ความเคลื่อนไหวชุดร่างกฎหมาย 'เศรษฐกิจดิจิทัล': กฤษฎีกาเปิดรับฟังความเห็น 11 มี.ค.นี้

9 มี.ค. 2558 ความคืบหน้ากรณี ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. และร่าง พ.ร.ฎ. รวม 8 ฉบับ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557  ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
 

กฤษฎีกาเปิดรับฟังความเห็นร่าง กม. 10 ฉบับ
ในวันพุธที่ 11 มีนาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดรับฟังข้อเสนอแนะจากบุคคลทั่วไปในการจัดทำร่างกฎหมายดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 1 โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 9.00 ถึง 16.00 น. เปิดลงทะเบียน 8.30 น.

ยุบรวมร่าง 3 ฉบับ คณะกรรมการ-สำนักส่งเสริม-กองทุน เป็นฉบับเดียว
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามการออกกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า ขณะนี้ชุดร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีการรวมร่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1) ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลฯ 2) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลฯ และ 3) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ 3 ฉบับ เข้าเป็นฉบับเดียว ในชื่อ "ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขในขั้นกฤษฎีกายังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่มีการแจ้งว่าบุคคลทั่วไปจะสามารถเห็นร่างดังกล่าว รวมถึงร่างใหม่ของกฎหมายดิจิทัลอื่นๆ ได้หรือไม่ และเมื่อใด

22,010 ชื่อหนุนหยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล'
กรณีเครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญ "หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล' " ล่ารายชื่อผู้สนับสนุนผ่าน change.org เรียกร้องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 13 ฉบับที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเหล่านี้ อย่างละเอียด และระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล ร่างกฎหมาย 13 ฉบับดังกล่าว ล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุน 22,010 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค.2558 เวลา 21.00 น.)

'สุรางคณา' เผยเล็งแก้ร่างกฎหมายหลายประเด็น
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. ระบุว่า ประเด็นที่จะปรับแก้ ได้แก่ มีการนำ TOT และ CAT ออกจากคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล, ด้านการจัดสรรคลื่นความถี่ จะทำให้ชัดขึ้นว่ายังมีเรื่องการประมูลอยู่พร้อมเผื่อทางเลือกอื่นด้วย, มีการรวมกฎหมาย 3-4 ฉบับเป็นฉบับเดียว, มีการปรับสเกลคณะกรรมการให้เล็กลง คล่องตัวขึ้นและเพิ่มสัดส่วนภาคประชาสังคมมากขึ้น

ตั้งคกก.เตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัล ก่อน พ.ร.บ.ผ่าน
ก่อนหน้านี้ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... แล้ว ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน ร่วมกับกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 9 กระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ กสทช. และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินแปดคน ซึ่งต้องแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 3 คน ด้านฝ่ายเลขานุการจะมีปลัดกระทรวงไอซีที เป็นกรรมการและเลขานุการ และรองปลัดกระทรวงฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ คือ การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางที่ระเบียบกำหนด การให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับชาติต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น การให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการบูรณาการการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ

การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องครอบคลุมถึงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดอันจะก่อให้เกิดการประหยัดทรัพยากรของชาติ การกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศที่ครอบคลุมถึงโครงข่ายการติดต่อสื่อสารทุกประเภทที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะเป็นสำคัญ นอกจากนี้จะดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างทั่วถึง และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“เมื่อระเบียบฯ ฉบับนี้ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กระทรวงไอซีทีจะใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ไปจนกว่าร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... จะมีผลใช้บังคับ” นายพรชัยฯ กล่าว

 

 

ที่มา:
อัปเดต: ยุบรวมร่าง 3 ฉบับ คณะกรรมการ-สำนักส่งเสริม-กองทุน เป็นฉบับเดียว -- ต้องจ่ายเท่าใดเพื่อ "ความมั่นคงแห่งชาติ"
ก.ไอซีที เตรียมขับเคลื่อน Digital Economy ด้วยคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สุรางคณาเผยรับข้อท้วงติงแก้ชุดร่างกม.เศรษฐกิจดิจิทัล เปิดวิจารณ์วงปิดอาทิตย์หน้า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท