Skip to main content
sharethis

รายงานตอนที่ 3 ‘อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง’ กับ 5 บทบาทเพื่อสันติภาพปาตานี เผยบทบาทการเป็นนักสื่อสารมวลชน เชื่อมคนเชื่อมความคิด สร้างพลังการสื่อสารจากข้างใน

นักสื่อสารมวลชน
นายนาวาวี บัวหลวง ลูกชายของอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง เล่าว่า ปี 2547 พ่อลาออกจากราชการ โดยบอกเหตุผลว่าต้องการใช้เวลาเขียนบทความต่างๆ ที่อยากจะเขียนมานานแล้ว ประกอบกับเหตุไม่สงบที่เริ่มรุนแรงขึ้นในปีนั้นกลายเป็นแรงส่งให้พ่ออยากทำอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับสังคมว่า อะไรคือความถูกต้องสำหรับพื้นที่แห่งนี้

“หลายครั้งที่มีคนโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์โดยไม่ได้นัดล่วงหน้า แต่อาเยาะห์ก็ตอบได้แม้ไม่ได้เตรียมมาก่อน เพราะอาเยาะห์รู้ปัญหาในพื้นที่ดีเพราะลงพื้นที่ตลอด”

นาวาวี เล่าว่า ปกติพ่อเป็นคนนอนน้อย จะนอนประมาณ 3 ทุ่มแล้วตื่นประมาณตี 1 หรือตี 2 ลุกขึ้นละหมาดตะฮัดยุด (ละหมาดในตอนกลางคืน) จากนั้นก็เขียนบทความ

“เมื่อเกิดเหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นทำให้พ่อผันตัวเองจากนักวิชาการชุมชนมาเป็นนักวิชาการสันติวิธี เพราะพ่ออยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่นโยบายเท่านั้น”นาวาวี พูดถึงความตั้งใจของพ่อ

นางสาวลม้าย มานะการ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) เล่าถึงบทบาทของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ในด้านนี้ว่า ราวปี 2543 ได้ร่วมงานกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์โครงการปลูกป่าชายเลนชุมชนซึ่งได้ทุนจากสหภาพยุโรป (อียู) กิจกรรมก็คือการปลูกป่าชายเลนทั้งปี โดยอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จะส่งน้องที่เป็นนักข่าวไปเขียนข่าวเป็นประจำ

“ตอนนั้นเราทำงานภาคสนามส่วนอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จะช่วยสื่อสาร เพราะมีกิจกรรมเยอะมาก อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จะช่วยสื่อสารทุกเรื่อง แต่ถ้าเป็นประเด็นร้อนต้องเรียก “บังยุบ” เพราะชอบทำข่าวประเด็นร้อนๆ”

บังยุบก็คือ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน นักข่าวมติชนในสมัยนั้น ซึ่งเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ทางนำด้วย ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการอาวุโสของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

สื่อสารทุกช่องทาง
งานการสื่อสารของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงแค่การรายงานข่าวแล้วก็จบ หากแต่ยังเป็นทั้งนักผลิตรายการ ผู้เก็บข้อมูล ผู้ดำเนินรายการ ผลิตจดหมายข่าวและเขียนหนังสือ รวมทั้งเป็นนักประสานสื่อสำนักต่างๆ มาทำข่าวด้วย

นายจะเด็ด ศิริบุญหลง พนักงานบริหารงานทั่วไป สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี บอกว่า ในช่วงนั้น สำนักส่งเสริมฯ เป็นที่รวมของนักข่าวสำนักต่างๆ เพราะช่วงนั้นการส่งข่าวยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน อาจารย์จึงอนุญาตให้ใช้แฟกซ์ส่งข่าวหรือใช้เป็นที่นั่งทำงานเขียนข่าวได้

ที่สำคัญ ช่องทางที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์สื่อสารไม่ใช่เพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของงานการสื่อสารคือการผลิตรายการโทรทัศน์ ตามด้วยการผลิตรายการวิทยุ โดยเฉพาะวิทยุภาคภาษามลายู เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ เป็นบรรณาธิการหนังสือหรือจดหมายข่าว มาในช่วงหลังๆ คือเขียนบทความลงสื่อออนไลน์

งานบรรณาธิการ
ที่ห้องฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ อาคารสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ภายใน ม.อ.ปัตตานีปัจจุบัน ที่ทำงานเดิมของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น มีการกั้นห้องเพิ่มขึ้นมาเป็นห้องอัดเสียง แต่นายจะเด็ดยังคงนั่งทำงานที่นี่มาตั้งแต่สมัยอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ยังอยู่

ด้านหน้าห้องอัดเสียงยังมีตู้เก็บเอกสารต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะหนังสือต่างๆ และจดหมายข่าว เช่น จดหมายข่าว Wetland International หนังสือรวมบทวิทยุ เป็นต้น จะเด็ดได้หยิบเอกสารหลายชิ้นออกมาให้ดู พลิกดูก็จะพบชื่อ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง เป็นบรรณาธิการ

จัดรายการโทรทัศน์
นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ประเทศมาเลเซีย และช่างภาพสำนักข่าว AFP ประจำจังหวัดปัตตานี บอกว่า เขาร่วมงานกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2537 ทำหน้าที่ถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอนำมาทำรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์ทางช่อง 11

จะเด็ด เล่าว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เริ่มทำรายการโทรทัศน์ก่อน ซึ่งเดิมอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จัดรายการโทรทัศน์ร่วมกับอาจารย์มัรวาน สะมะอูน นักวิชาการศาสนาอิสลามชื่อดังจากกรุงเทพมหานคร จัดรายการคุณธรรมนำชีวิตทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 10 หาดใหญ่ กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันพุธ เนื้อหารายการ “คุณธรรมนำชีวิต” ส่วนใหญ่เป็นเรื่องศาสนาและเป็นรายการสนทนา

ต่อมาอาจารย์มัรวานได้ถอนตัวออกไป เนื่องจากภารกิจเยอะทำให้ไม่สามารถเดินทางมาจากกรุงเทพได้ทุกสัปดาห์ อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์กับนางโซรยา จามจุรี จึงต้องมาดูแลรายการเองทั้งหมด

ต่อมาราวปี 2542 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้ตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 ส่วนแยกยะลา อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จึงย้ายมาจัดรายการโทรทัศน์ที่ 11 ส่วนแยกยะลา ชื่อรายการ Forum Rakyat (เวทีพลเมือง) เป็นรายการภาษาไทยแม้ใช้ชื่อรายการเป็นภาษามลายูก็ตาม

รายการนี้เป็นรายการสนทนาเช่นเดิม แต่ประเด็นเนื้อหากว้างกว่ารายการคุณธรรมนำชีวิต โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาพูดคุยในรายการ

ประเด็นเด่นๆ ในช่วงนั้น คือโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่หมู่บ้านรูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ถูกชาวบ้านประท้วงคัดค้านอย่างหนัก ซึ่งการสนทนาประเด็นนี้ผ่านรายการ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทศบาลเมืองปัตตานีในฐานะเจ้าของโครงการได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการ

ย้อนกลับมาที่สำนักส่งเสริมฯ นายจะเด็ดได้หยิบม้วนวิดีโอบันทึกการสนทนาในตอนต่างๆ ของทั้งสองรายการที่ยังหลงเหลือออกมาให้ดู ข้างๆกล่องม้วนวิดีโอมีข้อความบันทึกชื่อตอนต่างๆ ไว้อย่างเรียบร้อย เช่น รายการคุณธรรมนำชีวิต ตอน การเลือกตั้งอบต.ปี 2540, รายการ Forum Rakyat ตอน โต๊ะปาสัย, มัสยิดรายอ จะบังติกอ สุสานโต๊ะอาเยาะห์ เป็นต้น

นายตูแวดานียา บอกว่า แม้เป็นรายการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นหลัก แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่ใช้ภาษามลายู โดยเฉพาะวันที่เชิญผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่มาพูดคุยในรายการ

อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์หยุดทำรายการโทรทัศน์ราว 2 ปี ก่อนที่เขาจะลาออกจากราชการในปี 2547 แต่เริ่มหันไปเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์รายวันมากขึ้น

บุกเบิกวิทยุภาษามลายู
ที่สำนักส่งเสริมฯ จะเด็ด ยังได้หยิบเทปคาสเซ็ตออกมาให้ดูด้วยจำนวนหนึ่ง เป็นเทปบันทึกเสียงการจัดรายการวิทยุที่ระบุชื่อรายการและวันที่จัดรายการอย่างชัดเจนเรียบร้อยเช่นกัน

หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์นับเป็นคนแรกๆ ที่บุกเบิกทำรายการภาษามลายูในสถานีวิทยุในพื้นที่

จุดเริ่มต้นคือ ในปี 2539 อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้ปรึกษากับผู้บริหารสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีเพื่อขอทำรายภาษามลายูแต่ผู้บริหารสถานีไม่อนุญาต เพราะกลัวผู้ฟังไม่เข้าใจและไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นำมาพูดในรายการนั้น คืออะไร อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จึงต่อรองจนกระทั่งได้รับอนุญาตให้จัดรายการภาษามลายูได้แค่วันละ 3 นาทีเท่านั้น

นายตูแวดานียา บอกว่า เป็น 3 นาทีที่สำคัญมาก เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของรายการสืบสานภาษามลายู (Warisan Bahasa Melayu) ในช่วงเวลา 10 โมงเช้าทุกวัน ลักษณะรายการเรียนรู้ภาษามลายูวันละคำ และกลายเป็นรายการที่ชาวบ้านฟังมากรายการหนึ่ง

“อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ตั้งใจจะให้ภาษามลายูเติบโตในพื้นที่ จึงผลิตรายการนี้โดยผมเป็นผู้ดำเนินรายการ” นายตูแวดานียา กล่าว

คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์
จะเด็ด เล่าว่า ประมาณปี 2545 อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เริ่มเขียนบทความส่งให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับตามคำขอของหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันฉบับใหม่ล่าสุดอย่าง “คมชัดลึก” ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานในช่วงนั้น โดยตีพิมพ์บทความของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์สัปดาห์ละครั้ง

อีกฉบับคือที่ตีพิมพ์บทความของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เป็นประจำคือหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ตีพิมพ์บ้างเป็นครั้งคราว เช่น หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นใน จ.สงขลา

จะเด็ดบอกว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ต้องการให้คนได้รับรู้เรื่องราวจากพื้นที่ในวงกว้างมากขึ้น จึงเขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเขียนจากประสบการณ์และความรู้ที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้จากการทำงานในพื้นที่

เสียดายที่หนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่ตีพิมพ์บทบาทของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์คมชัดลึกและมติชนได้ถูกเก็บออกไปจากห้องทำงานของเขาไปแล้ว

สื่อออนไลน์/ออฟไลน์
ในช่วงหลังๆ ที่เกิดสื่อออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันหลายสำนักได้เพิ่มการสื่อสารออนไลน์มาขึ้น บทความของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ก็ถูกนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หรือเว็บไซต์ข่าวประชาไทที่เคยเผยแพร่บทความของเขาอยู่ด้วย

และแน่นอนว่าในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเว็บไซต์เฟสบุ๊ค อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ก็ได้เปิดเฟสบุ๊กของตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่เขานำเสนอข้อมูลความรู้ การตั้งประเด็น ตั้งข้อสังเกตหรือแสดงความคิดความเห็นในเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทั่วไปด้วยเช่นกัน นับเป็นคนที่ขยันสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากคนหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องแม้เขาไม่ได้ใช้สื่อในการสื่อสารออกมาด้วยตัวเอง แต่สื่อหลากหลายสำนักได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เขาพูดในเวทีสาธารณะต่างๆไปนำเสนอหรือขยายความต่อ ดังที่หลายๆ คนสามารถเห็นการแสดงบทบาทนี้ของเขาในหลายเวที

เรียกได้ว่า นอกจากการสื่อสารด้วยสื่อหลากหลายแขนงแล้ว เขายังสื่อสารผ่านเวทีสาธารณะต่างๆไปด้วย เป็นการสื่อสารที่ควบคู่กันระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ ซึ่งสามารถเชื่อมคนและเชื่อมต่อความคิดคนผ่านการสื่อสสารได้อย่างดี ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มคนสาวในพื้นที่อยากที่จะสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ของตัวเองออกมาด้วย


 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net