Skip to main content
sharethis

นักวิชาการพลังงาน เศรษศาสตร์ อดีต ขรก. แถลงข่าวจดหมายค้านรัฐบาล กรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตั้งข้อสงสัยทำไมไม่เอาผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง ด้าน‘อภิสิทธิ์-อรรถวิชช์’ ร่วมลงชื่อด้วย<--break- />

12 ก.พ. 2558 ที่โรงแรมเอเชีย ห้องประกายเพชร เวลา 16.00 น. คณะบุคคลประกอบด้วย นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และนักการเมือง ได้จัดงานข่าวแถลงข่าว จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้กฏหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และมีปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศ และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มต้นกล่าวถึงที่มาของการร่างจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ว่าทางคณะฯ มีความห่วงดีต่อประเทศชาติ ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและผลประโยชน์ของชาติ จึงได้ร่วมกันคิดหาทางออกให้กับประเทศ และเป็นทางออกในทางปฏิบัติให้กับรัฐบาล ซึ่งกำลังจะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทั้งนี้ทุกคนมีความเป็นห่วงต่ออนาคตของชาติบ้านเมือง

ด้านนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ และการยึดอำนาจนั้นโดยหลักการแล้วไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นการยึดอำนาจ ถือปืนมาเพื่อขับไล่คนไม่ดีออกไป สิ่งนี้ประชาชนดีใจ แต่จะดีใจมากกว่านี้หากมีการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติจริงๆ ตนติดตามเรื่องปิโตรเลียมมาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน เห็นว่าช่วงปี 2544 เป็นช่วงที่แย่มากที่สุด เพราะมีการเปลี่ยนให้ ปตท. เป็นองค์กรจำกัดมหาชน แล้วเอาเข้าตลาดหุ้น แทนที่จะเป็นสมบัติของชาติ ก็กลายเป็นสมบัติของคนไม่กี่คน จนกลายป็นปัญหาเรื่อยมาจนถึงการเปิดสัมปทานรอบที่ 21

ประสงค์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 นั้นมีปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะ มาตรา 56 ที่ระบุว่า ผู้สัมปทานมีสิทธิขายและจำหนายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ ทั้งที่ปิโตรเลียมถือเป็นทรัพย์สมบัติที่อยู่ใต้แผ่นดินไทย ต้องเป็นสมบัติของชาติแต่กลับกลายเป็นสมบัติของผู้รับสัมปทาน เรื่องนี้จึงไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรม ทำไมจึงไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้ก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 อำนาจในการแก้กฏหมายก็อยู่ที่ สนช. แต่ก็ไม่แก้ เรื่องประโยชน์ของชาติไม่ทำ ไปทำแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ รัฐบาลก็ต้องฟังประชาชนบ้าง อย่าฟังแต่เจ้าหน้าที่เอกชน และควรจะจัดให้มีการถกเถียงกันเอาเวลาช่วงหกโมงเย็นมาทำก็ได้ ไม่ใช่แต่จะร้องเพลง จำได้ไหมปู่ ย่ายังจำได้ไหม เอามาจัดเวทีให้ประชาชนได้ถกเถียงกันและรับรู้ข้อมูล ถ้าเถียงแล้วเสมอกันก็ควรให้มีการลงประชามติ

ด้านหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี กล่าวว่า การลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญหน้าหนึ่งของประเทศไทย เพราะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ พร้อมกับผู้หลักผู้ใหญ่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่เคยคุณงามความดีกับบ้านเมือง โดยผู้ที่ลงชื่อในจมหมายเปิดผนึกกลุ่มแรกประกอบด้วย อาทิตย์ อุไรรัตน์, อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ, ประสงค์ สุ่นศิริ, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, นพ สัตยาศัย, วิวัฒน์ อัตถากร, กมล กมลตระกลู, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และกรกสิวัฒน์ เกษมศรี

ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่อกรณีนี้ว่า ตนหวังว่าคสช.และรัฐบาลจะรับฟัง เพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ใช่ความพยายามสร้างปัญหาทางการเมือง แต่เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นศรัทธาในนโยบายพลังงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องการขึ้นราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน จึงอยากให้ฟังข้อมูลทุกด้านเพราะที่ผ่านมาเหมือนกับสื่อสารไม่ได้ เมื่อไดรับทราบจดหมายเปิดผนึกนี้แล้วก็อยากให้ชะลอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพราะกระบวนการที่จะทำไม่น่าใช้เวลาเกิน 2 ปี ทั้งการแก้กฎหมาย และจ้างสำรวจแหล่งทรัพยากร ทำให้ประเทศมีทางเลือกและไม่คิดว่าจะกระทบความมั่นคงทางพลังงาน

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

11 กุมภาพันธ์ 2558

เรื่อง ขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้วย คณะบุคลต่อไปนี้ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตข้าราชการ บุคคลผู้เคยทำคุณงามความดีแก่ประเทศ และประชาชนทั่วไปต่างมีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งมีความขัดแย้งสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 จึงใคร่ขอนำเสนอข้อคิดเห็นแก่ท่านประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านใน การตัดสินใจเปิดสัมปทานฯ ครั้งนี้

การทำงานของรัฐบาลจะเรียบบร้อยและ นำประชาชนไปสู่ความสงบสุขได้นั้น ทั้ง้ป้าหมายและวิธีการทำงานจะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ ประเทศและเป็นเจ้าของทรัพยากร ทั้งคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป การบริหารจัดการเรื่องปิโตรเลียม รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้แก่ประชาชนได้อย่างปราศจาก ข้อสงสัย จึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลและตอบข้อสงสัยของประชาชนอย่างเต็มที่ อีกทั้งควรมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อ ประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน ก่อนที่จะมีการให้สัมปทานรอบที่ 21 ในประเด็นดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลได้คำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงพอแล้วหรือไม่

คณะฯ ขอเรียนว่า เนื่องจากประเทศไทยได้มีการค้นพบปิโตรเลียมมากว่า 97 ปี มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัมปทานมาแล้วเป็นเวลานานกว่า 44 ปี ปริมาณก๊าซธรรมชาติอยู่ในอันดับที่ 24 และปริมาณน้ำมันดิบและดอนเดนเสตอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก อำนาจในการต่อรองขณะนี้จึงมีมากกว่าในช่วงเริ่มต้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งข้อกฎหมายและกติกาที่ใช้มาเป็นเวลานานน่าจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัจจุบันแล้ว ไม่ว่าวิธีคัดเลือกผู้รับสัมปทาน เงื่อนไขผลประโยชน์ของรัฐ เงื่อนไขอำนาจในการควบคุมผลผลิต เงื่อนไขด้านภาษีและการคลัง เงื่อนไขการบังคับช้กฎหมายและการยุติข้อพิพาท ฯลฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในระดับโลกและระดับประเทศอื่นๆ ชี้ว่ามีจุดอ่อนหลายประเด็นที่สมควรแก้ไข ประชาชนจึงประสงค์จะให้รัฐบาลแสดงข้อมูลทางวิชาการว่า ได้มีการคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปพอเพียงแล้วหรือยัง

2.รัฐบาลได้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสหรือไม่

คณะฯ เห็นว่าเนื่องจากมีข้อศึกษาทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิแสดงให้เห็นถึงผล ประโยชน์ที่รัฐบาลไทยได้รับนั้น เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและต่ำกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ มาก ประชาชนจึงมีข้อสงสัยว่าเกิดจากเหตุใด แต่มีประเด็นว่า จะหาหน่วยงานในประเทศไทยที่จัดทำข้อมูลที่เป็นกลางอย่างแท้จริงได้ยาก เพราะบริษัทพลังงานมีการให้ทุนอุดหนุนหลายองค์กร รวมทั้งหน่วยงานของทางราชการเองก็ขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีข้าราชการระดับสูงเป็นกรรมการในบริษัทพลังงานอยู่ด้วย ประชานจึงประสงค์จะให้รัฐบาลแสดงข้อมูลการผลิตและต้นทุนของทุกสัมปทาน สัดส่วนรายได้ที่รัฐได้รับเป็นรายแปลงสัมปทาน เปรียบเทียบข้อมูลกับประเทศอื่นโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งเปิดเผยข้อผูกพันของแต่ละสัมปทาน โดยมีองค์กรระหว่าประเทศที่น่าเชื่อถือสนับสนุนการจัดทำข้อมูล เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง

3.รัฐบาลบริหารจัดการความมั่นคงทางพลังงานอย่างถึงต้องและเป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่

คณะฯ เห็นด้วยกับหลักการความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้น รัฐจึงควรมีทางเลือกในระบบจัดการทรัพยากรที่รัญได้ผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียม แทนการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่ผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดตกเป็นของเอกชน ส่วนในด้านการใช้ทรัพยากรนั้นปรากฎข้อมูลว่า ปริมาณก็ซที่ผลิตในประเทศนั้นใช้ผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 67 ก๊าซที่ยังเหลือส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิใช้ ก่อน แต่เนื่อจากบริษัทเหล่านี้ป็นกิจการขนาดยักษ์ใหญ่ยอดขายกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี  รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้บริษัทเหล่านี้ต้องช่วยตัวเองในการจัดหาแหล่งนำเข้า ปิโตรเลียม โดยเก็บก๊าซในประเทศไว้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน รวมทั้งจัดแหล่งนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านระบบท่อให้มากขึ้น เพื่อสงวณก๊าวในประเทศไว้ใช้ยามจำเป็นให้มากที่สุด สอดคล้องกับนโยบายการบริหารยุทธปัจจัยที่ดี ประชาชนจึงประสงค์ให้รัฐบาลนำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดมาเปิดเผยให้สาธารณะ ได้รับทราบ

4.รัฐบาลจัดการทรัพยากรด้วยความรอบคอบและเป็นธรรมต่อเอกชนทุกรายหรือไม่

ระบบ สัมปทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งอยู่บนการคาดการณ์ว่า บ่อก๊าซบ่อน้ำมันที่มีอยู่ในประเทศเป็นแหล่งเล็กทั้งหมด  โดยรัฐไม่เคยทำการจ้างสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้ข้อมูลศักยภาพที่แท้ จริงก่อนให้การสัมปทานแก่เอกชน ระบบนี้จึงมีลักษณะที่เก็งกำไรความเสี่ยงสูง จึงมีการแข่งขันน้อย ผู้รับสัมปทานรายเก่าในแปลงข้างเคียงได้เปรียบผู้รับสัมปทานรายใหม่เนื่อง จากมีข้อมูลมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปด้วยความรอบคอบ จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการจ้างสำรวจปิโตรเลียมในแต่ละแหล่งที่อยู่ในรอบที่ 21 เพื่อนำข้อมูลมาวางนโยบายพลังงานที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ ประชาชน และเป็นธรรมต่อเอกชนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

คณะฯ จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไว้ก่อนเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยให้รัฐเร่งดำเนินการควบคู่กันในห้วงเวลาดังกล่าวเพื่อทำการจ้างสำรวจ ศักยภาพปิโตรเลียมในแหล่งเหล่านี้ พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในรูปแบบอื่นที่รัฐได้รับผลตอบแทนเป็น ปิโตรเลียม เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต และการจ้างผลิต เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสามารถบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมได้อย่างเหมาะ สมกับศักยภาพยิ่งขึ้น ส่วนปิโตรเลียมใหม่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ควรพิจารณาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานแล้วแต่ยังมีปิโตรเลียมอยู่ควรพิจารณา ใช้ระบบจ้างผลิตเพราะมีอุปกรณ์พร้อม และมีความเสี่ยงต่ำ เช่น แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช เป็นต้น

อีกทั้ง ขอให้รัฐปรับปรุงข้อด้อยของระบบการจัดการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ระบบคัดเลือกผู้สัมปทานเอกชน กระบวนกรระฟังความคิดเห็นของประชาชน มาตราฐานการกำกับดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ สัมปทาน เป็นต้น โดยการบริหารจัดการในอนาคตจะต่อยึดหลัก การเปิดเผยข้อมูล มีความโปร่งใส่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและตรวจสอบของประชาชน และสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพราะทรัพยากรเป็นของคนไทยทุกคน รัฐในฐานะตัวแทนประชาชนจึงควรจัดการด้วยความโปร่งใสปราศจากการมีผลประโยชน์ ทับซ้อน เพื่อประโยช์สูงสุดของชาติและประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากดำเนินการดังนี้ได้ ก็จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนและนำประเทศไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่แท้ จริง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net