Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เกิดปรากฏการณ์แปลกในประเทศไทย เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวที่สุด เพื่อตอบโต้กับท่าทีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกามีลักษณะเย็นชาเช่นนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ไทยเป็นมิตรดีที่ร่วมมือกับสหรัฐในการเผชิญหน้ากับประเทศคอมมิวนิสต์ทุกแนวรบ นำมาสู่ความร่วมมือทางการทหารต่อกัน จนถึงขนาดที่ว่าไทยยอมให้สหรัฐมาตั้งฐานทัพในประเทศหลายแห่ง จนกลายเป็นประเด็นสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษามาแล้ว หลังยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ยังเป็นไปได้ด้วยดีเสมอมา แม้กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังเคยเดินทางไปเยือนรัฐฮาวายของสหรัฐ เพื่อไปเยี่ยมกองทัพบกสหรัฐอเมริกาประจำภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) ตามคำเชิญของกองทัพสหรัฐฯ และเพื่อการจัดซื้ออาวุธและอุปกรณ์สงคราม

แต่ปรากฏว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 สหรัฐอเมริกาและรวมถึงประเทศตะวันตกแทบทั้งหมด แสดงท่าทีไม่ยอมรับการรัฐประหาร เพราะเพียงวันเดียวหลังรัฐประหาร พล.ร.ต.จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้เปิดเผยว่า พล.อ.เรย์ โอเดียร์โน เสนาธิการใหญ่กองทัพบกสหรัฐ โทรศัพท์สายตรงไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความคาดหวังให้ไทยกลับคืนสู่วิถีเส้นทางแห่งประชาธิปไตยอย่างสันติโดยเร็ว และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทย 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยทันที ในครั้งนั้น ฝ่ายรัฐประหารของไทยยังใช้ท่าทีวางเฉย

แต่ความขัดแย้งมาเข้มข้นมากขึ้นครั้งนี้ เริ่มต้นจากการที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ในด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มาเยือนประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐที่เดินทางมาประเทศไทย หลังจากการรัฐประหาร รัสเซลนั้นถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญมาก เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชีย และเป็นคนสำคัญในการนำเสนอนโยบายด้านเอเชียให้แก่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เขาเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 26 มกราคม ในฐานะทูตพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐ และเมื่อมาถึงประเทศไทย รัสเซลก็ได้แถลงทันทีว่า เขาได้รับมอบหมายหน้าที่ให้แจ้งรัฐบาลทหารของไทยว่า ประเทศกำลังเสื่อมเกียรติภูมิในสายตาของนานาชาติ ดังนั้น รัฐบาลทหารของไทยควรจะแสวงความเป็นไปได้ในการยกเลิกกฎอัยการศึก รื้อฟื้นสิทธิมนุษยชน และนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว

หลังจากที่มาถึงประเทศไทย รัสเซลได้เข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศไทย พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร เพื่อแจ้งให้กระทรวงต่างประเทศไทยทราบถึงความวิตกของสหรัฐต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย และเสนอให้เลิกกฎอัยการศึก จากนั้น นายรัสเซลได้ไปบรรยายพิเศษ ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในปี 2015” ซึ่งรัสเซลได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ความยุติธรรมมีความสำคัญในการสร้างความปรองดอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน มีผู้นำของไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองจากกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร และยังถูกฟ้องในคดีอาญาด้วย ซึ่งประชาคมโลกย่อมมีความรู้สึกว่า การปรองดองย่อมได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ สหรัฐฯ จึงต้องการหลักประกันว่า การสร้างความปรองดองจะยังเดินหน้าไปได้ และระบบตุลาการของไทยจะมีความยุติธรรมแท้จริง” และว่า “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สหรัฐฯ ต้องการเห็น และหวังว่าการเปิดกว้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้”

ทางการไทยเห็นว่าคำบรรยายของรัสเซลเป็นฟางเส้นสุดท้าย ดังนั้น วันที่ 28 มกราคม นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เรียกตัว แพทริก เมอร์ฟี อุปทูต รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบเพื่อปรับทัศนคติ หลังจากนั้น นายดอมได้แถลงว่า ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยอธิบายและปรับความเข้าใจกับอุปทูตสหรัฐ ให้ทราบว่า การบรรยายของนายรัสเซลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และมีเสียงสะท้อนจากหลายทางว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดบาดแผลขึ้นในใจจากการเยือนของนายรัสเซล จึงต้องแจ้งให้สหรัฐทราบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวุฒิภาวะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ไม่ใช่ประเทศเกิดใหม่ และยังได้ชี้แจงว่า กระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย ที่ดำเนินการต่อนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต และย้ำในตอนท้ายว่า การรัฐประหารในไทยนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งประชาชนสหรัฐฯ นักธุรกิจสหรัฐฯ หรือคนในสถานทูตสหรัฐฯ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้แสดงออกในลักษณะเดียวกันว่า “ผมยืนยันว่าในฐานะนายกฯ จะไม่ยอมให้ประเทศใดเข้ามาแทรกแซงบ้านเรา ทุกประเทศมีศักดิ์ศรี ประเทศไทยก็ต้องมีศักดิ์ศรี เราให้เกียรติกับทุกประเทศ ผมไม่เคยไปต่อต้านใคร แต่ผมเสียใจได้ในการแสดงความคิดเห็นบางอย่างที่มันไม่ใช่ ไปฟังข้างนี้แล้วออกมาพูดแบบนี้มันไม่ใช่ ผมไม่ใช่ศัตรูของเขา เมื่อพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย เขาก็คิดถึงประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่อย่าลืมว่าคนของเรา วิถีชีวิตของเราหรือผู้นำทางการเมืองของเราในอดีต ไม่เหมือนของเขา สหรัฐต้องฟังบริบทเหล่านี้ด้วย”

ควบคู่กับท่าทีของรัฐบาลทหาร ก็เกิดการสร้างกระแสต่อต้านสหรัฐจากกลุ่มเสื้อเหลืองสลิ่ม และสื่อมวลชนฝ่ายขวาทั้งหลาย โดยยกประเด็นชาตินิยมจัดที่ว่า ประเทศไทยเป็นเอกราช ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร จึงไม่อาจยอมรับการแทรกแซงจากอเมริกา และโจมตีสหรัฐที่เคยใช้นโยบายแทรกแซงรุกรานไปทั่วโลก หนังสือพิมพ์แนวหน้า ไทยโพสต์ และเอเอสทีวีผู้จัดการ ต่างก็เสนอรายงานและบทความโจมตีอเมริกาอย่างหนัก รวมทั้งมีการสร้างกระแสเรียกร้องให้คว่ำบาตรสหรัฐ และในวันที่ 28 มกราคม ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า เครือข่ายปกป้องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของคนไทย ได้ไปยื่นหนังสือประท้วงที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้สหรัฐเลิกและยุติแทรกแซงกิจการภายในของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอให้เคารพอธิปไตยของไทยและเข้าใจด้วยว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดในประเทศไทยเป็นเรื่องความมั่นคงไม่ใช่การเมือง

สรุปแล้วทั้งที่ฝ่ายรัฐบาลทหารของไทยและฝ่ายเสื้อเหลืองสลิ่ม ต้องการพิทักษ์รักษาคือ ระบอบเผด็จการทหารที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนไทยทั่วไป โดยยอมแลกกับภาพลักษณ์ของไทยที่เสื่อมทรามลงในสายตานานาชาติ เพียงหวังเพื่อทำลายล้าง “ระบอบทักษิณ” ในความเข้าใจของฝ่ายตน เพราะท่าทีของฝ่ายหทารและการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของชนชั้นนำไทยดีขึ้นได้ในสายตาสหรัฐและประเทศตะวันตกทั้งหลาย กลับแต่จะสะท้อนความคับแคบของฝ่ายชนชั้นนำไทย ที่ไม่เข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นกระแสสากล เผด็จการทหาร กฎอัยการศึก และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างหากที่เป็นสิ่งที่ยากกับการทำความเข้าใจในระดับโลก บทความนี้ จึงจะขอจบที่บทกวีของสุจิตต์ วงษ์เทศว่า

“ผลักโลกออกไปเป็นฝ่ายค้าน
คนดีฝ่ายรัฐบาลทำเชิดหน้า
คลั่งไทยไม่เหมือนใครในโลกา
ประชาคมโลกปรารถนาไม่เหมือนไทย”

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 501 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net