Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ดีเบตเรื่องไม้มะหาดที่ดูเผินๆว่าเป็นวิวาทะเผ็ดร้อนระหว่างคุณค่าของการอนุรักษ์กับคุณค่าของงานศิลปะ เอาเข้าจริง น่าจะสะท้อนความขัดกันของสิ่งที่มาจากฐานคิดอันเดียวกันเสียมากกว่า กล่าวคือ สุนทรียะสมัยใหม่ของชนชั้นกลางที่ต่างก็ถูกประกอบสร้างขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของการสร้างอารยะใหักับธรรมชาติ

สุนทรียะประเภทแรก ทำงานบนศีลธรรมที่ยึดโยงอยู่กับอำนาจของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดีเบตเรื่องไม้มะหาด ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปริมณฑลของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) ในไทยนั้น แท้ที่จริงแล้ว กลับไม่เคยมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่นเดียวกับสิทธิเชิงปัจเจกประเภทอื่น สิทธิอำนาจของปัจเจกชนตามกฎหมายกลับมักถูกแซงก์ชั่นและควบคุมกำกับโดยระบบศีลธรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าศีลธรรมนั้นจะอ้างอิงกับจารีตเก่าหรือจารีตใหม่ก็ตามที ศีลธรรมที่ดูเหมือนจะมีอำนาจมากในสังคมไทยในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นศีลธรรมที่อยากจะขอขนานนามว่า ศีลธรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่ (Mega-nature conservationist moral)

ศีลธรรมประเภทนี้ มีอายุอานามไม่นานและเป็นสมบัติของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาโดยเฉพาะ และได้รับอิทธิพลโดยตรงจากกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติในโลกตะวันตก ในสังคมไทย ศีลธรรมประเภทนี้มุ่งเก็บรักษาธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ตระการตาเพื่อประโยชน์ทางสุนทรียะและความรื่นรมย์ ไม้ขนาดใหญ่ ป่าผืนใหญ่ สัตว์ขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะ “Majestic” จึงมักถูกให้คุณค่ามากกว่าไม้ขนาดเล็ก ป่าขนาดเล็ก และสัตว์ขนาดเล็ก แม้ว่าธรรมชาติประเภทหลัง จะมิได้ด้อยคุณค่าในทางนิเวศเลยก็ตามที ชะตากรรมของป่าชายเลนในไทย ที่ไม่สามารถจะ “Majestic” กับใครเขาได้ในชาตินี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของศีลธรรมการอนุรักษณ์แบบคัดสรรที่ทำให้ธรรมชาติที่ไม่เข้าคุณสมบัติถูกทิ้งและไม่ค่อยจะมีใครเหลียวแล

ในยุคสมัยแห่งความขัดแย้งด้านการอนุรักษณ์ธรรมชาติเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา สุนทรียะอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่แบบชนชั้นกลางมักสวนทางกับคุณค่าประเภทอื่นของชาวบ้าน แต่กลับมีสิทธิและอำนาจในการชี้นำและวางมาตรฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ชนชั้นอื่นจะไม่ได้มีแนวคิดเรื่องสุนทรียะแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เรามักพบว่า สุนทรียะแบบชาวบ้านนั้นมิได้แข็งทื่อ ตายตัว หรือมาจากฐานคิดของการอนุรักษ์เพื่อ “เก็บไว้ชื่นชม” หรือขึ้นกับขนาดและความอลังการของธรรมชาติ เพราะชุมชนที่ทำมาหากินกับธรรมชาติ มิได้มีเงินเดือนประจำไว้จับจ่ายใช้สอย ย่อมมิอาจที่จะ afford ที่จะมี luxury ประเภทที่ชนชั้นกลางมีได้ ป่า ต้นไม้ และธรรมชาติประเภทต่างๆจึงมีไว้เพื่อยังประโยชน์ ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อมนุษย์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติก็ตามที ไม้ใหญ่ที่มีอายุ ย่อมเหมาะแก่การสร้างบ้านเรือน ไม้ที่ขึ้นตามต้นน้ำลำธารย่อมพึงเก็บไว้เพื่อรักษาแหล่งน้ำ หากต้องรอให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตาย หรือเป็นโรคตาย และหมดคุณค่าทางสุนทรียะเสียก่อน จึงค่อยใช้ประโยชน์ ชาวบ้านคงต้องอพยพไปอยู่ในถ้ำกันกระมัง

ควรต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าชาวบ้านเอง ก็ใช้ศีลธรรมในการควบคุมกำกับพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าที่เห็นในชนชั้นกลาง แต่สิทธิและอำนาจในการใช้ศีลธรรมดังกล่าวมีฐานสำคัญมาจาก การที่สมาชิกในสังคมมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง ผูกพันกับธรรมชาติร่วมกัน มิได้เป็น free-floating moral ที่สถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นศีลธรรมมาตรฐานที่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกคน ทุกกาละและเทศะ แม้แต่ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ปัจเจกบุคคล

ในขณะที่สุนทรียะประเภทแรก ยึดโยงอยู่กับความ Majestic ของธรรมชาติที่มีไว้เก็บเพื่อชื่นชม และมักกีดกันคุณค่าประเภทอื่นๆของชาวบ้านออกไป สุนทรียะในคู่ดีเบต ก็มีหลักคิดไม่ต่างกันนัก เพราะอ้างอิงตนเองกับคุณค่าของความ Sublime ของศิลปะ อันเป็นความงามอันสูงส่งที่ไม่ได้มีไว้สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ดังที่เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ได้อรรถาธิบายไว้อย่างชัดแจ้ง “ศิลปะมันต้องเรียนรู้และเข้าใจ อย่าไปบอกว่ามันไม่สวย มันเป็นความสวยที่ประชาชนคนไทยมองไม่เห็นความสวยต่างหาก ลองเอาศิลปิน หรือผู้ที่ชื่นชมงานศิลปะมาทั้งโลก เขาจะบอกว่างานศิลปะชิ้นนี้มีความงามและมีความคิด ลองคิดดูว่าถ้าศิลปะชิ้นนี้จัดตั้งเสร็จแล้ว และเราลองไปดูกัน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า หรือพระอาทิตย์ตก แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบ การเคลื่อนไหวของเงาจะทำให้เกิดความงดงาม” และ “งานชิ้นนี้เขาไม่ได้สร้างให้คนไทยดู แต่เขาสร้างเพื่อให้ฝรั่งที่เข้าใจเป็นผู้ดู ส่วนคนไทยได้ดูบ่อยๆ เข้า ก็พัฒนาเอง ซึ่งรสนิยมคนไทยห่างขั้นกับรสนิยมฝรั่งถึง 50 ขั้น หรือล้าหลังกว่าเขา ถึง 30-50 ปี เพราะคนไทยเราเข้าใจ เพียงแค่วาดดอกบัวสวยๆ แกะสลักพระสวยๆ วาดคนสวยๆ แต่จะไม่เข้าใจศิลปะแบบนามธรรม ซึ่งเป็นศิลปะที่ถือได้ว่า เป็นหน้าเป็นตาของประเทศชาติ และเป็นศิลปะที่ทำให้ฝรั่งมองประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว”

หากการรู้จักเก็บธรรมชาติอัน Majestic ไว้ตามศีลธรรมของนักอนุรักษ์ได้เป็นบันไดช่วยให้สังคมไทยสามารถไต่ขึ้นยืนอย่างทัดเทียมกับโลกที่เจริญแล้วได้อย่างไม่อายใคร เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าคนไทยนั้น รู้จักคุณค่าของสุนทรียะที่ไปพ้นอรรถประโยชน์พื้นๆของการกินการใช้ต้นไม้ป่าไม้แบบชาวบ้าน/ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ธรรมชาติแบบ Sublime ที่ถูกประกอบสร้างโดยศิลปะนามธรรมก็กลายเป็นสุนทรียะอีกขั้นหนึ่งที่ช่วยถีบให้คนไทยมีที่ยืนที่สูงขึ้นไปอีกในโลกทันสมัยของอารยะธรรมตะวันตก

ในแง่นี้แล้ว ดีเบตที่ว่าจึงน่าจะเป็นดีเบตลวงเสียมากกว่า เพราะตรรกะว่าด้วยสุนทรียะที่รองรับมโนทัศน์ว่าด้วยธรรมชาติทั้งสองประเภท ต่างก็มาจากหลักคิดเดียวกันที่ต่างก็หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เป็นหลักคิดของชนชั้นกลางว่าด้วยการประกอบสร้างธรรมชาติให้อารยะ พ้นไปจาก "ความป่าความเถื่อน"แบบชาวบ้านเสีย

ปัญหาที่เหลืออยู่เพียงประการเดียว เท่าที่เห็น น่าจะได้แก่ การที่ไม้มะหาดเฒ่าเจ้ากรรม ดันมีเหลือเพียงต้นเดียว จึงย่อมไม่สามารถที่จะทอดตัวลงรับใช้สุนทรียะสองประเภทไปพร้อมๆกันได้...และในท่ามกลางวิวาทะอันอึงอลระหว่างสุนทรียะไม้มะหาดสองประเภท ชาวบ้านเจ้าของไม้มะหาดจึงได้แต่เกาะขอบสนามสุนทรียะ เฝ้ามองดีเบตของชนชั้นกลางที่ตนไม่อาจมีส่วนร่วมด้วยได้ตาปริบๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net