Skip to main content
sharethis

บันทึกจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค สถานการณ์ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ในห้วงเวลาของรัฐบาลทหารที่เปรยจั่วหัวการปกครองถึง ‘การคืนความสุข’ ให้กับคนไทย และการพยายาม ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคม

ในห้วงเวลาที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์บทความนี้ เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนจนเมืองอยู่ในภาวะต้องดิ้นรนรักษาที่อยู่อาศัยในมือของพวกเขาไว้ให้ได้ นั้นคือช่วงนี้เริ่มมีการไล่ที่ชุมชนแออัดหรือสลัมหลายพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐ ที่ดินของเอกชน หรือแม้แต่ที่ดินของพระสงฆ์ที่คนใจบุญบริจาคทานให้เพื่อทำประโยชน์แก่ศาสนา ก็ไม่วายต้องอยู่ในสถานการณ์ถูกไล่เช่นกัน

ดังที่จะเห็นจากที่มีชุมชนต่างๆ เข้ามาขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา เพื่อหาแนวทาง วิธีการต่างๆ ในการหยุดการไล่รื้อกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบข้อมูลและได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมทำงานหยุดการไล่รื้อเร่งด่วนของเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบเห็นชุมชนที่ประสบปัญหาไล่ที่ คือ

  • ชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ทั้งที่มีมติบอร์ดรถไฟปี47 ให้มีการแบ่งปันที่ดินกัน และต้องไม่มีการดำเนินคดีความใดๆ
  • ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ชุมชนกำลังรับมอบโฉนดชุมชน แต่รัฐร่วมกับเจ้าของที่ข้างเคียงมารังวัดที่ใหม่ทำที่สาธารณะหายไป เตรียมจะสร้างแนวกำแพงและรื้อบ้านชาวบ้านที่อ้างว่ารุกล้ำที่ดิน ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นก่อนมาอยู่คือที่ดินลำรางสาธารณะ
  • ชุมชนวัดใต้ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ เจ้าอาวาสวัดใต้ให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินที่มีบ้านผู้อยู่อาศัยรอบๆ วัดไปทำธุรกิจคอนโด ขณะนี้เตรียมที่จะฟ้องขับไล่ชาวชุมชน
  • ชุมชนบึงลำไผ่ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กำลังจะได้รับผลกระทบสร้างสวนสาธารณะ แต่พร้อมจะขับไล่คนที่มาอยู่ก่อนหลายชั่วอายุคน
  • ชุมชนหลังหมู่บ้านสหกรณ์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ถูกอำนาจเถื่อนของนายทุน ไถบ้านพังเสียหาย สำนักงานเขตรับลูกต่อพร้อมจะไข่ลับอีกทอดห้ามพักชั่วคราวในที่สาธารณะ เคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง

ภาพการปักป้ายไล่รื้อชุมชนหลัง

นี่เป็นเพียงกลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อน ราว 350 หลังคาเรือน ที่มาขอความช่วยเหลือกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค และยังคงมีอีกหลายชุมชนที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ พวกเขากำลังจะไร้ที่ดินที่จะอยู่อาศัย ไร้ที่ทำมาหากิน

จากภาพเหตุการณ์ข้างต้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเจรจาเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา ชุมชนนี้ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นชุมชนเก่าแก่อาศัยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและค้าขายของสดเปรียบเสมือนเป็นโรงครัวของเมืองแปดริ้วก็ว่าได้ บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ ชาวชุมชนเคยเสียค่าเช่ากับการรถไฟฯ มาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ ย่า แต่มารุ่นปัจจุบันไม่ได้มีการเก็บค่าเช่า

ชุมชนดังกล่าวเป็นสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งอยู่ในกระบวนการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับรัฐบาล เป็นชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในการแก้ปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ 13 กันยายน 2543 ที่จะมีการแบ่งปันที่ดินของการรถไฟฯ ให้กับชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ได้เช่าที่ดิน แล้วพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาล จนกระทั่งเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกลุ่มทุนใหญ่ในท้องถิ่น ซึ่งพอจะลำดับเหตุการณ์คราวๆ ได้ดังนี้

  • ปี 2539 บริษัททำสัญญาปลูกสร้าง 5 ปี สัญญา ปี 2539 – 2544 ท่ามกลางการคัดค้านของชาวชุมชนตลาดบ่อบัว ซึ่งเคยปิดรางรถไฟให้หยุดการเดินรถมาแล้วเพื่อขอเจรจาเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชน
  • ปี 2541 บริษัทเริ่มฟ้องร้องชาวชุมชน
  • ปี 2544 การรถไฟฯ บอกเลิกสัญญาก่อนสัญญาจะหมด ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือความเห็นของสำนักราชเลขาธิการ ที่ทางชุมชนตลาดบ่อบัวได้ร้องขอความเป็นธรรม
  • ปี 2547 บริษัทฟ้องศาลขอความเป็นธรรมขอทำสัญญาใหม่กับการรถไฟฯ
  • ปี 2547 มีมติบอร์ดการรถไฟฯ ให้บริษัททำสัญญาต่อได้แต่ต้องถอนฟ้องชาวบ้าน และแบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ให้บริษัทส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สองให้เป็นที่อยู่อาศัยชุมชน ส่วนที่สามให้จัดทำเป็นตลาดของชุมชน ซึ่งในส่วนที่ สอง และสามจะดำเนินการโดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
  • ปี 2550 มีการทำสัญญากับทางบริษัทใหม่อีกครั้ง แต่บริษัทผิดสัญญา การรถไฟฯ จึงฟ้องเพื่อยกเลิกสัญญา
  • ปี 2553 ไกล่เกลี่ยกันที่ศาล ตกลงกัน 2 ฝ่าย คือ การรถไฟฯกับบริษัท
  • ปี 2557 ทำสัญญาเช่า เพื่อปลูกสร้าง 1 เม.ย. 57 – 31 มี.ค. 62 และสัญญาเพื่อทำประโยชน์ ปี 2562 – 2592 และคดีความข้อพิพาทกับชาวชุมชนตลาดบ่อบัวยังคงอยู่

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นสิ่งที่หายไปก็คือ “หัวคนจน” ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทเป็นการพิพาทโดยชาวชุมชนตลาดบ่อบัวกับบริษัทนายทุน ระหว่างผู้อยู่มาก่อนแต่ดั่งเดิมกับผู้มีเงินมหาศาลที่ต้องการที่ดินไปทำธุรกิจ แต่การรถไฟฯ ซึ่งควรเป็นหน่วยงานรัฐที่เป็นที่พึ่งพิงของคนจน กลับกระทำในสิ่งที่ฉ้อฉล ด้วยการทำข้อตกลงใหม่โดยละทิ้งมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2547 ที่เจตนาจะยุติคดีความข้อพิพาท และแบ่งปันที่ดินกัน

การกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทนายทุนได้สิทธิ์ในการเช่าเต็มพื้นที่ บริเวณสถานีรถไฟแปดริ้ว ส่งให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 300 ครอบครัว ในชุมชนตลาดบ่อบัว กลายเป็นผู้บุกรุกโดยทันที และดำเนินการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน จำนวน 11 ราย

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ ปี 2547 – 2557 ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราเองก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อจัดทำที่อยู่อาศัย และตลาด จนกลายเป็นโอกาสของกลุ่มนายทุนฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน เกิดการข่มขู่ คุกคาม จากนักเลง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านและเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงร้องเรียนไปยังกระทรวงคมนาคม และมีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งผลการของประชุม เฉพาะหน้าให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นโจทย์ร่วมกับบริษัทชะลอการบังคับคดีทั้งหมด และให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนชาวบ้าน การรถไฟ ห้างหุ้นส่วน เทศบาล เพื่อหาทางออกและแนวทางแก้ไข ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558

กระทั่งเช้าในวันถัดมา กรมบังคับดีพร้อมด้วยคนงานของบริษัท เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้าทำการรื้อถอน บ้านเรือนชุมชนตลาดบ่อบัว โดยไม่ฟังคำทักท้วงของชาวบ้าน อย่างไรก็ตามหลังจากทราบว่าเข้ารื้อทำลายผิดหลังจากคำสั่งศาล จึงได้ยุติการรื้อถอนแล้วกลับไปโดยไร้ความรับผิดชอบใดๆ

จากกรณีข้อพิพาทของชุมชนตลาดบ่อบัว เห็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างหน่วยงานรัฐ (หลายหน่วยงาน) และบริษัทกลุ่มทุนท้องถิ่น ที่ร่วมไม้ร่วมมือสอดประสานรับลูกไล่ต้อนคนจนให้จนมุม ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่การรถไฟฯ เพิกเฉยต่อมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2543 ที่จะต้องจัดที่ดินอยู่อาศัยให้กับชุมชนตลาดบ่อบัวโดยให้เช่าที่ระยะยาว อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ ปี 2547 คือบริษัทยังไม่ถอนฟ้องคดีความชาวบ้าน แต่กลับทำสัญญาฉบับใหม่ให้กับบริษัท หรือกรณีของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราที่ต้องดำเนินการจัดที่อยู่อาศัยและตลาดให้ชาวชุมชนก็ทำนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ข้อเรียกร้องของชาวชุมชนดูไร้เหตุผลหากถูกตัดตอนความเป็นมา เพราะสิทธิ์การเช่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ไปอยู่ในมือนายทุนหมดเสียแล้ว

การต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องคนจนเมืองยังคงไม่จบลงเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน หากหยุด ยุติ การเรียกร้อง ก็เสมือนกับว่าพวกเขาพร้อมจะเป็นคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย อาจต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ บางคนอาจต้องไปหาที่อยู่ใหม่นอกเมือง ต้องหางานใหม่ บางคนไม่มีทุนก็คงต้องปรับสภาพมาใช้ที่สาธารณะมาเป็นที่หลับนอน ผันตัวเองเป็นคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน สิ่งที่เคยสะสมมาในอดีตอาจไม่มีความหมายอะไรเลย

ปัญหาเหล่านี้คงไม่สามารถจบได้ด้วยระเบียบ กฎหมาย ที่ตราขึ้นมาโดยไร้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ยังคงมีอีกหลายชุมชน หลายกรณี ที่กำลังปะทุความเดือดร้อนขึ้นมาในห้วงรัฐบาลทหารที่เปรยจั่วหัวการปกครองถึง “การคืนความสุข” ให้กับคนไทย พยายาม “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม สุดท้ายกลุ่มคนจนเองยังคงต้องรวมกลุ่ม รวมตัวกันเพื่อสร้างความสุข “ด้วยตัวเอง” และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะยังคงยึดมั่นในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในแนวทางขบวนการภาคประชาชนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net