เยเมนวุ่น ชาติตะวันตกพากันปิดสถานทูตหลังกลุ่มติดอาวุธ 'ฮูติ' ยึดอำนาจ

ชาติตะวันตกปิดสถานทูตในเยเมนหลังเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองมากขึ้นอีกระดับหลังกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่หนุนโดยสหรัฐฯ ในขณะที่มีประชาชนหลายพันคนในหลายเมืองออกมาประท้วง นักข่าวตะวันออกกลางมองว่าชีวิตที่ยากลำบากอยู่แล้วของชาวเยเมนยังคงดูไม่มีความหวังอยู่เหมือนเดิม

12 ก.พ. 2558 ช่วงสัปดาห์นี้มีประเทศตะวันตกหลายประเทศสั่งปิดสถานเอกอัครราชทูตในประเทศเยเมนท่ามกลางการประท้วงของประชาชนหลังจากที่กลุ่มกบฏติดอาวุธฮูติทำการยึดอำนาจการปกครองจากผู้นำเยเมนโดยบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค. ก่อนจะประกาศว่ากลุ่มของพวกเขาควบคุมอำนาจการปกครองเยเมนอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทางการสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสพากันประกาศสั่งปิดสถานทูตของพวกเขาในกรุงซานาของเยเมนในช่วงสัปดาห์นี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศหลังการยึดอำนาจของกลุ่มฮูติซึ่งเป็นกลุ่มกบฏนิกายชีอะฮ์ ที่มีแนวทางต่อต้านทั้งสหรัฐฯ และต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์

สำนักข่าวดิอินเตอร์เซปต์ระบุว่าฮูติยึดอำนาจในช่วงที่ประเทศเยเมนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่และเกือบจะมีสงครามกลางเมือง การที่ฮูติจะปกครองประเทศได้พวกเขาต้องทำสัญญากับกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นๆ แต่ฮูติกลับปฏิเสธการเจรจาหารือที่สหประชาชาติเป็นตัวกลางทำให้เยเมนอยู่ในสภาวะโกลาหล ในขณะที่เมืองหลวงคือกรุงซานามีสภาพเหมือนย่านที่ถูกแก๊งอาชญากรกลุ่มใหม่เข้ายึดครองมากกว่าจะดูเป็นเมืองที่มีการปกครองโดยผู้นำคนใหม่

ท่าทีของกองทัพสหรัฐฯ ยังออกไปในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อฮูติ โดยโฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พล.ร.ต.จอห์น เคอร์บี กล่าวว่าพวกเขาต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ 'ต่อต้านการก่อการร้าย' ในเยเมน

มีประชาชนหลายพันคนชุมนุมต่อต้านกลุ่มติดอาวุธฮูติในกรุงซานา ในเมืองตาอิซ และในเมืองอื่นๆ โดยมีขบวนการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธฮูติอยู่มากโดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศเยเมนที่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาเป็นเวลานานและในจังหวัดมาริบทางตะวันออกของกรุงซานาซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันอยู่มาก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ากลุ่มติดอาวุธฮูติยิงปืนเพื่อขู่ผู้ประท้วงนอกจากนี้ยังใช้ไม้กระบองและมีดสั้นในการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้านทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 4 ราย

การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเดียวกับการครบรอบ 4 ปีของการลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ซึ่งมีบางคนบอกว่าเขาเป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพในเยเมน

กลุ่มกบฏฮูติกับสายสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งในและนอกประเทศ
ฟาเรีย อัลมุสลิมี นักวิเคราะห์ชาวเยเมนและนักวิชาการแลกเปลี่ยนที่ศูนย์ศึกษาตะวันออกกลางคาร์เนกี กล่าวว่า แม้ว่าซาเลห์จะสละตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สละอำนาจที่มีอยู่

บทความในวอชิงตันโพสต์ระบุว่า ซาเลห์เป็นผู้มีอำนาจอิทธิพลและความมั่งคั่งมากในเยเมนจากที่เขาปกครองเยเมนมานานมากกว่า 30 ปี  ชาวเยเมนจำนวนมากเชื่อว่าเขายังคงใช้ความมั่งคั่ง ใช้เส้นสายครอบครัว และอิทธิพลต่อกองทัพเยเมนรวมถึงผู้นำเผ่าต่างๆ ในการสนับสนุนกลุ่มกบฏเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี อะเบ็ด มานซูร์ ฮาดี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ซาเลห์ยังใช้อิทธิพลทำให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปโดยที่เขาไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ และยังอยู่ในประเทศได้

อย่างไรก็ตามมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ามีผู้คนที่ไม่พอใจผู้นำคนใหม่คือฮาดีเช่นกัน ทำให้กองกำลังติดอาวุธฮูติสามารถเข้าถึงเมืองหลวงได้โดยที่แทบจะไม่มีการต่อต้าน มีข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชันและการที่รัฐบาลฮาดีไร้ความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ฮาดียังขัดแย้งกับคนในกองทัพเนื่องจากมีการสั่งปรับโครงสร้าง เขายังขัดแย้งกับครอบครัวของซาเลห์เพราะสั่งยุบกองกำลังคุ้มกันสาธารณรัฐซึ่งเป็นหน่วยกองกำลังที่นำโดยลูกชายของซาเลห์

ฮิวจ์ เนย์เลอร์ นักข่าววอชิงตันโพสต์ประเมินในบทความของเขาว่ากลุ่มความขัดแย้งหลักๆ ในตอนนี้ของเยเมนมีอยู่ 3 กลุ่มคือฝ่ายรัฐบาลฮาดีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพื่อต้องการต่อสู้กับกลุ่มอัลกออิดะฮ์แห่งคาบสมุครอาหรับ (AQAP) กลุ่มที่สองคือกลุ่มกบฏฮูติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิหร่าน และกลุ่มที่สามคือกลุ่มอัลกออิดะฮ์แห่งคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) ซึ่งพยายามเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน

ฮูติต้องการอะไร?
ผู้นำระดับสูงของฮูติชื่อซาเลห์ อาลี อัลซัมหมัด ประกาศว่าการยึดอำนาจของพวกเขา "ไม่ใช่การรัฐประหาร" โดยบอกว่ากลุ่มกบฏของพวกเขาไม่ได้ต้องการการควบคุมปกครองประเทศ แค่ต้องการเป็น "หุ้นส่วนผู้มีส่วนร่วม"

นายัม ไฮเดอร์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านศาสนาจากวิทยาลัยบาร์นาร์ดผู้เชี่ยวชาญศาสนาอิสลามกล่าวว่า แนวคิดทางการเมืองของกลุ่มฮูติมีความซับซ้อนมากพอๆ กับที่มาทางประวัติศาสตร์ของขบวนการ

"ในเบื้องต้นพวกเขาต้องการต่อต้านแผนการของฮาดีที่ต้องการแบ่งเยเมนเป็นสหพันธรัฐ 6 รัฐ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการคืนรูปแบบการปกครองโดยอิหม่ามแบบนิกายย่อยไซดีซึ่งเป็นสถาบันการเมืองที่ปกครองเยเมนมาตลอด 9 ศตวรรษ แต่ฮูติต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ที่การันตีว่าพวกเขาจะมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองแบบผู้แทนและป้องกันไม่ให้มีการกดขี่ข่มเหงชุมชนของพวกเขาที่ถูกกดขี่มาตั้งแต่ปี 2505" ไฮเดอร์กล่าว

อย่างไรก็ตามยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าชัยชนะของกลุ่มติดอาวุธฮูติจะส่งผลในระยะยาวต่อเยเมนอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าชีวิตที่ยากลำบากของชาวเยเมนจะยังคงดำเนินต่อไป โมนา เอลนักการ์ นักข่าวสายตะวันออกกลางของไทม์รายงานว่า ชาวเยเมนจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองมากขึ้นอีกระดับ และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่สามารถทำงานได้และมีกลุ่มติดอาวุธคอยควบคุมท้องถนน สภาพชีวิตที่ยากลำบากของชาวเยเมนที่มีมาก่อนหน้านี้ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

เรียบเรียงจาก

Embassy Closures, New Protests as Yemen Falls Into 'State of Chaos', CommonDreams, 11-02-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/02/11/embassy-closures-new-protests-yemen-falls-state-chaos

A key player in Yemen’s political chaos? A strongman ousted in 2012, Washington Post, 11-02-2015
http://www.washingtonpost.com/world/middle_east/a-key-player-in-yemens-political-chaos-a-strongman-ousted-in-2012/2015/02/10/15ff6a9c-b124-11e4-bf39-5560f3918d4b_story.html

LIFE IN THE EMERALD CITY: HOUTHIS CONTROL YEMEN, BUT THEY DON’T YET GOVERN IT, The Intercept, 11-02-2015
https://firstlook.org/theintercept/2015/02/11/life-emerald-city-houthis-control-yemen-dont-yet-govern/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท