Skip to main content
sharethis

พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน “ CEO Innovation Forum 2015- Driving R&D Investment 1% of GDP” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เมื่อเร็วๆ นี้และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้ ว่า เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในการเร่งสนับสนุนการลงทุนการวิจัยและพัฒนาในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership-PPP) ในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่จะให้มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาร้อยละ 1 ของจีดีพี

พิเชฐ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติและดัชนีชี้วัดด้าน วทน. ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า ตัวเลขสถิติการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท จาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2551 คิดเป็น 0.37% ของจีดีพี โดยภาคเอกชนมีสัดส่วนในการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 60% คิดเป็นงบประมาณกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีมากในการไปสู่เป้าหมายการลงทุนในการวิจัยพัฒนาร้อยละ 1 ของจีดีพี  ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม การบริการวิจัยและพัฒนา ปิโตรเลียม และอุปกรณ์เครื่องจักร จากตัวเลขการลงทุนดังกล่าวดังกล่าวจะส่งผลถึงความต้องการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากขึ้น การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง  การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพันจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างยั่งยืน

“นอกจากนี้ กระทรวงวิทย์ฯ ยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนวิจัยอีกหลายโครงการ เช่น นโยบายปลดล็อกให้นักวิจัยและนักเรียนทุนมาทำงานในภาคเอกชนโดยสามารถนับอายุงานและการใช้ทุนได้ หรือ นโยบายTalent Mobility ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  หรือมาตรการลดหย่อนภาษี 300% ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำค่าวิจัยและพัฒนา หรือ การบริจาคเงินเข้ากองทุนวิจัยของรัฐ มาหักลดหย่อนภาษีได้ในอัตรา 300% และยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่คือการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก (One Stop Service) ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยในประเทศไทยของภาคเอกชน เป็นต้น” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

สำหรับบรรยากาศภายในงานนั้น มีการจัดเสวนาโดย โฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ, กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย มาให้ทิศทางในการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเป็นองค์กรนวัตกรรม เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมในองค์กร โดยเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเด็กซ์ครีเอทีฟวิลเลจ, ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด และพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพีออลล์และยังมี CEO รุ่นใหม่ไฟเช่น อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟีดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง, วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธานกรรมการ บจก.บาธรูมดีไซน์, สารสิน บุพพานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.เวลโลกราฟ และปิยพัชร์ ธัญญะกิจ กรรมการผู้จัดการ บจก.ไวเบรโต มาร่วมเสวนาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net