Skip to main content
sharethis

กองปราบฯ รวบป้าจอมตุ๋นหลอกไปทำงานเกาหลี

(20 ก.พ.) ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาการ ผบก.ป. สั่งการให้ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป.พ.ต.ท.พัฒนพงศ์ ศรีพิณเพราะ สว.กก.1 บก.ป.นำกำลังจับกุม นางลลิตา สาปไตยบรมรัฐ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18/184 ซ.นวลจันทร์ 36 แยก 10 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5661/2547 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ข้อหาร่วมกันจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานในต่างประเทศได้โดยได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สิน โดยจับกุมตัวได้ที่บ้านพักของผู้ต้องหา
       
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาได้ก่อเหตุหลอกลวงแรงงานไทยว่าสามารถส่งไปทำงานในโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประเทศเกาหลีใต้ได่ โดยอ้างว่ามีรายได้ดี แต่ต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการรายละ 50,000-100,000 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนให้ ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้นำเงินหลบหนีไป โดยก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2537 ทั้งใน จ.เชียงราย ขอนแก่น สระบุรี นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร รวม 11 คดี แต่รอดการถูกจับกุมมาตลอดทำให้คดีหมดอายุความไป 3 คดี ต่อมาชุดจับกุมสืบทราบว่าผู้ต้องหาหนีมากบดานที่บ้านพักใน กทม.จึงนำกำลังจับกุมได้ดังกล่าว
       
สอบสวนนางลลิตาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าไม่เคยก่อเหตุตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด อาจเป็นการเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อคำให้การของผู้ต้องหา จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง รับไว้ดำเนินคดีต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-2-2558)

พนักงานชาร์ปชุมนุม 200 คน ประท้วงขอโบนัส 2.2 เดือน
 
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 กลุ่มพนักงานบริษัทเฟดเดอรัล อิเลคทริค จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ยี่ห้อชาร์ป ประมาณ 200 คน รวมตัวชุมนุมหน้าบริษัท บนถนนกิ่งแก้ว บริเวณปากซอยกิ่งแก้ว 34 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อเรียกเรียกร้องโบนัส โดยล่าสุดมีการเจรจาต่อรองขอโบนัส 2.2 เดือน และเงินบวกเพิ่มอีก 10,000 บาท
 
ด้าน นายพนมพร ขันขวา เลขาสหภาพแรงงานบริษัทฯ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการเจราจากับนายจ้างมาแล้ว จำนวน 15 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน ปีที่ผ่านมาแต่ไม่ได้ข้อสรุปวันนี้จึงมีการนัดรวมตัวกันที่ด้านหน้าบริษัท จากนั้น เวลา 10.00 น.จะส่งตัวแทนเดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ โดยจะมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานจะเดินทางมารับหนังสือ และร่วมประชุมกับ ตัวแทนของบริษัท พร้อมด้วยลูกจ้าง เพื่อหาข้อสรุป ที่ แต่หากไม่ได้ตามที่เรียกร้องก็จะชุมนุมยืดเยื้อต่อไป
 
ด้าน พ.ต.อ.พีรพล โชติกเสถียร ผกก.สภ.บางแก้ว กล่าวว่า ก่อนมีการชุมนุมทราบว่าทางพนักงานได้ทำหนังสือแจ้งให้ฝ่ายทหารให้ทราบก่อนแล้ว เพราะยังอยู่ในกฎอัยการศึกโดยทางฝ่ายความมั่นคงขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องด้วยความสงบไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ชุมนุมกีดขวางจราจร และต้องเลิกชุมนุมภายในเวลา 18.00น.ของวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ได้เรียกแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าไปเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ภายในบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชน โดยขอเวลาในการพูดคุยเป็นการส่วนตัว
 
ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยและการจราจรมีกำลังทหารจาก ป.พัน21 รอ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.บางแก้ว เข้าดูแลความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกด้านจราจร เนื่องจากช่วงเช้าเวลาเร่งด่วนการจราจรติดขัดอย่างมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องเร่งระบายการจราจรและขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมเปิดช่องจราจรให้ใช้ได้ตามปกติ

(คมชัดลึก, 23-2-2558)

กมธ.วิสามัญเห็นชอบ ประกันสังคมคงสิทธิ “ว่างงาน”

(23 ก.พ.) นางอรุณี ศรีโต ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. ... เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุมกมธ. เป็นครั้งสุดท้าย โดย กมธ. เห็นชอบให้กลับไปใช้ข้อความตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่ระบุให้ผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานเองสามารถรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานได้ ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ประเด็นใดที่เป็นการลิดรอนสิทธิผู้ประกันตนก็อย่าทำ ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่ตัดสิทธิกรณีว่างงานออกนั้นเป็นร่างเดิมที่ สปส. จัดทำไว้นาน 4 - 5 ปี แล้ว จึงควรพิจารณาให้รอบคอบและไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ประกันตนที่มีอยู่
       
นางอรุณี กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้เป็นการสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในหลายด้าน เช่น การให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) โดยตรง กำหนดให้บอร์ด สปส. ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง การเพิ่มสัดส่วนให้บอร์ดมีกรรมการเป็นผู้หญิงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ต้องรอพิจารณาของสนช. ก่อนว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนมีนาคมนี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-2-2558)

ตรวจเรือประมง 599 ลำ พบจ้างแรงงานเด็กผิด กม.-จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์

(24 ก.พ.) ที่โรมแรมปริ๊นส์ ตั๊น พาร์ค นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม ชี้แจงการจ้างงานในงานประมงทะเลให้แก่สมาคมที่เกี่ยวกับการประมงทะเล ว่า กสร. ได้มีมาตรการคุ้มครองแรงงานประมงโดยได้ออกกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ซึ่งมีการใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2557 ในกฎกระทรวงฉบับนี้มีข้อกำหนด เช่น กำหนดแบบสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดเวลาพักของลูกจ้างให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อการทำงาน 24 ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อการทำงาน 7 วัน ตลอดจนสภาพแวดล้อม ในการทำงานที่ปลอดภัย ยาปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่พักและห้องส้วมถูกสุขลักษณะ
       
อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า หลังจากกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือน กสร. ได้ออกตรวจเรือประมงไปแล้ว 599 ลำ ในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี โดยใช้วิธีการตรวจแบบบูรณาการในแต่ละจังหวัด กสร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ กระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจากผลการตรวจเรือประมง พบว่า มีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงในหลายกรณี เช่น การใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 5 คน จ่ายค้าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 56 คน ลูกจ้างต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต 7 คน ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่พบปัญหาที่พัก และห้องส้วมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งสภาพความ ปลอดภัยในการทำงานโดย กสร. ได้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง หากนายจ้างยังคงฝ่าฝืน จ้างลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตก็จะดำเนินคดีทาง กฎหมาย
       
นายกลม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า มองว่า กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง ทะเลนี้ซึ่งใช้บังคับกับเรือประมงที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เป็นกฎหมายที่กว้างเกินไป ทำให้ผู้ประกอบ การเรือประมงขนาดเล็ก เช่น เรือประมงพื้นบ้าน ปฏิบัติตามได้ยาก จึงอยากให้แยกออกกฎหมายลูก มารองรับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-2-2558)

ชงนำเข้าแรงงานประมงผ่านระบบเอ็มโอยู แก้ปัญหาค้ามนุษย์

(24 ก.พ.) ที่กรมการจัดหางาน นายธีรพล ขุนเมือง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมหารือการกำหนดวิธีการขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) โดยมีผู้แทนกรมการจัดหางาน (กกจ.) สมาคมประมงแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงการนำเข้าแรงงานประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) ไทยกับ 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และ กัมพูชา ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการเรือประมงยื่นขอโควตานำเข้าแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแต่ละแห่ง
       
นายธีรพล กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะประกาศรับสมัครแรงงานไทยก่อน หากมีผู้สนใจน้อยก็จะรวบรวมรายชื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านเอ็มโอยู โดยสมาคมประมงฯ จะคัดเลือกบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนกับ กกจ. เพื่อนำเข้าแรงงาน ซึ่งจะมีการทำสัญญาจ้างเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มีการประชุมชี้แจงรายละเอียดการทำงานและข้อกฎหมายให้แรงงานรับทราบ หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะลงโทษอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการแก้ไขเอ็มโอยูระหว่างไทยกับทั้ง 3ประเทศ จากเดิมที่แรงงานต้องกลับประเทศต้นทาง 1 ปี หลังจากทำงานครบกำหนด 4 ปี เปลี่ยนเป็นให้กลับประเทศต้นทาง 30 วันเพื่อไปดำเนินการด้านเอกสารและไม่ให้กระทบต่อการดำเนินกิจการของนายจ้างแล้วกลับเข้ามาทำงานอีก 4 ปี โดยในปี 2558 จะมีแรงงานที่ต้องกลับประเทศตามเอ็มโอยูจำนวน 55,143 คน ทั้งนี้ จะนำข้อสรุปนี้เสนอต่อที่ประชุม กนร. ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้
       
ด้าน นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานถูกกฎหมายในภาคประมงประมาณ 100,000 คน จากความต้องการที่แท้จริง 300,000 คน ทำให้ขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก สมาคมฯจึงหารือร่วมกับภาครัฐเพื่อขอนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู โดยเบื้องต้นมีการแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าวแล้วกว่า 3,000 คน ซึ่งการขอนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยูก็เพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นว่าไทยโดยเฉพาะภาคประมงไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและไม่มีการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกที่ตกค้างอยู่เร่งนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-2-2558)

ครม.ไฟเขียวจ่ายเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มากกว่านายจ้าง

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงการคลัง  เสนอ โดยจะเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถส่งเงินเข้ากองทุนมากกว่านายจ้าง เพื่อเป็นการสนับสนุนการออม

พร้อมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างหรือนายจ้างสามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวได้ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ทั้งสามารถให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นทีมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพได้โดยหลังจากนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป

(มติชน, 25-2-2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net