Skip to main content
sharethis

การนำเสนอหัวข้อ "Extremist ประสบการณ์สุดขั้วจากกรณีชาร์ลี เอบโด" โดยโสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์

โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายใน "เรียนเล่นเล่น" คาบที่ 6 หัวข้อ Extremist ประสบการณ์สุดขั้วจากกรณีชาร์ลี เอบโด เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา

โสรัจจ์ กล่าวนำว่า เหตุการณ์ยิงนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการหนังสือ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังของฝรั่งเศสรวมถึงคนที่มาติดต่อเสียชีวิตไป 12 ราย แรงจูงใจหลักเป็นเรื่องศาสนา คนยิงต้องการแก้แค้นให้ท่านนบีมูฮำหมัดที่ถูกเสียดสีจากการวาดภาพโดยไม่ให้ความเคารพ แต่มีเรื่องที่ลึกกว่านั้นคือ เสรีภาพในการแสดงออกกับขอบเขตในการแสดงเสรีภาพ ซึ่งโยงกับประวัติความเป็นมาของฝรั่งเศสเรื่องการต่อต้านแนวคิดที่มาจากศาสนา รัฐที่ไม่อิงอาศัยศาสนา (secular state) กับรัฐที่อาศัยศาสนาเป็นหัวใจในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเหลื่อมล้ำ โดยคนที่มายิงเป็นชาวมุสลิมในฝรั่งเศสที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง

โสรัจจ์ กล่าวต่อว่า การยิงครั้งนี้จึงเป็นการเปิดจุกก๊อก ทำให้สิ่งที่อัดอยู่ด้วยกันพุ่งพรวดออกมา มีบทความจำนวนมากจากนักวิชาการ นักคิดนักเขียน ที่พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์นี้ ทั้งในมุมการต่อสู้ระหว่างลัทธิศักดินาโบราณที่เชื่อว่าศาสนาคือความจริงแท้ กับโลกสมัยใหม่ที่เชื่อในเหตุผลและความคิดส่วนตัวของแต่ละคน และความขัดแย้งใหญ่อีกเรื่องระหว่างโลกมุสลิมกับโลกยุโรปที่นับถือคริสต์ ซึ่งขัดแย้งกันทั้งศาสนาและวัฒนธรรม

โสรัจจ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับโลกตะวันตกไม่ใช่การต่อสู้แย่งชิงพื้นที่คนนับถือศาสนาให้เชื่อพระเจ้าของตัวเองแบบโบราณอีกแล้ว แต่ปัจจุบัน ผนวกเข้ากับความขัดแย้ง โลกาภิวัตน์ การต่อสู้เพื่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจแบบรากหญ้าด้วย โดยชี้ว่า เนื่องจากยุโรปมีอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เปิดให้มุสลิมใกล้เคียงอย่าง ตุรกี อียิปต์ ซีเรีย อพยพย้ายถิ่นไป ทำให้คนเหล่านั้นต้องยอมให้ตัวเองกลืนกับสังคม

โสรัจจ์ ชี้ว่า ศาสนาอิสลามใหญ่มากและมีความหลากหลาย เห็นด้วยว่าเราไม่ควรบังคับทั้งศาสนาอิสลามให้มาคิดแบบเสรีนิยมกันหมด แต่ภายในความหลากหลายของโลกอิสลาม ชาวมุสลิมคงต้องคุยกันเองว่าจะทำอย่างไรให้ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไม่มีปัญหาแบบที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงบริโภคนิยม แต่เป็นสมัยใหม่ที่ตัวเองคิดและกำหนดเอง เพียงแต่คุณค่าต่างๆ เสรีภาพ ความเสมอภาค ที่เป็นพื้นฐาน จะมองเรื่องพวกนี้อย่างไร

ต่อกรณีเสรีภาพในไทย โสรัจจ์ กล่าวว่า เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย  เส้นแบ่งของเสรีภาพในการแสดงออกควรอยู่ที่จุดมุ่งหมายของการแสดงออกว่าเป็นไปเพื่อสร้างปัญญา หรือสร้างความรุนแรง เป็นการใช้เหตุผลหรืออารมณ์ที่ไร้เหตุผล

เขาชี้ว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ในระบอบเผด็จการจะมีแต่ความคิดของผู้มีอำนาจเท่านั้นที่ได้รับการเผยแพร่ ซึ่งขัดกับความเชื่อพื้นฐานว่า ทุกคนมีส่วนในการปกครองประเทศเท่ากัน อย่างไรก็ตาม สังคมประชาธิปไตยไม่ควรยอมให้มีการใช้เสรีภาพการพูดเพื่อทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้น ประชาธิปไตยจะถูกแซะจนที่สุดจะไม่เหลือใครที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอีกต่อไป นอกจากผู้มีอำนาจ และเป็นผลร้ายต่อทุกคน

 

 

หมายเหตุ การเสวนานี้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาบันทึกวิดีโอการเสวนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net