Skip to main content
sharethis

เปิดปาฐกถาประจำปีมูลนิธิโกมลคีมทอง สุวิทย์ เลขาธิการ กป.พอช อีสาน ชี้สิ่งที่ขาดหายไปในการพัฒนาทุกสมัยคือ “หัวคนจน”

หมายเหตุ : มูลนิธิโกมลคีมทองจัดงานปาฐกถาประจำปี ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2558 โดยในปีนี้ได้เชิญ สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ มาปาถกฐาในหัวข้อ เมื่อคนจนถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนา ทั้งนี้ได้มีการให้รางวัลบุคลเกียรติยศ ของมูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี2558 ประกอบด้วย วัชระ เกตุชู ด้านการศึกษา กลุ่มละครมะขามปอม ด้านศิลปวัฒนธรรม และเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ด้านสิ่งแวดล้อม ประชาไทถอดความปาถกฐาของสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ มานำเสนอ

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ : เมื่อคนจนถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนา

การมาฟังปาฐกถาโกมลคีมทองสิ่งสำคัญก็คือว่า หนึ่งผมได้พบเพื่อนที่คิดเหมือนกัน สองคือได้มาหาซื้อหนังสือซึ่งหนังสือแนวที่โกมลคีมทองพิมพ์ไม่มีขายทั่วๆไป ณ วันนี้ถ้าเจอหนังสือของสำนักพิมพ์โกมลคีมทองก็จะซื้ออย่างไม่ลังเล เพราะผมเติบโตมาจากการอ่านของมูลนิธิโกมลคีมทอง จริงๆแล้วอย่างที่คุณสนั่นพูด คือผมเป็นเด็กช่างกล ถึงลูกถึงคน เพราะฉะนั้นเวลาผมทำงานก็จะถึงลูกถึงคน บู๊ แต่ไม่ใช่แบบล้างผลาญ

ผมเห็นอะไรในอีสาน

สิ่งสำคัญอย่างหัวข้อวันนี้ เมื่อคนจนถูกบังคับให้พัฒนา สิ่งสำคัญก็คือว่าเมื่อเราถูกบังคับ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ การต่อต้าน เพราะเราไม่ยอม สิ่งสำคัญก็คือว่าการบังคับนั้น สิ่งที่เรามองก็คือว่าถูกบังคับโดยนโยบายของรัฐ ก่อนที่ผมจะไปตรงนั้นผมจะพูดถึงอีสานก่อน ในฐานะที่ผมเป็นคนสิงห์บุรี เข้าไปทำงานในชนบททางอีสาน และผมลงไปฝังตัวระดับหมู่บ้าน ผมเห็นอะไร อีสานนะครับ ถ้าหลายคนเป็นคนกรุงเทพหรือคนภาคกลางแบบผม ผมจะมองภาพแรกก็คือ หนึ่งเป็นภาคที่แห้งแล้ง มีความยากจน เวลาเราไปออกค่ายหน้าแล้งเราจะเห็นใบไม้ร่วงเต็มไปหมด แต่สิ่งสำคัญก็คือว่า ที่ที่ผมลงไปหมู่บ้าน โดยเฉพาะในจังหวัดชัยภูมิ ที่ลงไปอยู่ อ.ภูเขียว อีสานไม่ใช่อีสานก็คือว่าเป็นภาคที่มีความแห้งแล้งจริงอยู่ แต่มันเป็นฤดูกาล เราเรียกว่านิเวศวัฒนธรรม คือนิเวศของอีสานนั้นเป็นดิน คือเป็นดินทราย ดินร่วนปนทราย ฤดูแล้งคือแล้ง ฤดูฝนก็มีฝนและใบไม้เขียว เพราะฉะนั้นชุมชนหรือคนอีสานนั้นจะปรับตัวเข้ากับนิเวศอีสาน เพราะฉะนั้นคนอีสานจะทำนา ไม่ใช้แปลงนาขนาดใหญ่เหมือนคนภาคกลาง จะเป็นแปลงนาขนาดเล็กๆที่กักเก็บน้ำ แล้วจะมีการผันข้าวที่มีความแตกต่างในฤดูของความสูงต่ำของพื้นที่ เพราะฉะนั้นความแห้งแล้งของอีสานตรงนี้เป็นฤดู สิ่งที่ผมมองก็คือว่าอีสานนั้นมันถูกทำให้แห้งแล้งโดยนักการเมือง แน่นอนเวลาเราพูดถึงอีสาน เราจะมักได้ยินคำว่าแห้งแล้งและจะต้องมีโครงการพัฒนาที่เข้าไปในอีสาน เช่น โครงการโขงชีมูล โครงการเขื่อนขนาดใหญ่จะเข้าไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนในอีสาน แต่สิ่งสำคัญในตรงนี้ สิ่งที่เรามองอีสานที่มากกว่านั้น อีสานมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะอีสานนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ทางการเมืองทางการเมืองบอกว่ายุคสงครามเย็นนั้นเป็นจุดรอยต่อระหว่างประเทศสังคมนิยม กับประเทศไทย คือฝั่งลาว เขมร เวียดนาม เช่นเดียวกับอีสาน เพราะฉะนั้นอีสานเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ เป็นจุดที่อเมริกาโฟกัสไว้ จะต้องพูดถึงการพัฒนาตรงนั้น เพราะฉะนั้นแนวคิดต่างๆต้องลงไปที่นั่นเต็มไปหมด อันนี้เป็นยุคแรก เราจะเห็นถนนมิตรภาพเข้าไป ที่เวียดนามเราจะเห็นการสร้างเขื่อนต่างๆเต็มไปหมด ในอีสานยุคนั้น ยุคแรกๆ ยุค 2500

ยุคที่สอง เราจะเห็นอันหนึ่งก็คือว่าอีสานถูกเปลี่ยนให้เป็นยุคที่สนามรบเป็นสนามการค้า อีสานถูกเฝ้าดูจากกลุ่มทุนที่เข้าไปลงทุนในภาคอีสานมากมายหลายกลุ่ม และคนอีสานก็คือเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน อีสานที่เป็นแรงงานเข้ามาทำงานแถวระยอง ชลบุรี มาบตราพุด หรือไปซาอุ คูเวต อิรัก ไต้หวัน หรือปัจจุบันเป็นเกาหลี สิงคโป ก็แล้วแต่ คนอีสานก็จะโผล่ออกไปข้างนอกเต็มไปหมด นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นในเชิงโครงสร้างทางการเมือง

ปัจจุบันอีสานถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อันหนึ่งของอาเซียน อยู่ใจกลางของอาเซียนที่เป็นผืนแผ่นดิน ไม่ใช่เกาะ เพราะฉะนั้นเป็นพื้นเชื่อมรอยต่อไปทั้งหมด จะเห็นว่าอีสาน ณ วันนี้ ก็จะถูกมองอีกยุคนึงให้เป็นพื้นที่รอยต่อของอาเซียน นี่คือความเปลี่ยนแปลงหลัก

อันที่สอง ความเปลี่ยนแปลงของคนอีสานก็คือ เปลี่ยนแปลงจากภายในของคนอีสานเอง  แน่นอนเราจะเห็น ปกติของคนก็คือว่าอยากมีและอยากได้อย่างคนอื่นเขาเหมือนกัน ดูทีวี ดูข่าว ดูหนัง ดูละคร ก็อยากมี ต้องทำให้ตัวเองมีแหล่งข่าวภายในเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงจากภายใน

การพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งสำคัญก็คือว่า ในการพัฒนานี้เวลาลงไประดับพื้นที่ ถูกกำหนดมีพรมไว้หมดแล้ว สิ่งที่เราค้นพบในอีสานนอกจากโครงการโขงชีมูล โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่กำลังจะเจาะในอีสานสิบกว่าจังหวัด สองล้านกว่าไร่ โครงการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลซึ่งปัจจุบันกำลังทำในภาคอีสาน มุกดาหาร หนองคาย กำลังจะประกาศเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีกสามสี่จังหวัด อุดร ขอนแก่น โคราช นี่คือวิธีคิดแบบเดิม ซึ่งในยุคปัจจุบันโดยคณะปัจจุบันที่เรียกว่า คสช. ที่มีนโยบายจะเปลี่ยนอีสานอีกยุคหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

สำนึกท้องถิ่นในอีสานที่(กำลัง)เปลี่ยนแปลง

คนอีสาน แน่นอนก็คือว่าถ้าใครดูข่าวหรือติดตามข้อมูลข่าวสาร การเปลี่ยนแปลงของอีสานอีกอันหนึ่งที่เห็นก็คือ เริ่มต้น 2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า คนในภาคอีสานนั้นบอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าไปอยู่ในโครงสร้างของระดับท้องถิ่นมากมาย คนอีสานถ้ามองในช่วงอายุจะเห็นอย่างหนึ่งก็คือยุคปัจจุบันที่อายุประมาณ 60-70 ปี ขึ้นไป เป็นยุคที่เคยไปซาอุ ไต้หวัน กันทั้งนั้น และกลับมาอยู่บ้าน คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีที่ดิน ปัจจุบันคนที่กลับมาอยู่บ้านก็คือคนรุ่นใหม่ที่อายุประมาณ 25-35 ปี ที่เข้ามาอยู่บ้าน คนกลุ่มที่กลับมาอยู่บ้านจะนำนวัตกรรมใหม่หรือความคิดใหม่ๆ ความเป็นเมืองเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน คนกลุ่มนี้กลับมาอยู่ในหมูบ้านแล้วก็สร้างฐานะ ผมทำงานในพื้นที่จะเห็นคนหนุ่มสาวเข้าไปอยู่ในท้องถิ่นเต็มไปหมด คนอีสานกลุ่มใหม่กลุ่มนี้เขาจะมีการต่อรองกับข้าราชการพอสมควร แต่คนกลุ่มนี้มีความเปลี่ยนอย่างนึงคือ ไม่ค่อยรู้จักพื้นที่ของตัวเอง ตรงนี้สำนึกความเป็นท้องถิ่นจะลดลง

ปัจจุบันในอีสานเห็นอย่างหนึ่งคือ แรงงานภาคเกษตรลดลงอย่างมาก ใครทำงานเกษตรจะรู้ว่าไม่ใช่แค่แรงงานเรื่องเดียว มีทั้งเรื่องพันธุ์พืช ค่าเช่านา ยาฆ่าแมลง แรงงาน ค่าจ้างไถนา แม้แต่ปัจจุบันเริ่มมีเห็นในแรงงานทุนที่ขาดก็คือแบกข้าวจากเล้าหรือยุ้ง ไปแช่ในโอ่งเพื่อจะนำไปสู่การหว่านในนา ก็ยังมีการจ้าง 40-50 บาท ด้วยซ้ำไป แรงงานในครอบครัวเริ่มหายไป นี่คืออีสานที่เริ่มเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญตรงนี้ก็คือว่า โดยเฉพาะรัศมีของเมืองใหญ่ เช่น อุดร ขอนแก่น หรือหนองคาย รัศมี 20 กิโล เราจะเห็นว่าการไหลเวียนของแรงงานช่วงเช้า-เย็น จะเยอะมาก จะเริ่มมีแรงงานพม่า-ลาวเข้าไปเต็มไปหมด ก็คือเริ่มเห็นการไหลเวียนของแรงงาน

ประเด็นสำคัญก็คือว่าตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงของอีสาน การเปลี่ยนแปลงโดยเศรษฐกิจที่เรียกว่าพืชเศรษฐกิจ แผนพัฒนาปัจจุบันจะมีโรงงานน้ำตาลอีสานประมาณ 12 แห่ง รัศมี 100 กิโลเมตร ตอนนี้สร้างไปแล้ว 3 แห่ง เหลืออีก 9 แห่ง และจะต้องเพิ่มพื้นที่การขยายอ้อยเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้พื้นที่อ้อยไปรุกในพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านตอนนี้

อีกประเด็นหนึ่งสิ่งที่เป็นการขยายพืชเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นใหญ่ก็คือเรื่องยางพารา โดยเฉพาะอีสานตอนบนรอบแม่น้ำโขง การปลูกยางพาราตอนนี้เยอะ พืชทำให้ไร่ นาข้าว หายไปในอีสาน การปลูกพืชเศรษฐกิจเช่นอ้อย หรือยางพารา ราคายางส่งผลต่อเกษตรกรพอสมควร

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าเรื่องของอีสานที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ ปัจจุบันการทำนาของคนอีสานเริ่มเปลี่ยนก็คือจ้างเกือบทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ตอนนี้ปัญหาใหญ่ของที่ดินก็คือว่า ที่ดินมักจะหลุดมือคือขาย รัศมีจากถนนมิตรภาพซ้าย-ขวา 5 กิโลเมตร จะผ่านที่ดินพอสมควร แปลงหนึ่งไร่ 70,000 บาท ต่อไร่ ณ วันนี้ มีการประกาศขายเต็มไปหมด เพราะว่าปัจจัยคือการกระตุ้นทางราคา ทางบ้านประกาศขายที่ จากที่ดินแปลงใหญ่เริ่มซอยเล็กลงๆ ทำให้ชาวบ้านวันนี้ การทำนาจะลดลง ด้วยเรื่องราคาและการขายที่

นโยบายของรัฐ ความเจริญ โฆษณาชวนเชื่อ และการบีบบังคับ

สิ่งสำคัญที่วิเคราะห์ในอีสานนอกจากการเปลี่ยนแปลงชุมชนทางกายภาพและพฤติกรรม สิ่งสำคัญก็คือนโยบายของรัฐในยุคปัจจุบันนี้ จะเห็นโครงการต่างๆเริ่มพุ่งเต็มไปหมด สิ่งที่เป็นเรื่องซ้ำๆซากๆก็คือว่า อันที่หนึ่งเรียกว่าเครื่องมือการบังคับของรัฐ สิ่งที่เราพูดมีอะไรบ้าง อันที่หนึ่งก็คือการเปลี่ยนความคิดในเรื่องของความเจริญยังเหมือนเดิม เช่น ถ้ามีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นจะสร้างความเจริญในหมู่บ้าน สร้างการพัฒนา การจ้างงาน อันนี้ยังเหมือนเดิมที่ลงไปในอีสาน ณ วันนี้ยังเหมือนเดิม ล่าสุดมีการเจาะสำรวจปิโตเลียมที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ก็ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มนึงยกป้ายขึ้นมาสนับสนุนให้ไปเจาะ มีอีกกลุ่มนึงก็ไปต่อต้านไม่เห็นด้วย เราจะเห็นว่ามีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน ไปกันชาวบ้านเพื่อจะเจาะให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ ยังฝังอยู่ตรงนี้เหมือนเดิม

อีกประเด็นหนึ่งของการที่รัฐใช้เครื่องมือในการบังคับคนอีสาน นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อ ความเจริญ  การพัฒนาผ่านระบบการศึกษา โครงการทั้งหมดที่แก้ปัญหาความยากจน

อีกอันหนึ่งที่เราเห็นคือการใช้กระบวนการทางกฎหมายยึดที่ดิน การใช้กระบวนการยุติธรรมในการจัดการกับชาวบ้าน การใช้กระบวนการแจ้งความจับกุมชาวบ้าน อย่างเช่นเหมืองทอง จ.เลย มีนักวิชาการหลายคนที่เข้าไปสมทบโครงการทำการศึกษาการวิจัยเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น มีการจ้างสื่อมวลชนในการเขียนเพื่อสนับสนุนโครงการในการซื้อตัวผู้นำในพื้นที่ นี่คือสิ่งที่เราพบเต็มไปหมด

อีกอันหนึ่งก็คือว่าการจับม็อบ อันนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นและเป็นประเด็นที่คลาสสิคที่รัฐใช้ตลอด สิ่งที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่รัฐแกนจัดการกับชาวบ้านก็คือการสังหารแกนนำ สังหารนำมีหลายวิธี อย่างพวกเราเองเคยอยู่อุดรก็มีค่าหัว กว่าจะพ้นการไม่มีค่าหัวได้ก็ใช้เวลาพอสมควร ทั้งหยุดเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้หยุดสู้นะ ก็มีหลายวิธีการ

เครื่องมือแบบนี้ยังใช้ได้ ณ วันนี้ และโดยเฉพาะวันนี้ที่มีการประกาศกฎอัยการศึก สิ่งสำคัญก็คือทหารได้ลงไปในพื้นที่หลายจุด พื้นที่โคกยาว จ.ชัยภูมิ มีการไปติดหมาย 15 วัน ให้ชาวบ้านออก โดยใช้การประกาศกฎอัยการศึก เราเห็นในพื้นที่โนนดินแดง จ.บุรีรัม ไปรื้อบ้านชาวบ้านออก ที่อุดรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่แต่มีทหารเข้าไปล้อมเต็มไปหมด ถ้าใครติดตามข่าวใน จ.พิจิตร เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองทอง หลังจากที่มีการตรวจว่าชาวบ้านพบมีสารมลพิษปนเปื้อนในเลือดชาวบ้าน และก็มีการรับฟังความเห็น

มีทหารพูดว่าที่โรงเรียนเขาทราย ขออนุญาตให้คนที่อยู่ในห้องประชุมนั่งเก้าอี้ ห้ามยืน จะอนุญาตให้เข้าประชุมเฉพาะส่วนข้าราชการ สิ่งสำคัญ ณ วันนี้ เรากำลังเจอกระบวนการที่เรียกว่ามีส่วนร่วมหรือรับฟังความคิดเห็นแบบนี้เกือบทุกพื้นที่ ต้องนั่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการสกรีนคนเข้าคนออก ในอนาคตถ้าเราทนไม่ไหวกับการกดดันมันจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งสำคัญก็คือว่าการมีส่วนร่วมของโครงการต่างๆที่เราพบในพื้นที่ก็คือ การมีส่วนร่วมบริหารรัฐปักธงไว้แล้วว่าต้องมีโครงการ เพราะฉะนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมพิธีกรรมที่เขาจัด สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมไม่ได้สร้างปัญญาให้คนตัดสินใจ การมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการหนึ่งที่ไม่ได้บอกว่าชาวบ้านไม่เอาโครงการและโครงการนั้นจะยกเลิก แล้วถ้าเกิดว่าในอนาคตจะเป็นยังไง ถ้าชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องบ้านจริงๆ

อีสานถูกบีบภายใต้อำนาจทุนเผด็จการ

สิ่งสำคัญอีกตัวหนึ่ง ตอนนี้มีการสำรวจเหมืองแร่โปแตทสิบกว่าจังหวัดที่จะขออนุญาต มีการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ อ.ห้วยเม็ก จะมีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล เป็นท่อเต็มไปหมดทั้งอีสาน ในอีสานกำลังจะพรุนไปหมด ประเด็นก็คือคนอีสานจะทำยังไง หนึ่งการปรับตัวของคนอีสานต่อสถานการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปตอนนี้เป็นยังไงบ้าง สองคือคนทำงานที่เป็นนักพัฒนากิจกรรมทางสังคมเป็นอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าเราคงไปหวังกับกระบวนการที่อ้างว่ากระบวนการปฏิรูปหรือคืนความสุขวันนี้ไม่ได้ เราต้องตั้งคำถามว่าตอนนี้เราถูกกดดันขนาดนี้และเราไม่มีเวทีหรือพื้นที่ของกระบวนการประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้อง เราถูกบีบให้แคบลงไปอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรม ไปอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลให้ยื่นหนังสือ ผมเคยทดลองเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ว่าจะแก้ปัญหาได้ไหมกรณีเหมืองแร่ ก็ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบ พอยื่นเสร็จเขาก็ยื่นหนังสือไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมก็ตอบมาที่ทำเนียบ ทำเนียบก็ส่งหนังสือมาหาเรา จบแค่นั้น ทั้งที่ปัญหาที่เราพบเจอคือปัญหาโครงสร้าง เป็นปัญหาเรื่องอำนาจ เป็นปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ เดิมเราจะสร้างกระบวนการประชาชนขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรองหรือการพูดคุยเจรจา ยุติโครงการหรือมีการศึกษาต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้เราทำไม่ได้ เงื่อนไขตรงนี้เราทำไม่ได้เพราะ ณ วันนี้การคืนความสุขหรือการปรองดองว่าทำไม่ได้ ถ้าเกิดเราทำไม่ได้แต่โครงการยังดำเนินหน้าต่อไป แน่นอนเราเคยต่อสู้กับรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 เราเคยพูดถึงสิทธิชุมชน เราเคยพูดถึงในเรื่องของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมทางศาลปกครอง แต่ ณ วันนี้มันไม่ถูกแก้ไข สิทธิชุมชนกำลังจะเลือนหายไป เราสู้ถึงการมีส่วนร่วม การถกเถียงในเวที ทุกวันนี้เราถูกปิดตาย

เราพยายามจะอธิบายกับสังคมก็คือว่า ณ วันนี้กระบวนการชาวบ้านพอเคลื่อนไหวขึ้นมาก็ถูกห้าม แม้แต่จะเรียกมาคุย แต่ท้ายสุดก็คือให้ชาวบ้านหยุด ก็นำไปสู่การที่จะดำเนินโครงการต่อไป

NGOs นักพัฒนา หรือผู้ฉุดดึง

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากนำเสนอก็คือว่า คนทำงานนักพัฒนากิจกรรมทางสังคม ผมคิดว่าสำคัญก็คือหนึ่ง ที่ผ่านมาเราใช้คำว่าการลงฐาน ลงฐานของเราหมายถึงลงไปอยู่ในชุมชนและค้นคว้าในพื้นที่และนำไปสู่การจัดตั้งเคลื่อนไหว ลงฐานตรงนี้หมายถึงไม่ได้บอกว่าการลงไปเพื่อไปปลูกผัก ไปทำเกษตร ไม่ใช่ อาจจะทำด้วยแต่ต้องเชื่อมโยงระหว่างปัญหาชาวบ้านกับในเชิงนโยบายให้ได้ อันนี้คือสิ่งสำคัญ

ณ วันนี้ในภาคอีสานเราพบก็คือว่าคนทำงานนักพัฒนากิจกรรมทางสังคมตามกำลังจัดตั้งระดับพื้นที่น้อยลง นี้คือเรื่องใหญ่มาก การจัดตั้งในระดับฐานของชาวบ้านวันนี้ พอคนน้อยสิ่งสำคัญก็คือว่า เราจะเห็นนักประชุมในเวทีเต็มไปหมด แต่การจัดตั้งน้ำหนักน้อย เราพบว่าเมื่อชาวบ้านเผชิญปัญหาต่างๆของการปะทะระหว่างอำนาจรัฐ ตำรวจต่างๆแม้แต่เราพูดสันติวิธี ชาวบ้านก็อย่างน้อยก็แค่ไปขวางถนน แต่กระบวนการคือสิ่งที่เราพบและเราพยายามจะขยายคือ กระบวนการต่อสู้ที่เราเรียกว่าสันติวิธีจริงๆ สันติวิธีไม่ใช่แค่ว่าไม่ทำอะไร สันติวิธีก็คือการที่เรายืนหยัดต่อสู้ แล้วก็เอาความจริงที่อยู่ในพื้นที่นั้นขยายกรอบสาธารณะให้ได้ และสาธารณะเห็นด้วยหรือคล้อยตามกับสิ่งที่ชาวบ้านสู้นั้น สิ่งที่เราสู้คือความจริงในพื้นที่ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ใคร

เราพยายามขยายแนวคิดเรื่องสันติวิธีไปหลายพื้นที่ตอนนี้เราอาจจะต้องกลับมาคุยกับพรรคพวกที่ทำงานฐานว่ากระบวนการเครื่องมือในการต่อสู้สันติวิธี จริงๆแล้วมันจะเริ่มต้นได้ยังไงบ้าง อันที่หนึ่งการจัดองค์กรชาวบ้านนี่เป็นกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าการจัดตั้ง ผมคุยกับกลุ่มที่อยู่ในอีสานก็คือว่าการไปทำงานจัดตั้งในพื้นที่ ถามว่าวันนี้มีใครบ้างที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดตั้งได้ มีน้อยมาก อันที่สองการเก็บข้อมูล เราสู้ที่อีสานเรื่องเหมืองแร่โปแตช เดิมเราใช้กระบวนการเคลื่อนไหวชุมนุม ที่อีสาน อุดร ทำงาน เลิศศักดิ์ ทำงานข้อมูล ผมทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่ เอาสองส่วนมาประกบ แล้วก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวยับยั้งโครงการโปแตชได้จนถึงทุกวันนี้ อันนี้คือการรวมในเรื่องของทั้งงานข้อมูลและงานจัดตั้ง สำคัญนะ ไม่ใช่แค่งานเคลื่อนไหวอย่างเดียว อันที่สามก็คือใช้กระบวนการยุติธรรม เราต่อสู้ที่อีสานตอนบนอย่างที่คุณสนั่นพูดไว้เมื่อกี้ก็คือ ที่หนองบัวลำภู เราสู้เรื่องลำพะเนียง ลำพะเนียงเป็นที่แรกที่เราใช้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองสู้ โดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลที่เรียกว่าข้อมูลทางนิเวศน์ นำเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลเข้าใจต่อภาพรวมของอีสาน เราพยายามจะสร้างว่าถ้าเกิดพัฒนาต้องมองในมิตินิเวศน์ด้วย นิเวศน์ที่เราพูดถึงก็คือว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ทำความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ อีสานเรียกว่าผี เราพยายามจะเอาคอนเซ็ป 3-4 ตัวนี้มาเป็นองค์ความรู้ของเราในการเคลื่อนไหวในการปกป้องชุมชน ถามว่าใช้ได้ไหม ได้ เราเริ่มบวกแนวคิดเรื่องสิทธิเข้าไป เรื่องสิทธิ์เป็นเรื่องธรรมชาติของกฎหมายที่เราใช้ หลังๆเราเริ่มใช้เยอะ แต่มันจะแข็ง ถ้าเราเอาข้อมูลทางนิเวศน์ ทางวัฒนธรรมเข้าไป มันจะทำให้การค้นคว้าในพื้นที่สนุก ชาวบ้านรู้สึกว่ามีส่วนร่วมและเข้าใจได้ อันนี้คือสิ่งที่เราค้นเครื่องมือใหม่ๆในการทำงานสนาม

ประชาธิปไตยในองค์กร กับวัฒนธรรมของชุมชน

สิ่งสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง พอเราสร้างองค์กรชาวบ้านแล้ว การพูดถึงประชาธิปไตยในองค์กร อีสานเราจะพบว่าองค์กรการเคลื่อนไหวเยอะมาก แต่สิ่งสำคัญพอสู้ไประดับหนึ่งแกนนำถูกซื้อ ไม่ลงพื้นที่ในหมู่บ้าน เราต้องสร้างประชาธิปไตยในกระบวนการประชาชนของเราด้วย เช่น การเข้าเป็นกลุ่มระบบสมาชิกเป็นยังไง กติกาของกลุ่มเป็นยังไง เพราะที่ผ่านมาเวลาทำงานกับชาวบ้าน ใครมีไหวพริบ พุดดี แล้วก็ประสานงานมีสำนึกอาสาสมัคร เราก็จะคุยและตั้งเป็นแกนนำกัน ณ วันนี้ผมคิดว่าไม่พอ ถ้าเรากำลังเจอสถานการณ์ใหญ่ๆขนาดนี้ ต้องมีการจัดตั้งในกระบวนการให้มีความชัดเจนเรื่องประชาธิปไตยเป็นสำคัญมาก เพราะไม่งั้นเราก็จะถูกซื้อง่ายๆ การถอดถอนผู้นำออกจากกลุ่มยังไงนี้สำคัญ

อันที่สามท้องถิ่นที่เรียกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรียกว่า อบต. ผมยังให้ความสำคัญ เราเคยเสนอเรื่องของการเข้าไปเป็นสมาชิกมีนโยบายเขาเองในระดับท้องถิ่น เราเคยเสนอนโยบายสีเขียวในท้องถิ่นของเรา แต่ประเด็นก็คือว่าเราเสนอแค่ประเด็น เราไม่ได้เสนอทางอุดมการณ์ ตอนนี้เรากำลังทบทวนว่าเราจะทำยังไงที่จะเสนอประเด็นในท้องถิ่นเป็นอุดมการณ์ให้ชัดเจน เราเคยทำในเรื่องของการบัญญัติท้องถิ่น เรื่อง อบต. ชุมชนว่าด้วยสิ่งแวดล้อมเราเปลี่ยนล้อกับรัฐธรรมนูญ ม.290 ต่างๆ แล้วเราก็พูดถึงข้อบัญญัติต่างๆ ณ วันนี้เราจะเห็นว่าในท้องถิ่น อบต. หลายที่ไม่มีเครื่องมือของตัวเองในการที่จะจัดการเรื่ององค์การใหญ่ๆที่จะเข้ามาชุมชน เพราะฉะนั้นเวลาข้างบนสั่งมายังไงก็จะทำตามนั้นเพราะตัวเองไม่มีเครื่องมือ อันนี้คือสิ่งที่เรามองเรื่องท้องถิ่น

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า การศึกษาวัฒนธรรมชุมชน เราต้องศึกษาความสัมพันธ์อำนาจทางการเมืองของชุมชนให้ชัด ชุมชนทางอีสานเปลี่ยน แต่ถามว่าเปลี่ยนตรงนี้แล้วเราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงตรงนี้พอหรือยัง ถ้าเข้าใจเราจะจับชีพจรของชุมชนได้ว่าอาจจะเปลี่ยนไปอย่างไร และจะสร้างการวิเคราะห์ที่เรียกว่าวัฒนธรรมชุมชนได้ เพราะมันเปลี่ยนตลอดเวลา

การสร้างอุดมการณ์ที่เน้นการจับต้องได้ อันนี้สำคัญ ผมคิดว่าชาวบ้านเวลาทำงานในพื้นที่ต้องการจับต้องได้ว่าอะไรคืออะไร ไม่ใช่ว่าเป็นนามประธรรม ผมคิดว่าเรื่องนี้คนทำงานจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัด ภาษาของผมเรียกว่าต้องฝังตัวในพื้นที่ ผมใช้เวลาฝังตัวในพื้นที่หมู่บ้าน 7 ปี อยู่ในชุมชนเป็นคนใน คิดแบบคนในแล้วก็พยายามที่จะค้นการสื่อสารของชาวบ้านที่เป็นภาษาของเขา ว่าอะไรคือการสื่อสาร ไม่ใช่คนนอกไปตั้งประเด็นอย่างเดียวแล้ว สถานการณ์วันนี้การเมืองที่เป็นระบบอุปถัมป์แบบข้างบนอย่างท้องถิ่นลงไปเป็นขั้นๆอย่างท้องถิ่นแรงมาก ถ้าเราจับตรงนี้ไปได้ผมคิดว่าการจัดตั้งที่ทำงานเราก็จะเสียเปล่า

อีกประเด็นก็คือว่า เราจะยอมรับหรือทำความเข้าใจความแตกต่างในระดับชุมชนได้อย่างไร ที่ผมพูดเมื่อกี้ในชุมชนมีหลายมิติ อีกไม่กี่เดือนนักเรียนปิดเทอม ถ้าใครอยู่ชุมชนจะเห็นว่าเด็กจากหมู่บ้านจะเข้าไปอยู่ในกรุงเทพ ไประยอง ไปชลบุรีกันหมด สมัยก่อนเวลาปิดเทอมเด็กในหมู่บ้านจะไปหาพ่อแม่ตามโรงงานอยู่กรุงเทพจะเยอะ นี่คือชีพจรที่มันเปลี่ยนของชุมชน นี่คือความแตกต่างของคนแต่ละรุ่น คนแต่ละรุ่นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

อีสานในยุคของการปฎิรูปแบบกลับหัวกลับหาง

สิ่งที่พยายามศึกษาหรือวิเคราะห์เรื่องรัฐธรรมนูญก็คือ เรามองว่าเรื่องนี้เป็นแกนกลางของชุมชน เป็นแกนกลางของการทำงานของเรา ผมคิดว่าเป็นจุดแข็งของเราด้วย ซึ่งเป็นวัฒธรรมหลัก ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกจะพูดถึงปัจเจกเยอะ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า การพัฒนาศักยภาพขององค์กรจัดตั้ง หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นรากฐานของการทำงาน อันนี้สำคัญมาก ถ้าเรามองวิเคราะห์ว่าอีสานสิบปีจะเป็นยังไง อีกสิบห้าปีจะเป็นยังไง แล้วเราจะสร้างคนทำงานจัดตั้งในระดับพื้นที่ข้างหน้าจะเป็นยังไง อันนี้ผมคิดว่าต้องคิดร่วมกัน เราจะสร้างคนทำงานที่อีกสิบปีจะเป็นแบบไหน จะเป็นคนลงสนามแบบผมหรือเปล่า หรือจะเป็นคนทำงานยังไง ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ ถ้าเราไม่วางแผนยาว เราก็จะทำเป็นเรื่องๆไปเหมือนเดิม เราก็จะตามแก้  ผมคิดว่าสิ่งสำคัญต้องตามทำระดับข้างล่างจนถึงข้างบนให้ได้ เราอาจจะต้องช่วยกันแลกเปลี่ยนในระยะยาว

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า ในกระแสปฏิรูป ผมมองว่าการปฏิรูปวันนี้ไม่ควรไปรวบบนฐานพึ่งพิงรัฐ ผมคิดว่าการปฏิรูปวันนี้ต้องเป็นการปฏิรูปที่ให้คุณค่าของการรวมตัวในขนาดเล็กๆ ในมิติทางวัฒนธรรม เวลาพูดเรื่องปฏิรูปเรามองข้างนอกหมดตอนนี้ แต่ไม่มองมิติองค์กรข้างล่างจะเป็นยังไง กลุ่มเล็กๆที่มันอยู่กันหลากหลายตรงนี้ ผมอยู่ในหมู่บ้านจะเห็น

ณ วันนี้ชุมชนท้องถิ่นไม่ใช่แบบเดิม คนเป็นเขยจากภาคใต้มาอยู่ในหมู่บ้าน คนเป็นเขยจากนู้นมาอยู่ในหมู่บ้าน แม้แต่บางหมู่บ้านฝรั่งครึ่งบ้าน เพราะฉะนั้นในความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ณ วันนี้จะไม่เหมือนสมัยก่อนละ ฉะนั้นคนเก่าที่เคยอยู่และคนใหม่ที่เข้ามาอยู่อันนี้คือสิ่งสำคัญ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่ผมตั้งคำถามไว้ก็คือว่าในการปฏิรูปหรือการร่างรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ น้ำหนักจริงๆแล้วเขาไม่ได้มองเห็นข้างล่าง เขามองเห็นส่วนบน ประเด็นก็คือในขณะที่กำลังปรองดองหรือปฏิรูป ชุมชนกำลังถูกอัดให้จนมุม วันนี้สิ่งที่เราชัดก็คือเราไม่ไป สิ่งสำคัญก็คือต้องหยุดไว้ก่อน กระบวนการต่างๆต้องหยุดไว้และนำมาสู่การทบทวนให้ได้ จุดอ่อนของพวกเราอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ผมเห็นด้วยกับระบบอาวุโส แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าหลายเรื่องเราไม่มีการปรึกษากันในวง นั่งถกเถียงและนำไปสู่การหาข้อสรุป และนำไปสู่การปฏิบัติ อันนี้คือสิ่งที่เราพบ และเราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นนักพัฒนารุ่นใหม่ซึ่งมีความคิดอีกแบบหนึ่งก็จะไม่อยากเข้าร่วม แล้วก็จะนำไปสู่การตั้งวงอีกวงหนึ่งแล้วก็จะมีการปะทะ การปะทะกันตรงนี้ไม่ใช่บนฐานการปะทะที่เข้าใจกัน แต่ปะทะโดยตั้งแง่กัน นี่คือสิ่งที่เราพบวันนี้ ในอีสานเราพบตรงนี้เยอะ เราจะทำยังไงให้เข้าใจบริบทของชุมชน เข้าใจบริบทของคนทำงาน และนำไปสู่การเปิดโปงพูดคุยให้รอบด้านจริงๆก่อนที่จะไปข้างหน้า การปฏิรูปต้องประยุกต์กระบวนการให้ชัดก่อนและจะนำไปสู่การจัดการอย่างอื่นได้

อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า เราสร้างองค์ความรู้เรื่องเกษตรเยอะมาก ณ วันนี้ผมอยู่ที่อุดร ผมกำลังทำก็คือว่า จะทำยังไงที่รัศมี 20 กิโล จากเมืองเทศบาลมาถึงหมู่บ้านที่เราต่อสู้อยู่ เชื่อมโยงกับเมืองให้ได้ เพราะว่าความตื่นตัวทางการเมืองที่ผ่านมาจะเป็นสีไหนก็แล้วแต่ ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับคนในเมืองสูง ตอนนี้เราเชื่อมโยงระหว่างคนเมืองกับสมาชิกเกษตรพอสมควร เราจะทำยังไงที่จะสร้างทางเลือกของการผลิตทางเศรษฐกิจท้องถิ่นของชุมชนร่วมกับคนเมืองให้ได้ อันนี้สำคัญมาก ณ วันนี้หลายคนจะนึกถึงเรื่องสุขภาพ เรื่องของร่างกายเยอะ ตอนนี้เราทดลองในอุดรและหนองคายเห็นชัดก็คือว่าคนเริ่มวิ่งเข้ามาหาและสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเรา คนเมือง กับคนชนบทในหมู่บ้าน อันนี้คือสิ่งที่เราทำ ณ วันนี้ที่เราเห็น และเป็นประสบการณ์ที่เรากำลังจะค้นคว้าและสรุปบทเรียนต่อไป

ประเด็นต่อไปการเชื่อมโยงอีสานต่อ AEC อย่างอีสานเราจะเห็นว่าเรื่องแรงงาน แรงงานตามโรงงานหรือหมู่บ้าน เกี่ยวข้าวหรือทำนา เราจะเห็นคนข้างนอกเข้ามารับจ้างเต็มไปหมด อันนี้คือปัญหาใหญ่ก็คือว่าในอุดร หนองคาย หรือขอนแก่น บางคนเริ่มหวงถิ่นตัวเอง มีการแกล้งกัน มีการแจ้งตำรวจจับ กลุ่มคนเพื่อนบ้าน เพราะมันเกิดเป็นความรู้สึกว่าเกิดการมาแย่งงานของเรา มาแย่งพื้นที่หากินของเราอันนี้คือสิ่งที่เราพบอยู่ ในอุดรเราจะเจอคดีตรงนี้ปีเดียวประมาณ 30 กว่าคดี

สมัยก่อนเราจะใช้การสร้างกลุ่มศึกษา เพื่อให้เกิดการถกเถียงในจุดเล็กๆต่างๆ เพื่อนำไปสู่การค้นคว้า ณ วันนี้ผมยังยืนยันว่ากลุ่มศึกษาเล็กๆยังมีความจำเป็นที่จะนำไปสู่การค้นคว้าเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน หรือการทำงานกับนโยบายต่อ ที่ผ่านมาเราพยายามตั้งกลุ่มขึ้นมาคือกลุ่มศึกษาประชาธิปไตยประชาชน เพื่อนำไปสู่การค้นคว้าว่ารูปแบบของการจัดการทรัพยากรหรือรูปแบบของการสร้างอำนาจของประชาชนมีแบบไหนบ้าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกว่ากลุ่ม คปท. ประเด็นก็คือว่าเรามีหลายสีในกลุ่มนี้

ณ วันนี้การต่อสู้ของเรา เรายืนยันว่าการต่อสู้ของเราเพื่อปกป้องชุมชนท้องถิ่น เราขอทุ่มความดีงาม อุดมคติ แต่สิ่งสำคัญคือว่าเราอยากผลักตรงนี้ให้ไปเป็นศัตรู และต้องรอคอยเป็น ต้องมีการสรุปเนื่องเป็นครั้งๆเพื่อนำไปสู่การคิดค้นใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net