คืนความจริงกับทัศนัย เศรษฐเสรี: ศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม

“ศิลปะ” เป็นงานที่ศิลปินบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อถ่ายทอดความงดงามและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านศิลปะที่มีหลากหลายแขนง เช่น ทัศนศิลป์ ดนตรี งานวรรณกรรม การละคร หรือการออกแบบ โดยในผลงานหนึ่งชิ้น นอกเหนือจากความงดงามและความคิดสร้างสรรค์แล้ว ศิลปะยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความหมายบางประการที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดด้วย

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำวิชาสื่อศิลปะการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ศิลปะเป็นงานที่เกิดขึ้นจากสำนึกที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพอยู่ในตัวเอง เพราะงานศิลปะเกิดขึ้นจากจิตสำนึกและความเชื่อว่าชีวิตของมนุษย์มีระบบคุณค่า ข้อยึดถือ และมีความเชื่อที่หลากหลายแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นงานศิลปะจึงไม่สามารถถูกจำกัดด้วยระบบคุณค่าแบบใดแบบหนึ่ง โดยการห้ามไม่ให้ศิลปินชื่นชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดงานศิลปะคือศิลปิน ซึ่งเป็นผู้ที่สะท้อนสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับปมปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง วิถีชีวิต หรือข้อจำกัดอื่นๆ ออกมาเป็นคนกลุ่มแรกๆ โดยแต่ละคนจะมีวิธีการแสดงออกที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนใช้วิธีการวิจารณ์จู่โจมโดยตรง บางคนใช้วิธีการที่แยบยล เช่น วิธีการย้อนแย้ง การล้อเล่น การกวนน้ำให้ขุ่นด้วยระบบสัญลักษณ์ต่างๆ  บางคนใช้วิธีการบรรยายด้วยความงาม ลีลา ท่วงทำนอง ผ่านความสวยงามของงานวรรณกรรม หรือความสวยงามในแนวคิดของทัศนศิลป์ในผลงานที่ตัวเองถนัด โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าตัวศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและให้ทุกคนในสังคมมาหาทางออกของปัญหาร่วมกัน  

ดังนั้นหากมีการตั้งคำถามว่าควรมีกฎหมายหรือระเบียบในการควบคุมความคิดสร้างสรรค์หรือเสรีภาพของศิลปินหรือไม่นั้น อาจารย์ทัศนัยได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า

“ถ้าเราจะบอกว่าควรมีกฎหมายหรือระเบียบในการควบคุมความคิดสร้างสรรค์หรือเสรีภาพต่อจินตนาการ กฎหมายหรือระเบียบที่ว่าต้องมีลักษณะที่กว้างที่สุด ถ้าแคบจะหมายถึง สังคมนั้นเป็นสังคมที่ล้าหลังและไม่เชื่อว่าชีวิตของผู้คนมีระบบคุณค่าที่แตกต่างกัน สังคมที่ล้าหลังที่ว่านี้ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ ซึ่งไม่มีทางที่จะมีอะไรที่พัฒนาได้ เพราะอย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์คือประการด้านแรกที่จะนำไปสู่การวิวัฒน์ของอารยธรรมต่างๆ ถ้าความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัดให้แคบลงด้วยระบบคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง สังคมมนุษย์ก็ไม่มีทางที่จะเจริญได้  ในเมืองไทยมีศิลปะแขนงต่างๆ ถูกเซ็นเซอร์ก็ดีหรือถูกห้ามปราม สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไม่ใช่สังคมที่มีระดับของความเป็นประชาธิปไตยที่สูงนัก

 การเซ็นเซอร์ผลงานของศิลปินสามารถทำได้โดยใช้กลไกการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยที่รัฐไม่มีหน้าที่ที่จะทำการเซ็นเซอร์ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นตั้งแต่ตอนต้น เพื่อให้สามารถค้นพบคุณค่าใหม่ๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ไม่สมควร และนอกจากรัฐไม่ควรเซ็นเซอร์แล้ว ควรเปิดให้ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง หากทำได้ก็จะสามารถสะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีความเป็นประชาธิปไตยในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่แค่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้นคนที่ทำงานด้านศิลปะทุกคนไม่สมควรที่จะไปอยู่ในคุก เพราะศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม

อาจกล่าวได้ว่า ศิลปินเป็นคนที่มีความพิเศษบางอย่างที่เปรียบเหมือนปรอทวัดไข้ มีลักษณะที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบข้าง ดังนั้นเมื่อสังคมประสบปัญหา ศิลปินจะรับรู้และสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นบทบาทหน้าที่ของศิลปินที่จะสะท้อนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกมา ไม่ว่าจะสะท้อนออกมาโดยนัยไหนก็ตาม

“ศิลปินที่อื่นๆ มีความเป็นอิสระในการที่จะพูด แสดงความคิดเห็นผ่านสิ่งที่เขาถนัดได้อย่างมีเสรีภาพ ในขณะที่บ้านเรา บรรทัดฐานบางอย่างที่เรายึดถือไม่มีความหลากหลายมากพอ ทำให้เป็นข้อจำกัดของศิลปินบางกลุ่มที่จะสะท้อน ความคิด และปมปัญหานั้นๆ ต่อสาธารณะ จะมีคุณค่าที่สะท้อนโดยชนชั้นนำหรือเป็นความยึดถือของคนกลุ่มหนึ่งไปกดทับการแสดงความคิดเห็นของคนกลุ่มนี้เอาไว้ ทำให้ทัศนคติจำนวนมากไม่ได้ถูกนำเสนออย่างน่าเสียดาย”

สำหรับบางคนที่มีศักยภาพสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะมีต้นทุนทางสังคมสูง แต่คนเหล่านั้นไม่ทำตามหน้าที่ เพราะขาดความเชื่อที่ว่าศิลปะสามารถมีบทบาทต่อสังคมได้ โดยคนส่วนใหญ่จำนวนมากจะคิดว่าศิลปะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความงดงาม การประดิษฐ์ หรือการตกแต่ง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม  ทำให้ศิลปินเหล่านี้ไม่ทำหน้าที่เป็นปรอทสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ดังนั้นเสรีภาพและจินตนาการจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสำนึกของการวิจารณ์ สายตาที่แหลมคมในการมองเห็นข้อจำกัดต่างๆ และแรงปรารถนาที่ต้องการเห็นสังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ศิลปะก็ถือว่าไม่มีหน้าที่อะไร

ในสังคมไทยการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะมักเป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่กับเรื่องของแรงบันดาลใจและการค้นหาเอกลักษณ์ของผู้สร้างสรรค์งาน ทำให้งานศิลปะเป็นเพียงแค่งานศิลปะเท่านั้น ส่งผลให้ห่างไกลจากวิถีชีวิตของคนอื่นๆ และประเด็นทางสังคม

สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่คงเป็นเรื่องยาก เพราะสังคมไทยยังขาดการศึกษา ความแม่นยำทางหลักวิชาการ และการทฤษฎีการวิจารณ์ที่จะช่วยให้เกิดการมองเห็นระบบคุณค่าที่มีความหลากหลาย รวมทั้งยังนำคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องศิลปะไปนั่งอยู่ในตำแหน่งที่มีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายในองค์กรหรือสถาบันศิลปะในตำแหน่งต่างๆ  ซึ่งคนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นระเบียบ โดยกำหนดว่าสาธารณะควรจะบริโภคหรือมองเห็นศิลปะในรูปแบบใด ถือเป็นการจำกัดความหลากลายทางศิลปะ

 “ไม่ควรมีใครสักคนติดคุกเพราะงานศิลปะ โดยปรอทที่เหลือต้องปรับตัวและใช้ความระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ศิลปะเมื่อยิ่งมีข้อจำกัดยิ่งต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เราละทิ้งพันธกิจเหล่านี้ไม่ได้ เสรีภาพทางการเมืองสามารถถกเถียงกันได้ เพราะมีกรอบกฎหมายที่ยืดหยุ่นตามสังคม แต่เสรีภาพทางศิลปะเป็นธรรมชาติโดยแท้ของมนุษย์ ไม่มีใครที่จะกำหนดหรือแย่งไปได้ ถ้าเราปราศจากเสรีภาพในการจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้ว เสรีภาพด้านอื่นๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง การแสดงความคิดเห็น ก็จะไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท