเมิดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตราดังกล่าวอาจถูกนำมาบังคับใช้กับกรณีนี้ด้วย

การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มาตรา 9 ของกติการะหว่างประเทศฯ กำหนดว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาจะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นกลไกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตีความคำว่า “โดยพลัน” ว่าหมายถึงภายในระยะเวลา 2-3 วัน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเน้นย้ำถึงหลักประกันที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ไว้ว่าจะยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เราขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทบทวนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยองค์กรตุลาการ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิที่จะอุทธรณ์คดี เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดการใช้ศาลทหารเฉพาะสำหรับการพิจารณาคดีความผิดต่อกฎหมายทหารซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้บทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยมีหน้าที่ในการรับประกันว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง (มาตรา 14) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำว่าการพิจารณาคดีของพลเรือนโดยศาลทหารไม่สามารถที่จะริดรอนสิทธิในส่วนนี้ได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท