คู่สนทนาโปรดฟัง ! ข้อเรียกร้องของเรา “นี่คือวาระสันติภาพจากชายแดนใต้/ปาตานี”

14 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมอ่านแถลงการณ์ “วาระสันติภาพจากพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี” ในงานวันสื่อสันติภาพ มีข้อเรียกร้องที่หลากหลาย แต่มีประเด็นร่วมให้คู่ขัดแย้งลดใช้ความรุนแรง ละเว้นการโจมตีเป้าหมายอ่อนและพื้นที่สาธารณะ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

เวลา 10.45 น.วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี 14 องค์กรได้สลับกันขึ้นอ่านแถลงการณ์ เพื่อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ “วาระสันติภาพจากพื้นที่ (Agenda damai dari rakyat)” ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 : สันติ(ที่มองเห็น)ภาพ Visible/Visionary Peace ที่ห้องประชุมชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

ทั้ง 14 องค์กร ได้แก่ สภาประชาสังคมชายแดนใต้, เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P), เครือข่ายชุมชนศรัทธา ‘กัมปงตักวา’, เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้และเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ปัตตานี/ปาตานี, กลุ่มด้วยใจ, สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (WePeace), เครือข่ายสาธารณสุขยะรัง, สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้, กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้(Dream South), กลุ่มเยาวชนใจอาสา, กลุ่มช่างภาพเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (PPS) และสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ (Dewan Bahasa dan Pustaka Melayu Thailand)

จากการสรุปประเด็นโดยรวม พบว่ามีหลายข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นร่วม เช่น ให้คู่ขัดแย้งลดการปฏิบัติการที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ละเว้นการโจมตีเป้าหมายอ่อนและพื้นที่สาธารณะ เปิดพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ จะให้ความร่วมมือประสานความเข้าใจระหว่างคู่ขัดแย้งและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

สำหรับข้อเรียกร้องของแต่ละองค์กรโดยสรุปมีดังนี้

1.สภาประชาสังคมชายแดนใต้
นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นด้วยกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ที่จะดำเนินกลไกกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไป มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกระบวนการสันติภาพโดยรวม เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เป็นจริง รากเง้าของความขัดแย้งมาจากปัญหาความยุติธรรม การบริหารจัดการเชิงวัฒนธรรม และการหนุนเสริมประชาธิปไตยในระดับพื้นที่ เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อขจัดปัญหาขั้นต้นให้หมดไป

2.เครือข่ายชุมชนศรัทธา ‘กัมปงตักวา’
นายแวรอมลี แวบูละ อ่านแถลงการณ์ว่า ความเสียหายจากความรุนแรงได้หยั่งรากลงถึงประชาชนโดยทั่วกัน การแก้ปัญหาต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ โดยต้องมีประเด็นที่ประชาชนพึงพอใจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมการศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาและการให้เกียรติความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและเกิดความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรง

พลังขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ควรหนุนเสริมอย่างเต็มศักยภาพ ชุมชนศรัทธาขอสนับสนุนแนวทางการแก้ไขความขัดแย้ง ตามแนวทางสันติวิธีด้วยกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มีความตั้งใจบริสุทธิ์ในการพูดคุยสันติภาพ(สันติสุข)ในครั้งนี้

3.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)ปัตตานี/ปาตานี
นายฮัมดี ขาวสะอาด อ่านแถลงการณ์ว่า ให้ยุติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่และควรแสดงความจริงใจโดยการเจรจาเพื่อแก้ปัญหา นำประเด็นผลกระทบจากความรุนแรงและนำประเด็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลักมาพูดคุยด้วย การพัฒนาอัตลักษณ์ร่วมกันสามารถทำด้วยกันได้ ยุติการบิดเบือนประวัติศาสตร์มาเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงอีก

ระหว่างการเจรจาควรให้โอกาสแต่ละฝ่ายนำเสนอความคิดเห็นหรือความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน รัฐควรเปิดโอกาสให้ครอบครัวของผู้ต้องขังในกรณีเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พบญาติ ทั้งสองฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อทุกฝ่าย ไม่จับผู้นำศาสนา อุสตาซและปิดล้อมสถาบันปอเนาะ

อยากให้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ เช่น เรื่องการศึกษา ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำและการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน และลดความหวาดระแวงประชาชน ไม่จับกุมผู้ต้องสงสัยซ้ำๆ ทั้งที่ผ่านการพิสูจน์ความบริสุทธิ์มาแล้ว

ไม่อยากให้ทั้งสองฝ่ายฝึกอาวุธแก่เด็ก ทั้งสองฝ่ายควรยุติการใช้เด็กในการสู้รบ และต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่สาธารณชนด้วย

4.กลุ่มด้วยใจ
นางสาวสุไบดา เด็ง และนางสาวคอรีเยาะ ดอมอลอ อ่านแถลงการณ์ถึงความปลอดภัยของเด็กทุกคนว่า อย้าให้ตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และการพูดคุยควรคำนึงถึงสิทธิของประชาชน สิทธิพลเมือง อย่างไม่เลือกปฏิบัติทั้งทางเชื้อชาติศาสนา ขอคู่ขัดแย้งให้คำนึงว่าทุกคนคือประชาชนของทั้งสองฝ่าย

5.สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (WePeace)
นางสาวปาติเมาะ เปาะอิแตดาโอ๊ะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ อ่านแถลงการณ์ว่า ความรุนแรงได้คร่าชีวิตผู้หญิง 32 ราย บาดเจ็บ 60 รายซ้ำยังมีการกระทำต่อศพอย่างไม่เคารพ เช่น การตัดคอ เผาศพ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และขัดต่อทั้งหลักการสากลและหลักการศาสนา สมาคมจึงเรียกร้องต่อคู่ขัดแย้ง ดังนี้

1.ให้ทุกฝ่ายที่ใช้อาวุธเคารพและปกป้องชีวิตผู้หญิงและเด็ก เป้าหมายอ่อนแออื่นๆ
2.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษค้นหาความจริงและหามาตรการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมรวมทั้งเยียวยา
3.ให้มีการเสวนาระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
4.ขอให้มีคณะกรรมการกาชาดสากลช่วยปกป้องคนเหล่านี้รวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์
5.เพิ่มสัดส่วนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการแก้ปัญหาภาคใต้รวมทั้งในกระบวนการสันติภาพ

ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมา และขอประณามทุกการกระทำรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อน และเรียกร้องให้นำผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขให้กลับคืนมา

6.สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
นายทวีศักดิ์ ระคนจันทร์ อ่านแถลงการณ์ว่า ความรุนแรงทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ให้ทัดเทียมภูมิภาคอื่นๆ ในกระบวนการพูดคุย ควรมุ่งเน้นประเด็นที่เห็นร่วมกันจะเป็นแนวทางที่คุยกันต่อได้ ซึ่งเป็นประเด็นสร้างสรรค์และมีการยอมรับของทุกฝ่าย เช่น ยุติการโจมตีเป้าหมายอ่อน การใช้วัตถุระเบิดในแหล่งชุมชน การทำลายระบบการศึกษา และอื่นๆ ส่วนประเด็นกฎหมายจะต้องสร้างบรรยากาศที่ดีกว่านี้ เพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อกระบวนการสันติภาพ

ขอให้ทุกฝ่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพพร้อมกัน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบถึงพัฒนาการในกระบวนการพูดคุย และควรตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยด้วย

อยากให้ทุกฝ่ายในสังคมอดทน อดกลั้นต่อกระบวนการสันติภาพ มีความหนักแน่นต่อประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อถกเถียงที่จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนกระบวนการพูดคุยสันติภาพลงได้

7.สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้
นายสุวิทย์ หมาดอาดำ อ่านแถลงการณ์ว่า อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้นมาเหมือนเดิม ทางสมาคมฯขอเรียกร้องว่า 1.ต้องเคารพและเชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน 2.ทุกฝ่ายต้องสนับสนุนให้สังคม หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคมให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ 3.ให้มีความปลอดภัยต่อฝ่ายที่สื่อสารเพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพให้เกิดในพื้นที่ในอนาคต

8.เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
นางอัญชลี คงศรีเจริญ อ่านแถลงการณ์ว่า รัฐบาลไทยควรต้องดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างชัดเจนและมีผล คู่ขัดแย้งต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมทั้งไทยพุทธและมุสลิมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยหรือสังเกตการณ์ เพื่อเป็นตัวเชื่อมกับประชาชนและเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยของประชาชน

กลุ่มขบวนการที่มีความคิดเห็นต่างต้องยุติการทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอเพื่อเสริมบรรยากาศของการพูดคุยสันติสุข และต้องดำเนินไปพร้อมกับการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยของประชาชน

9.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้และเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
เป็นแถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายผู้หญิง 6 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ กลุ่มเซากูน่า เครือข่ายสตรีไทยพุทธจังหวัดยะลาและกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งออกแถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2558

เรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการและกลไกการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะทุกขั้นตอนทุกมิติ โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่มีความสมดุลชายหญิงและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ ที่ผ่านมาผู้หญิงมีส่วนร่วมน้อยมากในกลไกการตัดสินใจต่างๆ การมีส่วนร่วมดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกัน

เรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยให้เป้าหมายอ่อนอย่างผู้หญิงและเด็ก รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่ต้องยุติการกระทำรุนแรงต่อพื้นที่เหล่านั้นด้วย

สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพแต่อยากให้รวมการเสวนากับชุมชนต่างศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน

ผู้หญิงที่มีศักยภาพเหมาะต่อการเป็นคนกลางจัดเสวนา เป็นสื่อ เป็นผู้เยียวยา ปกป้องสิทธิมนุษยชนและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้ จึงเรียกร้องให้รัฐเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ใช้ศักยภาพและส่งเสริมบทบาทด้านต่างๆด้วย
ให้ผู้หญิงมีโอกาสสื่อสารและสื่อควรนำเสนอข่าวที่เป็นจริง รอบด้าน ไม่ขยายความขัดแย้ง และไม่นำเสนอเพียงความรุนแรงเท่านั้น แต่ควรสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ด้วย

10.เครือข่ายสาธารณสุขยะรัง
นางสาวรอปีอ๊ะ ยี่งอ อ่านแถลงการณ์ว่า ทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายสาธารณสุขได้ช่วยเหลือประชาชนตลอดมา ขอเรียกร้องให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้แก่สาธารณชนและศาสนสถาน ให้มีความเป็นธรรมในการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกัน

11.กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (Dream South)
ตัวแทนขึ้นอ่านแถลงการณ์ว่า การพูดคุยสันติสุข/สันติภาพจะต้องอยู่ภายใต้กรอบและหลักการที่ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนในชายแดนใต้/ปาตานีเป็นที่ตั้ง คู่ขัดแย้งต้องไม่คุกคามการแสดงออกทางการของพลเรือน ยอมรับการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองที่มีต่อพลเมืองในชายแดนใต้/ปาตานีและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

รัฐบาลไทยต้องยอมรับการมีอยู่ของฝ่ายคิดเห็นต่าง และต้องระบุหรือให้คำนิยม คำว่า “ชาวปาตานี” หมายถึงใคร ให้ชัดเจน

12.กลุ่มเยาวชนใจอาสา
นางสาวรอมือละห์ แซเยะ ประธานกลุ่มอ่านแถลงการณ์ว่า 11 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่ทำให้เกิดความไม่เชื่อใจในสันติภาพ อาทิ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับนายมูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ ทำให้ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังมีข้อสงสัยเรื่องการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้น มีเพียงการพูดคุยกับคู่ขัดแย้งหลัก แต่ไม่มีฝ่ายที่มาถามประชาชนว่าต้องการอะไรบ้าง

สิ่งที่ต้องการคือ ความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ เพราะผู้คนที่ต้องอยู่ในพื้นที่แห่งนี้คือประชาชน

13.สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ (Dewan pustaka melayu Thailand)
นายหะมิดิง สะนอ ประธานสถาบันอ่านแถลงการณ์ว่า สถาบันเกิดขึ้นเพื่อพยุงภาษามลายูตัวเขียนยาวีที่เป็นเอกลักษณ์ของมลายูให้ยังคงอยู่ หลังจากที่ถูกหลงลืมไป โดยเฉพาะในประเทศไทย พัฒนาการของการเขียนภาษามลายูในภูมิภาคที่ผูกโยงกับความรุ่งเรืองของอาณาจักรอื่นๆในภูมิภาค เริ่มจากเชื่อมโยงกับภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ จนถึงภาษาอาหรับที่เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามเข้ามาด้วย แต่ปัจจุบันมีการนิยมใช้ภาษามลายด้วยตัวเขียนรูมีมากกว่า ทำให้ตัวเขียนยาวีได้ถูกหลงลืมไปมาก สถาบันฯจึงพยายามเพื่อฟื้นฟูภาษามลายูตัวเขียนยาวี เพื่อให้ยังคงอยู่ต่อไป

14.กลุ่มช่างภาพเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (PPS)
นายฟูอัด แวสะแม อ่านแถลงการณ์เรื่อง ให้โอกาส‘ภาพแห่งสันติ’ได้ผลิบานโดยมีข้อเสนอต่อสาธารณะดังนี้ ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง รวมถึงปฏิเสธการยั่วยุที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อันจะก่อให้เกิดผลกระทบและสร้างบรรยากาศเชิงลบต่อสังคมโดยรวม หันมาใช้ช่องทางสันติวิธี ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในขณะนี้

ขอให้ทุกฝ่ายเปิดโอกาสและให้การสนับสนุนกลุ่มช่างภาพในฐานะผู้บันทึกจิ๊กซอว์แห่งประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ให้พวกเราได้ทำงานบันทึกภาพวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและเป็นอิสระช่างภาพในฐานะคนในพร้อมจะให้ความร่วมมือและร่วมทำงานขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพกับเครือข่ายทุกระดับทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงในระดับสากล

 

คลิกอ่าน

รวมคำแถลง "วาระสันติภาพจากพื้นที่" (Agenda Damai Dari Rakyat) เนื่องในวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2

คลิกดูภาพบรรยากาศในงานที่ WeWatch Dsp Coordinate

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มแล้ว “สันติ(ที่มองเห็น)ภาพ ViVi Peace” งานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

จะสันติสุขหรือสันติภาพ? ดุลยปาฐก ‘พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช - อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท