Skip to main content
sharethis

การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีรอบใหม่จะไปอย่างไร ฟังความเคลื่อนไหวจากสองฝ่าย ใน“ดุลยปาฐกว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยพล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช และอาบูฮาฟิซ อัลฮากีม

เวลา 10.00 น.วันที่ 28 มกราคม 2558 ในงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace ที่หอประชุมชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กองอำนวยการรักษาความสงบภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 และ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม จากขบวนการ BIPP สมาชิกอาวุโสในฝ่ายต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานี ได้สลับกันแสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “ดุลยปาฐกว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ต่อหน้าภาคประชาสังคมในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งอาบูฮาฟิซได้แสดงผ่านคลิปวีดิโอ

 

พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช

พล.ต.ชินวัฒน์ เริ่มต้นแสดงปาฐกถาด้วยคำว่า “เมื่อพูดถึงสันติสุข เราคงไม่สามารถก้าวผ่านคำว่าสันติภาพไปได้” ก่อนจะอธิบายโดยสรุปดังนี้

“วันนี้ขอยืนยันว่า นโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ คือการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธีและขับเคลื่อนกระบวนพูดคุยต่อไป โดยนำบทเรียนและจุดอ่อนของการพูดคุยครั้งที่ผ่านมามาวิเคราะห์ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยครั้งใหม่บรรลุเป้าหมาย และร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาแม่ทัพภาคที่ 4ได้เตรียมพื้นที่ของกองทัพในการรองรับการขับเคลื่อนสันติสุข โดยดำเนินการลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดก่อนและพยายามไม่ใช้กฎหมายพิเศษมาใช้แก้ปัญหา การติดตาม ปิดล้อม ตรวจค้นขนาดใหญ่ได้ยุติลงแล้ว คงดำรงไว้เพียงการใช้กำลังชุดเล็กเข้าไปบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่มีหมายศาลเท่านั้น เริ่มจากเบาไปหาหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการวิสามัญโดยสิ้นเชิง เราพยายามใช้กระบวนการพูดคุยกับผู้มีหมายเพื่อให้ออกมาแสดงตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หน้าที่ที่เหลือคือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวคิด กำหนดวิธีการตามยุทธศาสตร์ทุ่งยางแดงโมเดล

มาตรการต่อมา ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องเป็นคนดี เรามีการตรวจเจ้าหน้าที่ทุกรอบเดือน หากคนใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเราจะลงโทษและให้ออกนอกพื้นที่ มีการเก็บลายนิ้วมือและ DNA ตรวจปลอกกระสุนทุกปลอกและบันทึกไว้ ถ้ากระสุนของเจ้าหน้าที่รัฐคนใดปรากฏในที่เกิดเหตุอย่างไรhเหตุผล จะถูกดำเนินการตามกฏหมาย เราพยายามควบคุมเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในกรอบของกฏหมาย

สำหรับกำลังประชาชนโดยเฉพาะอาสาสมัครรักษาดินแดน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เราทดสอบปลอกกระสุนทุกกระบอกและเก็บลายนิ้วมือทุกคน เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้ใช้กระสุนปืนนอกหน้าที่หรือเกินอำนาจหน้าที่ หากใครผิดทุกคนจะถูกลงโทษทางกฏหมาย

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้ขับเคลื่อนการเข้าไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนโดยตรง โดยเปิดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 เวที เพื่อสื่อสารระหว่างพี่น้องประชาชน เรานำความต้องการประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง เราได้จัดเรียงลำดับความเร่งด่วนของปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชน และจะดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้น

งานเร่งด่วนตอนนี้คือการสร้างเส้นทาง 37 เส้นทาง ใช้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท เรื่องการศึกษา เราคุยกับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร ประเทศอียิปต์ให้รับเด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยม 6 จากประเทศไทย เดิมรับเด็กนักเรียนที่จบศาสนาชั้น 10 แต่ปัจจุบันนักเรียนของไทยสามารถไปศึกษาต่อด้านสามัญได้แล้ว”

 

“สันติภาพ”กับ “สันติสุข”

“สันติภาพคืออะไร? ในความหมายเชิงตรรกะที่เราพูดกันหรือในความหมายในเชิงพื้นที่มันคืออะไร? ถ้าเราให้ความหมายเหมือนกันเราก็ขับเคลื่อนเหมือน แต่ถ้าเราให้ความหมายแตกต่างกัน แน่นอนว่าเราย่อมขับเคลื่อนต่างกัน

สันติภาพ คือข้อบ่งชี้ของการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขของสังคม ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย หากมนุษย์มุ่งที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังกัน แก่งแย่งฆ่าฟันกัน แน่นอนว่านั้นไม่ใช่สันติภาพ และนั้นคือต้นเหตุของตรรกะที่ตรงข้ามกับสันติภาพ

หากมนุษย์ยอมรับและเคารพในความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ปลายทางมันก็คือสันติภาพ มนุษย์ไม่ทะเลาะกัน ไม่แก่งแย่ง ไม่ฆ่าฟันกัน สันติภาพก็เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สันติภาพจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะทำให้เราไปสู่ประตูแห่งสันติสุขได้

 

สันติภาพคือพื้นฐานของสันติสุข

“จากที่กล่าวมาข้างต้น มันจึงทำให้เห็นว่าสันติภาพคือพื้นฐานของการเดินไปสู่สันติสุข และเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการพัฒนาทั้งหมดทั้งสิ้นของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางวัฒนธรรม และทางจริยธรรมที่ต้องดำเนินการควบคู่และสร้างสมดุลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากพัฒนาแต่วัตถุโดยขาดการพัฒนาทางจริยธรรม วัตถุจะนำทางเรา ท้ายที่สุดจะนำมนุษย์ไปสู่การแก่งแย่งชิงดี เกิดความขัดแย้ง มันก็จะทำลายสันติภาพเช่นกัน

ความขัดแย้งเยียวยาได้ด้วยวัฒนธรรมและจริยธรรม สังคมจะต้องนำเสนอประวัติศาสตร์ในเชิงอารยธรรม และความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเชิงวัฒนธรรม ภายใต้การยอมรับและให้เกียรติวัฒนธรรมของกันและกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดภาคประชาสังคมมีบทบาทที่สำคัญที่จะกำหนดองค์ประกอบทั้งหลายของการขับเคลื่อนไปสู่สันติภาพได้

ดังนั้นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้สำเร็จได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล แต่อยู่ที่ทุกองคาพยพที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปด้วยกัน และเชื่อว่าสันติสุขอยู่ไม่ไกล

สุดท้ายขอยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลอยู่บนหลักการสันติวิธีอย่างมั่นคง กระบวนการพูดคุยเป็นนโยบายหลักสำคัญที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ขอให้มั่นใจ เพราะเราได้นำบทเรียนจากครั้งที่แล้วไปสู่การวางยุทธศาสตร์การพูดคุยครั้งใหม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก นั่นก็คือการสร้างสันติสุขร่วมกันในสังคมแห่งนี้ให้ได้”

 

อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม

จากนั้นเป็นการปาฐกถาจากสมาชิกอาวุโสขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี คือ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม จากขบวนการ BIPP ซึ่งได้แถลงผ่านคลิปวีดิโอ ซึ่งใช้หัวข้อปาฐกถาชื่อ “การเดินทางสู่สันติภาพ ระยะที่ 2” มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

“......การรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีความวิตกกังวลถึงชะตากรรมของการพูดคุยสันติภาพในตอนนั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นสี่เดือน รัฐบาลทหารก็ยืนยันที่จะสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพและเห็นพ้องให้มาเลเซียกลับมารับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม

ถึงแม้ไม่มีการตอบรับอย่างเป็นทางการจากกลุ่มนักรบเพื่อเสรีภาพปาตานี แต่เราเชื่อว่ากองทัพส่งสัญญาณในเชิงบวก เราเห็นด้วยว่าการสานต่อกระบวนการสันติภาพพึงใช้ข้อตกลงทั่วไปที่ลงนามกันไว้เมื่อสองปีก่อนเป็นรากฐานในการเดินหน้าต่อ ดังที่พวกเราคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นไว้ว่า

“คำบางคำหรือวลีบางวลีจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหรือตัดทิ้งไปด้วยซ้ำ เพราะคำเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เช่น วลีที่ว่า ‘ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย’ รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันปกครองด้วยกฎอัยการศึก มิใช่ด้วยรัฐธรรมนูญ”

ในส่วนของเรานั้น ไม่ว่าเราจะมีส่วนร่วมในการพูดคุยกับกองทัพหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำหรับรัฐบาลไทย ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน อำนาจโดยพฤตินัยอยู่ที่กองทัพ ความเป็นไปทางการเมืองล่าสุดชักนำให้เราเผชิญหน้ากับกองทัพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอำนาจสูงสุด ถึงแม้การวัดความจริงใจของกองทัพเป็นเรื่องยาก แต่เราก็จะตรวจสอบพฤติกรรมของกองทัพในทุกด้านต่อไป

 

คุยกับใครก็ได้ตราบที่อีกฝ่ายจริงใจและจริงจัง

“เราพร้อมที่จะพูดคุยกับใครก็ได้ตราบที่อีกฝ่ายจริงใจและจริงจังต่อการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน กระบวนการพูดคุยสันติภาพย่อมได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในทัศนะของสังคมโลก หากกระบวนการนั้นจัดขึ้นในบรรยากาศประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรมมากกว่าภายใต้เงื้อมเงาของรัฐบาลเผด็จการทหาร”

อย่างไรก็ตาม เราดำเนินการอย่างรอบคอบ อุสตาซฮาซัน ตอยิบ เคยเสนอว่า ประเทศไทยควรรับรองกระบวนการพูดคุยสันติภาพขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาและมีการประกาศอย่างเป็นทางการ วิธีการนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นความจริงใจของฝ่ายไทยและรับประกันความต่อเนื่องของกระบวนการอันเปราะบางเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต ทว่าจนถึงบัดนี้ เรายังไม่เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น

“เราไม่อยากเห็นกระบวนการสันติภาพหยุดชะงักหรือถึงขั้นล้มเหลว แล้วจากนั้นค่อยกลับมาดำเนินการใหม่โดยเปลี่ยนผู้รับผิดชอบและวิธีปฏิบัติทุกครั้งที่เกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” ในประเทศไทย”

การพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกับมาเลเซียเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2557 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ส่งผลให้เกิดยุทธศาสตร์สามเส้าสำหรับการพูดคุย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจที่จะรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพอีกครั้ง ถึงแม้กองทัพไทยจะเปลี่ยนชื่อการพูดคุยครั้งใหม่เป็น “การพูดคุยสันติสุข” ด้วยเหตุผลที่เราเข้าใจดี แต่ที่โต๊ะพูดคุยก็ยังคงใช้คำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “การพูดคุยสันติภาพ”

 

เสนอหลักประกัน 9 ข้อเพื่อการพูดคุย

“ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดความราบรื่นและความโปร่งใสของกระบวนการพูดคุยที่ใกล้จะกลับมาดำเนินการใหม่ เราอยากตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้:

1.เป้าหมายหลักของกระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่ควรเพ่งเน้นเพียงแค่การลดหรือขจัดความรุนแรงเท่านั้น แต่ควรสำรวจหาสาเหตุรากเหง้าและเหตุผลว่าทำไมชาวปาตานีจึงจำต้องหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้กับการปกครองของไทยด้วย

2.ทางออกทางการเมืองใดๆ ไม่ควรเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แง่มุมใดแง่มุมหนึ่งหรือเป็นทางออกชั่วคราวเท่านั้น แต่พึงเป็นทางออกที่เป็นธรรม ครอบคลุมและยั่งยืน

3.แต่ละฝ่ายพึงนั่งลงที่โต๊ะพูดคุยอย่าง “มือเปล่า” กล่าวคือ ปราศจากเงื่อนไขตั้งแง่ที่อาจทำให้อีกฝ่ายประสบความยากลำบากหรือตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ

4.กระบวนการพูดคุยควรเริ่มต้นด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจและค่อยๆ เดินหน้าอย่างช้าๆ ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อม โดยปราศจากการเร่งรัดกดดัน โดยมีความจริงใจที่น่าเชื่อถือต่อกันและกัน

5. แนวทางการดำเนินการหรือโรดแมปควรร่างร่วมกันทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุยโดยตรง กล่าวคือ ไม่ถูกกำหนดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือฝ่ายอื่นๆ โดยมีฝ่ายที่สาม (ผู้อำนวยความสะดวก) คอยสังเกตการณ์และอำนวยความสะดวก เพื่อให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในขั้นตอนต่อไป

6.ทั้งสองฝ่ายจะหารือและตกลงกันบนกรอบอ้างอิงพื้นฐานบางประการ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งกระบวนการพูดคุย ภายในกรอบเวลาที่มีเหตุมีผลอันสมควรในทุกประเด็นและในทุกขั้นตอน ทั้งนี้รวมถึงการตกลงร่วมกันในการเชิญฝ่ายอื่นๆ เข้าสู่โต๊ะการพูดคุยในฐานะผู้สังเกตการณ์และ/หรือผู้สนับสนุนกระบวนการ

7. ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อลดปฏิบัติการความรุนแรงและการปะทะกันด้วยอาวุธ ตามด้วยข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวหรือจำกัดขอบเขต โดยมีการแต่งตั้งคณะเฝ้าระวังและตรวจสอบที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย

8.เริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพบนสถานะที่เท่าเทียมกันตามเงื่อนไขและบรรทัดฐานที่นานาชาติยอมรับ

9.ข้อตกลงหยุดยิงถาวรจะบรรลุถึงได้ด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ตามด้วยการนำรายละเอียดของข้อตกลงและคำแนะนำในข้อตกลงนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผล

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอสรุปว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพควรเริ่มต้นด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจและการร่างโรดแมปร่วมกัน ตามด้วยข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นพื้นฐานและประเด็นสำคัญที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในขั้นตอนต่อไป  หลังจากลงนามในข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวแล้ว การพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจังสามารถดำเนินต่อในบรรยากาศสันติและพึงปรารถนา ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพและการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล

 

ความคุ้มกันทางการเมือง

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในส่วนของสมาชิกคณะนักรบเพื่อเสรีภาพปาตานีก็คือ ความคุ้มกันทางการเมือง รัฐบาลของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียควรให้การรับรองและสร้างหลักประกันความคุ้มกันอย่างเต็มที่แก่พวกเขา ไม่ใช่แค่จัดหามาตรการความปลอดภัยให้เท่านั้น ความคุ้มกันควรครอบคลุมถึงความคุ้มครองเต็มที่ตลอดกระบวนการสันติภาพทั้งหมด ไม่ว่า ณ สถานที่ประชุม ในระหว่างการเดินทางหรือในบ้านเรือนของพวกเขา รวมทั้งควรได้รับโอกาสในการเดินทางเข้าหรือออกจากประเทศใดๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะหากเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ

เราตระหนักดีว่า กลไกกองทัพบางหน่วยงานภายใต้กองทัพภาคที่ 4 ได้เริ่มต้น “ความริเริ่มพูดคุยสันติสุข” ในระดับท้องถิ่นกับนักกิจกรรมองค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประชุมสื่อสารกัน เราไม่มีข้อคัดค้านต่อเรื่องนี้ตราบที่ไม่มีการข่มขู่ คุกคามหรือกดดันต่อผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐหรือกองทัพ

“ถ้ารัฐบาลทหารมีความจริงใจและใจกว้าง ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดๆ ว่าทำไมประชาชนจึงไม่ควรมีพื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเสรีโดยปราศจากความกลัวเกรงใดๆ ทั้งนี้รวมถึงการอนุญาตให้สื่อมวลชนท้องถิ่นและสถานีวิทยุชุมชนกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากถูก “สั่งให้เงียบ” นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา”

เมื่อต้นเดือนนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ของกองทัพภาคที่ 4 ร่วมกับนายทหารเกษียนอาวุโส ได้ประกาศในกรุงเทพฯว่า รัฐบาลทหารใกล้จะคลี่คลายความขัดแย้งในภาคใต้หลังจากยึดอำนาจเพียงไม่กี่เดือน เราอยากเตือนดังนี้ว่า จะเป็นเรื่องไร้สาระอย่างยิ่งที่จะด่วนสรุปว่า ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานกว่า 200 ปีสามารถแก้ไขได้ภายในไม่กี่เดือน โดยไม่มีการเจรจาต่อรองกับนักรบเพื่อเสรีภาพปาตานีผู้เป็นตัวแทนของประชาชนชาวมลายูปาตานี มันเป็นแค่มายาภาพและการฝันกลางวันโดยแท้ เหตุการณ์วางระเบิดครั้งล่าสุดในนราธิวาสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วควรเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับเราทุกคนว่า ไม่มีทางลัดสู่สันติภาพนอกจากการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น

 

พูดคุยสันติภาพย่อมไร้ความหมาย ถ้า....

ประการสุดท้ายก็คือ เราอยากเน้นย้ำ ณ ที่นี้ว่า ถึงแม้มีการสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพและมีความคาดหวังอย่างสูงจากประชาชน แต่พึงสังวรว่า การพูดคุยสันติภาพย่อมไร้ความหมาย ถ้า:

1.รัฐบาลทหารต้องการแค่ลดหรือขจัดความรุนแรงโดยไม่สนใจสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองและอาวุธในปาตานี

2.ไม่มีการสำรวจทบทวนและแก้ไขความอ่อนแอและล้มเหลวของกระบวนการก่อนหน้านี้

3.ความอยุติธรรม การกักขังหน่วงเหนี่ยวทางการเมือง การกลั่นแกล้งข่มเหงรายบุคคล การวิสามัญฆาตกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมลายูปาตานียังรุนแรงและระบาดไปทั่ว

4.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการกดดันและข่มขู่คุกคามของประชาชนมลายูปาตานียังไม่มีหลักประกันเต็มที่ที่ทำให้พวกเขาสามารถแสดงทัศนะและความปรารถนาที่แท้จริงออกมาได้

5.ชีวิตประจำวันของประชาชนปาตานียังถูกกดขี่และตกอยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวดโหดร้ายสามฉบับ กล่าวคือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกฎอัยการศึก

6.สิทธิการสืบทอดจากบรรพบุรุษและสิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีและสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวปาตานียังไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาอภิปราย

กระบวนการพูดคุยสันติภาพย่อมใช้เวลายาวนานและเส้นทางย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เราเน้นย้ำมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจและเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งนี้สามารถคลี่คลายได้ด้วยการพูดคุยอย่างสันติ มันย่อมเป็นการดีกว่า ถ้าเราเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้แทนที่จะต่อสู้กันต่อไปอีกสิบ ยี่สิบ หรือห้าสิบปี เพิ่มจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายและความเสียหายต่อทั้งสองฝ่าย ก่อนที่เราจะยอมก้าวเข้ามาพูดคุยกันที่โต๊ะเจรจาในท้ายที่สุด

สุดท้ายนี้ อีกครั้งที่ข้าพเจ้าขอมอบช่อดอก “ชบา” แด่ประชาชนผู้รักสันติทุกท่านเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ” ลงชื่อ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม, จากนอกรั้วปาตานี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net