Skip to main content
sharethis

16 ก.พ. 2558 ตอนหนึ่งในการประชุม “เวทีประชาสังคมไทยว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต” ที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยนำเสนอข้อเสนอต่อกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับของเครือข่ายคนพิการ โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อรับรองการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ เครือข่ายคนพิการนำโดยสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี พร้อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและปรับ เปลี่ยนกระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย และควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนพิการ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว


ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของเครือข่ายคนพิการ มีดังนี้

1.ประเด็นข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พศ. ... และพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ...

(1) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายเดิม ซึ่งมีเจตนาในการนำเงินของกองทุนที่มีรายได้จากการเบค่าธรรมเนียมต่างๆ จากผู้ประกอบการ นำไปใช้ในการลดช่องว่างหรือลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส แต่การโอนไปกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่างร่างกฎหมายใหม่นั้น มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินจากกองทุนดังกล่าวไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนสำหรับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน กลับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบกิจการด้านดิจิทัล ส่งผลให้วัตถุประสงค์หรือเจตนาตามกฎหมายเดิมที่นำเงินจากกองทุนไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ในสังคมที่ขาดหายไป

(2) วัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายเดิม ซึ่งได้กำหนดไว้ตามมาตรา 52 (2) "ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ที่มีบัญญัติได้อย่างชัดเจนและสามารถขี้วัดได้ แต่ในร่างกฎหมายใหม่ประเด็นดังกล่าวถูกตัดออกไปและไม่สามารถที่จะชี้วัดได้อย่างชัดเจน

(3) องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนตามกฎหมายเดิม ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ซึ่งรวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการการบริหารกองทุนเหลือเพียง 2 ทุน ทำให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนคนพิการถูกตัดหายไป และในร่างกฎหมายใหม่ก็ไม่ได้บัญญัติสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนคนพิการซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการกองทุนแต่อย่างใด จึงทำให้หลักประกันหรือหลักการสำคัญในการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมขาดหายไป

(4) เหตุผลสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ไขกฎหมาย โดยยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายเดิม โอนไปเป็นกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามกฎหมายใหม่ เนื่องจากเห็นว่ากองทุนเดิมไม่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามร่างกฎหมายใหม่ ก้ไม่ได้มีบัญญัติที่จะเป็นหลักประกันทั้งในด้านประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลแต่อย่างใด

(5) การโอนอำนาจการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายเดิม โดยมีเงินรายได้ที่เป็นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตจากผู้ประกอบกิจการ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ ไปเป็นกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามร่างกฎหมายใหม่นั้น ถือเป็นอำนาจในการควบคุมดูแลเงินของกองทุนกลับมาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ การกำกับดูแลกองทุนเดิมของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ แม้จะถูกมองว่ายังมีการแทรกแซงจากทางการเมืองได้ แต่ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปอยู่การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ถือเป็นการโอนอำนาจในการบริหารเงินกองทุนไปให้ฝ่ายบริหารที่ยึดโยงโดยตรงกับอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจน

(6) ร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จำนวน 10 ฉบับ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีหลักประกันในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ (accessibility) สำหรับคนทุกคนกลุ่มไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน และอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมมหาศาล

2.ข้อเสนอแนะ
เครือข่ายคนพิการจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย และควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนพิการ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net