สามเหลี่ยมทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                  

ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื่อนภูเขา การขยับเขยื่อยกระทำปฏิบัติการที่ยากเข็ญเกินฝันถึงยังอาจกระทำให้เป็นจริงได้โดยการร่วมแรงร่วมใจกันสามฝักฝ่ายระหว่าง ฝ่ายอำนาจ-ฝ่ายความรู้-ฝ่ายรากหญ้า ประจักษ์พยานของความสามารถขยับเขยื่อนได้เริ่มในวงการสาธารณสุข เช่น  ความสำเร็จของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานประกันระบบสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ทางกาย)ได้ มีส่วนยืนยันความน่าเชื่อถือของทฤษฏีที่เสนอโดย นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสนี้อีกโสตหนึ่ง

อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างสุขภาพทางปัญญาจิตใจใน แวดวงกระทรวงศึกษาธิการกลับมีลักษณะกลับทิศกันอย่างน่าประหลาด วาทกรรม สมุดพกความดี ค่านิยมสิบสองประการ และ การทุ่มเทเวลาท่องจำ ออกแบบผลิตสติเกอร์ไลน์ ต่อความคิดเห็นที่ถือได้ว่ายังมีข้อขัดแย้งควรถกเถียง กลับผุดออกมาไม่ขาดสายและยังได้รับฉันทามติจากอำนาจบริหารประเทศ ในการประชุมของคณะกรรมมาธิการ ปฏิรูปการศึกษาที่แถลวง ว่าทราบกันดีว่า รัฐไทยลงทุนกับการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลกเห็นเป็นปัญหา แต่ก็มองเห็นปัญหาการศึกษาของประเทศในมิติแง่กฎเกณฑ์การบริหารการจัดการ  (technical, instrumental) เท่านั้น[1]  การมองไม่เห็นเหตุการณ์ข้างต้นว่ามีปัญหาแสดงความไม่มีความไม่เข้าใจถึงมิติระดับโครงสร้างของปัญหา (practical, emancipatory)[2]ปีกสาธารณสุขของประเทศที่ก้าวหน้าก็คงมองไม่ออกว่าจะเป็นประเด็นความเกี่ยวเนื่องถึงคุณภาพสุขภาพสามัญสำนึกอย่างถ้วนหน้าในอนาคต
 
หากการขับเคลื่อนเคลื่อนย้ายนโยบายสำคัญสำคัญเหล่าในประเทศนี้กระทำไปด้วยการค้ำยันจากทฤษฎีสามเหลี่ยมขยับเขยื้อนภูเขาก็แสดงว่าทฤษฎีน่าจะมีปัญหาพื้นฐานอยู่  ทิศทางการขยับเขยื้อนที่กระจัดกระจายกันไปตามยถากรรมน่าจะเห็นได้ว่าการกำหนดทิศทางในการขยับเขยื้อนดูจะไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของปัญหาทางสังคมไทยอย่างรอบด้านรอบมิติ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับหลักการและอภิปรายถึงปัญหาจากแง่มุมของทฤษฎีในบทความนี้ก็อาจมีประโยชน์

บทความนี้ประกอบด้วยส่วนต่างๆสี่ภาค  ได้แก่ ภาคการทบทวนการปริวัตรสามจากฝั่งระเบียบวิธีวิจัยในสาขาที่พบ และ นำเสนอ สามมุม-ไตรโกณ ของความเข้าใจรากฐานของภูเขาหรือภูเขาน้ำแข็งของสังคมไทยอย่างสังเขป ในสามมิติ ได้แก่ ภาคมิติของจิตใต้สำนึกที่ชี้ถึงปมปัญหาของตัวตนทางสังคม  ภาคมิติของวัฒนธรรมพื้นหลังซึ่งมีส่วนกำกับวิถีชีวิต   และ ภาคมิติของการสื่อสารที่กำกับวิธีการสนทนา การสนทนาแบบปัจจุบันกำลังประกอบสร้างความขัดแย้งมากกว่าทิศทางสร้างความเข้าใจ   บทความขอมีส่วนในการ“ปรับทัศนคติ”ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้มิติทั้งสามมีสถานะที่ซ้อนทับซ้อนเหลื่อมและเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน การแยกอภิปรายเป็นเพียงวิธีที่ช่วยกันทำให้เข้าใจสิ่งที่เข้าใจยากหรือภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้มหาสมุทรอีกเก้าส่วนแต่การทำความเข้าใจต้องเห็นการอิงอาศัยระหว่างกันของแต่ละปริมณฑล  อย่างไรก็ตามวัตถุทางโบราณคดีของจิตใต้สำนึกนั้นไม่อาจนอนให้ศึกษาอย่างสงบ เนื้อหาของบทความในหลายมิติจึงเป็นการสันนิษฐานและสหสัมพันธ์ อันมีจุดบกพร่องทางมรรควิธีที่ไม่แสดงความเชื่อมโยงทางเหตุผลอย่างกระจ่าง

แต่ภาพความคิดของความเคลื่อนไหวปริวัตรสามที่อาจมีความขุ่นไม่กระจ่างอยู่บ้างแต่ก็อาจเปิดให้มองอภิปรายขยายความอย่างรอบคอบรอบด้านร่วมกันได้  การเช็ดล้างให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นร่วมกันเกิดได้ในอนาคต  เป็นความคาดหวังที่อย่างน้อยก็เพื่อสร้างโอกาสที่เห็นภาพปัญหาลึกร่วมกันเสียก่อนที่จะขยับเขยื่อนในทิศทางที่เหมาะสมในกาลเทศะต่อไปตามควร

Triangulation Technique, Mixed Methodology

สามเหลี่ยมหรือปริวัตรสามในทฤษฎีถือว่ามีรากฐานทางวิธีวิทยาที่ทันสมัยในปัจจุบัน  โดยเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งใน กระบวนวิธีวิจัยแบบผสม (mixed methodology) อันถือเป็นกระแสทางสายกลางทางวิธีวิทยาจากการสงบศึกระหว่างฐานคิดเชิงคุณภาพปะทะฐานคิดเชิงปริมาณในสงครามวิธีวิทยาการวิจัยที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 1980s หรือ อาจพบกระบวนการวิธีวิจัยแบบผสมในชื่อการวิจัยเชิงบูรณาการ[3]  

น่าสนใจที่กระบวนวิธีปริวัตรสามวิจัยแบบผสมนี้กลับมีรากฐานที่มาวิธีจาก สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ  เรขาคณิต วิศวกรรม ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตัวอย่าง ได้แก่ การระบุค่าพิกัดตำแหน่งด้วยGPSจะมีความแม่นยำก็ต่อเมื่อดาวเทียมที่พบเห็นตำแหน่งสามดวงขึ้นไป หรือ  วิธีพาราแลกซ์ที่ใช้หลักการสามเหลี่ยมที่ทราบระยะด้านและวัดมุมที่ทราบในรูปสามเหลี่ยมที่นำไปสู่คำณวณระยะที่ไม่ทราบใช้วัดระยะห่างจากผู้สังเกตุถึง ดวงดาวฤกษ์ และ กาแลกซึ่อันไกลโพ้น หรือ การคาดคำณวณระยะทางของสัตว์ผู้ล่ากับเหยื่อโดยอัตโนมัติก็ย่อมมาจากระยะห่างระหว่างอายตนะคู่(ตา, ลิ้น, หู)ของผู้ล่า   หรือ การทำแผนที่การรังวัดที่ตั้งและขนาดพื้นที่ให้แม่นยำล้วนใช้สามเหลี่ยมเป็นฐานคำณวนทั้งสิ้น  หรือ โครงถักที่แข็งแรงและมีน้ำหนักเบาที่สุดแม้จะสลับซับซ้อนเพียงใดก็เริ่มจากรูปร่างสามเหลี่ยมในการออกแบบทางวิศวกรรมโครงสร้าง เป็นต้น

ความสามารถในกระบวนการวิธีปริวัตรสามวิจัยแบบผสมในตัวเองก็มี หลายระบบ เช่น สามเส้าของวิธีการเก็บข้อมูล, สามเส้าของแหล่งข้อมูล, สามเส้าของสาขาที่วิจัย, สามเส้าของทฤษฎีแนวความคิด, สามเส้าของระดับขนาดสเกล  เป็นต้น    แต่คุณสมบัติโดดเด่นก็คือการสถาปนาความน่าเชื่อถือ  (Validity) หรือ ความสามารถในการคัดกรองกำจัดอคติจากภายในกระบวนวิธีวิจัยในตัวเอง

สามเหลี่ยมยังเป็นเครื่องมือวิจัยที่มีประโยชน์ในการช่วยทำลายความคิดเห็นเชิงขั้ว (dualism)ลดทอนอคติในการวิจัยหรือในผู้วิจีย   สายมัธยามิกะหรือ นิกาย “ทางสายกลาง”ในพุทธศาสนาก่อนแบ่งฝ่ายมหายาน ได้ศึกษาถึง ธรรมชาติของสรรพสิ่งต่างๆนั้นบังเกิดในสามอาณาบริเวณที่สัมผัสกันและกัน นั่นคือ อัตวิสัยหรือทัศนภาค-ผู้รู้, ภววิสัยหรือนิมิตภาค-ผู้ถูกรู้, และ ตถตาหรือสหภวภาค-พื้นฐานแห่งความเป็นไปได้   อีกทั้งตถตาหรือสหภวภาคเองก็ได้ถูกวิเคราะห์ในปริวัตรสามลงไปอีกระดับได้แก่ ปริกัลปิตะสหภวะ ธรรมชาติของการสร้างขึ้นมาอย่างความฝัน, ปรตันตระสหภวะ ธรรมชาติของการสร้างขึ้นจากความโยงใยเกี่ยวข้องกันอิทัปปัจยตา  และ นิศปันนะสหภาวะ ธรรมชาติสมบูรณ์แห่งปรมัตถ์ ทั้งนี้สภาวะทั้งสามอาณาบริเวณทั้งสามนั้นต่างอิงอาศัยพลวัตรซึ่งกันและกันไม่อาจแยกออกจากกันได้[4]

ในวิชาปรัชญา อัตภาพวิสัย (subject) ภวภาพวิสัย (Object) ต่างเป็นประเด็นถกคิดต่อเนื่องร่วมกันในทุกแนวปรัชญาตลอดมา ส่วนสหภวะนั้นอาจแตกต่างตามจุดเน้นจุดเชื่อจุดสนใจของแต่ละแนวคิดปรัชญา เช่น “อำนาจ”ในความคิดของนิทเฉอ และ ฟูโกต์, “ภาษา” ในวิตเกนสไตน์,โรลองด์บาร์ท,ดาริดา และ เรื่องเล่าของปอลล์ ริเกอร์ เป็นต้น   ในสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างหรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ผู้เขียนได้เคยถกแถลงถึงปริวัตรสามแล้วอย่างละเอียดในบทความสองชิ้น ชิ้นหนึ่งใช้รูปและเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันนำมาแจกแจง และอีกชิ้นสรุปทฤษฎีแนวคิดที่มีผู้เสนอไว้ต่างสาขานำมาสรุปในแบบจำลองเชิงรูปในแบบปริวัตรสาม[5]
         

ที่พอสรุปได้ว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบสิ่งแวดล้อมของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นผลผลิตเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองสรรค์สร้างขึ้นไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่  สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในปริมณฑลสามที่อิงอาศัยกันและกันไม่อาจแบ่งแยก ได้แก่ ปริมณฑลของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างวัตถุที่ว่างและกาลเทศะ,  ปริมณฑลขององค์ประธาน, ปริมณฑลของปฏิบัติการ    บทความนี้จะอภิปรายต่อไปถึงปริมณฑลทั้งสามของปัญหาโดย อุปมาเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่เห็นชัดแต่ส่วนยอด ทว่าซ่อนฐานภูเขาไว้เก้าส่วน อนึ่ง การสันนิษฐานแบบสหสัมพันธ์ที่ใช้สังเคราะห์บทความก็จัดเป็นวิธีวิทยาที่มีช่องโหว่ ผู้อ่านควรไตร่ตรองและใช้วิจารณญาณตามสำควร
 

สำหรับสังคมประเทศไทย ขอตั้งข้อสังเกตุ ปริมณฑลทั้งสามตามสันนิษฐานว่า ได้แก่ วัฒนธรรมฉากหลังในปริมณฑลของวัตถุวิสัยพื้นที่กาลเทศะสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง, จิตใต้สำนึกร่วมกันในปริมณฑลของตัวตนอัตวิสัยองค์ประธาน, และ การสื่อสารจากระบอบสุนทรียภาพในปริมณฑลของปฏิบัติการเป็นเงื่อนไขทั่วไป  โดยการนำเสนออย่างสังเขปอาจตรวจสอบตามเอกสารต้นทางกำกับตามรายการอ้างอิงท้ายบท

First Side –วัฒนธรรมฉากหลัง

การศึกษาสังคมวัฒนธรรมตะวันออกเกิดขึ้นตามขนานมากับประเพณีการล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นมาสี่ร้อยปีล่วงมาแล้ว  ท่ามกลางความคิดเหมารวมความคิดไปเองความคาดหวังไปเองฝ่ายเดียวของบรรดาผู้ล่าอาณานิคมตามที่ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด(Edward Said) ได้วิจารณ์หักล้างไว้ใน The Orientalism ก็ยังมีงานวิจัยที่มีคุณูปการมีคุณภาพบางชิ้นที่โผล่พ้นและรวมให้ภาพตั้งต้นของลักษณะเฉพาะในกระบวนการทางสังคมการเมืองของรัฐทางเอเซียโอเชียเนียได้ดี ได้แก่ Nakara ของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ  อคิน รพีพัฒน์เป็นผู้ที่อ่านวิธีการและทฤษฎีของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซอย่างเป็นระบบให้ความเห็นว่า[6] (2551:240)
         
“นครา เป็นหนังสือที่วิจารณ์ว่าการวิเคราะห์การเมืองโดยนักวิชาการตะวันตกนั้นใช้แนวคิดเรื่องอำนาจซึ่งเป็นการสั่งการ การบังคับบัญชา และมีการข่มขู่ใช้ความรุนแรงหนุนหลัง ทำให้ไม่ครอบคลุม แล ใช้ไม่ได้กับการศึกษาสังคมที่มีระบบการปกครองแบบบาหลี”
         
“ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือสังคมที่เกียร์ซศึกษานั้นมีอะไรที่คล้ายคลึงกับสังคมไทย   อย่างน้อยระบบการแบ่งลำดับยศศักดิ์ สถานภาพ  ตลอดจนการยึดมั่นถือมั่นในความแตกต่างไม่เท่าเทียมกัน อันเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อยมีความสำคัญในการจัดระบบสังคมของทั้ง ชวา บาหลี และไทย    นอกจากนั้น ผมยังรู้สึกว่าสังคมบาหลีมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายสังคมไทยอย่างยิ่ง ความสำคัญของพิธีกรรม ความหมายของสถาบันกษัตริย์ การกระจายอำนาจบังคับบัญชา สิ่งเหล่านี้ต่างก็มีอะไรคล้ายสังคมไทย และแตกต่างอย่างน่าสนใจ....”
         
“ นครา เป็นตัวอย่างของระบบปกครองที่ไร้อำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งการ   การปฏิบัติงานของบุคคลากรของรัฐและประชาชน ดำเนินไปโดยอาศัยการเลียนแบบผู้ที่มีสถานภาพสูงกว่า (มียศศักดิ์สูงกว่าด้วย) หรือ สถาบันที่เหนือกว่าตามลำดับ   ทั้งนี้อาศัยหลักการเมืองหรือทฤษฎีที่ว่าด้วยศูนย์กลางที่เป็นแบบอย่างของความดีเลิศที่แสดงออกในพิธีกรรม”

           
“ในบทสรุปนี้ เกียร์ซกล่าวว่าวัฒนธรรมบาหลีนั้นหมกมุ่นอยู่กับเรื่อง สถานภาพ ยศศักดิ์และการแสดงที่โอ่อ่าซึ่งเป็นเครื่องหมายของสถานภาพ   การที่ว่าคุณเป็นใคร มีสถานภาพยศศักดิ์อะไร เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมในสังคมบาหลี และระดับสูงต่ำของสถานภาพยศศักดิ์นั้นขึ้นอยู่กับระยะห่างจากเทพเจ้า   ยิ่งใกล้เทพเจ้าสถานภาพยศศักดิ์ก็ยิ่งสูงขึ้น    สถานภาพยศศักดิ์เป็นบริบทที่ให้ความหมายแก่พฤติกรรมทางการเมือง   นอกจากนั้นแล้วยังชักจูงให้ผู้แสดงทางการเมืองหันมาร่วมกันสร้างพิธีกรรมการละครเฉลิมฉลองสถานภาพ ยศศักดิ์ด้วย   จึงพูดได้ว่ารัฐได้กำลังอำนาจมาจากจินตนาการซึ่งเป็นความสามารถที่ทำให้เกิดความหลงใหลในยศศักดิ์ ความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม.” (2551:220.)

นอกจากคำสำคัญ รัฐนาฏกรรม (กานดา นาคน้อย ประชดเรียกสังคมไทยหลังรัฐประหารคสช.ว่า “แดนลิเก”)  เราจะเห็นว่าระบบอุปถัมถ์อภิสิทธิในสังคมก็เป็นสิ่งที่งอกงามออกมาจากรัฐนาฏกรรมนั่นเอง    ระบบอุปถัมถ์เป็นคำสำคัญอีกคำหนึ่งในปริมณฑลเชิงพื้นที่   งานวิจัยของ อคิน รพีพัฒน์ เองชี้ว่า ระบบอุปถัมถ์ของไทยกระจายแพร่หลายอย่างถ้วนทั่ว กระทั่งไปถึงหน่วยน้อยๆของสังคมภายในชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง[7]  ส่วนงานวิจัยของสายพิณ สุพุทธมงคล เสนอในอีกมุมว่าเมื่อมีความครบถ้วนในปัจจัยต่างใน “วัฒนธรรมฉากหลัง”รองรับระบบอุปถัมถ์ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในสังคมใดๆก็ได้ ไม่ใช่สิ่งเฉพาะของวัฒนธรรมเอเซียแต่เป็นไปได้ในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับอัตตาหน้าตาและกลุ่มพวก ผ่านการวิจัยวิถีชีวิตครอบครัวชาวอิตาลีใต้ครอบครัวหนึ่งในเมืองคาปัว[8] ในมุมประวัติศาสตร์ ธงชัย วินิจจะกุลเห็นว่าระบบอุปถัมถ์ในไทยพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดที่เขาเรียกว่า “Hyper Royalism”ลัทธิจงรักภักดีล้นเกิน       

อย่างไรก็ตาม ระบบอุปถัมถ์นั้นสามารถดำรงรักษาสถานะของระบบเองได้เป็นอย่างดี โดยใช้เงื่อนไขสำคัญคือ “ของขวัญ” ในการศึกษาของ มาเซล มอสส์ Marcel Mauss (1872-1950) The Gift: The Form and Reason for Exchange in Archaic Societies (พิมพ์ใหม่2000) “ของขวัญ รูปแบบแผนและเหตุผลในการแลกเปลี่ยนในสังคมบุพกาล” ที่พบว่า “ประเพณีของของขวัญ”เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงความไว้วางใจที่มีต่อคนกลุ่มระดับล่าง และ เกี่ยวข้องกับแลกเปลี่ยนเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ตอบแทนกันในสังคมของคนกลุ่มบน     นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีอีก สี่มิติ ที่แสดงถึงธรรมชาติของแบบแผนโครงสร้างของแต่ละสังคม ได้แก่  มิติตำนานเทพปรกรณัมของวัฒนธรรม), มิติอำนาจเหนือธรรมชาติแบบพ่อมดหมอผี,  มิติของอำนาจตามข้อตกลงประเพณีและ มิติทางเศรษฐกิจธรรมชาติ      ประโยคทองในภาพยนต์เรื่อง “The God’s Father”น่าจะเป็นตัวอย่างเจ้าพ่อแห่งระบบอุปถัมถ์ที่คลาสสิค Don Corleone ที่กล่าวว่า "I'm gonna make him an offer he can't refuse. “ข้าจะให้ของขวัญที่เขาไม่สามารถปฏิเสธ”  ในมิติธุรกิจ ลด แลก แจก แถม ย่อมเป็นกลยุทธสำคัญในการทำการตลาดในสังคมรัฐนาฏกรรม   ในการนี้การให้ในสิ่งที่เป็นของผู้รับเองโดยผู้รับไม่รู้ตัวถือว่าชาญฉลาดเป็นที่สุด  ส่วนในมิติทางพุทธศาสนา “การให้ธรรมะ”ถือว่า “ชนะการให้อื่นๆทั้งปวง”-สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ   หากมิติด้านใดอยู่ในด้านมืดมิติอีกด้านก็อยู่ในด้านสว่าง

ทั้งหมดนี้หากทดลองเชื่อตามแบบปรมาจารย์ทางสันติวิธีศึกษา โยฮัน กัลตุง ไปก่อนที่เห็นว่า “การที่มิติใดมิติหนึ่งของ “วัฒนธรรม”...ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง   ทั้งในรูปของความรุนแรงทางตรงหรือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” “วัฒนธรรม(ที่กัลตุงใช้ในที่นี่)  ใช้ในความหมายแบบนักสังคมวิทยา คือ ปริมณฑลเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic sphere) ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ อาทิ ศาสนา อุดมการณ์ ภาษาและศิลปะ ศาสตร์ประยุกต์และศาสตร์บริสุทธิ์....”[9]  

ก็อาจเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆที่แนบเนียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในสังคมกลับเป็นเมล็ดพันธุ์แฝงเร้นที่พร้อมที่จะรับรองเงื่อนไขฉากหลังของความรุนแรง   บทความนี้ขอเรียกปริมณฑลวัตถุวิสัยของพื้นที่กาลเทศแบบแผนบทบาทบุคคลตามความเข้าใจต่อความคิดของกัลตุงว่า “วัฒนธรรมฉากหลัง”

Second Side – จิตใต้สำนึกร่วมทางสังคม

ในระบบจิตใต้สำนึกแบบพุทธสำหรับปัจเจกบุคคลการค้นหาทำความเข้าใจกับ ความยุ่งเหยิงที่ขมวดเป็นปมปัญหา ย่อมเป็นวิธีหลักในการแก้เงื่อนปมทำให้คลายทุกข์ โดยทั่วไปคือปมสามปมคือ ปมแห่งความเด่นดี,ปมแห่งความด้อย หรือแม้กระทั่ง ปมแห่งความเท่าเทียมกัน ในสังคมไทยเราคงละเลยไม่พิจารณาปมจิตใต้สำนึกร่วมทางสังคมนี้ไปไม่ได้แม้หลักฐานโบราณคดีจิตใต้สำนึกนี้ไม่อยู่ในฐานะที่จับต้องง่าย   ขอใช้การสังเกตุสหสัมพันธ์ในการทดลองมองหาจิตใต้สำนึกของสังคมไทยผ่าน “collective Oedipus complex” ทัศนะทางปรัชญาของสองนักคิดคือ เดอเลิซและกัตตารีผ่านงานวิจัยเรื่องการเมืองของความปราถนา ของ ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร , และ “ธรรมาธิษฐาน-บุคลาทิษฐาน”ผ่านวิทยานิพนธ์เรื่องพุทธทาสภิกขุ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและการปฏิรูปเชิงนวสมัยในประเทศไทย โดย ปีเตอร์ แจคสัน และ ข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวตนในตัวละคร “ศรีธนญชัย”ในกรอบคิดการสร้างอัตตบุคคลจากเรื่องเล่าของปอลล์ ริเกอร์ ในข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวตนในตัวละคร “ศรีธนญชัย”ในกรอบคิดการสร้างอัตตบุคคลจากเรื่องเล่าของปอลล์ ริเกอร์  สังคมไทยไม่เคยเห็นความเอน็จอนาถในชะตากรรมของความตายของเขาภาพปฏิภาณไหวพริบของเขากลบชะตากรรมวิบากกรรมจากการสังหารน้องตัวเองเสียหมด

 “collective Oedipus complex”

“ประเด็นหลักที่งาน A Thousand Plateaus นำเสนอและถือเป็นการสานต่องานเรื่องAnti-Oedipus ได้แก่ความคิดที่ว่า  ถ้าหากความ ปราถนาถูกทำให้กลายเป็นพลังของการเก็บกดปิดกั้นแล้ว ความปราถนาเช่นนี้จะนำไปสู่ลัทธิฟาสซิสต์ในที่สุด” (2555: 126-127)

เดอเลิซกับกัตตารีบอกว่า พวกเขาไม่เคยพบคนไข้จิตเภทคนใดที่เวลาเพ้อจะมีมิติเดียวคือ ครอบครัว   ตรงข้าม สิ่งแรกที่พวกจิตเภทเพ้อคือ การกีดกันปิดกั้นทางเชื้อชาติ และ ประวัติศาสตร์   ฉะนั้นสำหรับเดอเลิซและกัตตารี อาการหลุดทางจิตมีมิติทางประวัติศาสตร์ เสมอก่อนที่จะมีมิติของครอบครัวอย่างที่จิตวิเคราะห์เข้าใจ   มิติทางประวัติศาสตร์ของโรคจิตเภทนี้เองที่เดอเลิซกัตตารีเห็นว่าต้องได้รับ ความสนใจ  มิฉนั้นเราจะตกอยู่ในวังวนของจิตวิเคราะห์และการให้ความสำคัญกับครอบครัวจนเกินจริงไป และนำไปสู่การเก็บกดปิด กั้นความปราถนาในที่สุด   การเมืองของความปราถนาคือการปลดปล่อยความปราถนาให้เป็นอิสระจากการเก็บกดปิดกั้นนี้ด้วยการ สร้าง พื้นที่ราบผืนใหม่ที่ไม่มีการจัดชั้นสูงต่ำทางสังคม ผ่านวิธีการที่เรียกว่า “การวิเคราะห์แบบจิตเภท” (schizo analysis) [10]   ( 2555: 167)

สำหรับสังคมไทย การตกอยู่ในวังวนของปมออดิปุสของจิตวิเคราะห์และถูกให้ความสำคัญอย่างล้นเกิน กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในกาลเทศะที่ไม่ค่อยคาดถึงและบางครั้งก็เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ดังคำขอบคุณในการรับรางวัลนาฏราชครั้งที่หนึ่งประจำปีพ.ศ.2552 เมื่อวันที่ 16 พค.2553  ของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง[11] และ กรณีการติดตามจับกุมพิพากษาตามคำสั่งศาลทหารและไล่อาจารย์ออกจากมหาวิทยาลัยด้วยสาเหตุกฎหมายมาตรา112 ในจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

 “ธรรมาธิษฐาน-บุคลาธิษฐาน”

ปีเตอร์แจคสัน ได้วิเคราะห์ท่านพุทธทาสไว้อย่างรอบด้านและรัดกุม ได้นำเสนอข้อสังเกตุเกี่ยวกับทฤษฎีกับการอ้างอิงของท่านขอคัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังนี้

ตามขนบประเพณีแล้ว พระสุตตันตปิฎกโดยรวมได้ชื่อว่า โวหารเทศนา หรือ “คำสนอนที่เป็น [ที่นำเสนอในรูปของ] ภาษาสามัญ”... ซึ่งหมายถึงว่าตามขนบประเพณีแล้วพระสุตตันตปิฎกโดยรวมจัดอยู่ในคำสอนประเภทบุคลาธิษฐาน   ในทางตรงข้าม พระอภิธรรมได้ ชื่อว่าปรมัตถเทศนา หรือ “คำสอนที่เป็น [ที่นำเสนอในรูปของ] ความจริงขั้นสูงสุด...อย่างไรก็ตามทฤษฏีภาษาคนภาษาธรรมของท่าน พุทธทาสไม่ตรงกับแนวคิดนี้” (144)

ถึงกระนั้น  เราได้ทราบกันแล้วว่า ทฤษฎีภาษาคน-ภาษาธรรมไม่ได้มาจากแนวคิดเรื่องบุคลาธิษฐานและธรรมาธิษฐานที่พบใน วรรณกรรมพระอภิธรรมเพียงที่เดียว   เพราะทั้งวิธีการตีความหลักคำสอนตามที่ เนติปกรณ์ ได้เสนอแนะไว้ และธรรมเนียมที่ยอมรับ กันโดยทั่วไปว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยใช้ภาษาที่สอดคล้องกับระดับความเข้าใจของผู้ฟัง   ต่างก็เป็นหลักฐานที่ มั่นคงสำหรับ ทฤษฎีดังกล่าวของท่านพุทธทาสในสายขนบเถรวาทได้อยู่แล้ว   แต่ก็เป็นความจริงที่ว่า ท่านพุทธทาสได้อ้าง อย่างชัดเจนว่า บุคลาธิษฐานและธรรมาธิษฐานเป็นแหล่งที่มาของแนวคิดเกี่ยวกับภาษาคนและภาษาธรรมของท่านตามลำดับ   และก็ เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ท่านไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของพระอภิธรรมปิฎกอันเป็นแหล่งที่มาของความคิดดังกล่าว” (146-147)

“...พระราชวรมุนี (พระพรหมคุณาภรณ์ -ประยุทธ์ ปยุตฺโต)กำลังชี้ว่า ข้อแตกต่างเชิงแนวคิดรวบยอดระหว่างสมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ  ซึ่งรองรับทฤษฎีภาษาคน-ภาษาธรรมของท่านพุทธทาสและรองรับข้อแตกต่างในการตีความแบบบุคคลาธิษฐานกับแบบธรรมาธิษฐานนั้น  มีแหล่งที่มาอยู่จริงในพระพุทธวจนะที่ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก   นั่นคือการวิเคราะห์ของพระราชวรมุนีได้ช่วยแก้ปัญหาที่ท่านพุทธทาสปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง  โดยการสืบค้นจนพบแหล่งที่มาของความแตกต่างระหว่างสมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นปกรณ์ที่ท่านพุทธทาสยอมรับ”

หลัก"ตถตา"ที่ท่านพุทธทาสภิกขุนำมาจุดคบให้แสงสว่างต่อสังคมไทยอาจศึกษาคุณูปการที่ลึกซึ้งจากมาธยามิกะมหายาน (รายละเอียดตามเอกสารในเชิงอรรถที่สี่) ซึ่งเป็นผลจากศึกษาทำความเข้าใจทบทวนวรรณกรรมต่อเนื่องมาจากพระอภิธรรมปิฎก  การปฏิเสธพระอภิธรรมของท่านจึงมีความย้อนแย้งทั้งย้อนแย้งเชิงบุคลาธิษฐานของ"นาม"และย้อนแย้งกับหลักการ "ความยึดมั่นถือมั่น" ของท่าน  
 
 ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองคำที่เลือกทบทวนเป็นกรณีศึกษาที่ดี และ ส่องให้เห็นเป็นปัญหาในระดับจิตใต้สำนึกของสังคมไทยโดยรวมได้ระดับหนี่ง การความยึดมั่นถือมั่นในบุคลาทิษฐาน (ตัวบุคคล, ชื่อเรียก ,รูปแบบ ) หรือ ภาษาคน นั้นมากล้นพ้นไปกว่า (หลักการ, ธรรมาธิษฐาน หรือ ภาษาธรรม, เนื้อหา) และ ติดยึดอยู่แต่ในเงื่อนปมทางจิตใจ คือสิ่งแฝงเร้นอยู่ในปริมณฑลตัวตนทางสังคม

Third Side – การสื่อสารจากระบอบสุนทรียภาพ

ปริมณฑลที่สามนี้คือ ปริมณฑลของการสื่อสารในสังคมไทย   ในแนวความคิดทางสัญศาสตร์ของโรลังด์ บาร์ท เห็นว่า สรรพสิ่งมีความหมายอยู่สองระดับเสมอ คือความหมายทางตรง (denotation meaning) หรือ ความหมายหลักที่เป็นกำหนดนิยามทั่วไป และ ความหมายแฝง (connotation meaning) ซึ่งอาจสร้างขึ้นจากการเทียบเคียงกับความหมายตรง หรือ ความหมายแฝง ก็ได้ หรือ อาจมีความหมายแฝงไปได้เรื่อยๆไม่รู้จบ  โดยที่บาร์ทเห็นว่า การสรรค์สร้างความหมายแฝงให้ “โดน”นี้แหละคือเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ศิลปวรรณกรรมทั้งปวง    

สำหรับสังคมไทยผู้เขียนมีข้อสังเกตุว่า การให้ ความหมายทางตรงกำลังถูกการให้ความหมายแฝง (connotation meaning) กลบเกลื่อน การให้ความหมายแฝงในงานศิลปะหรือการใช้กลวิธีทางศิลปะของถ้อยคำมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้นเป็นเสน่ห์ของสังคม แต่การกลบเกลื่อนความหมายตรงในระบบวิชาการย่อมเป็นอันตรายต่อกระบวนวิธีสังเคราะห์ความรู้ของสังคมวิชาการนั้น     แต่การกลบเกลื่อนความหมายตรงของคำพื้นฐาน เช่น “ปฏิรูป”, “ค่านิยม”, “การศึกษา”,  “ความยุติธรรม”,”ประชาธิปไตย”, “สิทธิ”ฯลฯ  ไม่เพียงแต่จะอันตรายต่อวงวิชาการเท่านั้นแต่เป็นอันตรายต่อญาณวิทยาของสังคมซึ่งดูเหมือนว่าสอดคล้องต่อ กรอบแนวคิดสุนทรียศาสตร์ของความรู้  (Aesthetics of knowledge) หรือ ระบอบสุนทรียภาพ (Aesthetic Regime) ที่ นักปรัชญา ชาค รังเซีย ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย

 
“การพูดถึงมิติสุนทรียศาสตร์ของความรู้คือการพูดถึงมิติของอวิชชาที่ตัดแบ่งความคิดสร้างสรรค์และปฏิบัติการของความรู้ในตัวมันเอง
“to speak of an aesthetic dimension of knowledge is to speak of a dimension of ignorance which devides the idea and the practices of knowledge themselves.”  [12]

ในทางสังคมสามมณฑลแห่งความเข้าใจคือ ปริมณฑลของสิ่งที่ถูกรับรู้หรือวัฒนธรรมฉากหลัง, ปริมณฑลแง่มุมของผู้รับรู้หรือจิตใต้สำนึกร่วม และ ปริมณฑลแห่งความเป็นเช่นนั้นเองของการรับรู้ ที่แต่ละปริมณฑลล้วนอิงอาศัยกันและกันถูกนำเสนออย่างสังเขปในที่นี้  พลวัตรของการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องอิงอาศัยทั้งสามปริมณฑลที่เปลี่ยนแปลงอย่างอิงอาศัยกันและกัน.



[1] “สปช.ชี้ ไทยลงทุนการศึกษาอันดับ 2 ของโลก แต่ล้มเหลว เหตุเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ” พาดหัวข่าวทั่วไป http://campus.sanook.com/1376473/

[2] ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล และ สุภาพ  ฉัตราภรณ์. 2555. การออกแบบการวิจัย.  กรุงเทพฯ:  สนพ.มก. (11-12.) อ้างถึงต้นทางความคิดจากปรมาจารย์ทางประชาสังคมแห่งสำนักแฟรงค์เฟริต เจอร์เกน  ฮาเบอร์มาส Harbermas, J. 1972.  Knowledge of Human Interest.  “เขาได้จำแนกผลประโยชน์ของความรู้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ผลประโยชน์เชิงเทคนิค (technical interest) ซึ่งมุ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่มีกฏเกณฑ์ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซี่งต้องอาศัยความรู้เชิงประจักษ์แบบวิทยาศาสตร์  2) ผลประโยชน์เชิงปฏิบัติ (practical interest) ซึ่งมุ่งเพื่อการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันของคนในสังคม ต้องอาศัยความรู้ในมิติประวัติศาสตร์และการตีความเพื่อทำความเข้าใจและให้ความหมายต่อปรากฏการณ์ของมนุษย์และสังคมในชีวิตจริง และ 3) ผลประโยชน์เชิงปลดปล่อย (emancipator interest)

[3] _________________  2555 อ้างถึง Tedddlie and Tashakkori.  2009. (315)

[4] Thich Nhat Hanh.   2552.  สู่ชีวิตอันอุดม.  ส.ศิวลักษณ์ แปลจาก Transformation at the Base:  Fifty Verses on the Nature of Conscious. (120, 165-166, 201.)

[5] ศรันย์  สมันตรัฐ.  ภูมิทัศน์วัฒนธรรมย้อนคิด: การแสวงหาทฤษฎีสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง. Download ได้ที่   https://www.academia.edu/7689008/Reflexive_Cultural_Landscape_A_quest_for_Built_Environment_Theory

และ แย้งย้อนสู่งูกินหาง.  Download ได้ที่  https://www.academia.edu/7689032/Holistic_Conceptualized_Diagram_of_Subjectivity_Locality_Practice

[6]  อคิน  รพีพัฒน์.  2551.  วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ.  กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

[7] อคิน  รพีพัฒน์.  2543.  ชีวิตและจุดจบของสลัมกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[8] สายพิณ  ศุพุทธมงคล.  2555.  บ้านและเรื่องในบ้าน: ครอบครัว รัฐ และ การเมืองวัฒนธรรม.  กรุงเทพฯ:คบไฟ.

[9] ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์.  2556.  “สันติศึกษากับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย” อ่าน 5 (1) : 39-52.   ชูศักดิ์ซึ่งเป็นนักวิชาการในสายวรรณกรรมวิจารณ์ ได้ทบทวนงานของ โยฮัน กัลตุง. 1990. Cultural Violence. ในบทความก็เพื่อชี้ให้นักสันติศึกษาและนักประชาสังคมไทยผู้อยู่ในปริมณฑลนักวิชาการผู้ร่วมเขยื้อนขุนเขาได้ทบทวนวัตถุประสงค์ของความเที่ยงธรรมทางวิชาการของตนเอง   บทความนี้ก็มีวัตถุประสงค์นั้นเช่นนั้น

[10] ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร.  2555. การเมืองของความปราถนา.  กรุงเทพฯ: บ้านอักษร

[11] ประโยคสำคัญคือ  “ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว  จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ”

[12] Tanke.  J.  2011.  “What is the Aesthetic Regime?”.  PARRHESIA (11). 71-81.;    Rancière.  J. 2006. “Thinking between disciplines: an aesthetics of knowledge”. PARRHESIA  (1). 1-12.  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท