Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้ ผมได้ไปร่วมเสวนาวิวาทะในเวทีใหญ่เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นลักษณะการตอบโต้ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มที่อ้างตัวเรียกตัวเป็นตัวแทนภาคประชาชน (ทำอย่างกะพวกผมไม่ใช่ปชช.) ส่วนผมไปร่วมในกลุ่มภาครัฐ คือกลุ่มที่มีจุดยืนเช่นเดียวกับกระทรวงพลังงาน คือต้องการให้มีการสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มอยางเร่งด่วน

ผมได้พูดในตอนสรุปว่า "ทั้งหมดนี้ ควรจะเป็นดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร (Executive Decision) รัฐบาลต้องตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว กลุ่มพวกเราก็คงจะยอมรับ ส่วนผู้ที่จะรับผลจริงๆก็คงจะเป็นประชาชนไทยทุกคนที่จะรู้ก็ต่อเมื่ออีก 7 ปีข้างหน้า ว่าเราจะมีก๊าซและนำ้มันใช้เพียงพอหรือขาดแคลนมากน้อยเท่าใด และการตัดสินใจครั้งนี้มีผลบวกลบอย่างใด" ...ซึ่งผมตั้งใจไว้ว่า เมื่อได้ดีเบทไปแล้ว ให้คนที่รับผิดชอบตัดสินใจไปแล้ว ก็จะไม่พูดเรื่องนี้อีก ไม่เขียนถึงอีก

ที่วันนี้ผมมาเขียนถึงอีก เกิดจากสองสาเหตุ ...ประการแรกเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียม เนื่องจากฝ่ายเราแสดงท่าทียอมรับ แต่อีกฝ่ายนั้นก็แสดงชัดแจ้งว่า ถ้าการตัดสินใจไม่ถูกใจ ก็คงมีการเคลื่อนไหวมวลชนขาหุ้นต่างๆกันเต็มที่ มันทำให้การตัดสินใจอาจถูกกดดันไม่เป็นไปตามเหตุผล ...ประการที่สอง จนวันนี้ การตัดสินใจก็ยังไม่ชัดเจน ให้เลื่อนไปก่อน 3 เดือน ให้ปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งยังไม่รู้เลยว่าต้องปรับปรุงกี่ฉบับ ปรับปรุงเท่าใดจึงจะเป็นที่พอใจ ต่อให้ปรับปรุงแล้วจะยอมให้เดินหน้าหรือไม่ เช่น สมมุติยอมแก้ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)ได้ แต่ยังไม่มีการตั้งองค์กรรองรับ ยังไม่มีการออกแบบระบบ(ที่ไม่มีใครในไทยรู้สักคนว่ารายละเอียดจะทำกันอย่างไร ...รวมทั้งพวกที่เรียกหาด้วย ไม่เคยเสนอรายละเอียดสักที ตะโกนด่าแต่ว่า ระบบสัมปทานเป็นทาส ขายชาติ ยกอธิปไตยให้เขา ทำอย่างกับว่าอีกหลายสิบประเทศที่ใช้ระบบนี้ ต่างก็โง่ ก็ชั่วกันทั้งนั้น) ถ้าการเตรียมการพวกนี้ยังไม่เสร็จ จะยอมให้เปิดประมูลหรือไม่ กับจะออกแบบประมูลสองระบบอย่างไร คนประมูลเขาจะกล้าประมูลอะไรที่ไม่ชัดเจน ไม่คุ้นเคยหรือไม่

โดยเหตุที่ความมั่นคงทางพลังงานเป็นเรื่องสำคัญมาก และผมเห็นว่า ก้าวย่างนี้สำคัญมากกับระบอบเศรษฐกิจ จึงอดไม่ได้ที่จะขอกลับมาถกเหตุถกผลกันต่อ ให้สังคมได้รับรู้ ให้ผู้มีอำนาจได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

ความจริงแล้ว นักธุรกิจอย่างผมควรจะต้องหลีกเลี่ยงการไปโต้วาทีสาธารณะอย่างที่เกิด เพราะมันย่อมไม่มีโอกาสได้กำไรใดๆมีแต่จะเปลืองตัว ...ซึ่งเมื่อ รมว.พลังงาน ดร.ณรงค์ชัย และ ปลัดกระทรวง ดร.อารีพงษ์ ติดต่อมาผมก็ได้ปฏิเสธขอตัวไปด้วยกลัวว่าจะไม่เชี่ยวชาญพอ ...แต่พอ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ  รองปลัดกระทรวงซึ่งจะต้องเป็นหัวหน้าทีมฝั่งรัฐ โทรมาบอกว่า "เพื่อนเตา นี่เป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา อยากให้เพื่อนได้มาช่วยร่วมทีมกัน" ผมตอบไปทันทีเลยว่า"เพื่อนอ้วน(ชื่อเล่นที่โรงเรียน) เพื่อนพูดอย่างนี้ ต่อให้เพื่อนจะลากเราไปให้ใครกระทืบที่ไหน กูก็จะไปด้วย ตกลงครับ กูเอาด้วย" เพราะดร.คุรุจิตกับผมเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนวชิราวุธ กินนอนด้วยกันมาตั้งแต่สิบขวบ และผมรู้อยู่เต็มอก ว่าเค้าเป็นคนเก่ง คนดี ที่ทุ่มเทตั้งใจให้การพลังงานของประเทศมาตลอดชีวิตราชการ(เพื่อนจะเกษียณอายุกันยานี้แล้ว)

การถกเถียงในวันนั้น ก็เป็นอย่างที่คาด คือ ทั้งสองฝ่ายพูดเน้นกันไปคนละเรื่อง ฝ่ายคุณรสนา ก็มาเหมือนเดิม คือ ใช้วาทกรรม เรื่องอธิปไตย เรื่องยกสมบัติชาติให้เอกชน กับมุ่งเน้นรายละเอียดความไม่สมบูรณ์ของระบอบที่มี โดยเฉพาะท่านอดีตรัฐมนตรีคลัง ท่านจุกจิกจุ๊กจิ๊ก(น่ารัก) ลงรายละเอียดทีละคำทีละข้อของเอกสารเลยทีเดียว ทางฝ่าย กท.พลังงาน พยายามอธิบายรายละเอียด(ซึ่งผมคิดว่า ดร.คุรุจิต ตอบได้ครบและดีมากทีเดียว) กับพยายามเน้นความจำเป็น ความสำคัญเร่งด่วนของการต้องเร่งสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม

ที่ทำให้ผมผิดหวังที่สุดในวันนั้น ก็คือการที่ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นคนที่ผมนับถือชื่นชมมาตลอด(ตอนนี้ก็ยังชื่นชมอยู่นะครับ...ลดลงนี้ด) มาร่วมกับฝั่งตรงข้าม โดยใช้กลยุทธทางการเมืองมาพูดแถม (เค้าอ้างว่า มล.ปนัดดา ซึ่งเป็นผู้เปิดงานเป็นฝั่งนี้ คิดดูสิครับ มล.ปนัดดา ที่ไม่เคยเถียงใครเป็น ไม่เคยพูดอะไรยาว ให้มานับถ่วงกับคุณมาร์คยอดอัจฉริยะ...แฟร์ชะมัด)

ที่คุณอภิสิทธิ์พูด ก็เป็นเรื่องที่ท่านไม่เห็นด้วยกับการกำหนดราคาก๊าซที่ประชาชนใช้ราคาเดียวกับอุตสาหกรรม ควรให้ประชาชนใช้ก๊าซถูกจากอ่าวไทย และให้อุตสาหกรรมใช้ของแพงนำเข้า(ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยกับท่าน ไว้วันหลังจะเขียนอธิบายนะครับ) แต่ผมงงที่ท่านอยากแก้ Downstream แต่ดันไปเอาUpstreamมาเป็นตัวประกัน แถมท่านพูดว่า ไหนๆรอบ 18 19 20 ก็ขุดเจอน้อย คราวนี้อาจไม่เจอก็ได้(นี่เป็นเรื่องชัดเจนว่าท่านเอามาเป็นตัวประกัน และไม่เข้าใจคำว่า"ความมั่นคง") และที่ผมว่าแย่สุดก็คือ ท่านดันไปยกคำอมตะของท่านมหาตมะ คานธี มาเป็นวาทกรรมตอนจบ ซึ่งผมไม่เห็นว่าจะเกี่ยวอะไรกับข้อโต้แย้งที่เราเถียงกันอยู่เลย นอกจากมีคำว่า"ทรัพยากร"อยู่ในนั้น

ในส่วนของผม พยายามพูดถึงภาพใหญ่ของการพลังงาน การที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าบริหารด้านพลังงานได้ดีมาโดยตลอด ได้รับการจัดอันดับโดย World Economic Forum ว่าการบริหารพลังงาน เป็นอันดับ 1 ของ ASEAN และอันดับ 3 ของ East Asia เป็นรองแค่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ (มีกี่อย่างกี่อุตสาหกรรมกันที่ไทยทำได้ดีจนเป็นที่ยอมรับอย่างนี้) ปตท.เองก็ได้รับจัดอันดับ(จากสถาบัน Platts)ให้เป็นบริษิทนำ้มันที่ดีอันดับ 18 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย ซึ่งข้อพิสูจน์เรื่องนี้สองข้อก็คือ การที่ประเทศไทยไม่เคยมีการขาดแคลนพลังงานมากว่าสามสิบปี ไม่เคยมีDark-out และไม่เคยต้องปันส่วนพลังงาน กับ การที่เราได้ใช้พลังงานราคาไม่แพงเกินไป เพราะมันทำให้เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้พลังงานฟุ่มเฟือยที่สุดในโลก(พอบอกไม่แพง ก็มีหน้าม้าส่งเสียงโห่กันใหญ่) ซึ่งนั่นต้องนับเป็นผลงานของผู้บริหารพลังงานในอดีตตลอดมาจนปัจจุบัน

ผมได้ยกตัวอย่าง ประเทศที่ถือว่าดำเนินนโยบายพลังงานผิดพลาด อย่างอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นประเทศส่งออกนำ้มัน การผลิตลด ต้องนำเข้านำ้มัน และดันอุดหนุนราคานำ้มันจนเกิดต้นทุนฉุดเศรษฐกิจโดยรวมไปทั่ว กับยกตัวอย่างประเทศที่แย่ที่สุด คือ เวเนซูเอลา ซึ่งทั้งๆที่มีปริมาณนำ้มันสำรองมากที่สุดในโลก แต่กลับไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ ผลิตได้แค่หนึ่งในสิบของซาอุดิอารเบียที่มีน้อยกว่า แถมให้ประชานิยมราคานำ้มันถูกกว่านำ้ดื่ม ชาตินิยมไล่ต่างชาติกลับบ้านหมด หวงทุกอย่างไว้ทำเอง ผลก็คือ ทำไม่เป็น เอาออกมาไม่ได้ มีสำรองตั้งเกือบ 300 ปี(ใครๆก็รู้ว่าจะไม่มีการใช้นำ้มันเป็นพลังงานหลักเกินร้อยปีแน่นอน ...บางทฤษฎีว่าห้าสิบปีด้วยซำ้) อุตสาหกรรมทุกอย่างของเวเนซูเอลาล้มเหลวเกือบหมด เศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องยาวนาน เงินเฟ้อกว่า 60%ต่อปี จนคนเอาธนบัตรมาใช้แทนกระดาษชำระที่ขาดแคลน ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส (ถ้าใครจำได้ กลุ่มทวงคืนพลังงานเคยชูเวเนซูเอล่าเป็นแม่แบบ แต่พักหลังชักเงียบไป คงมีแต่คนแปลกๆอย่างคุณณรงค์ โชควัฒนา ที่ยังคงเชิดชูอยู่)

ประเด็นสำคัญที่สุดของผม อยู่ที่คำว่า "ความมั่นคงทางพลังงาน" ซึ่งแปลง่ายๆว่า ความมั่นใจว่าเราจะมีพลังงานใช้อย่างไม่ขาดแคลน ในราคาที่เหมาะสม และสามารถทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ได้ ว่าจะจัดการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างไร

คำว่า"ความมั่นคง"นั้น ตรงข้ามกับคำว่า "ไม่แน่นอน" ซึ่งนอกจากจะจัดหาพลังงานให้เพียงพอแล้ว ยังหมายถึงว่า "มีหรือไม่มี ก็ต้องให้รู้" เพราะการเตรียมการรับมือนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเรามี เราก็จะได้เตรียมใช้ ถ้าไม่มีก็ต้องรู้ เพราะต้องเตรียมปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการที่จะใช้ จะจัดหาพลังงาน

ความจริงแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องความมั่นคงเกี่ยวกับเรื่องของแหล่งปิโตรเลียมในไทยนั้น ก๊าซธรรมชาติสำคัญกว่านำ้มันเสียอีก ทั้งๆที่นำ้มันดิบราคาดีกว่า มีกำไรมากกว่า ...ถ้าเราค้นพบนำ้มัน รัฐก็จะได้ส่วนแบ่งมากกว่าทั้งค่าภาคหลวงและภาษี กับจะได้ประหยัดเงินตราต่างประเทศ ลดขาดดุลการค้า การชำระเงิน แต่อย่างไรก็ดี นำ้มันดิบก็ยังเป็น Tradable Goods คือ ถ้าไม่มี ก็ยังซื้อหามาได้ในตลาดโลก

แต่ก๊าซธรรมชาตินั้นเป็น Nontradables นั่นก็คือ ถ้าเราหาไม่ได้ในขอบเขตที่จะสร้างท่อส่งมาให้แล้ว ถ้าเรายังจะใช้อยู่ ก็ต้องนำไปแปลงสภาพเป็นของเหลว Liquefied Natural Gas (LNG) แล้วขนส่งมาทางเรือ ซึ่งต้นทุนโดยเฉลี่ยจะสูงกว่า ก๊าซที่เราใช้อยู่จากท่อในไทย ประมาณสองเท่าตัว (จะเห็นได้ว่ามีการส่งนำ้มันดิบออก แต่ไม่มีการส่งออกLNG เลย) ...และนี่ก็เป็นเหตุสำคัญที่เราต้องหาเพิ่ม และ ถ้าหาไม่ได้ ก็ต้องรู้(ว่าไม่มี)

จากข้อมูล จากหลักฐานที่มีอยู่ เป็นที่ชัดเจนว่า ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เรามีอยู่ จะใช้ได้ในระดับนี้(ซึ่งก็ยังไม่พอใช้ ต้องนำเข้าบ้างแล้ว)ไปแค่เพียง 7 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นปริมาณการผลิตจะลดลงอย่างฮวบฮาบ ถ้าหาเพิ่มไม่ได้ และไม่ลดการใช้ จะต้องนำเข้า LNG ในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้การใช้พลังงานไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง กระทบกับศักยภาพด้านอื่นๆทางเศรษฐกิจอย่างมาก กับอาจก่อให้เกิดวิกฤติทางพลังงานเลยก็ได้

สำหรับผมชัดเจนครับ ...ถ้าหาเพิ่มไม่ได้ ก็ต้องลดการใช้ ซึ่งหมายถึงต้องปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้า(วันนี้เราใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 70%...ถ้าใช้ LNGนำเข้า ค่าไฟต้องเพิ่มทันทีอย่างน้อย30%) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้วัตถุดิบส่วนสำคัญจากก๊าซอ่าวไทย และมีมูลค่าอุตสาหกรรมถึงปีละ 700,000ล้าน จ้างงาน 300,000 คน ก็ต้องเตรียมปรับตัวขนานใหญ่ เพราะวัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติเปียก ที่เรียกว่า C2 C3 C4 ที่ใช้นั้น ยังไม่สามารถสังเคราะห์เพื่อนำเข้าได้ อาจต้องปิดโรงงานกันเป็นแถว

แต่ก่อนที่จะวางแผนลดการใช้ เราก็ควรที่จะพยายามหาเพิ่มก่อน (เพราะถ้าลดการใช้ไปแล้ว ถ้าเกิดหาเจอก็บ่มีประโยชน์) ซึ่งวิธีหาเพิ่มนั้นมีอยู่ 4 วิธี คือ

ความหวังใหญ่สุดนั้น อยู่ที่พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claim Area) ซึ่งตามลักษณะธรณีวิทยา น่าจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งก็ต้องเร่งเจรจาหาทางตกลงเพื่อเริ่มผลิตให้ได้

แหล่งสำคัญอันดับต่อไป ก็คือ การต่อสัญญาสัมปทาน(หรือจะหาผู้ผลิตใหม่)ในแหล่งสำคัญที่อายุสัมปทานจะหมดในปี 2565 แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่ายังมีก๊าซเหลืออยู่ไม่น้อย เช่น แหล่งบงกช และ แหล่งเอราวัณ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันไม่เปิดให้ต่ออายุได้

ส่วนที่สามมาจากการจัดหาแหล่งต่างประเทศที่ใกล้เคียง นอกจากกัมพูชาที่ยังผลิตอะไรไม่ได้เลย(ทั้งๆที่ใช้ PSC) ก็มีพม่าที่ส่งก๊าซให้ไทย แต่ก็กำลังมีปัญหาเรื่องค่าความร้อน และพม่าเองก็มีแนวโน้มที่ต้องใช้เองมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนที่สี่ก็คือ การเปิดสัมปทานรอบที่21 นี่แหละครับ ที่ถึงแม้สามรอบหลัง(ในเวลาร่วมยี่สิบปี) จะหาเจอพลังงานที่ใช้ได้แค่ปีเดียว แต่ชีวิตไม่สิ้นก็อย่าเพิ่งหยุดหวัง ด้วยเทคโนโลยี่การขุดเจาะใหม่ๆทำให้เรายังมีหวังที่แม้เอาพื้นที่เดิมมาสำรวจใหม่ ก็ยังอาจเจอะเจอแหล่งใหญ่ได้

เพื่อความมั่นคง...ผมขอยืนยันเลยว่า เราต้องทำเต็มที่ทั้งสี่ทาง ไม่ควรประมาทย่อหย่อนแม้ทางใดทางหนึ่ง ต้องใช้ทุกโอกาสให้เต็มที่

"ความมั่นคง"นั้น หมายถึง ต้องทำเกินอยู่แล้วครับ ... ทำไมอเมริกาถึงต้องมีกองทัพที่เกรียงไกร ต้องมีปรมาณูตั้งสองร้อยกว่าลูก ทั้งๆที่ยิงไปห้าลูกก็ไม่มีประเทศไหนเหลือแล้ว ...ทำไมกองทัพไทยต้องได้งบปีละหลายแสนล้าน ทั้งๆที่แทบไม่มีแนวโน้มจะมีสงครามกับใคร ...ความมั่นคงทางพลังงาน สำหรับผมก็หมายถึง การที่เราต้องเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานทุกวิถีทาง จนกว่าจะมั่นใจว่าเรามีแค่ไหน ไม่มีแค่ไหน เพื่อที่จะวางแผนตอบรับได้ถูก

ทุกทางที่มีหวังทั้งสี่ทางนั้น ต้องใช้เวลาครับ อย่าคิดว่าอีกตั้งเจ็ดปี ...ทุกเรื่องต้องเริ่มวันนี้หมด ถ้าจะหวังว่าอีกเจ็ดปีจะมีการผลิตเพิ่มเพื่อทดแทนส่วนที่หมดไป ช้าไปหนึ่งปีความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆแหละครับ

จริงๆแล้วพวกผมอยากให้พวกเราเป็นพวกทำนายผิดนะครับ อยากให้ความจริงแล้วประเทศไทยเราเรามีแหล่งปิโตรเลียมเยอะแยะสมบูรณ์อย่างที่มีบางพวกเขาโหมประโคม แม้เราอาจจะแพ้ถกเถียง แม้รัฐบาลจะสั่งระงับการประมูลสัมปทานรอบนี้ จะเพราะกลัวม็อบหรืออะไรก็แล้วแต่ ..พวกเราก็ยังอยากให้มีการเจอะเจอก๊าซธรรมชาติเยอะแยะใช้ไม่หมด จะใช้ระบบ PSC หรืออะไรก็ได้ เหลือเก็บไว้ให้ลูกหลานได้หลายร้อยปียิ่งดี แต่จากข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เรามี ก็จะยังขอยืนยันว่า การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 อย่างเร่งด่วนเป็นเรื่องจำเป็น

ความจริงอีกเจ็ดปีกว่าจะรู้ว่าใครถูกใครผิด ...ผมและ ดร.คุรุจิต ก็คงเป็นแค่คนเกษียณอายุ พี่มนูญ ศิริวรรณ ที่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนานก็คงจะอายุแปดสิบกว่าแล้ว ...ข้างฝั่งโน้น ผมไม่รู้ว่าแต่ละท่านจะกำลังทำอะไรอยู่ อาจจะยิ่งใหญ่ในทางการเมืองตามที่หวัง แต่วันนั้นเราก็คงจะได้หันมามองและรู้ว่าสิ่งที่เราโต้แย้งกันวันนี้มันมีผลอย่างไร ก็อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับมันแค่ไหนอย่างไร หรือจะมั่วทำลืม เหมือนที่มีบางคนแกล้งลืมวันที่เคยประโคมว่าเรามีนำ้มันมากเท่าซาอุ แกล้งลืมว่าจะทวงคืน ปตท.

สำหรับผม ก็อย่างที่บอกแหละครับ ขอภาวนาว่าอีกเจ็ดปีเรายังมีล้นเหลือ ชิลชิลไปก่อนก็ไม่มีปัญหา ถึงเวลาก๊าซมันก็ผุดขึ้นมาให้เราได้ใช้เอง ...แต่วันนี้ก็ยังยืนยันว่าเราควรรีบเร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 21โดยเร่งด่วน

ก็เข้าใจแหละครับ ว่า "ความมั่นคงทางพลังงาน" มันเป็นเรื่องอีกเจ็ดปี แต่ "ความมั่นคงทางการเมือง" มันเป็นเรื่องวันนี้ ...ขออย่าเอาอนาคตมาเป็นตัวประกันเลยครับ สงสารลูกหลานมันครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net