Skip to main content
sharethis

คุยกับ(จ่า)นิว เด็กหัวเเข็ง และนักกินฟรีในตำนาน เผยชีวิตครอบครัว และภาพสังคมที่อยากเห็น

นิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า จ่านิว เอาเข้าจริงเขาไม่ค่อยชอบให้คนเรียกแบบนี้เท่าไหร่ หลายคนรู้จักเขาในฐานะนักศึกษาหัวแข็งคนหนึ่ง ที่ชอบออกมาเรียกร้องประเด็นต่างๆ อาทิ ยกเลิกระบบรับน้อง ปฏิรูประบบการศึกษา และล่าสุดเรียกร้องการเลือกตั้ง จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งตอนนี้กำลังเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร

เขาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 4 เคยเป็นสมาชิกสภานักศึกษาช่วงปี 1-2 ก่อนจะออกมาสมัครนายกองค์การนักศึกษาช่วงปี 3 แต่แล้วก็เป็นไปตามที่เขาคาดคือ ไม่ชนะ จนถึงที่สุดมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อตั้งกลุ่มสภาหน้าโดม ซึ่งเคยเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 กลับมาอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าสังคมเราต้องมีพื้นที่เพื่อให้คนออกมาแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการถกเถียง

ช่วงหลังมานี้เรารู้จักนิว ในภาพลักษณ์ของนักกิจกรรม ชอบออกมาประท้วงทั้งประเด็นในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงประเด็นทางการเมืองระดับชาติ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าเขาโตมาอย่างไร สังคมที่เขาอยากเห็นคือสังคมแบบไหน แล้วชีวิตในรั่้วมหาวิทยาลัยของเขาเป็นอย่างไรบ้าง เรามีแง่มุมเหล่านี้มานำเสนอ เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้รู้จักกับชีวิต ความคิด และตัวตนของเขามากขึ้น

เขาปั่นจักรยานกลับมาจากอาคารเรียน รีบมาหาเราตามเวลานัด ช่วงบ่ายที่ไม่มีเรียน “ไม่ต้องห่วงพี่ ผมกินฟรีมาจากคณะสังวิทฯ แล้ว” นั่นเป็นคำตอบแรกที่ได้ยินจากเขา

ย้ายบ้านเป็นว่าเล่น และขอเงินแม่แค่หลักร้อย

“โอ้ยอย่าพูดเลยพี่ ผมนี่ย้ายบ้านบ่อยจะตาย หลักๆ ก็อยู่ในกรุงเทพฯ มีนบุรี ลาดกระบัง หนอกจอก ที่ย้ายบ่อยนี่ก็เพราะหนีเจ้าหนี้นั่นแหละ ที่บ้านมีภาระหนี้สินเยอะ ผมไม่ใช่คนรวยอะไร เพิ่งจะอยู่เป็นหลักแหล่งก็ตอนอยู่ ม.ปลาย ก่อนหน้านั้นย้ายเป็นว่าเล่น”

นิวเล่าให้ฟังว่า เขาโตมาในครอบครัวที่เรียกว่าเป็น ชนชั้นล่างระดับบน เมื่อก่อนพ่อกับแม่เคยทำงานรับจ้างในโรงงาน ทำได้สักระยะแม่ก็ออกมารับจ้างทั่วไป เพราะมีน้องที่ต้องดูแล ส่วนพ่อก็ออกมาทำงานขนส่งสินค้า นิวเป็นลูกชายคนโตและคนเดียว ในบรรดาพี่น้อง 4 คน และกลายเป็นผู้ชายคนเดียวในครอบครัวหลังจากปี 2554 เพราะพ่อเสียชีวิต เป็นช่วงที่เขาเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์พอดี

เขาบอกเราว่า ตั้งแต่มาเรียนมหาวิทยาลัย นานๆ ครั้งที่เขาจะขอเงินแม่ใช้สักครั้ง ขอครั้งหนึ่งก็แค่หลักร้อย ส่วนใหญ่ก็ต้องหางานทำเอง เป็นผู้ช่วยงานวิจัยของหน่วยงานราชการบ้าง แต่ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยได้งาน เพราะหลุดปากไปวิพากษ์วิจารณ์เขาไว้เยอะ

“ช่วงนี้ก็เลยต้องขอเงินทางบ้านใช้บ้าง ก็เป็นอย่างนี้แหละพี่ ที่บ้านผมก็ต้องช่วยกัน เวลาผมไม่มีจริงๆ ผมก็ต้องขอ ถ้าเวลาผมมีผมก็ให้เขา”

เมื่อถามถึงช่วงเด็กๆ ว่าเขามีชีวิตอย่างไร ทำไมถึงมาสนใจการเมืองได้ เขาเล่าว่า คงเป็นเพราะตอนนั้นเขาอยู่ในฐานะที่ต่ำของสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ช่วงเรียนชั้นประถม เขาเคยถูกเจ้าหนี้ของพ่อแม่มายืนดักรอหลังโรงเรียนเลิก เพื่อจะที่ดูว่ามีใครมารอรับเขากลับบ้านหรือไม่ หลังจากก็ต้องย้ายโรงเรียนเป็นว่าเล่น

แต่พอช่วงมัธยมเริ่มเรียนรู้ว่าจะหลบเจ้าหนี้อย่างไร เวลาโรงเรียนเลิกก็จะต้องเดินไปแอบมองก่อนว่ามีเจ้าหนี้อยู่หน้าโรงเรียนหรือไม่ ถ้ามีก็หลบอยู่ในโรงเรียน จะกลับอีกทีช่วงใกล้ค่ำ เป็นเวลานานมากที่เขาต้องทำแบบนี้ ก่อนที่จะมีนโยบายช่วยเหลือคนเป็นหนี้นอกระบบ

นอกจากนั้น เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ระหว่างนั่งคุยกันเขาหยิบหนังสือออกมาให้เราดูสองเล่ม เป็นหนังสือวิชาการ แล้วบอกว่า ใช้เงิน กยศ. ซื้อมานานแล้ว วันนี้ผู้เขียนมาเสวนาที่ธรรมศาสตร์พอดี ก็เลยเอาติดตัวมาขอลายเซ็น

ตอนเด็ก เขาเริ่มต้นชอบการอ่านหนังสือจากหนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์ หลังๆ มาก็เริ่มมาอ่านหนังสือที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ช่วงมัธยมปลายเริ่มอ่านหนังสือด้านรัฐศาสตร์มากขึ้น ชอบอ่านงานของรุสโซ วันไหนว่าง ก็จะนั่งรถเมล์ไปหอสมุดแห่งชาติ เพื่อไปนั่งอ่านหนังสือ

“มันก็เป็นอย่างนี้แหละพี่ชีวิตผม โตมาแบบนี้ มันเจอแต่เรื่องไม่เป็นธรรม ถูกเขากดถูกเขาทำอะไรมาเยอะ ที่บ้านก็ต้องมาดิ้นรน โดนอะไรแบบนี้ มันก็ทำให้ผมอยากมาเรียนนิติศาสตร์ เรียนกฎหมาย แต่ตอนนั้นที่จะสอบเข้านิติศาสตร์ ผมอ่านหนังสือไม่ทันมันต้องจำกฎหมายเยอะ แล้วมันต้องสอบภาษาอังกฤษด้วย ก็เลยเลือกสมัครสอบตรงรัฐศาสตร์ไปแทน เข้ามาเรียนช่วงแรกก็พยายามสอบย้ายคณะ แต่ก็ทำไม่ได้ เลยต้องเรียนรัฐศาสตร์เรื่อยมา แล้วก็เริ่มติดใจรัฐศาสตร์มากขึ้น”

หนังสือที่ชอบ และสังคมที่อยากเห็น

ในทางความคิดนักศึกษาที่เข้ามาเรียนสายสังคมศาสตร์ใหม่ๆ มักจะวางหมุดหลักอยู่กับอาจารย์ที่ตัวเองชอบ เราถามนิว ว่าเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอาจารย์คนไหนมากที่สุด เขาตอบว่าไม่เลย ไอดอลผมไม่ใช่อาจารย์ ไอดอลผมคือ นักปฏิวัติทั้งนั้น

“หนังสือสองเล่มแรกที่ผมอ่านอย่างจริงจัง เล่มแรกคือประวัติศาสตร์ 50 รัชกาลไทย กับสองนักปฏิวัติรอบโลก และผมชอบอ่านเล่มที่สองมากกว่า”

นิวบอกว่า ความใฝ่ฝันของเขาคือ การเป็นนักปฏิวัติสังคม แต่ด้วยตัวคนเดียวคงทำไม่ได้ สังคมที่เขาอยากเห็นคือ การเห็นคนเราเท่ากันทุกมิติ ทั้งการเมือง และฐานเศรษฐกิจ ไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในสังคม แต่ถึงที่สุดแล้วเขารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นยากไป สิ่งที่พอจะเป็นไปได้คือ การผลักให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ 

“คือตอนนี้ที่เป็นอยู่ คนจนก็จนไป คนรวยก็รวยไป แล้วสำหรับคนจนมันไม่ได้มีตาข่ายรองรับอะไรเลย อย่างตอนผมเรียนชั้นประถม จำได้ว่าห้องที่อยู่ข้างๆ เขามีหนังสือแบบเรียนครบ สมบูรณ์แบบ แต่ห้องผมนี่เรียนแบบไม่มีอะไรเลย มีแต่สมุดจดอย่างเดียว ผมเห็นความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่เด็ก รู้ว่ามันไม่ยุติธรรม สิ่งที่ควรขจัดออกไปจากสังคมที่เราก็คือ เรื่องนี้แหละ สังคมมันต้องมี Safety Net มีสวัสดิการรองรับอะไรบางอย่าง คิดว่าบ้านผมก็คงไม่ตกต่ำอะไรขนาดนี้นะ ถ้ามีการรองรับตั้งแต่แรก แล้วไม่ใช่แค่ครอบครัวผมคนเดียวที่ต้องเจอเรื่องอะไรแบบนี้”

สภาหน้าโดม พื้นที่ของการถกเถียง และข้อวิพากษ์เรื่องการสื่อสาร

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 มาได้ใหม่ๆ มีรุ่นพี่ในคณะมาชวนเพื่อนของนิว ไปลงเลือกตั้งสภานักศึกษา เขาเลยขอตามไปด้วย นั่นเป็นจุดเริ่มของเขาที่สภานักศึกษา ประมาณ 2 ปีครึ่ง ที่เขาอยู่ในสภา ก่อนจะลาออกมาสมัครนายกองค์การนักศึกษา แล้วออกแบบนโยบายโดยหยิบเอาประสบการณ์ของตัวเองมาใช้ เช่น “ความไม่มีจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ด้วยนโยบาย กองทุนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น” แต่ก็เป็นไปตามที่คาด เขาไม่ได้รับการเลือกตั้ง

นิวเล่าว่า หลังจากนั้นเขามีความคิดร่วมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งอยากจะตั้งกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมเสวนาที่ไม่ได้อยู่แต่ในห้องประชุม สร้างพื้นที่ให้นักศึกษา และคนทั่วไปได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยน ถกเถียงกัน พอดีไปเห็นคำว่า “สภาหน้าโดม” ในเว็บไซด์ของสำนักทะเบียน ซึ่งเล่าถึงประวัติศาสตร์ของสภาหน้าโดมว่าก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ เคยทำกิจกรรมกันอย่างไร แล้วการพูดคุยกันของคนกลุ่มเล็กๆ ก็ค่อยขยายตัวกลายเป็นถกเถียงแลกเปลี่ยนเป็นกลุ่มใหญ่ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมได้ 

“คือผมคิดว่า เราต้องสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาก่อน ต้องมีพื้นที่แห่งการถกเถียงให้ได้ ผมก็เลยเริ่มสภาหน้าโดมจัดตรงนั้นน่ะ (หน้าศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เรื่องโซตัส พี่ก็มาตอนยังเรียนอยู่ แล้วก็มาด่าผมว่าสำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์ ผมก็เออมาด่ากู ไม่ว่ากัน แต่ผมก็คิดว่ายังไงมันก็ต้องมีพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้คนได้ถกเถียงกัน”

เราคุยกันต่อถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดค่อนข้างคล้ายกันที่มีต่อนิวและสภาหน้าโดมคือ การมองว่าในช่วงแรกที่สภาหน้าโดมจัดงานเสวนายังไม่มีสามารถดึงคนที่มีความคิดที่แตกต่างกัน มานั่งถกเถียงร่วมกันได้ เท่ากับว่าเป็นการพูดคุยกับแต่เพียงคนที่คิดคล้ายกันเท่านั้น บรรยากาศของการถกเถียงยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ส่วนด้านการออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของนิวและเพื่อนหลายๆ คน ก็ถูกวิจารณ์ว่าบางครั้งสารที่ต้องการสื่อออกไปไม่อาจจะไปถึงผู้รับในวงกว้างได้

เขาโต้ตอบกรณีดังกล่าวว่า อย่างไรก็ตามพื้นที่ตรงนี้ก็ยังต้องมีอยู่ องค์ความรู้ทุกอย่างมันยังไม่สิ้นสุด เราจะรู้ได้อย่างว่าสิ่งที่เรารู้มันถูกต้องถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน เสวนาสภาหน้าโดมช่วงแรกๆ จะเห็นว่าไม่ได้มีการเชิญวิทยากรมา แต่เป็นการนั่งคุยกันเองในกลุ่มนักศึกษา แล้วมันพัฒนาไปเป็นอย่างไรต่อ มันมีช่องทางของมันเอง

“บางทีผมก็รำคาญนะ พวกแอคทิวิสต์สายจัดตั้งเนี่ย บันทึกลงไปด้วยนะ จะต้องมีแผน จะต้องมีเป้าหมาย จะต้องมีกลุ่มเป้าหมาย พูดตรงๆ ผมไม่ถนัดทำงานแบบนี้ เป้าหมายของผมชัดเจนคือ อย่างน้อยเราต้องสร้างพื้นที่ให้คนได้มาถกเถียงกัน โดยที่ผมไม่ต้องเอาอะไรไปยัดให้พวกคุณเลย คุณมีองค์ความรู้อยู่แล้วแค่มาแลกเปลี่ยนกันก็พอ การที่มีคนคิดเหมือนกันมานั่งคุยกันสำหรับผมไม่ใช่ปัญหา ปัญหาจริงคือ เรามีพื้นที่ที่จะให้คนมาถกเถียงกันได้น้อยมาก”

ส่วนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เขายังยืนหลักปักธงเชื่อว่า การแสดงออกของเขา และเพื่อนๆ ในด้านภาพลักษณ์ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือสังคมเองที่ไม่ยอมรับ ไม่มีความอดทน อดกลั้น รับฟังความแตกต่างได้มากพอ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมไทยยังยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิมๆ มองไม่เห็นพื้นที่ของการถกเถียงแลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดสังคมที่ดีกว่าเดิมสำหรับทุกคน

ทำไมถึงชอบกินฟรี มีตังค์ค่ารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอกได้อย่างไร และจะเอายังไงต่อกับชีวิต

ดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกไปสักนิด สำหรับคนที่ไม่ได้รู้จักนิวเป็นการส่วนตัว น้อยคนที่จะรู้ว่า เขาเป็นนักกินฟรีในตำนาน และนั่นอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดอะไรเลย ถ้าเรารู้จักเรื่องราวของเขาจริงๆ วันนั้นเราถามเขาว่าวันหนึ่งคุณเสียเงินกินข้าวเองวันละเท่าไหร่ เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

“มันก็แล้วแต่วันน่ะพี่ บางทีวันหนึ่งแทบไม่ต้องเสียงตังค์ซื้อข้าวเลย เพราะมีคนที่รู้จักกันเขาช่วยเหลือ บางที่เขาก็บอกว่าให้เป็นทุนการศึกษา อย่างในมหาลัยอย่างร้านอาหารที่รู้จักกันเขาก็ช่วยเหลือเรา บางคนบอกว่ามันย้อนแย้ง ก็ทำยังไงได้คนเราก็ต้องเอาตัวรอด ถามว่าผมเหนื่อยไหม ที่เอาตัวเองยังจะไม่รอด แต่ออกมาทำกิจกรรมแบบนี้อีก ผมคิดว่าก็เพราะชีวิตมันเป็นอย่างนี้ไงมันถึงต้องดิ้นรนอะไรบางอย่าง แต่ประเด็นคือ ผมไม่ได้อยากรอดอยู่แค่คนเดียว แต่ผมต้องการให้คนทั้งสังคมมันรอดไปด้วยกัน”

เมื่อถามว่าเอาเงินจากไหนไปทำกิจกรรมข้างนอกมหาวิทยาลัย เขาบอก "ผมนั่งรถไฟฟรีหลังมอ แล้วไปต่อรถเมล์ฟรีที่หัวลำโพง นานๆทีจะได้นั่งรถตู้ มันแพง แล้วผมไม่ชอบด้วย แต่ตอนนี้รถเมล์ฟรีเขาจะยกเลิกแล้วผมก็แย่เหมือนทีนี้"

ระหว่างเดินกลับไปที่จอดจักรยาน เราถามนิวว่า ใกล้เรียนจบแล้ว จะเอายังไงต่อกับชีวิต เขาบอกด้วยน้ำเสียงปกติ

“ยังไม่รู้เหมือนกัน ก็ต้องรอดูกันต่อไป หนี้ค่าหอพักผมก็ยังไม่มีจ่ายมหาลัยเลยพี่ จะให้ผมจบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่ถ้าทุกอย่างมันเลือกได้ผมก็อยากออกมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือไม่ก็อยากไปเรียนต่อฝรั่งเศส ผมชอบประเทศนี้มาก แต่ที่รู้และเลือกไม่ได้แน่ๆ คือตอนนี้ผมเป็นผู้ต้องหา 2 คดี และกำลังจะถูกเรียกไปสอบปากคำ”

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net