Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2558 มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “การควบรวมกรรมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินได้หรือเสีย?”เพื่อเปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในประเด็น การควบรวมกรรมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน

งานดังกล่าวจัดโดย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และมูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาร่างฯ รายมาตรา ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยมีมติในการพิจารณาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ให้มีการรวมทั้งสององค์กรเข้าด้วยกันและใช้ชื่อใหม่ว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” ต่อมาองค์กรสิทธิมนุษยชน 30 องค์กรมีความเห็นคัดค้านจึงได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.

ศาสตราจารย์วิฑิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลยูเนสโกเพื่อการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2547 กล่าวว่าควรเพิ่มพลังในการปฏิบัติงานให้กับทั้งสองหน่วยงานมากกว่านำมาควบรวมกัน โดยการแก้ไขข้อจำกัดของทั้งสองหน่วยงาน จุดอ่อนของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมกรรมการสิทธิฯ โดยตรง แต่มีปัญหาที่กระบวนการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาทำงาน ซึ่งไม่มีความหลากลาย และหน่วยงานต่างๆ ไม่มาให้ข้อมูลตามที่คณะกรรมการสิทธิฯ เรียก ดังนั้นควรแก้ไขวิธีการคัดเลือกให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีมาตรการบังคับหรือควบคุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือ โดยเฉพาะภาครัฐ แก้ไขให้สามารถนำรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ และแก้ไขให้คณะกรรมการสิทธิฯ เป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นตรงต่อรัฐสภา เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระในการทำงาน นอกจากนี้หากมีการควบรวมทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือด้านสิทธิมนุษยชนในสายตาต่างประเทศ รวมทั้งส่งผลให้คณะกรรมการสิทธิฯ ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลงลงอีกด้วย

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์กรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า การควบรวมคณะกรรมการสิทธิฯ เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งสองมีขอบเขตการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้มีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันตามไปด้วย แม้ว่าจะรวมทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกันก็ต้องแบ่งแยกการทำงานออกจากกันอยู่ดี กล่าวคือการไม่สามารถรวมโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้ากับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาได้ ส่วนการประเมินประสิทธิภาพของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่สามารถประเมินได้ในระยะสั้นเพราะ งานของคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงนโยบาย การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบคำสั่ง และวิธีการต่างๆ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานในระยะยาว

สุณี ไชยรส  รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและอดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าวคัดค้านการควบรวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกัน เพราะหากเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีและไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งสองหน่วยงานได้ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานควรแก้ไขจุดบกพร่องหรือข้อจำกัดของทั้งสองหน่วยงานโดยตรง ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิฯ ควรแก้ไขโดยการแก้ไขกฎหมายให้มีบทลงโทษครอบคลุมหน่วยงานรัฐหากไม่มาให้ข้อมูลตามที่คณะกรรมการสิทธิ์ฯ มีเอกสารเรียก เพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าหากมีรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่อหน่วยงานรัฐแล้วจะมีการดำเนินการอย่างไร เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับการเสนอรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ เพิ่มข้อกำหนดว่ารายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้โดยไม่ต้องผ่านการผลักดันในชั้นศาล รัฐสภาต้องมีการดำเนินการที่ชัดเจนว่าหากรายงานผ่านการพิจารณาแล้วจะดำเนินการอย่างไรมากกว่าแค่รับทราบเช่นเดียวกับในปัจจุบันและแก้ไขกระบวนการสรรหาให้มีการความหลากหลายมากขึ้น

“การนำหน่วยงานทั้งสองมารวมกันไม่ได้เป็นการเพิ่มความเข้มแข็ง แต่เป็นการทำลายกระบวนการทำงานและทำให้กระบวนการตรวจสอบอ่อนแอลง เพราะบางครั้งการปฏิบัติตามกฎหมายก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  และการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่สามารถแบ่งออกเป็นด้านๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะในหนึ่งเรื่องอาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าหนึ่งด้าน” สุณีกล่าว

ด้านไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การพยายามยุบคณะกรรมการสิทธิฯ และนำไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถแก้ไขปัญหาองค์กรและปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ รวมทั้งจะลบคำว่าสิทธิมนุษยชนออกไปจากสังคม วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกคือ การพัฒนาทั้งสองหน่วยงานให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น โดยการให้ฝ่ายบริการเพิ่มกลไกรองรับการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ และผู้ตรวจการแผ่นดินมากขึ้น เพราะปัจจุบันการทำงานของทั้งสองหน่วยงานมีอำนาจเพียงการเชื่อมโยงกับรัฐบาลและรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งหากมีการการบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามก็จะเพิ่มความเข้มแข็งและประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น ต้องทำให้สำนักงานของคณะกรรมการสิทธิฯ มีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องขึ้นตรงต่อรัฐสภา และแก้ไขกระบวนการคัดเลือกให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ และมีความสามารถด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงเข้ามาทำงาน

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูงผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือ วีมูฟกล่าวว่า ไม่ควรรวมคณะกรรมการสิทธิฯ เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ควรแก้ปัญหาโดยการลดระบบอุปถัมภ์และเพิ่มกลไกลดการซื้อเสียงในกระบวนการคัดเลือกในหน่วยงานทั้งสอง เพราะจากการทำงานด้านเด็กและสตรีพบว่า ปัจจุบันมีผู้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนที่เป็นผู้กระทำผิด แต่ในขั้นตอนทางทางกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะใช้อำนาจในทางไม่ชอบนอกจากนี้ยังต้องเพิ่มกรอบอำนาจในการเรียกหน่วยงานมาให้ข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net