Skip to main content
sharethis

บุรกาชุดผ้าคลุมทั้งตัวที่เป็นมรดกจากกลุ่มตอลีบันผู้เคยบังคับให้ผู้หญิงใส่ถูกหลายคนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ผู้หญิงที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการ ชายชาวอัฟกานิสถานพากันเดินขบวนสวมชุดบุรกาเพื่อต้องการเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงที่ถูกบังคับให้สวม


7 มี.ค. 2558 กลุ่มผู้ชายในประเทศอัฟกานิสถานออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีด้วยการสวมชุดบุรกาซึ่งเป็นชุดผ้าคลุมทั้งตัวรวมถึงใบหน้าและปิดดวงตาบางส่วน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5 มี.ค.) กลุ่มชายชาวอัฟกันออกมาเดินขบวนในกรุงคาบูลโดยสวมชุดบุรกา ซึ่งเป็นชุดที่หลายแห่งในโลกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่สตรี จากการที่กลุ่มติดอาวุธตอลีบันสายเคร่งครัดบังคับให้สตรีชาวมุสลิมต้องสวมชุดที่มีลักษณะคลุมทั้งตัวและมีช่องตาข่ายที่ดวงตาเวลาอยู่ในที่สาธารณะซึ่งมีลักษณะต่างจากเครื่องแต่งกายหญิงชาวมุสลิมทั่วไป จนกระทั่งประชาชนในอัฟกานิสถานและประเทศพันธมิตรเริ่มมีความเป็นห่วงในประเด็นชุดบุรกามากขึ้น

การเดินขบวนในครั้งนี้จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมอาสาสมัครชาวอัฟกันเพื่อสันติภาพ พวกเขากล่าวว่าเป็นการเดินขบวนก่อนวันสตรีสากลซึ่งตรงกับวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี หนึ่งในนักกิจกรรมชื่อบาซีร์ อายุ 29 ปี กล่าวว่าในขณะที่ทางการอัฟกานิสถานจะจัดงานวันสตรีสากลในโรงแรมใหญ่ๆ พวกเขาอยากให้นำเรื่องของสิทธิสตรีมาแสดงออกบนท้องถนน สำหรับบาซีร์แล้วการจะเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงได้ดีที่สุดคือการเดินไปตามถนนด้วยชุดบุรกา มีชายร่วมเดินขบวนในชุดดังกล่าวนี้ราว 20 คน

ผู้เดินขบวนถือป้ายเรียกร้องความเท่าเทียมกันและป้ายที่ระบุว่า "อย่าสั่งให้ผู้หญิงต้องใส่ชุดอะไร ถ้าไม่อยากดูก็ปิดตาตัวเอง" ผู้เดินขบวนที่สวมบุรกาหลายคนกล่าวว่าพวกเขารู้สึก "เหมือนอยู่ในคุก" เวลาที่สวมชุดนี้

ผู้ที่มองเห็นการเดินขบวนนี้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน เช่นตำรวจจราจรอายุ 24 ปีคนหนึ่งชื่อ จาเวด ไฮดารี ไม่เข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ต้องการแสดงออกอะไร เขาบอกว่าผู้หญิงที่บ้านเขาทุกคนก็สวมบุรกาและเขาไม่ยอมให้ใครออกจากบ้านโดยไม่สวม

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งอายุ 16 ปีมองเห็นการเดินขบวนครั้งนี้ก็แสดงความคิดเห็นว่า มันเป็นความพยายามของชาติตะวันตกที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของบุรกาและอัฟกานิสถานดูไม่ดีหรือทำให้พวกเขารู้สึกผิดที่จะสวมบุรกา ส่วนสตรีสูงอายุที่คนหนึ่งบอกว่าลูกชายและสามีของเธอบอกให้เธอเลิกสวมบุรกาเสมอมา แต่เธอก็เริ่มชินกับมันแล้วเพราะสวมมันมาถึง 35 ปี

ประเทศมุสลิมหลายประเทศไม่มีกฎข้อบังคับให้สวมใส่บุรกาและในบางประเทศก็สั่งห้ามเครื่องสวมใส่ชนิดนี้ ขณะที่บางประเทศส่งเสริมเครื่องแต่งกายอีกชนิดหนึ่งคือฮิญาบ ในปี 2552 โมฮัมหมัด ทันทาวี นักวิชาการอิสลามจากมหาวิทยาลัยอัลอัสชาร์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอิสลามที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในอียิปต์ประกาศว่าไม่จำเป็นที่สตรีต้องมีการปกคลุมใบหน้าภายใต้ข้อบังคับของอิสลามและเครื่องแต่งกายต่างๆ เป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา

ในกรณีของอัฟกานิสถานมีการบังคับให้สวมบุรกาขณะอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มติดอาวุธตอลีบัน แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีการสั่งห้ามดังกล่าวแล้วแต่ก็ยังคงมีผู้คนสวมใส่อยู่เนื่องจากแรงกดดันทางสังคม มีคนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการสวมชุดที่คลุมหน้ามิดชิดจะช่วยลดอาชญากรรมทางเพศและไม่ส่งเสริมการค้าประเวณี อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของสหประชาชาติเมื่อปี 2556 ระบุว่าความรุนแรงต่อสตรีส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับการรายงานโดยเฉพาะในเขตชนบท


เรียบเรียงจาก

Afghan men don burqas, take to the streets for women's rights, Trust, 05-03-2015
http://www.trust.org/item/20150305122342-3qbfy/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Burqa
http://en.wikipedia.org/wiki/Hijab_by_country

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net