กำหนดโควต้าที่นั่งทางการเมืองผู้หญิงใน รธน. สร้างความเสมอภาคทางเพศ?

 

จากการณี ทิชา ณ นคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลวว่า ไม่ได้มีความคิดจะต่อต้านการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่หมดศรัทธาที่จะสื่อสารกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในประเด็นการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้กับเพศหญิง ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและสภาท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมาธิการผู้หญิงได้ประนีประนอมด้วยการให้ปรับถ้อยคำจากเพศหญิงเป็นเพศตรงข้ามแล้ว แต่กรรมาธิการผู้ชายคัดค้านยังไม่ยอมรับเหตุผล ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่การขัดขวางหรือลดคุณค่าเพศชาย แต่มุ่งหวังเปิดพื้นที่ให้เพศหญิงเข้าไปร่วมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความสมดุลเท่านั้น (ที่มา : INN)

หลังจาก ทิชา ประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะที่ปรึกษาขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ผู้หญิงอีสานกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูป” ตั้งคำถามถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า กมธ. ยกร่างฯ จำเป็นต้องทบทวนตัวเองแล้วว่า มีเหตุผลอะไรที่ชอบธรรมจึงไม่ยอมรับสัดส่วนหญิงชาย ในหลักการรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังส่งสัญญาณถอยหลังลงคลอง (ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์)

จาเมกา-โคลัมเบีย-เซนต์ลูเซีย ตัวอย่างผู้บริหารหญิงมากกว่าชาย

หากพิจารณา สัดส่วนผู้หญิงใน สปช. มีประมาณ 15% ขณะที่ สนช.มีเพียง 6% ซึ่งต่ำกว่าสภาผู้แทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 19.33% แน่นอนว่าบทบาทในการชี้นำสังคมไม่ใช่เพียงบทบาทางการเมืองเท่านั้น การมีบทบาทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การแรงงานนานาชาติ (ILO) เปิดเผยรายงานระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 64 ของการจัดอันดับประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารมากที่สุด ด้วยอัตราส่วน 28.8% โดยประเทศที่ถูกเก็บข้อมูลในการทำสถิติครั้งนี้มีทั้งหมด 126 ประเทศ ซึ่งเป็นการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2004-2012 ขณะที่มี 3 ประเทศในโลกที่พนักงานมีโอกาสที่จะได้เจอเจ้านายเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายคือ จาเมกา ทีมีจำนวนผู้หญิงมีตำแหน่งระดับบริหารสูงที่สุดถึง 59.3 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยโคลัมเบีย ที่ 53.1 เปอร์เซนต์ และเซนต์ลูเซีย 52.3 เปอร์เซนต์ (ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์)

ไทยอันดับ 6 ของโลก สัดส่วนผู้บริหารหญิง 38%

ส่วน บริษัท แกรนท์ ธอนตัน เผยผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนและบทบาทผู้บริหารหญิงจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี ผ่านรายงาน Women in business: from classroom to boardroom ซึ่งผลสำรวจพบว่า ในปี 57 สัดส่วนของนักบริหารหญิงทั่วโลกมีเพียง 24% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับในปี 56, 52 และ 49 และมีเพียงแค่ 5% ของประเทศที่เข้าร่วมสำรวจ ที่มีจำนวนนักบริหารหญิงสูงกว่า 19% ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ 10 ปีก่อน(ปี 47) (หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจ IBR ยังไม่ได้ครอบคลุมประเทศเศรษฐกิจอย่างบราซิล สาธาณรัฐประชาชนจีน และอินโดนีเซีย ในปี 47)  โดยในแต่ละภูมิภาคเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทีละน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยมีถึง 3 ประเทศที่อยู่ใน 6 อันดับแรกของโลก ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วนของนักบริหารหญิงที่ 41% ทะยานสู่อันดับ 2 ส่วนฟิลิปปินส์มีสัดส่วนถึง 40% อยู่ในอันดับ 4 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยสัดส่วน 38% ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย (ที่มา : ประชาไท)

‘จิตรา’ ชี้ ขึ้นอยู่ว่าเขาเป็นตัวแทนใคร ใช่ว่าชายจะไม่ปกป้องหญิง

จะเห็นได้ว่าหากมองในภาพรวมแล้วบทบาทของผู้หญิงทั้งตำแหน่งในทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยถือว่ามีมากเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นคำถามที่ย้อนไปถึงข้อเสนอให้บัญญัติโควต้าสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญที่ ทิชา เสนอนั้นจะนำไปสู่ความสมดลและความเสมอภาคทางเพศจริงหรือ จากนี้จะนำเสนอความเห็นที่แตกต่างไป

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ซึ่งทำงานกับสหภาพแรงงานที่มีคนงานหญิงเป็นสมาชิกมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยมากว่า 20 ปี แย้งว่า การกำหนดโควต้าสัดส่วนไม่สัมพันธ์กับการสร้างความเสมอภาคทางเพศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ เป็นตัวแทนหรือถูกควบคุมกับกับโดยใครหรือกลุ่มไหนมากกกว่า  

“จากประสบการณ์การทำงานสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นผู้หญิง ในโต๊ะเจรจาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน แม้ฝ่ายนายจ้างจะมีตัวแทนเจรจาที่เป็นผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะสนับสนุนข้อเรียกร้องที่เป็นสิทธิประโยชน์ของคนงานหญิงเสมอไป ผิดกับตัวแทนเจรจาของสหภาพที่บางมีผู้ชายเข้าไปด้วย ก็จะคอยสนับสนุนข้อเรียกร้องที่สนับสนุนสิทธิคนงานหญิง นั่นเป็นเพราะเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนงานที่ได้รับการเลือกตั้ง รวมทั้งคอยตรวจสอบกำกับจากสมาชิกสหภาพแรงงานตลอดเพื่อให้ดำเนินตามสิ่งที่สัญญาไว้กับสมาชิก” จิตรา กล่าว

เป็นที่น่าแปลกใจที่มีการยกประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศขึ้นมาในการร่างรัฐธรรมนูญ หากจะว่าไปแล้วการปฏิรูปครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรัฐประหารล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งมีความเท่าเทียมกันในสิทธิที่จะกำหนดทิศทางของประเทศ ทำให้หญิงชายหรือเพศต่างๆ มีสิทธิมีเสียงอย่างเท่าเทียม แต่กลับถูกทำให้โมฆะไป หากจะสร้างความเสมอภาคทางเพศควรสนับสนุนการเลือกตั้งมากกว่า

จิตรา คชเดช (แฟ้มภาพ ประชาไท)

ผู้หญิงใน สนช. สปช. ที่ถูกตั้งโดย คสช. ก็ปกป้องรัฐประหาร

“การกำหนดอัตราส่วนหญิงชายในตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นเท่านี้นั้น ด้านหนึ่งกลับเป็นการบีบบังคับและตัดทอนสิทธิของคนจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง หากมีผู้ชายคนหนึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนมากกว่าผู้หญิงอีกคนหนึ่ง แต่ผู้ชายคนนั้นกลับถูกกีดกันออกไปเพราะต้องทำตามสัดส่วนหญิงชายตามรัฐธรรมนูญ แบบนี้ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ใช่ว่าผู้ชายจะไม่ปกป้องสิทธิของผู้หญิง และไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะปกป้องคอยปกป้องสิทธิผู้หญิง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มหรือชนชั้นไหน อย่างเช่น ผู้หญิงใน สนช. สปช. ที่ถูกตั้งโดย คสช. ก็มีแนวโน้มที่จะปกป้องคณะรัฐประหารเช่นกัน” จิตรา กล่าว

รณรงค์โน้มน้าวดีกว่ากำหนดในกฎหมาย กันการตัดสิทธิคนอื่น

ส่วนกระบวนการสร้างให้สังคมตระหนักถึงสิทธิผู้หญิงและความเสมอภาคทางเพศนั้น จิตรา เสนอว่า นอกจากจะปกป้องหลักการ 1 คน 1 เสียง เพราะอย่างไรเสียผู้หญิงก็เป็นครึ่งหนึ่งของสังคมอยู่แล้ว ควรรณรงค์ให้ความรู้ ให้ข้อมูลเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนสนับสนุนผู้ที่มีนโยบายส่งเสริมและปกป้องสิทธิผู้หญิง ซึ่งไม่จำเป็นว่าคนนั้นจะเป็นหญิงหรือชายหรือเพศอะไร มากกว่าใช้การกำหนดบีบบังคับผ่านโควต้าตำแหน่งทางการเมืองไว้นกฏหมาย ที่ด้านกลับกลายเป็นตัดสิทธิคนอื่นด้วย

‘พัชนี’ ระบุสัดส่วนหญิงช่วยผลักดันได้ แต่ต้องไม่บังคับ และทุกคนต้องเข้าถึงระบบการเมืองได้

พัชณีย์ คำหนัก สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน อีกหนึ่งผู้ที่ทำกิจกรรมด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานหญิง กล่าวว่า การนำประเด็นสัดส่วนผู้หญิงในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระบบรัฐสภา พรรคการเมือง การเมืองท้องถิ่น และการบริหารในระบบราชการ กระทรวง กรม นั้นเป็นตัวสะท้อนหนึ่งของการมีความเสมอภาคทางเพศ ระหว่างหญิงกับชาย หากมีการกำหนดสัดส่วนอย่างชัดเจนก็จะช่วยผลักดันบทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองและการบริหาร แต่อาจไม่จำเป็นต้องบังคับ เพียงทำเป็นกรอบไว้

พัชณีย์ กล่าวต่อว่า การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในทางการเมืองของผู้หญิงในลักษณะนี้ มีพื้นฐานจากการที่คนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงระบบการเมือง คือ หญิงต้องเข้าสู่การเลือกตั้งเท่ากับชาย ที่เคยต่อสู้มาแล้วนับร้อยปี และคนทุกคนต้องตั้งพรรคการเมืองได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน

แต่การเมืองของเราขณะนี้ ฐานคิดคือ ทำลายสิทธิการเลือกตั้ง งดการเลือกตั้งท้องถิ่นและช่องทางที่คนทุกคนจะเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ เพราะชนชั้นปกครองไทยมีฐานคติแบบอนุรักษ์นิยม พยายามจำกัดสิทธิทางการเมือง บริหารของผู้หญิง รัฐอำนาจนิยมที่ใช้ความแตกต่างทางเพศเอารัดเอาเปรียบ

พัชณีย์ คำหนัก  ภาพโดยพระอินทร์ ที่มา PITV แฟนเพจ

ทำลายสิทธิเลือกตั้ง เพิ่มโอกาสผู้หญิงคนชั้นสูง แต่ตัดโอกาสผู้หญิงส่วนใหญ่

พัชณีย์ กล่าวว่า ทิชากลับปิดปากเงียบเรื่องการทำลายสิทธิเลือกตั้งที่คนทุกคนทั้งชายหญิงจะเข้าร่วมทางการเมือง ตัดสินใจเรื่องนโยบายของพรรค แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะพูดเรื่องสัดส่วนผู้หญิง จึงเป็นการพูดเรื่องบนยอด บนฐานความว่างเปล่า เมื่อฐานระดับล่าง ถูกทำลายโอกาส การมี ส.ว.แบบลากตั้ง ก็เป็นการจำกัดวงคน ให้เหลือคนรวย มีหน้ามีตา อาจเป็นผู้หญิงคนชั้นสูง วิชาชีพ ที่จะเข้าสู่ระบบนี้ได้

“แล้วคิดรึว่า สัดส่วนผู้หญิงที่อยากใกล้เคียงกับชายนั้นจะช่วยสร้างความเสมอภาคได้จริง เพราะผู้หญิงรวย พวกวิชาชีพไม่ใช่ตัวแทนแท้จริงของผู้หญิงอีกนับล้านๆ คน ที่ส่วนใหญ่เป็นคนจน” พัชณีย์ กล่าว

พัชณีย์ กล่าวด้วยว่า การต่อสู้เรื่องสิทธิความเสมอภาค มันคือ เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี การเข้าถึงปัจจัยทรัพยากร เสรีภาพในการแสดงออก คนรวยย่อมมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากคนจน ง่ายๆ คือ จะยอมเสียภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าเพื่อมาจัดสวัสดิการให้แก่ผู้หญิง คนยากจนหรือไม่

“ทิชาจึงเป็นปลาผิดน้ำ หลงผิดแต่แรก ที่ไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร รัฐบาลทหาร เสียงผู้หญิงครึ่งประเทศหายไปในระบเลือกตั้งเพราะการยึดอำนาจ ที่ทิชาไม่ได้กล่าวถึง” พัชณีย์ กล่าว

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

‘เก่งกิจ’ ชี้ เพ้อฝัน หากไม่เชื่อมโยงกับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการ ซึ่งล่าสุดเขียนบทความวิพากษ์งาน “มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ของ แล ดิลกวิทยรัตน์ ซึ่งเสนอไว้กว่า 40 ปีก่อน และเสนอการเรียกร้อง “ค่าแรงสังคม” ที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ในชีวิตประจำวันหรือการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภามากขึ้น (อ่านฉบับย่อ) โดย เก่งกิจ กล่าวถึงของเสนอของ ทิชา ว่าการพูดง่ายๆ ว่าถ้ามีผู้หญิงนั่งในสภาหรือสถาบันทางสังคมการเมืองเยอะๆ แล้วจะเท่ากับ "ประชาธิปไตย" นั้นไม่จริงเสมอไป และการเสนอเช่นนี้โดยไม่คิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบก็คือเรื่องเรื่องเพ้อฝัน

เก่งกิจ กล่าวด้วยว่า เวลานี้ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ที่เผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำทางเพศ และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว คือ ผู้หญิงที่มาจากชนชั้นล่างซึ่งเป็นชนชั้นแรงงาน คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าไปนั่งในสภาได้ พื้นที่เดียวที่พวกเขาทำได้คือการต่อสู้ในโรงงานและบนท้องถนน เราจะเห็นแรงงานหญิงที่ออกไปประท้วง เช่น แรงงานย่านรังสิต และอื่นๆ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของการจ้างงาน รวมถึงการเรียกร้องสวัสดิการร่วมกับแรงงานชาย แต่ประเด็นของเขาเหล่านั้นกลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด รัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหารยังไม่เคยยอมรับหลักการเรื่องการตั้งสหภาพแรงาน สิทธิการรวมตัว และอื่นๆซึ่งเป็นพื้นฐานของการต่อรองของแรงงานอย่างจริงจัง ยิ่งในรัฐบาลทหาร การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานก็ยิ่งจำกัด มีการติดตามและเรียกพบผู้นำแรงงานหญิงเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวในประเด็นความเดือดร้อนของตนเอง

“เราต้องถามว่า ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ ผู้หญิงคนไหนบ้างที่จะได้นั่งในสภา อาจจะเป็นผู้หญิงแบบทิชา ณ นคร หรือไม่ก็บรรดาภรรยาของท่านนายกรัฐมนตรีและพวกพ้อง สภาที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญของระบอบทหารน่าจะเป็นสภาของชนชั้นสูงในระบบราชการ มากกว่าจะเป็นสภาที่เปิดให้กับคนทั่วๆ ไป ชนชั้นล่าง คนหาเช้ากินค่ำเข้าไปนั่งกำหนดนโยบาย ดังนั้น หากต้องการให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย รัฐบาลชุดนี้ควรเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเดินประท้วงหรือรวมตัวกันได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่มีหวังกับบรรยากาศและระบอบการเมืองแบบเผด็จการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” เก่งกิจ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท