รายงาน: RCEP เอฟทีเออาเซียน+6 ไทยเจ้าภาพคุย ถึงไหน ทำไมต้องจับตา

สรุปการพูดคุยเรื่อง RCEP ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดเจราจาครั้งที่ 7 ในขณะนี้ ให้รายละเอียดการเจรจาล่าสุด ความคุ้มค่าของการเจรจา ข้อห่วงกังวลจากเอกสารข้อเรียกร้องที่รั่วออกมา รวมถึงภาพกว้างภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง สหรัฐอเมริกา-จีน

<--break- />

 

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2558 ที่ศศินิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอฟทีเอ วอทช์ (FTA Watch) และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จัดงานเสวนา “RCEP: การเจรจาการค้าในภูมิภาคที่ประชาชนต้องรู้” ในขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 9 - 13 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ RCEP คือ การเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership /RCEP) ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย เรียกกันง่ายๆ ว่า ASEAN+6 

เจรจาถึงไหน ?

อรุณี พูลแก้ว รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

RCEP เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ การเจรจากันที่กรุงเทพฯ รอบนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.แล้ว แบ่งออกเป็น 11 คณะ เริ่มต้นเจรจามาตั้งแต่ปลายปี 2556 โดยเดิมนั้นมีเป้าหมายจะให้เสร็จสิ้นในปีนี้

“เป็นความตั้งใจของอาเซียนที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมาอาเซียนมีเอฟทีเอแต่ละฉบับอยู่แล้วกับประเทศเหล่านั้น แต่บวกทีละหนึ่ง แต่ละฉบับก็มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการใช้ประโยชน์ สับสนยุ่งเหยิง เลยพยายามรวมเป็นฉบับเดียวกันให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรฐานสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการค้า ขณะเดียวกันก็ต้องได้ประโยชน์เพิ่ม และเป็นการดึงดูดการค้าการลงทุนเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ด้วย”

การเจรจามาแล้ว 6 รอบมีความคืบหน้าที่ละนิด เรียกว่าช้ามาก ถ้าให้ประเมินคิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึง 30% ถามว่าทำไมจึงช้าขนาดนั้น นั่นก็เพราะ 16 ประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกัน ทั้งการพัฒนาต่างกัน ความต้องการในการเจรจา ท่าทีในการเจรจาก็จะต่างกัน

ที่ผ่านมามีเรื่องที่คุยกันหลักๆ 3 เรื่อง คือ วิธีการลดภาษี , วิธีการเขียนข้อผูกพันในการเปิดเสรีบริการ, วิธีการเขียนข้อผูกพันในการเปิดเสรีการลงทุน จนวันนี้ทางทีมเจรจายังตกลงอะไรกันไม่ได้เลย

เรื่องวิธีการลดภาษีสินค้า อาเซียนมาในแนวกลางๆ เปิดเสรีปานกลาง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์นั้นมาเต็ม อยากให้เปิดหมด ส่วน จีน อินเดีย เกาหลี พวกนี้มาแบบต่ำมาก ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นเรียกร้องใกล้เคียงกับอาเซียน นอกจากนี้อินเดียยังไม่ต้องการลดภาษีสินค้ามากมายแต่ต้องการให้เปิดเสรีด้านบริการ เขาต้องการให้เรื่องนี้ไปพร้อมกัน

เรื่องวิธีการเปิดเสรีบริการ วิธีที่อาเซียนถนัดและทำมาในเอฟทีเอทุกฉบับ คือ เขียนข้อผูกพันส่วนที่ต้องการเปิดเสรีลงไป (positive list) อินเดียก็เช่นเดียวกับอาเซียน แต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต้องการให้เขียนอันที่ไม่ต้องการเปิดเสรีลงไป (negative list) ตอนหลังหารือกันไปมาจะเอาลูกผสม แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะอินเดียไม่รับ  

เรื่องวิธีการลงทุน วิธีที่อาเซียนทำมาในเอฟทีเอทุกฉบับ คือเขียนแบบ negative list คืออันที่ไม่ตองการเปิดเสรี แต่อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ไม่เอาแบบนี้ เถียงกัน 6 รอบเป็นแบบนี้มาตลอด เรื่องการคุ้มครองการลงทุนนั้นมีอยู่แล้วแต่ไม่พันกับเรื่องอื่นๆ บางประเทศจะเอาไปพันกับการคุ้มครองการลงทุนก่อน หรือ pre-establishment แต่ไทยก็ไม่รับ

เรื่องอื่นๆ ก็ยังมีเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรฐานสินค้า สุขอนามัยพืช พิธีการศุลกากร เรื่องเหล่านี้เจรจาเดินหน้าไปได้เรื่อยๆเพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค อันที่จริงการเจรจาก็เพิ่งเริ่มเจรจาจริงจังในช่วงหลัง ตอนแรกๆ เป็นในลักษณะมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทำความเข้าใจกับข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ไม่เคยมีเป็นเอกสารทางการด้วยซ้ำ

ส่วนเรื่องที่ภาคประชาชนสนใจมากคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญหา ชัดเจนว่าอาเซียนและอินเดีย ไม่เอาอะไรที่มากไปกว่าที่กำหนดไว้ในองค์การการค้าโลก (WTO) ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีต้องการให้มีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อยากให้เข้าเป็นภาคีความตกลงฉบับนั้นฉบับนี้ แม้ว่าช่วงหังญี่ปุ่นจะมีท่าทีอ่อนลงแล้ว แต่การเจรจาก็ยังคงไปไม่ถึงไหนในเรื่องนี้

นอกจากนั้นยังมีเรื่องความร่วมมือระหว่างกันด้วย หลักๆ มี 2 เรื่องคือ e-commerce และ SME และเรื่องที่ญี่ปุ่นกับนิวซีแลนด์พยายามผลักดันคือ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและแรงงาน อันนี้ปฏิเสธกันแต่ต้นว่าจะไม่มีการคุยเรื่องนี้

“เรื่องทรัพย์สินทางปัญหา ชัดเจนว่าทั้งอาเซียน อินเดีย ไม่ยอมให้มีการคุ้มครองมากไปกว่าที่องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีต้องการให้มีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อยากให้เข้าเป็นภาคีความตกลงฉบับนั้นฉบับนี้”

พบเอกสารรั่ว กังวลข้อเรียกร้องก้าวร้าวด้านทรัพย์สินทางปัญญา

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์

เป็นเรื่องดีที่ให้อาเซียนเป็นตัวนำและท่าทีของอาเซียนที่เจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่ผ่านมาก็สามัคคีและเลือกเฉพาะที่ตัวเองพร้อมมากกว่าถูกบังคับ จนกระทั่งเริ่มได้เอกสารที่หลุดออกมาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุนอย่างน้อย 4 ชิ้น เป็นของญี่ปุ่น เกาหลี อาเซียน อินเดียที่ร่วมเจรจาใน RCEP จึงเกิดความกังวล เนื่องจากเกาหลียื่นข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิบัตรเหมือนที่ตัวเองยอมรับแล้วกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏผลแล้วว่าสร้างผลกระทบในเกาหลีหนักเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชน ที่น่ากลัวที่สุดคือ ญี่ปุ่น ปรากฏว่าเหมือนกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) มาก มีท่าทีที่ก้าวร้าวมาก ไม่ว่าการขอจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์  การให้คำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพได้ง่ายๆ  ไม่อนุญาตให้ใช้มาตรการยืดหยุ่นที่อยู่ในองค์การการค้าโลก

แนวทางการเจรจาที่สถาบันพัฒนาวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอนั้นมีข้อควรระวังหลายเรื่องที่ควรต้องรับฟัง เช่น การสงวนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหาไม่มากไปกว่าที่กำหนดในองค์การการค้าโลก นอกจากนี้ภาคประชาชนขอเสนอให้คณะเจรจาเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้าสู่กระบวนการประชุมเตรียมการหรือแจ้งผลการเจรจาด้วยเช่นเดียวกับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มิใช่ปล่อยให้มีแต่สภาวิชาชีพ ภาคเอกชน ดังที่เป็นอยู่ โดยในการเจรจา RCEP นั้นเชิญผู้ร่วมประชุมโดยเป็นตัวแทนจากสภาหอการค้าไทย 20 กว่าคน สภาอุตสาหกรรม 10 กว่าคน

งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ มองอย่างไรกับ RCEP

วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการวิจัยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ TDRI

แม้การเจรจาเอฟทีเอจะไม่ให้ประโยชน์กับประเทศไทยซึ่งเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในทุกประเด็นที่เราต้องการ แต่จะกลัวจนไม่เจรจาไม่ได้เพราะจะสูญเสียโดยสิ้นเชิงโดยไม่ได้ต่อสู้ จึงสำคัญว่าเราจะออกแบบตัวเองอย่างไรให้เหมาะสมและหาพวกมาคุ้มครอง ถ่วงดุลประเทศใหญ่ สำหรับ RCEP นั้นมองว่าเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิรูปตัวเราเอง

“การทำการค้าเสรีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถช่วยในเรื่องความยั่งยืนและความเสมอภาคภายในประเทศ และระหว่างเรากับประเทศคู่ค้า ไม่เป็นหลักประกันของการมีอิสรภาพ ไม่ใช่คิดว่าเปิดเสรีแล้วจะได้ทั้งหมด เราต้องมีเครื่องมือของเราเองที่จะช่วยในเรื่องอื่นๆ รองรับ ปัญหาที่แล้วมาคือ เราสนใจน้อยไปกับการสร้างเครื่องมือรองรับ ถึงมีก็เป็นเครื่องมือที่ไม่ค่อยดี คิดอย่างลวกๆและเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมาก”

ถึงที่สุดไทยควรมีภาษีโครงสร้างเดียว และอัตราเดียว เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสับสน สร้างต้นทุนทางศุลกากร หลีกเลี่ยงการคุ้มครองคนไม่เก่งหรือใช้ทรัพยากรไปทุ่มเทกับเรื่องที่เราทำไม่เก่ง ทำให้ผู้ผลิตในประเทศเผชิญการแข่งขันและต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น

“สมมติมี RCEP และมีการลดภาษีเป็น 0 ทั้งหมด ประโยชน์สำหรับไทยคำนวณแล้วติดลบ เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพปัจจุบันที่มีอาเซียนบวกหนึ่งอยู่แล้ว  เพราะภายใต้อาเซียนบวกหนึ่งนั้นคู่ค้าสำคัญไม่ได้เปิดต่อกันสักเท่าไร อาเซียนจึงกลายเป็นศูนย์กลาง แต่ประโยชน์ตรงนี้ก็ไม่ยั่งยืน เรารีบทำ RCEP เสียดีกว่า แต่ถ้าทำในส่วนลดภาษีสินค้าอย่างเดียวจะไม่ไปไหน หากลดการกีดกันการค้าบริการลงร้อยละ33 ขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีลงร้อยละ 35 ไทยจะได้ประโยชน์ 27,000 ล้านดอลลาร์ ประโยชน์ที่ได้ส่วนหนึ่งได้มากจากการมีทุนเข้ามา และมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ถ้าไม่มีสองส่วนนี้ อย่าไปเสียเวลาคุย ไม่มีประโยชน์อะไร”

มอง RCEP ผ่านมุมภูมิเศรษฐศาสตร์

ประพัฒน์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในมุมเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศหรือภูมิเศรษฐศาสตร์ เอฟทีเอมีอะไรมากกว่าการค้า แต่เป็นเครื่องมือของการเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง

ขอเล่าให้ฟังว่า RCEP เกิดขึ้นได้อย่างไร

เรื่องเอฟทีเอสมัย 30-40 ปีก่อนช่วงสงครามเย็นไม่มีใครพูดเรื่องนี้ ช่วงปี 1986 กรมอาเซียนก็เคยคิดเรื่องเอฟทีเอในกรอบอาเซียนแต่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะหลายประเทศยังไม่พร้อม กว่าจะมาเป็นอาฟต้าได้ก็ปี 1992 เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด ราวปี 1989-1990 ก็มีแนวคิดว่าการต่อสู้กันทางการทหารหรือทางการเมืองนั้นลดลง แต่จะเป็นประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก ช่วงจังหวะนี้อาเซียนก็เริ่มขยับ ในปี 1994 อเมริกาเสนอเอฟทีเอในกรอบเอเปค จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเจรจา WTO ที่ล้มเหลวในรอบซีแอตเติลปี 1999 ได้ถือกำเนิดแนวคิดแบบทวิภาคี สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มเจรจา ต่อมามีการเจรจาทวิภาคีกันเยอะมากจนวุ่นวายไปหมด ปี 2000 จีนมาเสนอเจรจาเอฟทีเอกับอาเซีย เกิดเป็นอาเซียน-จีน ประกาศใช้เมื่อปี 2004 แล้วก็เกิดเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย เหล่านี้เรียกว่า ‘อาเซียน+1’ อีกระยะหนึ่งก็เกิดอาเซียน +3 (EAFTA) (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) เริ่มมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) มาเกี่ยว อเมริกากลัวจีนครอบงำกรอบนี้ ญี่ปุ่นก็เช่นกัน ญี่ปุ่นจึงเสนออาเซียน+6 ขึ้นมาแทน เป็นการเสนอคู่กันมาแต่ก็ตกลงไม่ได้เสียที ระหว่างนี้อเมริกาก็ขยับอีกครั้งหนึ่งเพราะกลัวจะถูกกันออกไป เกิดไอเดียในปี 2006 ผลักดันในเอเปคแต่ไม่มีใครเอา จากนั้นอเมริกาจึงเริ่มเจรจาระดับทวิภาคีโดยเริ่มที่สิงคโปร์ก่อน แล้วก็มาเจรจากับไทย มาเลเซีย แต่ไม่สำเร็จ สำเร็จเพียงสิงคโปร์ เกาหลีและออส เตรเลียเท่านั้น

ในที่สุดเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลสมัยโอบามา รัฐบาลโอบามาเห็นว่าเดินแบบนี้ไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเกิด TPP เป้าหมายหลักของอเมริกาคือ 1)ครองความเป็นเจ้า หรือ Hegemony 2) ปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ 3) ป้องกันเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีอเมริกา 4) ตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะเอเชียเติบโตมาก หาก TPP บรรลุเป้าหมายเหล่านี้อเมริกาก็จะกลับมาเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมเศรษฐกิจทางภูมิภาค

โดยส่วนตัวมองว่า TPP น่าจะมีผลกระทบในเชิงลบต่ออาเซียนและไทย ถ้าเรากระโดดเข้าไป เพราะมีลักษณะเปิดเสรีทุกด้าน แม้แต่ด้านที่เราไม่พร้อม มันจะกลับไปเป็นแบบที่เจรจากับสหรัฐ รัฐบาลเราก็ลังเลอยู่ตลอดที่จะเข้าร่วม

นอกจากนี้ TPP จะเป็นคู่แข่งสำคัญกับ RCEP บางส่วนมองว่ามันเสริมกัน แต่ความเป็นไปได้น่าจะเป็นการแข่งกันมากว่าเพราะ RCEP ไม่มีสหรัฐ ขณะที่ TPP ไม่มีจีน TPP จะมาลดบทบาทของอาเซียน แถมยังแบ่งแยกอาเซียนด้วย ตอนนี้มี 4 ประเทศในอาเซียนที่กระโดดเข้าร่วม TPP อีก 6 ประเทศไม่ได้เข้า

ทั้งหมดน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไม RCEP จึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะสำนึกเรื่อง Asean centrality การเป็นศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจภูมิภาค

สำหรับไทยควรให้น้ำหนักไปที่ RCEP มากกว่า TPP น่าจะมีผลดีหลายประการ เพราะเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้อาเซียนกลับมามีบทบาทนำในภูมิภาค ส่วนอุปสรรคสำหรับ RCEP คือ การเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น, ความขัดแย้งเขตทับซ้อนในทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี, การไม่มีอัตลักษณ์ร่วมของประเทศในอาเซียน เป็นต้น

วาระของศตวรรษ 21 ไม่ใช่เรื่องสินค้า แต่เป็น ...

Joseph Puranganan,  Focus on the Global South

หากดูจากแผนที่นี้จะเห็นภาพใหญ่มากของเอฟทีเอ คือ อาเซียน+6 คือ RECP, การข้ามมหาสมุทรแปฟิซิก คือ อเมริกากับยุโรป ผ่าน TTIP และอีกอันที่ใหญ่โตเช่นกัน TPP ส่วนอันล่าสุดเกิดเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผลักดันเอฟทีเอเอเชียแปซิฟิก FTAAP สิ่งที่เราเห็นคือ การที่ประเทศใหญ่ๆ กำลังพยายามผลักดันวาระตัวเองในโลกของการค้า

สำหรับขนาดและความใหญ่โตที่กระทบกับเศรษฐกิจในระดับโลกนั้น ใน RCEP กินประชากรไป 49% ของประชากรโลก แต่ถ้าสถานภาพเศรษฐกิจจะถือว่า TTIP จะใหญ่ที่สุด

เอเชียจะอยู่เป็นศุนย์กลางการเจรจาเหล่านี้ เหตุผลจากการปักหมุดของสหรัฐอเมริกาที่เอเชีย ไม่ใช่ความมั่นคงทางการทหารเท่านั้นแต่เรื่องการค้าด้วย สหภาพยุโรปและอเมริกาต้องการได้ประโยชน์จากเอเชีย ที่สนใจเอเชียเพราะนอกจากเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวสูงแล้วยังมีเหตุผลที่มีทรัพยากร วัตถุดิบมาก และยังมีรัฐวิสาหกิจหรือกิจการที่รัฐดูแลอยู่ สำหรับสองยักษ์ต้องการให้กิจการเหล่านั้นแปรรูปให้เอกชนเป็นคนทำเพื่อที่เขาจะได้เข้ามาแข่งได้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือต้องการปิดล้อมจีนด้วย เพราะหากเรารวมเอา TPP กับ TTIP เข้าด้วยกันจะพบว่าเป็นลักษณะ “ทุกๆ คนยกเว้นจีน” ดังนั้น จีนจึงพยายามเป็นหลักในการเจรจาใน RCEP หรือเปล่า รวมถึงอันที่จีนเสนอFTAAP ขึ้นมา

การเจรจาการค้าแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงตลาดแล้ว แต่เป็นการเซ็ทกฎระดับโลกขึ้นมา ลองดูแถลงการณ์ร่วมระหว่างอเมริกาและยุโรปในการเริ่มต้น TTIP ทั้งสองประเทศบอกว่าจะไม่ใช่แค่มีโอกาสขยายการค้าการลงทุนข้ามแอตแลนติกเท่านั้น แต่สามารถพัฒนากฎระดับโลกในลักษณะพหุภาคีในที่สุด

นัยยะนี้เป็นการวิพากษ์โดยตรงไปที่จีนที่ยังคงผูกขาดในทรัพยากรหลายอย่าง โดยเฉพาะแร่หายาก การ ควบคุมค่าเงินอย่างเข้มข้น และมีรัฐวิสาหกิจ รัฐเข้าจัดการระบบเศรษฐกิจ ส่งนัยยะว่าจีนต้องปรับให้เป็นไปตามกฎใหม่ ขณะเดียวกันหากดูในมองมุมจีน จีนต้องการให้มีความตกลงอื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อลดอิทธิพลของดอลล่าร์ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย และผลักดันให้ความต้องการของจีนเข้าไปสู่กฎระดับโลก

“เราอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้เล่นขนาดใหญ่กำลังเล่นกัน และอยู่ท่ามกลางการค้า การลงทุนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต่างโดยสิ้นเชิงจากศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่เรื่องแค่ลดภาษีหรือเปิดตลาดเท่านั้น แต่ตั้งคำถามถึงหลายเรื่องว่า ทำอย่างไรการเปิดตลาดนั้นจะลึกมากยิ่งขึ้น เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้กฎระเบียบต่างๆ เป็นไปในทำนองเดียวกัน”

“สิ่งนี้สะท้อนในเอกสารธนาคารโลก ลักษณะการเจราการค้าการลงทุนศตวรรษที่ 21 จะคงระดับการเปิดหรือเปิดให้ลึกและมากขึ้น ถ้าใครไม่สามารถเปิดตลาดเปิดการลงทุนแบบนั้นได้จะต้องถูกฟ้องถูกลงโทษ จะต้องจ่ายเงิน นำมาสู่กลไกคุ้มครองการลงทุน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะพบว่าทุกเอฟทีเอมีเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องสินค้า แต่รวมทรัพย์สินทางปัญหา การลงทุน การทำให้กฎระเบียบเป็นเหมือนกัน”

คำถามก็มาถึงจุดที่ว่า แล้ว RCEP เป็นหนทางที่ดีกว่าสำหรับประเทศไทยหรือเปล่า หากดูเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็จะเห็นว่าญี่ปุ่นหรือเกาหลีเรียกร้องไปกว่าที่ตกลงใน WTO ที่เรียกว่า TRIPs ที่สำคัญคือ เกือบทุกประเทศในเอเชียมีการแก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองสอดคล้องกับ TRIPs + มากขึ้นๆ (หรือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดกว่า TRIP) ทั้งที่การเจรจายังไม่จบสิ้นลงด้วยซ้ำ

สรุปว่า ในศตวรรษที่ 21 วาระการค้าการลงทุนเป็นไปเพื่อเสริมอำนาจให้วาระของทุน ของบรรษัทใหญ่ทั้งนั้น เมื่อเราต้องเผชิญกับศึกหลายด้านแบบนี้ก็ต้องทำงานร่วมกันในการตรวจสอบ ต่อต้าน รวมทั้งนำเสนอวาระที่ดีกว่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท