ที่ประชุม กพช.หนุนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานอุตสาหกรรมขยะ 50 เมกะวัตต์

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติชี้ปี 2558 ไทยมีแนวโน้มใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 3% ค่าไฟทั้งปีจะอยู่ที่ 3.79 บาทต่อหน่วย ลดจากปีก่อน 20 สตางค์ ปีนี้จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่ม 50 เมกะวัตต์ เห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาสมาร์ทกริด 2558-2579

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมรับทราบรายงานแนวโน้มสถานการณ์พลังงานในปี 2558 ซึ่งมีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 53 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2557 ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ย 97 ดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงถึง 45% และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 3.79 บาท/หน่วย ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3.93 บาท/หน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

กระทรวงพลังงานได้รายงานแผนการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ปี 2558 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรก ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมาจะหยุดซ่อมบำรุง 2 ช่วงเวลาคือ 11 – 19 เมษายน และ 20 – 27 เมษายน ส่วนครึ่งปีหลัง แหล่งผลิตก๊าซฯ JDA พื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ก็จะหยุดซ่อมบำรุงช่วงเดือนมิถุนายน และกันยายน ซึ่งกระทรวงพลังงานยืนยันว่า ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้พร้อมแล้ว ทั้งการจัดซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในวันที่ 18 มีนาคม 2558 การกำกับดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมดำเนินการตามแผน โดยได้มีการขอความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียให้มีการจัดส่งก๊าซฯ เพิ่ม และใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ดีเพราะราคาน้ำมันเตาราคาถูกลง ขณะเดียวกันจะรณรงค์กับทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว

สำหรับมติ กพช. ที่สำคัญ ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรมเพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างครบวงจรและครอบคลุมขยะทุกประเภท เพราะก่อนหน้านี้ขยะชุมชนได้มีการส่งเสริมไปแล้ว โดยมีมติเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยนับเป็นส่วนเพิ่มจากเป้าหมายตามกรอบแผน AEDP และกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562 โดยแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมนั้นมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายละเอียด และตั้งอนุกรรมการเพื่อออกหลักเกณฑ์และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมรายงานความคืบหน้าต่อ กพช. เป็นระยะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration) ประเภทสัญญา Firm ในกลุ่มที่รับซื้อไฟฟ้ารอบก่อนปี 2550 ซึ่งกำลังจะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2560 – 2568 จำนวน 25 โครงการ ทั้งนี้ เพราะมีความจำเป็นสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการลงทุนของประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้เพื่อให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด ที่ประชุมจึงกำหนดให้เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณที่จำเป็นโดยไม่เกิน 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งเดิมและในราคาไม่เกินอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบ IPP โดยที่ผ่านมามีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบโคเจนเนอเรชันตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันจำนวน 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญารวม 6,901 เมกะวัตต์

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการพัฒนาด้านพลังงานในระยะต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผนฯนี้ คือช่วยยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า เสริมระบบไฟฟ้าของให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับคุณภาพบริการต่อผู้ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งช่วยยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การเป็นสังคมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจะรับไปดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และเสนอ กบง. พิจารณาอนุมัติในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ กพช. ได้เห็นความสำคัญด้านการอนุรักษ์พลังงานจึงมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานประกาศเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงอีก 3 รายการ คือ เตาอบไฟฟ้า กระทะไฟฟ้าก้นตื้น และตู้น้ำเย็น ตู้น้ำร้อน-น้ำเย็นสำหรับบริโภค โดยออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป นอกจากนั้น ยังได้อนุมัติกลไกการส่งเสริมโดยมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกพระราชกฤษฎีกาลดหย่อนภาษีสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรืออุปกรณ์เบอร์ 5

นอกจากนี้ กพช. ยังมีมติขยายกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จากเดิมภายในปี 2558 เป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระเบียบของหน่วยราชการ เช่น การขอใช้ที่ราชพัสดุ และขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาในการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT- Bidding (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) สำหรับปี 2558 จากเดิมให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท