สมบัติ จันทรวงศ์: เราจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและมีธรรมาภิบาลด้วยได้อย่างไร

หมายเหตุ : ประชาไทถอดความการเสวนาของ สมบัติ จันทรวงศ์ บนเวทีเสวนาวิชาการทางสังคมศาสตร์เรื่อง การปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผมฟังอาจารย์พฤทธิสาณ (ชุมพล) พูดและอยากสรุปง่ายๆ ว่า อาจารย์พฤทธิสาณ ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย เป็นการปฏิรูปของกษัตริย์ ในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งได้ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และแล้วพอมาถึงรัชการที่ 6 ผลพวงอันหนึ่งที่นักปฏิรูปที่ไม่อาจคาดคิดและไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือกบฏหมอเหล็ง คือความพยายามของนายทหารกลุ่มหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วผลพวงอันนี้ก็ส่งผลกระทบเต็มๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7 คือปี พ.ศ. 2475 ผู้รู้บางท่านบอกว่าที่เราต้องมานั่งพูดกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี พ.ศ. 2475 มันยังไม่เสร็จสมบูรณ์

หัวข้อหนึ่งที่ผมติดใจมากที่สุดในวันนี้คือหัวข้อ “ความเป็นธรรม” คือถ้าเราปฏิรูปเพื่อความเป็นธรรมแล้ว ผมว่าอันนี้คือจุดสูงสุด โดยไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องอื่นแล้ว ซึ่งไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องความงาม แต่ถ้ามนุษย์ไม่เป็นธรรมก็งามไม่ลง หรือจะพูดถึงความเจริญ แต่ความเจริญที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่ถูก เพราะถ้าเจริญบางกลุ่ม แต่บางกลุ่มไม่เจริญ อาจมีปัญหา ผมจะขอพูดในเรื่องความเป็นธรรมมากกว่า

หลัง พ.ศ. 2475 พัฒนาการของการเมืองโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นชัดเจนว่าประเทศต่างๆ ในโลกแบ่งเป็น 3 ค่าย คือ เสรีนิยมตะวันตกมีอเมริกาเป็นโต้โผใหญ่ มีโลกคอมมิวนิสต์ และฝ่ายเผด็จการ ผมคิดว่าประเทศไทยในช่วงนั้นไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เผด็จการก็คงจะเป็น แต่ไม่เต็มรูปเท่าไหร่ ก็มีสภาพอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งปี 1989 เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง มีนักวิชาการตะวันตกคนหนึ่งชื่อ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) เขียนบทความที่มีชื่อเสียงมาก ชื่อว่า “The End of History and the Last Man” แกบอกว่า เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายแล้ว มันหมายถึงโลกคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายไปด้วย และจะไม่มีการต่อสู้ในทางอุดมการณ์ทางการเมืองอีกต่อไป คำทำนายนี้ถูกตอกย้ำในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล้มสลายไปจริงๆ ซึ่งบทสรุปก็คือว่า สิ่งที่เหลือต่อไปนี้ ก็คือสังคมมันไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นอีกแล้ว รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด คือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือแบบทุนนิยมอันนี้คือรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด

ปัญหาจากประเทศไทยถ้าจะมองจากมุมมองนี้ก็คือว่า การที่เราจะก้าวข้ามการมองแบบเดิมของเรา มาสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย มันเป็นสิ่งที่ยากมาก มันมีปัญหาเยอะแยะไปหมด ซึ่งมองง่ายๆ ในอาเซียน ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เราอาจจะรู้ดีพอสมควร ประเทศฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกาได้เขียนรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับของอเมริกันและฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานก่อนประเทศอื่นในอาเซียนทั้งหมด แต่ถามว่าทุกวันนี้ฟิลิปปินส์เป็นอย่างไร? ไปไหน? ก็คงตอบว่าไม่ล้ำหน้าประเทศไทยเท่าไหร่

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวกว่านั้นและก็อาจจะเปรียบเทียบกับประเทศไทยได้ดี ในทศวรรษที่ 1970 ปาปัวนิวกินีได้รับเอกราชจากออสเตรเลีย และปาปัวนิวกินีก็รับเอาระบอบการปกครองแบบรัฐสภาอังกฤษเข้ามา ผลก็คือแต่เดิมปาปัวนิวกีนี (และปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่) เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนเผ่าเล็กต่างๆ มากมาย หัวหน้าเผ่ารักษาความเป็นหัวหน้าหรือก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าได้ จะต้องแจกสิ่งของให้กับลูกเผ่า เช่น แจกอาหาร หมู แจกเปลือกหอยที่มาทำเป็นสตางค์ให้ลูกเผ่า แต่พอเอาระบอบการเมืองแบบรัฐสภาประชาธิปไตยเข้ามาก็เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการแจกของ แต่ก็มีการแจกของอยู่เหมือนเดิน แต่คราวนี้แจกเป็นรายได้หรือทรัพยากรต่างๆ ที่ได้มาจากการให้สัมปทานทำเหมืองหรือสัมปทานอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในปาปัวนิวกินี

คำถามก็คือว่าเมื่อมาถึงจุดนี้ การที่ประเทศหนึ่งๆ จะเปลี่ยนจากสังคมที่เป็นจารีตประเพณี มีวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบหนึ่ง ไปเป็นประชาธิปไตยมันไม่ง่าย มันอาจจะทำให้คุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลด้วย แต่ถามว่ามันจำเป็นหรือไม่ว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งจะถูกสาปให้เป็นประชาธิปไตยไปไม่ได้ตลอดชั่วกาลนานก็คงไม่ใช่ แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับในขณะเดียวกันว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่เราเรียกว่ายั่งยืนทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ล้วนมีรากฐานอยู่บนเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทำไม่ได้หรือไม่มี เพื่อจะไปให้ถึงจุดนี้ เราต้องมาทบทวนว่าเราขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง

ผมคิดว่าอันดับแรกที่เราขาดตกบกพร่องก็คือความเชื่อพื้นฐาน ในประเทศตะวันตก ยกตัวอย่างเช่นประเทศอเมริกา คำพูดว่า "All men are created equal" มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มันเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถพูดได้ อ้างได้ ความเสมอภาคเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย คนต้องเชื่อก่อนว่าเราเท่าเทียมกัน เพราะถ้าหากว่าเราไม่เชื่อเรื่องนี้ เรื่องอื่นๆ ที่จะเป็นผลตามมาก็จะเป็นเรื่องยาก เพราะว่าความเสมอภาค เราถือว่ามันคือหลักการในทางทฤษฎี มันเป็นหลักการความจริงทางเมตาฟิสิกส์ ไม่ใช่ความจริงที่เป็นรูปธรรม เราลองมองไปรอบตัวเราไม่มีใครที่เท่าเทียมกันหมด แต่เราเชื่อว่าโดยหลักการแล้วทุกคนเท่ากัน เพราะเราเชื่อว่าคนทุกคนเท่ากัน จึงมีหลักการทางปฏิบัติขึ้นมาว่าการปกครองนั้นต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจ ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร

หลักการเรื่องการปกครองโดยเสียงข้างมาก เป็นเพียงหลักการทางปฏิบัติ มีรากฐานอยู่บนหลักการทางทฤษฎี เพราะฉะนั้นหลักการทางปฏิบัติจะไปล้มล้างหลักการในทางทฤษฎีไม่ได้ หนทางหนึ่งที่จะไม่ไปล้มล้างหลักการทางทฤษฎีคือ ต้องเคารพสิทธิอันเท่าเทียมกันของเสียงฝ่ายน้อย เสียงข้างน้อย ถ้าไปละเมิดตรงนี้ก็จะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เป็นธรรม

ผมขอยกปัญหาที่เฉพาะจงจง ถ้าเราต้องการเป็นสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย เราต้องแยกแยะสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย เอาง่ายๆ คือการให้คนจำนวนมากที่สุดเข้ามามีส่วนร่วมทางการปกครอง จะต้องจำไว้ ในอดีต ในประวัติศาสตร์มีหลายประเทศ หลายสังคมมีประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงเสรีภาพของคน เราสามารถมีประชาธิปไตยโดยไม่มีเสรีนิยมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรีกสมัยโบราณ เอเธนส์มีประชาธิปไตย แต่มีทาสด้วย ประชาธิปไตยของเอเธนส์มีให้เฉพาะคนที่เป็นไทแก่ตน แต่ผู้หญิง ทาส คนต่างด้าวพวกนี้ไม่เกี่ยว ไม่ได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย

เราอาจจะยกตัวอย่างได้ว่า ในสมัยนาซีเยอรมัน ฮิตเลอร์ได้เสียงข้างมากจากประชาธิปไตย แต่ว่าในนาซีเยอรมันไม่มีเสรีนิยม เพราะว่าฮิตเลอร์ใช้อำนาจนั้นเบียดเบียนรังแกคนอื่น ในขณะเดียวกันเราก็มีตัวอย่างของสังคมที่เสรีนิยมโดยที่ไม่ต้องมีประชาธิปไตย เช่น อังกฤษ สมัยก่อนที่จะให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไป คนอังกฤษก็มีสิทธิเสรีภาพ คนอเมริกันก่อนที่จะปฏิวัติจากอังกฤษ พวกเขาก็มีสิทธิเสรีภาพของเขา

การเอาสองอย่างมาผสมกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องเข้าใจว่า เมื่อเราพูดถึงเสรีนิยม เราต้องพูดถึงเป้าหมายของรัฐบาล เราพูดถึงสิทธิส่วนบุคคล พื้นที่ส่วนตัว เราพูดถึงสิ่งที่รัฐหรือสังคมต้องไม่เข้ามารุกล้ำ แต่เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตย เรามักจะไปพูดถึงแต่ประชาธิปไตยในเชิงกระบวนการว่าจะไปเลือก ส.ส.มาอย่างไร จะไปเลือก ส.ว. มาอย่างไร สองอย่างนี้ถ้ามันผสมกันไม่ลงตัว มันจะเป็นปัญหา

ถ้าเราไปดูประเทศที่รูปแบบการปกครองเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มันลงตัว เงื่อนไขที่เรายังไม่มีอันแรกที่สำคัญก็คือว่า ประเทศเหล่านั้น อย่างในอเมริกา อังกฤษ มันมีหลักนิติธรรม (The Rule of law) หลักนิติธรรมไม่ได้เป็นแค่การปกครองโดยกฎหมาย เรามักแยกการปกครองโดยกฎหมายออกจากตัวบุคคล แต่หลักนิติธรรมกฎหมายมันต้องผูกพันคนที่ออกกฎหมายเสมอเหมือนกัน ยกตัวอย่างในอเมริกาหรืออังกฤษ ผู้คนปลอดจากการถูกปกครองโดยอำนาจตัวบุคคล ก่อนที่เขาจะมีอำนาจและสิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่เสียอีก สิทธิในทรัพย์สินเป็นที่ยอมรับของคนอังกฤษและคนอเมริกัน ซึ่งพวกเขาสามารถจะจัดการทรัพย์สินของตนเองอย่างไรก็ได้ แต่ว่าผู้ปกครองจะไปลิดรอนสิทธิเหล่านี้ไม่ได้ เพราะพวกเขามีสิทธิเหล่านี้ก่อนที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งเสียอีก

อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสังคมไทยยังไม่มี เพราะฉะนั้นในทางรัฐศาสตร์ จึงถือว่าการที่คุณจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ในสังคมที่ไม่มีหลักนิติธรรม ร้อยทั้งร้อยเป็นไปไม่ได้ คำถามก็คิดว่า สังคมไทยเรามีสิ่งนี้แล้วหรือยัง? เราปลูกฝังกันหรือยัง?

มีอยู่จังหวัดหนึ่งที่ผมเคยไปเป็นประจำ ผมพบว่าถนนใหญ่ที่สุดในจังหวัด ด้านหนึ่งเป็นโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด อีกด้านหนึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดเป็นโรงเรียนใหญ่เป็นโรงเรียนดีทั้งคู่ ตื่นเช้ามาตอนเปิดเทอมรถจะจอดกัน ไม่ใช่สองแถว แต่มันตั้งสามแถว คำถามผมคือว่า หลักนิติธรรมมันมีหรือไม่ในประเทศไทย ผู้คนที่ขับขี่รถยนต์ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดไม่เคารพกฎหมาย คนขี่มอเตอร์ไซค์ขับรถย้อนศรเป็นประจำ เคยมาชนรถผมด้วย พอไปถึงสถานีตำรวจ แทนที่จะเล่นงานคนขับมอเตอร์ไซค์ ตำรวจกลับคุยกับคนขับมอเตอร์ไซค์ว่าคราวหลังให้ขับรถระวังหน่อย ซึ่งมันไม่ถูก เพราะคนขับมอเตอร์ไซค์ทำผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นแล้ว ถามว่า ถ้าคนทำผิดกฎหมายต้องระวังหมายความว่าอย่างไร เรื่องใกล้ตัวนี้ชี้ว่าเราไปถึงไหนแล้ว ก็คือปัญหาเรื่องหลักการนิติธรรม

อันที่สอง เราจะพบว่าในกรณีของอเมริกา ที่เป็นประเทศเกิดมาก็เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นประเทศเกิดใหม่ ที่ไม่มีจารีตประเพณี ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ในเรื่องของยศฐาบรรดาศักดิ์ ประชาธิปไตยของอเมริกาคือประชาธิปไตยในการแลกเปลี่ยนระหว่างคนที่เท่าเทียม เพราะฉะนั้นจึงทำให้ประชาธิปไตยเกิดง่าย เพราะทุกคนมองเห็นว่าเราจะได้อะไร ไม่ได้อะไร แต่ประชาธิปไตยอย่างอังกฤษที่ประเทศไทยพยายามจะเลียนแบบนั้นแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นไม่ใช่ในความว่างเปล่า แต่เกิดขึ้นในสังคมเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นจารีตประเพณี ชนชั้นนำนำมาช้านาน ทั้งศาสนจักร อาณาจักร เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีจารีตประเพณีอย่างนี้ จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่มันยากลำบาก ซึ่งอันนี้ทำได้ยาก ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายเลย

ตัวอย่างประเทศไทยจะเห็นได้ชัดว่าเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย สถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือจะออกแบบขึ้นมา ต้องคำนึงถึงพลังจารีตประเพณีของเก่าที่มีอยู่และไม่หดหายไปไหน ซึ่งจะทำอย่างไรให้มีองค์ประกอบประชาธิปไตยที่ไม่มากเกินไปแต่ต้องไม่น้อยเกินไป จะออกแบบสถาบันทางการเมืองอย่างไรที่ประกันสิทธิเสรีภาพของผู้คนทั้งหลาย ในขณะเดียวก็ไม่ทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่คนกลุ่มอื่น เพราะความจริงทางการเมืองที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ไม่มีสังคมไหนที่มีคนอยู่ประเภทเดียว มันมีคนหลายประเภท แล้วเราต้องอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นการออกกฎเกณฑ์ สถาบันทางการเมืองทั้งหลายต้องคำนึงถึงเรื่องนี้

เงื่อนไขอันต่อไปที่เห็นชัดก็คือว่า ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศที่ยากจนนั้น เป็นเรื่องยาก ประเทศที่กำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจแล้วคุณพยายามมาทำการทดลองประชาธิปไตยนั้น มันก็ยาก เพราะปัญหาปากท้องเร่งรัดมากกว่า ผู้คนคำนึงถึงเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเองมากกว่า เพราะจังหวะเราอาจจะไม่ดี ดังนั้นจึงต้องรอจังหวะออกไปก่อน

อีกประการคือ การทำรัฐสมัยโบราณให้กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเครื่องมือหรือกลไกที่ทำให้รัฐจารีตเป็นรัฐสมัยใหม่คือ ใช้ระบบราชการ กลไกระบบราชการ เหมือนที่อาจารย์พฤธิสาณ พูดไปเรื่องการปฏิรูปในสมัยที่รัชกาลที่ 5 ที่ท่านได้สร้างขึ้นมาคือ กลไกระบบราชการ ซึ่งทำให้รัฐกลายเป็นรัฐที่เข้มแข็ง และถ้าระบบราชการเป็นระบบที่ไม่ฉ้อโกง ไม่ทุจริต ก็ยิ่งทำให้กลไกรระบบราชการมีความหมายและมีความสำคัญยิ่งขึ้น

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือตัวอย่างของประเทศเยอรมัน ในสมัยบิสมาร์คที่เยอรมันมีรัฐราชการที่เข้มแข็ง ซึ่งอาจจะดีหรืออาจจะไม่ดีกับการเมืองประชาธิปไตยก็ได้ เพราะถ้าหากว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้มีหลักการันตีหรือประกันอะไรว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นต้องเป็นผู้ปกครองที่ดี อาจจะเป็นคนชั่วร้ายก็ได้ เพียงแต่ว่าเขาได้รับความนิยมมากที่สุดในเวลานั้น นักการเมืองที่มาจากระบอบประชาธิปไตยหรือจากการเลือกตั้ง ถ้าได้ระบบราชการที่เข้มแข็งเป็นเครื่องมือก็สามารถจะใช้กลไกราชการนั้น ทำให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างที่เขาต้องการได้ อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้แต่ถ้านักการเมืองชั่ว บวกกับกลไกราชการที่ตามใจนักการเมืองอันนั้นคงจะไปไม่รอด

ผมคิดว่า ปัญหาของสังคมไทยมันคือปัญหาเรื่องค่านิยมหลัก (Core Values) ซึ่งค่านิยมหลักของคนไทยกับค่านิยมหลักของระบอบประชาธิปไตยมันสวนทางกัน มันมีปัญหาตรงที่ว่า เวลาที่เราพูดถึงเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่าง เสรีภาพในการพูด ทุกคนมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในระบอบประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพในการพูด แต่เสรีภาพในประชาธิปไตย ต้องมีขอบเขตจำกัด เคยมีคนมาถามผมว่าแล้วอะไรเป็นตัววัดว่ามันควรจะมีขอบเขตจำกัดได้แค่ไหน

ผมเลยบอกว่า เสรีภาพในการพูด คือ เราดูขอบเขตที่เจตนา วัตถุประสงค์ในการพูด คุณพูดเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ในการพูดเป็นตัวกำหนดขอบเขตเสรีภาพในการพูดของคุณ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณพูดว่าไฟไหม้ พูดที่ไหนก็ได้ พูดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าคุณไปพูดในโรงภาพยนตร์ที่มีคนดูหนังเต็มไปหมด แล้วบอกว่าคุณมีเสรีภาพในการพูดว่า “ไฟไหม้โว้ยๆ” ถามว่าในกรณีนั้นคุณมีเสรีภาพในการพูดหรือไม่? ผมว่าคุณไม่มีสิทธิ คุณต้องถูกจับเข้าคุก หรือในทำนองเดียวอย่างคนที่พูดว่า “พี่น้องเผาไปเลย ผมรับผิดชอบเอง” คุณไม่มีสิทธิที่จะพูด ไม่มีเสรีภาพที่จะพูดอย่างนั้น ในสถานการณ์แบบนั้น คุณพูดไม่ได้ สิทธิเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าคุณมีสิทธิเสรีภาพจะทำในสิ่งที่เลว ในสิ่งที่ผิด ผมคิดว่าฝ่ายที่เรียกร้องนิยมประชาธิปไตยควรจะตระหนักถึงข้อกำกัดเหล่านี้เรื่องนี้

เสรีภาพในการพูดมันเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เป็นสิ่งที่มันไม่มีต้นทุน ผมมีเสรีภาพในการพูด ผมก็ไม่ได้ไปจำกัดเสรีภาพการพูดของคนอื่น แต่ว่าในระบอบประชาธิปไตย มันต้องมีการตัดสินใจอะไรบางอย่าง การตัดสินใจในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีบ่อยครั้งที่มันให้ประโยชน์กับฝ่ายหนึ่ง แต่ไปกระทบประโยชน์อีกฝ่ายหนึ่งหรือกระทบความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นคนนิยมประชาธิปไตย แต่คุณไม่มีศาสตร์ ไม่มีศิลปะในการที่สิ่งที่คุณอยากเรียกร้องและเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนยอมรับได้ สิ่งที่เกิดก็คือว่าจะมีคนส่วนน้อยหรืออาจคนส่วนใหญ่ ที่เขารู้สึกว่าค่านิยมหลักที่เขายึดมั่นมา อาจจะเป็นจารีต ประเพณี เป็นนามธรรม รูปธรรม ซึ่งเขารู้สึกว่าค่านิยมของเขาถูกระทบกระเทือนอย่างสำคัญโดยการตัดสินใจของระบอบประชาธิปไตย ในกรณีนั้นเขาอาจจะเต็มใจ อาจจะพร้อมใจที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย เพราะว่าค่านิยมหลักของเขาถูกกระทบกระเทือน

เราไปประณามเขาไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าสังคมไทย ประชาธิปไตยไทยไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางความว่างเปล่า มันเกิดขึ้นมา มันต้องปรับตัวมันเองให้เข้ากับความรู้สึก ค่านิยมที่ผู้คนถูกได้รับการถ่ายทอด ปลูกฝั่งกันมาอย่างยาวนาน คุณต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนมากที่พูดว่า เสรีภาพในทางการเมืองไม่สำคัญขอให้ได้รับความปลอดภัยก่อนหรือเสรีภาพทางการเมืองไม่สำคัญขอให้ค้าขายได้ก่อน

เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่มั่นคงมันจึงต้องเป็นประชาธิปไตยที่ต้องการเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะพร้อม สังคมไทยในขณะนี้ผมมองว่า ค่านิยมประชาธิปไตย (Democratic Values) มันยังไม่ฝังรากลึกพอ บวกกับแบบปฏิบัติในทางประชาธิปไตยที่มันเน่าเฟะ เราปฏิเสธหรือไม่ว่าไม่มีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้นประเด็นตรงนี้ ที่ทำให้เราต้องระมัดระวังในการที่จะก้าวย่างไปบนถนนของการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประชาธิปไตย การปกครองทุกรูปแบบถูกทำลายด้วยระบบพวกพ้อง ระบบญาติพี่น้อง แถลงการณ์ของคณะราษฎร โจมตีรัชกาลที่ 7 ว่าเล่นพรรคเล่นพวก ช่วยเหลือพรรคพวก ชนชั้นเดียวกัน

แต่ในระบอบประชาธิปไตยการเล่นพรรคเล่นพวกมันเปลี่ยนในระดับสเกลคือมันเป็นระบบมากขึ้น มันใหญ่มากขึ้น มันตอบแทนต่อคนชนชั้นหนึ่งชนชั้นใดโดยเฉพาะให้ผลประโยชน์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอันนี้เป็นจุดที่ต้องระวัง เพราะถ้ารัฐบาลต่อให้มีความชอบธรรมในการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน รัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน มันก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นไม่รู้จบ

เพราฉะนั้นผมอยากจะพูดว่า ในสมัยยุคปัจจุบัน สิ่งที่เราถกเถียง ก็คือ เราจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาลด้วยได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าเราให้น้ำหนักกับธรรมาภิบาลมากจนไม่เป็นประชาธิปไตยมันก็เป็นปัญหาใหญ่ หรือถ้าเราให้ประชาธิปไตยโดยไม่มีธรรมาภิบาลเลยก็คงจะรับลำบาก ซึ่งในอดีตมันสอนแล้วสอนอีกไม่ใช่แค่ประเทศเราว่าระบบการเลือกตั้งมันอาจจะนำทรราชมาก็ได้ ตัวอย่างในตะวันออกกลางเห็นได้ชัดเจน เอาทรราชออกไปแล้วเอาการเลือกตั้งมามันกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ล้มการเลือกตั้งเอาทรราชเข้ามาเป็นอีกแบบหนึ่ง

เพราะฉะนั้นการปฏิรูปผมจึงเสนอว่า ต้องยอมรับถึงปัญหาที่มีก่อนว่าปัญหามีอะไรบ้าง ฝ่ายที่ไม่ยอมปฏิรูปเลย คือฝ่ายที่ไม่มองความจริง ฝ่ายที่จะปฏิรูปโดยทำทุกอย่างใหม่หมดคือพวกเพ้อฝัน ผมคิดว่าคำถามที่พยายามตอบให้ได้ว่าสังคมไทยปัจจุบันจะมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคงสัดส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยคงตรงนี้ไว้ ทำอย่างไรจึงจะมีรัฐบาลมีประสิทธิและเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะถ้ามีแต่รัฐบาลที่มีความชอบธรรมแต่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่รู้จะเอามาทำอะไร ค่านิยมแบบจารีตกับค่านิยมประชาธิปไตยจะทำอย่างไรให้มันลงตัว ส่งเสริมตรงไหน โดยที่ไม่ทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง

ถ้าไม่แก้ปัญหาตรงนี้ ผมคิดว่าเราก็คงได้มานั่งพูดเรื่องนี้อีกอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ดังนั้นขอสรุปสุดท้ายเลยว่า คำถามก็คือ คุณอยากได้สังคมที่เป็นเสรีนิยมหรือสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าอยากได้ทั้งสองอย่าง ก็ค่อยๆ นั่งคิดและปฏิรูป เริ่มต้นด้วยการยอมรับความจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท